“ผลผลิตกลม ๆ รอบนี้กะว่า 100 ตัน ส่วนราคาเราไม่ได้คาดหวังมากเราไปคาดหวังที่เรื่องของน้ำหนักราคาเราก็ปล่อยให้เป็นตามกลไกตลาดไปไม่อยากคาดหวัง กลัวผิดหวัง ราคา ณ วันนี้ 200 ก็ถ้าพรุ่งนี้อีกวันหนึ่งจบได้ก็คิดว่าน่าจะยังอยู่ในราคานี้”
หลังเรียนจบปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจแล้วพี่โกวิท “นายโกวิท บุญวาที” บอกว่าตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาตนเองก็กลับบ้านโดยไม่คิดอยากไปทำงานประจำหรือทำงานเงินเดือนที่ไหนเลยเพราะว่า ช่วงเวลานั้นกระแสของ “ราคาทุเรียน” ก็กำลังดีขึ้นอย่างต่อเนื่องกลับบ้านมาทำสวนทุเรียนกับพ่อ (ลุงอี๊ด-นายบรรจง บุญวาที เซียนทุเรียนเมืองตราด) ดีกว่าซึ่งถ้า เปรียบเทียบรายได้กันแล้วยังไงก็น่าจะดีกว่างานเงินเดือนเป็นแน่! “ตอนเราเรียนอยู่น่ะช่วงนั้นทุเรียนมันราคาสูงแล้วเราก็ลองคำนวณรายได้ดูเราว่าทำสวนรายได้มันดีกว่า ดีกว่าเราไปทำงานเงินเดือนอะไรพวกนี้ ก็เลยออกมาทำสวนดีกว่า(หัวเราะ) คือสำหรับเราไม่ได้รู้สึกว่ามันลำบากเพราะว่าตอนเด็ก ๆ เราก็เข้าสวนตลอดอยู่แล้ว เสาร์-อาทิตย์ก็แม่ก็พาเข้าไปทำสวนปิดเทอมเราก็ช่วยพ่อแม่ทำสวนมาตลอดอยู่แล้ว” ปัจจุบันพี่โกวิทมีพื้นที่ผลิตเป็นของตนเองที่รับผิดชอบอยู่ประมาณ 35 ไร่ ได้รับมรดกการทำกินมาจากครอบครัวซึ่งพี่ชายอีกคนก็ด้วยลูกทั้งสองคนของลุงอี๊ดต่างก็เข้ามาสานต่ออาชีพการทำสวนทุเรียน ซึ่งที่นี่จะเน้นการทำ “ทุเรียนส่งออก” เป็นหลักโดยเลือกปลูกเฉพาะพันธุ์หมอนทองที่ตลาดเมืองจีน (ลูกค้าหลักของสวน) มีความนิยมและเป็นพันธุ์การค้าที่ตอบโจทย์ของตลาดมากกว่า อายุของต้นทุเรียนที่กำลังให้ผลผลิตอยู่นี้พี่โกวิทบอกกับเราว่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10 ปี ทั้งหมดในสวนตนเองมีอยู่ประมาณ 550 ต้น วันนี้เป็นวันแรกที่ครบกำหนดตามที่ตกลงซื้อขายกันกับ “ล้ง” เจ้าประจำเริ่มเข้ามาทำการตัดทุเรียนและคัดเกรดทุเรียนสำหรับการส่งนอกต่อไป
“ถ้าเป็นคนนอกมองเข้ามาในวงการทุเรียนบางทีเราเห็นแต่ความสวยหรูของการมีแต่คนประสบความสำเร็จ แต่เราไม่เห็นว่าความยากของมันอยู่ตรงไหน คนที่เขาไม่ประสบความสำเร็จเพราะอะไร มันอยู่ตรงไหนบ้างเขาลงทุนกันเท่าไหร่ บางทีอยู่ตรงนั้นคนนอกอาจจะยังไม่เห็นยังไม่รู้ลองเข้ามาศึกษาลองเข้ามาคลุกคลีให้ดี ของผมไม่ขาดทุน เพราะว่าผมเข้ามาทำทุเรียนมันเป็นช่วงที่ราคาทุเรียนกำลังสูงขึ้นพอดี ราคามันขึ้นสูงเยอะก็เลย