ในช่วงที่ผ่านมา แม้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะค่อยๆ เติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นการเติบโตเฉลี่ย 3-4 % ต่อปีเท่านั้น และคงอยู่ในระดับนี้มาเป็นเวลากว่า 20 ปี ซึ่งประเทศไทยมีการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะนำเข้าและใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อเพิ่มผลผลิต แม้จะมีการส่งออกที่ดี แต่ยังขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับสูง จึงไม่สามารถยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าได้ ในปัจจุบันการผลิตไทยไม่มีข้อได้เปรียบในเรื่องค่าแรงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นแรงงานที่มีทักษะไม่สูงมาก ไม่สอดคล้องกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีในอนาคต เป็นผลให้ธนาคารโลกประกาศว่า ไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง
ภายใต้บริบทของประเทศที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลางนั้น จึงเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) และหน่วยงานพันธมิตร ในการผลักดันให้เกิดการดำเนินงานตามกรอบนโยบายยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 เพื่อบรรลุเป้าหมายการยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง
เปิด 5 ทิศทางขับเคลื่อนประเทศด้วย อววน.
สำหรับแนวทางในการดำเนินงาน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เผยว่า สอวช. มีเป้าหมายนำเอาการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. มาขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานไว้ 5 ทิศทาง คือ ทิศทางแรก ยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยมีเป้าหมาย 2 ประการคือ เป้าหมายที่ 1 ทำให้คนไทยมีรายได้สูงขึ้น เฉลี่ย 400,000 บาท/คน/ปี เป้าหมายที่ 2 การกระจายรายได้ให้ทั่วถึง ซึ่งวิธีการขับเคลื่อนเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายจะต้องเน้นเรื่องของการพัฒนานวัตกรรม คือการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจฐานนวัตกรรม หรือ Innovation Driven Enterprise (IDE) โดยเน้นการพัฒนามาตรการและกลไกส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจนวัตกรรม สู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดผ่านกลไกสำคัญ เช่น การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ในภูมิภาค การส่งเสริมศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและ การส่งเสริมการจัดตั้ง Holding Company ของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมและ Deep-tech Startups รวมถึงการปลดล็อกให้หน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะองค์การมหาชนในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้จริง
หนุนสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม 1,000 ราย เพิ่มรายได้ประเทศ “1 ล้านล้านบาท”
ดร.กิติพงค์ ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า กลุ่มที่เราเน้นและให้ความสำคัญมากคือ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะเป็นอนาคตของประเทศ เราเห็นจากประเทศต่าง ๆ ที่เขาเรียกกันทั่วไปว่าคือ ยูนิคอร์น ของประเทศไทยเราก็คาดหวังว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะมีจำนวนยูนิคอร์นมากขึ้นจนสามารถสู้สิงคโปร์หรืออินโดนีเซียได้ โดยค่อย ๆ ไต่ระดับขึ้นไป อาจเรียกได้ว่าเป็น โพนี่ ไปก่อน คือ เริ่มจากการสร้างรายได้ 2-3 ร้อยล้านและพัฒนาขึ้นมาเป็น 1,000 ล้าน และขยับขึ้นเป็น 5,000 ล้าน พอถึง 30,000 ล้าน ก็จะถือเป็นยูนิคอร์น ในกลุ่มนี้เราตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการให้ได้ 1,000 ราย โดยมีค่าเฉลี่ยรายได้อยู่ที่รายละ 1,000 ล้าน ก็จะเพิ่มรายได้ให้กับประเทศ 1 ล้านล้านบาท ได้ภายในปี 2570
