จากกระแสทุเรียนฟีเว่อร์ ทำให้ทุเรียนพื้นบ้านที่มีจำนวนนับสิบ นับร้อยสายพันธุ์ที่ไม่เคยมีให้ใครให้ค่า กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้แหล่งปลูกทุเรียนที่มีมาช้านาน ถือเป็นกำเนิดการปลูกทุเรียนในประเทศไทยก็ว่าได้ ทำให้มีทุเรียนพื้นบ้านสายพันธุ์ต่างๆมากมาย บางต้นอายุนับร้อยปี เมื่อช่วงอดีตที่ทุเรียนราคาถูกมีการตัดโค่นทิ้งกันไปเยอะมาก วันนี้ จากกระแสทุเรียนฟีเว่อร์ แนวคิดการอนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านมีความเป็นไปได้สูง ด้วยเหตุนี้ จึงได้เป็นที่มาของ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากทุเรียนพื้นบ้าน “ทุเรียนเคี้ยวหนึบ” ครั้งแรกประทศไทย สานฝันความตั้งใจ ของสองสามีภรรยา “นูรีมา ซู” และ “ราชัน แวมายิ”
อนุรักษ์ทุเรียนพื้นบ้านของภาคใต้
นางสาวนูรีมา ซู กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี แอนด์ เอ็ม โกลด์ ฟรุ๊ต จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียนจากทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านจังหวัดนราธิวาส และยะลา เล่าว่า ตนเองและสามี “นายราชันย์ แวมายิ” ได้เปิดโรงงานทุเรียนแช่แข็ง และทุเรียนกวนมาได้ประมาณ 5 ปี โดยเลือกทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านมาใช้สำหรับการแปรรูปในครั้งนี้ จุดประสงค์ส่วนหนึ่ง คือ ต้องการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับทุเรียนพื้นบ้าน เนื่องจากเดิมในจังหวัดนราธิวาส และยะลา ซึ่งมีทุเรียนที่เรียกว่าสายพันธุ์พื้นบ้านอยู่เป็นจำนวนมากนับเป็นสิบๆสายพันธุ์
โดยบางสายพันธุ์ก็สามารถทำราคาได้ แต่ในขณะเดียวกันมีบางสายพันธุ์ไม่ได้รับความนิยมและขายไม่ได้ เนื่องจากมีเนื้อน้อยเม็ดใหญ่ ด้วยตนเองเป็นคนในพื้นที่อยากจะอนุรักษ์ทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านเหล่านี้ไว้ เพราะบางต้นอายุนับร้อยปี ให้ยังคงอยู่เป็นสมบัติลูกหลาน แม้ว่าทุเรียนพื้นบ้านเหล่านี้จะมีเนื้อน้อย แต่มีข้อดีที่เหมาะแก่นำมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวนเพราะให้กลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของทุเรียน และรสชาติที่หวานหอม
“พอได้นำทุเรียนพื้นบ้านเหล่านี้ มาเพิ่มมูลค่าช่วยให้เกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนก็ไม่ต้องตัดต้นทุเรียนทิ้ง ไปปลูกอย่างอื่น ๆ ปกติทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านเหล่านี้ อยู่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษ ถ้าตัดทิ้งไปก็น่าเสียดาย พอนำมาแปรรูปช่วยระบายผลผลิตทุเรียนช่วยชาวบ้านเจ้าของทุเรียนมีช่องทางการขายและมีรายได้เข้ามาเพิ่มขึ้นด้วย”
ราคาทุเรียนพื้นบ้านขายกันราคาเท่าไหร่