เรื่องขาดทุนไม่ค่อยเจอเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นสมัยก่อนที่ผมจะมาทำสมัยนั้นผมว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยได้เงินเหลือกันสักเท่าไหร่ ผมไม่ได้ขายปลีกครับ คือเราทำสวนทุเรียนเพื่อ "ส่งออก" เพราะฉะนั้นตลาดเราทำทุกอย่างมาเพื่อส่งออก เราขายส่งแล้วเราสะดวกกว่าเราสบายใจกว่า เราไม่ถนัดที่จะไปขายปลีกก็เลยจบที่ขายให้ "ล้ง" สบายใจกว่า”
ปีนี้ภาพรวมของทุเรียนภาคตะวันออกดีกว่าปีที่ผ่านมา
ปีที่ผ่านมาถ้ามองภาพรวมของวงการทุเรียน ณ วันนี้ผมยังมองว่า ทุเรียนดีกว่าปีที่แล้ว แต่สำหรับของสวนผมเองผมขายได้ถูกกว่าปีที่แล้วแต่ถ้ามองภาพรวมของภาคตะวันออกผมมองว่า ณ วันนี้ราคาดีกว่าปีที่แล้ว“ถ้ามองของสวนผมที่ขายได้น้อยกว่าก็คือว่า ของผมมันไม่ใช่รุ่นแรกเหมือนปีก่อน ๆ ถ้าปีก่อน ๆ ของผมจะเป็นรุ่นแรกเพราะทุเรียนมันจะมีเฉพาะเขตนี้ แหลมเนี่ยอยู่ ต.อ่าวใหญ่ ของมันไม่มีที่อื่นเพราะนั้นล้งเขาเลยซื้อราคาสูงได้ แต่ปีนี้ของผมมันออกมามันมี มันไม่ใช่รุ่นแรก มันเป็นรุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 อย่างเงี้ยของภาคตะวันออก เพราะฉะนั้นที่อื่นเขามีรุ่นที่1 ที่เขาตัดไปได้ใกล้เคียงกับเราอันนั้นของที่อื่นเขาก็จะมี เราไม่ได้เป็นแบบของที่มีแต่เขตนี้ เขาจะมีเขตจันทน์ เขามีออก ระยองเขามีออก ของเราก็ออก เพราะนั้นราคาเราก็เลย ล้งเขาก็เลยไม่ได้ซื้อของเราสูงมาก การแย่งชิงการซื้อของอ่ะเนาะเขาไม่จำเป็นต้องมาแย่งแต่ที่นี่ไงเขาซื้อที่อื่นได้ ราคาก็เลยถูกกว่าปีที่แล้วนิดหนึ่ง”
ความได้เปรียบของพื้นที่นี้คือ “ผลผลิตไว” ทุเรียนออกก่อนขายได้ก่อนใคร!
ด้วยธรรมชาติของพื้นที่ สภาพดินฟ้าอากาศของเขตนี้ทั้งหมด มันทำให้อายุการเก็บเกี่ยวของที่นี่มันสั้นกว่าในเขตอื่น การจัดการส่วนหนึ่ง คือการจัดการของเราทำให้ช่วงการบานของดอกมันกระชับ(ให้น้อยที่สุด) ดอกที่ว่ามันบานทีหลังเขามาก ๆ ถ้าไม่จำเป็นเลยเราก็ไม่เอา การออกดอกมันจะออกใกล้เคียงกัน ออกพร้อม ๆ กัน แต่การจัดการเรื่องดอกก็อาจจะมี บางสวนที่เขาทำได้บ้างไม่ได้บ้างอันนี้แล้วแต่เจ้าของสวน การจัดการของสวน
“ตอนดอกบานที่ผมปัดดอกเนี่ย คือเริ่มปัดดอกตั้งแต่วันที่ 9-16 มกราคม เอาเป็นว่าผลผลิตที่ได้ในรุ่นนี้อยู่ที่ประมาณสัก 90% ดีกว่าไม่ถึง 100% เรามีบางต้นที่ดอกยังไม่ได้ ไม่ได้ดอกเลย บางต้นที่ดอกอาจจะสักแค่ 80% ของต้นครับ แล้วก็มีรุ่นหลังอยู่อีกสักหน่อยน่าจะสักประมาณ 1,000 ลูก หลังกว่านี้อีกประมาณ 1 เดือนพอดีเลย”