มหาวิทยาลัยขานรับตั้ง Holding Company ร่วมลงทุนธุรกิจนวัตกรรมและการวิจัย
ดร.กิติพงค์ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมให้เติบโตแบบก้าวกระโดด จะส่งเสริมให้จัดตั้ง Holding Company ในมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย โดยมีสถานะเป็นนิติบุคคลให้สามารถร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมได้ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดตั้งบริษัท ชื่อว่า บริษัท ซี ยู เอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด (CU Enterprise) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง Deep-Tech Startup ต่อยอดงานวิจัยที่มีอยู่ในคณะต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย และส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่สังคม โดยดำเนินงานร่วมกับศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) ในการให้คำแนะนำบ่มเพาะผู้ประกอบการ (Entrepreneurship Development) ระดมทุน (Accelerate) รวมทั้งร่วมลงทุนในบริษัทสปินออฟ (University Spin-offs) ที่ดำเนินงานโดยคณาจารย์และนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ทอัพ 354 ทีม และมีบริษัทสปินออฟเกิดขึ้นแล้ว จำนวน 100 บริษัท สร้างมูลค่าทางการตลาด กว่า 22,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการรวมตัวกันของนักวิจัยก่อตั้งชมรม Club Chula Spin-off มีสมาชิกกว่า 200 คน ที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือนักวิจัยรุ่นใหม่ที่จะเริ่มประกอบการธุรกิจต่อไป สำหรับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดตั้ง Angkaew Holding Company และบริษัทในเครือ เช่น Angkaew Start up มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวบริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งบริษัทร่วมทุนสตางค์ จำกัด (STANG Holding Company) เพื่อร่วมทุนในผลงานวิจัยที่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้จัดตั้ง บริษัท เคยูนิเวิร์ส จำกัด เป็นต้น
ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
ทิศทางที่ 2 การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและลดความเหลื่อมล้ำด้วย อววน. ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า สอวช. จะเน้นการออกแบบกลไกสนับสนุนการยกสถานะทางสังคมของคนหรือครัวเรือน ในประชากรฐานราก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเยาวชน ให้มีหลักประกันโอกาสทางการศึกษาและเข้าสู่เส้นทางอาชีพ โดยการพัฒนา Inclusive Higher Education Platform เพื่อให้มีโอกาสใช้ประโยชน์ หรือเข้าถึงการอุดมศึกษาที่เหมาะสม อีกกลุ่มคือ คนวัยทำงาน ให้สามารถเข้าถึงตำแหน่งงานทักษะกลาง-สูง โดยเน้นยกระดับศักยภาพแรงงานเชื่อมโยงสู่การจ้างงาน โดยใช้กลไกการพัฒนากำลังคน Reskill/Upskill Account เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรค่าตอบแทนสูงหรือ Premium Workers รวมทั้งกระตุ้นการจ้างงานแรงงานกลุ่มฐานรากผ่านการอุดหนุนค่าจ้าง ค่าใช้จ่ายในการอบรม ร่วมกับภาคเอกชน และกลุ่มสุดท้ายคือ ผู้ประกอบการชุมชน โดยส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการชุมชน สร้างเครือข่ายที่มีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนศึกษาแนวทางการขยายพื้นที่ดำเนินงานในระดับจังหวัด กลุ่มจังหวัด และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
“ตลาดวัฒนธรรม” กระจายรายได้สู่ชุมชน