สำหรับราคาทุเรียนพื้นบ้านนราธิวาส และยะลา ขายกันที่กิโลกรัมละ 20บาท ไปจนถึง 40 บาท ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย ราคาตรงนี้เป็นราคาทุเรียนที่สุกจัดคาต้น ไม่เหมาะกับการนำไปกินสด ก็จะราคาประมาณนี้ เมื่อเทียบกับทุเรียนสดที่ขายตามท้องตลาดในราคาปัจจุบันหลายคนอาจจะมองว่าเป็นราคาที่ถูก หรือเมื่อเทียบกับราคาสายพันธุ์หมอนทองที่สุกจัดหลายคนก็มองว่าถูกกว่า แต่ในความเป็นจริงเป็นราคาที่แพงกว่า เนื่องจากเป็นทุเรียนที่มีเนื้อน้อย ซึ่งทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ได้เนื้อทุเรียนที่นำมากวนได้เพียง 12 – 15 กิโลกรัมเท่านั้น ในขณะที่ทุเรียนหมอนทองที่สุกจัด อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 35-50 บาท แต่ใน 100 กิโลกรัมได้เนื้อทุเรียนมากถึง 25-30 กิโลกรัม หมอนทองได้เนื้อที่เยอะกว่า แต่การที่ยังคงเลือกทุเรียนพื้นบ้าน เพราะเหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้น และด้วยเอกลักษณ์ทุเรียนพื้นบ้านเมื่อนำมาแปรรูปได้รสชาติที่ถูกปากคนที่ชื่นชอบการกินทุเรียนกวน
นูรีมา กล่าวถึงการนำทุเรียนพื้นบ้านมาแปรรูปไม่ว่าจะเป็นทุเรียนกวน ทุเรียนแช่แข็ง และ ตัวใหม่ล่าสุด อย่าง ทุเรียนเคี้ยวหนึบ ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่ทุเรียนได้รับความนิยมมาก เราแทบจะไม่ต้องทำการตลาดอะไรเลย แปรรูปออกมาเท่าไหร่ก็สามารถขายได้ไหมหมด แต่มีข้อเสีย พอทุเรียนได้รับความนิยมมาก ความต้องการของตลาดมีมากราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ราคาทุเรียนสุกจัดที่นำมาใช้ในการทำทุเรียนแปรรูปมีการปรับราคาขึ้นไปในทิศทางเดียวกับทุเรียนสด ทำให้เราต้องปรับราคาขึ้นตามไปด้วย การปรับตัวของเราก็คงต้องหันไปทำตลาดในต่างประเทศมากขึ้น เพราะได้ราคากว่าการขายในประเทศ
โรงงานผลิตขนมชื่นชอบทุเรียนพื้นบ้าน กลิ่นชัดเจน
สำหรับกลุ่มลูกค้าของเราเดิมตอนเปิดโรงงานใหม่ อาศัยช่องทางออนไลน์ ขายแบบ B TO C แต่พอผ่านมาระยะหนึ่งคนเริ่มรู้จักมากขึ้น และได้ไปออกบูทในงานกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ อย่าง งาน Thai Fex ทำให้เราได้ลูกค้าที่เป็น B TO B ที่ต้องการทุเรียนเพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมทำขนมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขนมไหว้พระจันทร์ หรือ เบเกอรี่ ขนมไทย ฯลฯ พอได้ลูกค้ากลุ่มนี้มา สินค้าของในกลุ่มทุเรียนกวน แทบจะไม่ได้ขายแบบ B TO C เลย
โดยลูกค้าในกลุ่ม B TO B ค่อนข้างจะชื่นชอบกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์และรสชาติของทุเรียนพื้นบ้าน ในขณะที่ผู้ผลิตทุเรียนกวนพื้นที่อื่นๆ ก็จะใช้หมอนทองเป็นหลัก เป็นเหตุผลที่ลูกค้ายังคงเลือกทุเรียนกวนจากโรงงานของเรา และเราก็เป็นทุเรียนกวนที่ใช้เนื้อทุเรียนแบบ 100% ซึ่งตรงนี้ ลูกค้ายังเลือกได้อีกว่าต้องการทุเรียนกวนแบบ 100% หรือ ต้องการเปอร์เซ็นต์ของทุเรียนลดลง ทางโรงงานของเราก็สามารถจัดให้ได้หมด ในส่วนของทุเรียนแช่แข็ง ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดส่งไปขายประเทศจีน
ทุเรียนเคี้ยวหนึบ นวัตกรรมช่วยการกินทุเรียนกวนง่ายขึ้น