การต่อยอดจากคนรุ่นพ่อ เขาก็จะทำแบบสไตล์เมื่อก่อน ส่วนเราเนี่ยพอเราเริ่มมีเพื่อนเราเริ่มรู้จักสื่อออนไลน์มันก็มีการต่อยอดจากคนอื่น ๆ เราดูจากสื่อออนไลน์มาบางทีเรารู้สึกว่ามันน่าเข้าท่านะเราก็มาลองปรับใช้ดู“หลัก ๆ เรื่องที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ผมเปลี่ยนเยอะเลยนะ คือเรื่องการใช้ระบบหัวจ่ายน้ำ เป็นหัวจ่ายแบบมินิสปริงเกลอร์(หัวจ่ายเล็ก) ซึ่งสมัยก่อนเขาใช้กันมันจะเป็นหัวจ่ายแบบรูน้ำค่อนข้างโตกว่า พอเรามาเปลี่ยนใส่เบอร์เล็กเนี่ยคนส่วนใหญ่จะบอกว่าถ้ารูเล็ก ๆ น้ำจะพอเหรอรูมันออกนิดเดียวเองอะไรประมาณนี้ แต่เราไปเห็นคนอื่นเขามาแล้วเราก็มาลองใช้ดู ตอนแรก ๆ เราก็ไม่มั่นใจยังไม่กล้าเถียงเขาเราไม่เค ใช้อ่ะเนาะ ก็ลองใช้อยู่ปีสองปีพอเขาเห็นว่ามันเข้าท่าเขาก็ให้ไปเปลี่ยนของเขาบ้าง ลองไปปรับเปลี่ยนของพ่อของพี่อะไรเงี้ยครับเปลี่ยน และก็มีเรื่องของการตัดแต่งทรงพุ่ม คือเมื่อก่อนเขาบอกมันตัดยอดได้อย่างเดียวมันตัดข้าง ๆ มันตัดไม่ได้ตัดเยอะเนี่ยเดี๋ยวทุเรียนจะไม่ออกดอก เราก็มองว่าต้นใหญ่ ๆ เราทำงานไม่ไหวแน่ต้นเยอะ ๆ เรากลัวตกต้นน่ะ เพราะต้นสูง เราอยากได้ต้นเล็ก ๆ ผมก็ลองทำดู พอลองทำดูเออมันก็ได้ผลประมาณหนึ่ง ไม่ใช่ว่าได้ผลทั้งหมดน่ะ มันมีจุดของมันให้จับน่ะครับ คือแต่งเยอะแต่ถ้าเราเติมให้ไม่ทันมันก็ไม่ออกดอก อันนี้เรื่องจริงเราต้องเข้าใจว่าถ้าเราแต่งเยอะ เราจะเติมอะไรบ้างเติมแบบไหน เติมอาหารให้เขาแบบไหนอะไรอย่างเงี้ยครับ”
ลงทุนปีนี้กว่า 2 ล้าน คาดการณ์ผลผลิตกลม ๆ อยู่ที่ 100 ตัน!!!
กลายเป็นว่ามันมาตัดพร้อมกันของมันก็เลยออกทั่วภาคตะวันออก แต่ของมันไม่เยอะ ที่ละนิดที่ละหน่อยกระจาย ๆ กันไป ก็เลยแบ่ง ๆ กันได้ราคา(หัวเราะ)“อย่างของผมที่ตัดวันนี้ (18 เม.ย.67) A, B, C จะอยู่ที่ 200 บาท/กก. ครับ คือผลผลิตค่อนข้างกระจายตัว ไม่ได้ออกแบบกระจุกตัวแบบทีเดียวออกเยอะ ๆ เลยไงครับ พอกระจายตัวเนี่ยตลาดเขาก็ยังทำทันยังขายได้ทัน ล้งก็ยังทำงานทัน แล้วก็อีกอย่างคุณภาพของทุเรียนภาคตะวันออกเนี่ยปีนี้ถือว่ายังค่อนข้างดีครับ” พอหลังจากทำสัญญาซื้อขายกัน ล้งเขามาตัดเอง เขากำหนดวันเองว่าเขาจะตัดวันไหน เขามาเช็กของเช็กเนื้อดูแล้วเขาก็จะกำหนดวันว่าเขาจะเข้าตัดวันไหน เรามีหน้าที่ขนจากต้น (คือเขาตัดจากต้นลงมาให้) มารวมที่จุดรวมผลผลิตในสวน แล้วคนของล้งเขาก็จะมาคัดขึ้นรถไปอีกทีหนึ่ง ถ้าเนื้อมันแก่ได้ก็เอาหมดต้นได้ แต่ถ้าเนื้อมันยังไม่แก่มันยังตัดไม่ได้ เขาก็แขวนไว้ก่อนแล้วเดี๋ยวก็ผ่านไปแล้วแต่3 วัน4 วัน5 วัน ที่เขากะว่ามันจะแก่เขาก็กลับมาซ้ำอีกรอบหนึ่ง เขาก็ตัดให้เราจนหมดสวน