ดร.กิติพงค์ เล่าให้ฟังว่า ในส่วนของเศรษฐกิจฐานราก มีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่จะทำให้คนในจังหวัดที่อยู่ในระดับยากจนสามารถยกระดับขึ้นด้วยตัวของเขาเอง โดยเอามหาวิทยาลัยมาเป็นพี่เลี้ยง นำเอางานด้านความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ เข้าไปหนุนในการพัฒนาอาชีพ ซึ่งเมื่อเราเอานวัตกรรมใส่ลงไป สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คุณภาพสินค้าเกิดการพัฒนาขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เสื่อกระจูด จากเดิมราคาเสื่อผืนละ 100-150 บาท พอเอานักออกแบบลงไปช่วยพัฒนาให้เป็นกระเป๋าส่งไปขายในห้างสรรพสินค้า ขายในตลาดวัฒนธรรม ราคาเพิ่มขึ้นถึง 3,000-5,000 บาทต่อใบ เป็นต้น การนำเอาวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทำเป็นตลาดวัฒนธรรมเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นเข้ามา ประชาชนที่ผลิตสินค้าพื้นเมืองก็สามารถขายได้ มีเงินหมุนเวียนและกระจายรายได้สู่ชุมชน อย่างตลาดวัฒนธรรมที่ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช จัดตลาดครั้งหนึ่งมีเงินหมุนเวียนประมาณ 500,000-600,000 บาท ถึงตอนนี้จัดกันมาเกือบสองร้อยครั้ง เพราะฉะนั้นเงินหมุนเวียนในพื้นที่ก็อยู่หลักร้อยล้านบาทแล้ว ซึ่งตลาดวัฒนธรรมในลักษณะนี้ ที่ผ่านมา บพท.ได้ดำเนินการให้เกิดขึ้นไปแล้วประมาณ 50- 60 จังหวัด
ลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์
สำหรับ ทิศทางที่ 3 ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์หรือเทียบเท่า โดย สอวช. ได้ส่งเสริมผู้ประกอบการให้ปรับตัวตามเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและสอดคล้องกับมาตรการของนานาชาติ โดยตั้งเป้าหมายการทำงาน “50% ของบริษัทส่งออกบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมีแผนสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions)” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน ผ่านการสร้างเมืองต้นแบบที่ จ.สระบุรี ให้เป็นจังหวัดต้นแบบที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม คือ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย ส่วนราชการองค์กรปกครองท้องถิ่นและภาคประชาชน สร้างระบบเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศน์ พัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว การเกษตรที่ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการทำงานของวิสาหกิจชุมชน ถ้าทำที่จังหวัดสระบุรีได้ ต่อไปก็สามารถขยายผลไปพื้นที่อื่น ๆ ได้เช่น อ.แม่เมาะ และพื้นที่ EEC เช่น จ.ระยอง เป็นต้น อีกแนวทางหนึ่ง คือ การพัฒนาให้เกิดมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green Campus) พัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยในบทบาทผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Service Provider) สนับสนุนการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของภาคส่วนต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือของมหาวิทยาลัยในการลดก๊าซเรือนกระจกภายในมหาวิทยาลัย และขยายการให้บริการออกไปสู่สังคมด้วย
“สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ต้นแบบความร่วมมือในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม
“ในมุมของ สอวช. เราทำ 2 อย่าง อย่างที่หนึ่ง คือ เราลงไปดูเป็นรายพื้นที่ ที่เราเรียก Area-Based ปัจจุบันเราเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการซีเมนต์ไทยที่ จ.สระบุรี เราก็เอาสิ่งที่เป็น อววน. เข้าไปหนุนเขา ส่งทีมงานเข้าไปช่วยทำเรื่องแผนที่นำทางด้านเทคโนโลยี เข้าไปดูเรื่อง Energy Transition ก็คือการเปลี่ยนรูปแบบพลังงานที่จะใช้ แรวมถึงดูเรื่องของกระบวนการภายในภาคอุตสาหกรรมว่าถ้าจะปรับระบบการผลิตต่าง ๆ จะสามารถผลิตด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดขึ้นได้อย่างไร และมีหน่วยงานสนับสนุนการวิจัยในการสร้างนวัตกรรมเข้าไปร่วมด้วย ตอนนี้เริ่มที่ จ.