นูรีมา เล่าถึงสินค้าตัวใหม่ที่ตนเองได้พัฒนา ออกมาจำหน่ายประมาณ 2 ปี นั่นคือ ทุเรียนเคี้ยวหนึบ โดยจุดประสงค์ของการทำทุเรียนเคี้ยวหนึบ ในครั้งนี้ ก็เป็นทางเลือกให้กับคนที่ชื่นชอบทุเรียนกวน แต่ไม่ชอบที่ทุเรียนกวนชิ้นใหญ่เวลากินก็ลำบาก และเทคเจอร์เนื้อสัมผัสของทุเรียนกวนที่หลายคนอาจจะไม่ชอบ เราก็เลยพัฒนาโปรดักส์ ทุเรียนเคี้ยวหนึบ ออกมาเพื่อตอบโจทย์เพลนพ้อยท์ ดังกล่าว โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการดึงน้ำออกจากเนื้อทุเรียนให้ได้มากที่สุด แต่ยังคงกลิ่น และรสชาติให้ยังคงอยู่แบบ 100% และออกแบบมาให้เป็นชิ้นเล็ก ง่ายต่อการกิน และยังคงการใช้เนื้อทุเรียนพื้นบ้านแบบ 100% มีส่วนผสมของน้ำตาลเพียงแค่ 2%
ปัจจุบันทุเรียนเคี้ยวหนึบ จะมีว่างจำหน่ายอยู่ในโมเดิร์นเทรด อย่าง TOP SUPERMARKET และ แฟมิลี่มาร์ท ทุกสาขา โดยมียอดขายอยู่ที่ 1ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา โดยเพิ่งเริ่มทำตลาดมาได้แค่ประมาณ 2 ปี ยังไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก ในอนาคตอันใกล้นี้ มีแผนจะเปิดตลาดทุเรียนเคี้ยวหนึบให้มีคนรู้จักมากขึ้น และในช่วงนี้กระแสทุเรียนฟีเว่อร์ส่งให้ยอดขายของเราเพิ่มขึ้นได้ ถ้ามีการวางแผนการตลาดดี และมีคนรู้จักทุเรียนเคี้ยวหนึบมากขึ้น ส่วน ในอนาคตอันใกล้นี้ มีแผนจะนำไปวางขายในร้านขายของฝากในพื้นที่ภาคใต้ เช่น ภูเก็ต ฯลฯ และมีแผนจะส่งออกไปขายที่ประเทศจีน และประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่ชื่นชอบการกินทุเรียน โดยราคาขายปลีกบรรจุในซองๆละ 49 กรัม ในราคา 49 บาท ในส่วนรายได้ของเราส่วนใหญ่ยังคงมาจากทุเรียนแช่แข็ง ประมาณ 23 ล้านบาท ต่อปี รองลงมาเป็นทุเรียนกวน 3 ล้าน โดยสินค้าของเราส่งออกเกือบ 100 % ประเทศที่ส่งออกไปขาย เช่น จีน ไต้หวัน เกาหลี และอเมริกา ฯลฯ
มารู้จักที่มา “ทุเรียน” ราชาผลไม้จากปท.ไทย
ท้ายสุดนี้ มารู้จักกับทุเรียนพื้นบ้านของไทย ว่า ตามประวัติของทุเรียนที่ถูกบันทึกไว้ เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการบันทึกไว้โดยคณะทูตจากประเทศฝรั่งเศส เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ ในบันทึกได้มีการพูดถึงเกษตรกรรมของไทย ตอนหนึ่งระบุเรื่องเกี่ยวกับทุเรียน หรือที่ฝรั่งจะเรียนกว่า Durion ดูเรียน ว่า ประเทศไทยมีผลไม้ชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นอันรุนแรง ไม่สามารถทนกลิ่นรุนแรงของทุเรียนได้
จากหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการปลูกทุเรียนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งในปี 2318 มีการกล่าวถึงการแพร่กระจายพันธุ์ของทุเรียน จาก จังหวัดนครศรีธรรมราชมายังกรุงเทพฯ โดยช่วงนั้นทุเรียนพันธุ์ดี 3 สายพันธุ์ คือ อีบาตร ทองสุก และการะเกด และต่อมาก็มีการผสมข้ามสายพันธุ์จนมีทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมากถึง 227 สายพันธุ์จากเอกสารที่รวบรวมได้ แต่อาจจะมีหลายพันธุ์เดียวกัน แต่ตั้งชื่อขึ้นมาใหม่ เช่น การตั้งชื่อตามพื้นที่บ้าง ตั้งชื่อตามชื่อเจ้าของสายพันธุ์บ้าง ฯลฯ
ติดต่อ โทร. 080-711-0432 , 084-861-8109 , 063-585-7123