“เลขกลม ๆ รอบนี้กะว่า 100 ตัน ส่วนราคาเราไม่ได้คาดหวังมากเราไปคาดหวังที่เรื่องของน้ำหนักราคาเราก็ปล่อยให้เป็นตามกลไกตลาดไปไม่อยากคาดหวัง กลัวผิดหวัง ราคา ณ วันนี้ 200 ก็ถ้าพรุ่งนี้อีกวันหนึ่งจบได้ก็คิดว่าน่าจะยังอยู่ในราคานี้ ราคาไม่น่าจะเปลี่ยน” ปีนี้ลงทุนน่าจะอยู่ประมาณ 2 ล้าน ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงงาน ประมาณนะประมาณเพราะผมก็ไม่ได้จดละเอียดบางอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ไม่ได้จดบ้าง บางทีมีของเหลือจากปีที่แล้วบ้างเราซื้อแล้วมันเหลืออย่างปุ๋ย ยา บางทีเราซื้อจากปีที่แล้วยังเอามาใช้กับปีนี้ได้บ้าง ดังนั้นการลงทุนปีนี้กะกลม ๆ น่าจะอยู่ประมาณนี้ แพงขึ้นกว่าปีที่แล้ว(ปีที่แล้วลงทุนล้านกว่าบาท) ค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรงขึ้นทุกอย่าง
ตลาดออนไลน์ได้ “ราคาปลีก” แพงกว่า แต่ไม่คิดเปลี่ยนใจเพราะความถนัดต่างกัน
บางคนเขามีเวลาเขาทำขายออนไลน์ก็เป็นช่องทางหนึ่ง เพิ่มรายได้ของเขาเพิ่มมูลค่าผลผลิตของเขา ขายได้ราคาดีกว่าถ้าบางคนเขาถนัดทางนี้เขาบอกเขาขายได้ราคาดีกว่าขายให้ล้งเยอะเลย ความถนัดเราต่างกันน่ะผมถนัดของผมแบบนี้ ผมไม่มีสกิลพ่อค้าด้วยการต่อรองการคุยกับลูกค้าผมไม่ถนัดแบบนั้นด้วย (หัวเราะ) คือถ้าคุยกับล้งมันจบ เขาคุยคนละแบบ แต่ถ้าเราขายปลีกแบบเราขายออนไลน์เราขาย 100 ลูก ลูกค้า 100 คนก็มา 100 แบบ เราไม่สามารถรับมือได้ขนาดนั้น แต่ถ้ามากับล้ง ล้งเขามาแบบนี้สไตล์นี้เราแค่ดูล้ง 2-3 ล้ง เรารับมือกับเขาแค่ 2-3 คน แล้วก็ดิวกันได้จบกันได้ก็คือจบ
“เกษตรมีมาให้ความรู้ หลัก ๆ ก็คือเขาบังคับให้เราไปตรวจแป้ง ผมว่าการบังคับให้ไปตรวจแป้งเนี่ยมันเป็นวิธีอ้อม ๆ ที่ให้เกษตรกรเข้าใจว่าทุเรียนคือแบบไหน เหมือนพยายามสร้างจิตสำนึกเนาะว่าทุเรียนแก่มันควรต้องเป็นแบบนี้นะ อะไรประมาณนั้น เขาไม่ได้กำหนดเราว่าเอาทุเรียนอายุเท่าไหร่แต่เขาจะดูว่า เขตพื้นที่ตรงนี้ถ้าคุณจะตัดทุเรียนโดยที่ยังไม่ถึงวันประกาศของทางเกษตรอ่ะนะ เขาจะให้เราเอาตัวอย่างทุเรียนลูกนึงเอาไปตรวจ ถ้าตัวอย่างผ่านก็อนุญาตให้เราขายได้ แต่เขาก็มีไปสุ่มตรวจตามล้งอีกหรือบางทีอาจจะตั้งด่านระหว่างทาง มีสุ่มตรวจอีกทีหนึ่งด้วย”
ยังไม่เคยถึงขนาดว่าขาดทุน แต่ต่อไปศึกทุเรียนจากเพื่อนบ้านมาแน่!!!