สระบุรี ซึ่งเวลาที่เราทำตามรายจังหวัดแบบนี้ เราไม่ได้ดูเฉพาะอุตสาหกรรมแต่ดูเรื่องของภาคชุมชนและภาคเกษตรควบคู่ไปด้วย อย่างภาคเกษตรเรามีหน่วยงานที่เรียกว่า บพท. เข้าไปสนับสนุนเกษตรกรในการเพาะปลูกพืชด้วยระบบใหม่ ๆ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ก็ไปช่วยเรื่องการนำเทคโนโลยีที่จะสามารถนำมาช่วยเรื่องการจัดการขยะแบบครบวงจร มีการดึงประชาชนในพื้นที่มาทำงานร่วมกัน ทำแบบมีส่วนร่วม และสร้างความตระหนัก ทำให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อย เมื่อเรามีจังหวัดต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ อนาคตการขยายโมเดล “สระบุรีแซนด์บ็อกซ์” ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก” ดร.กิติพงค์ กล่าว
เพิ่มแรงงานทักษะสูง 25% ในปี 2570
ทิศทางที่ 4 สัดส่วนแรงงานทักษะสูง เพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปี 2570 ดร.กิติพงค์ ให้ความเห็นว่า สอวช. ได้ออกแบบระบบสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์ม Upskill/Reskill/New Skill (URN) : STEM One Stop Service (STEM-OSS) ระบบการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศไทย (E-Workforce Ecosystem (EWE) Platform) ที่เป็นตัวกลางสำคัญในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสำคัญด้านกำลังคนสมรรถนะสูง เพื่อต่อยอดและนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการพัฒนากำลังคนของประเทศ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและอุตสาหกรรมในอนาคต ปีที่ผ่านมาแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนที่สอวช.จัดตั้งขึ้น โดยมีกรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 250% มีบุคลากรภาคอุตสาหกรรมผ่านหลักสูตร Reskill/Upskill มากกว่า 50,000 คน และเกิดการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกว่า 50,000 คน ปีนี้มีเป้าหมายพิจารณาเพิ่มเป็น 100,000 คน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำมาตรการส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง รวมทั้งพัฒนาข้อเสนอกลไกการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศด้วย
จับมือเอกชนพัฒนาหลักสูตรระยะสั้นป้อนตลาดแรงงาน
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินงาน ดร. กิติพงค์ กล่าวว่า “ในส่วนของบัณฑิตจบใหม่เพื่อให้มีทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของบริษัทที่จะจ้างงาน สอวช. มีแนวทางการเข้าไปหารือร่วมกับบริษัทเอกชนว่าต้องการบัณฑิตที่มีคุณสมบัติเช่นไร แล้วนำมาออกแบบเป็นหลักสูตรระยะสั้น อีกทั้ง ขณะนี้ สอวช. ได้ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวง อว. (สป.อว.) สนับสนุนให้เกิดการปลดล็อกข้อจำกัดในการจัดการศึกษาด้วยการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ต่างไปจากมาตรฐานเดิม ผ่านการทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ ตัวอย่างเช่น หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ เป็นหลักสูตรทดลอง ที่เราจะคุยกับผู้ประกอบการเลยว่าเขาต้องการบัณฑิตที่มีคุณสมบัติอย่างไร เราก็มาจัดการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ตั้งแต่เรียนปีที่ 1 เพราะฉะนั้นนิสิต นักศึกษาไม่ต้องมานั่งเรียนถึง 4 ปี แล้วค่อยออกไปทำงานเหมือนคนรุ่นก่อนแล้ว แต่ว่าจบปี 1 ออกไปได้ประกาศนียบัตรรับรองก็สามารถออกไปทำงานแบบเต็มเวลาได้เลย เช่น ออกไปเป็นนักพัฒนาเว็บไซต์ (Full Stack Developer) ถ้าอยากกลับมาเรียนเพื่ออัปเลเวล ก็กลับมาเรียนเพิ่มเติมในรูปแบบโมดูล เพื่อพัฒนาไปเป็นนักวิศวกรข้อมูล (Data Engineer) โดยปีนี้เพิ่งเริ่มหลักสูตรเป็นปีแรก รับเด็กเข้ามาเรียนแล้ว 300 คน ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและสร้างให้เกิดนวัตกรรมการจัดการศึกษาใหม่ ที่ได้ประโยชน์ทั้งผู้ประกอบการ และผู้เรียนไปพร้อมๆ กัน”