พี่โกวิท บุญวาที เจ้าของสวนทุเรียนหมอนทองส่งออกที่ ต.อ่าวใหญ่ จ.ตราด บอกว่า ผมยังไม่เจอถึงขนาดว่าน้อยจนขาดทุนส่วนใหญ่ก็น้อยในเกณฑ์ที่ยังพอรับได้ ก็ถือว่าโชคดีส่วนหนึ่ง การบริหารจัดการก็ส่วนหนึ่ง การหาความรู้เพิ่มเติมหาเทคนิคใหม่ ๆ ก็ส่วนหนึ่ง“ณ วันนี้ก็คิดว่าตัดสินใจถูกนะ คือหนึ่งมันเป็นงานของเราเองด้วยเราเป็นเจ้าของเอง เราจะพักเมื่อไหร่ก็ได้หยุดเมื่อไหร่ก็ได้ แต่มันก็มาพร้อมความรับผิดชอบเราจะพักอย่างเดียวไม่ทำเลยปล่อยอย่างเดียวเลยมันก็อยู่ไม่ได้ สวนมันก็เละเทะหมดอ่ะ คือทุเรียนเป็นอาชีพที่ต้องอยู่กับเขาตลอดเวลาเราจะทิ้งยาว ๆ ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามบริหารจัดการให้เรามีเวลาพักบ้าง”
อนาคตถ้าในระยะสั้นตนเองมองว่า ทุเรียนยังเป็นพืชที่ยังมีอนาคตอยู่ แต่ในระยะยาวเราอาจจะต้องปรับตัวด้วยเพื่อนบ้านเราตอนนี้เขาปลูกกันหมดแล้ว อาจจะต้องดูเรื่อง “การลดต้นทุน” การรักษาคุณภาพเพราะถ้าเราไม่รักษาคุณภาพมันเหมือนการทุบหม้อข้าวตัวเอง ดังนั้นการรักษาคุณภาพให้อยู่ใน “มาตรฐาน” มองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ
ส่วนตัวสำหรับอนาคตพี่โกวิทบอกว่า ตนเองอยากจะทำให้มันง่าย ๆ มากกว่า ทำทุเรียนให้มันรู้สึกว่า เราสบายใจมากกว่า เริ่มไม่อยากทำแข่งกับใครแล้วเริ่มรู้สึกว่าเรามองในส่วนของเราเอง เราอยากทำในแบบที่มันเรียบง่ายมากกว่าแล้ว (หัวเราะ) เรียบง่ายก็คือทำไม่ต้องไปหวังผลผลิตสูงสุด ไม่ต้องไปหวังว่าไร่หนึ่งมันควรจะต้องเยอะเท่านั้นเท่านี้ แต่เอาแค่นี้เอาเท่าที่เรารู้สึกว่าเราพอใจ ไม่ต้องไปพยายามมาก มีเวลาพักผ่อนมีเวลาเที่ยวบ้าง ตอนนี้ก็ค่อย ๆ เปลี่ยนตอนนี้ก็เริ่มทำแล้ว ค่อย ๆ ปล่อยวางบางอย่าง บางอย่างไม่ต้องเป๊ะมากก็ได้
จบปริญญาไม่สนงานเงินเดือนมาสานต่ออาชีพ “สวนทุเรียน” ขายผลผลิต 2 วัน ก็จบงานของทั้งปีได้แล้ว! ซึ่งปีนี้การลงทุนถือว่าอาจจะเพิ่มขึ้นมากว่าปีก่อนแต่ถ้าหากมองดูที่ตัวเลขของราคาผลผลิตที่ได้ ทุเรียนเกรดA, B, C ปีนี้ขายได้กิโลกรัมละ200 บาท แล้วผลผลิตกลม ๆ ในรอบนี้เจ้าของสวนบอกว่าจบที่100 ตันพอ! (1 แสนกิโลกรัม) ผู้อ่านลองคำนวณรายได้ดูว่าความคุ้มค่าต่อปีที่เสียเวลามาช่างแตกต่างกับรายรับของมนุษย์เงินเดือนแบบเทียบกันไม่ติดเลยใช่ไหม! ขอบคุณลุงอี๊ด-บรรจง บุญวาที เซียนทุเรียนเมืองตราด และลูกชายคนเก่งที่กรุณาร่วมเอื้อเฟื้อข้อมูลที่น่าตื่นใจสำหรับในครั้งนี้เป็นอย่างสูง
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด