“ถ้าภูมิใจจริง ๆ ผมภูมิใจกับลูกค้าที่เขาเป็นเอฟซีมากกว่า แบบเป็น brand loyalty ผมไปเจอเขาแล้วเขาก็บอกว่าเขาติดตามผมตั้งแต่ผมเริ่มทำเสื้อสีพื้นแรก ๆ แล้วเขาก็ติดตามผมมาเรื่อย ๆ เก็บทุกคอลเล็กชันผมก็แบบเออดีใจนะที่มีคนติดตามเรามาที่ชอบแบรนด์เราขนาดนี้”
จบกราฟิกดีไซน์จาก มศว.ประสานมิตร เริ่มต้นธุรกิจนี้ตอนเรียนอยู่ปี2 “ออดี้-ณพวัฒน์ ฉัตรเกศแก้ว”ปัจจุบันอายุ 27 ปีเป็นเจ้าของธุรกิจเสื้อผ้าสตรีทแวร์แบรนด์ “VELIKA”บอกกับเราว่า ความสนใจเรื่องการออกแบบน่าจะถูกจุดประกายขึ้นช่วงที่ตนเองยังเรียนอยู่มัธยมฯ ตอนนั้นเวลามีงานกีฬาสีของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนซึ่งก็มักจะมีการจัดประกวดออกแบบเสื้อด้วยและตนเองก็ได้ลองออกแบบแล้วส่งเข้าประกวดอยู่หลายครั้งเลย ซึ่งนอกจากได้รับรางวัลแล้วปรากฏว่าเสื้อที่ออกแบบไปยังมีการผลิตจริงและให้นักเรียนในโรงเรียนได้ใส่กันจริง ๆ ด้วยนะ ก็ทำให้ตัวเองรู้สึกว่าชอบการออกแบบ แล้วพอมาสอบเรียนต่อเข้ามหาวิทยาลัยได้จึงไม่ลังเลที่จะตัดสินใจเลือกเรียน “กราฟิกดีไซน์” มศว.ประสานมิตร เพราะว่ามันตรงสายเลย
“เริ่มจริง ๆ ก็คือตอนปี 2 เลย ตอนปี 2 เนี่ยก็จะเริ่มทำจากเสื้อเพลย์ ๆ เลยครับ เสื้อสีพื้นธรรมดาเลย ก็ตอนนั้นช่วงนั้นขายแค่ตัวละประมาณ 350 กว่าบาทเองครับก็จะมี ก็เป็นเสื้อ oversize เนี่ยแหละแต่เป็นสีเรียบ ๆ เลยทำออกมา 5 สีแล้วก็ลองตลาด ขายดูก่อนว่า จะขายได้มั้ยเพราะว่า ช่วงนั้นเนี่ยยังไม่มีคู่แข่งผมก็ค่อนข้างมั่นใจด้วยคนน่าจะสนใจ คนน่าจะสนใจเยอะครับ ก็เลยทำออกมาก่อนปึ๊บทำออกมาล็อตแรกก็ได้ผลตอบรับดีครับ ก็เลยทำไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มขยายไซซ์ขึ้นบ้าง ขยายสีขึ้นบ้าง ก็จะประมาณนี้ครับขยายไซซ์ขยายสี เพื่อให้ตอบรับความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น”
คลิกไอเดียมาจากเสื้อ oversize เริ่มทำขายก่อน เปิดตลาดเป็นเจ้าแรก ๆ
สตรีทแวร์จริง ๆ มันก็จะเป็นอารมณ์ประมาณที่ เป็นเสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้ daily use เป็นเสื้อผ้าที่เริ่มใส่กันตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ก็ยังมี ก็จะเป็นแนวเท่ ๆ หน่อยออกวัยรุ่น บางทีอาจจะเป็นแนวฮิปฮอป บางทีอาจจะเป็นแนวเกาหลีที่แบบทรงเสื้อใหญ่ ๆ แล้วก็มีลายพวกสตรีท ๆ เท่ ๆ ประมาณนี้
“จริง ๆ ณ เวลานั้นที่ผมเริ่มทำแรก ๆ เนี่ยเสื้อผ้าทรง oversize เนี่ยจริง ๆ นำเข้ามาจากแบรนด์ ๆ หนึ่งจากประเทศเกาหลีครับ ซึ่งตอนนั้นที่เสื้อผ้าทรงนี้เข้ามาเนี่ยจริง ๆ ต้องบอกเลยว่ายังไม่มีขายในไทยเยอะมาก แทบจะไม่มีเลย ต้องหานำเข้าจากแบรนด์ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ครับ ซึ่งผมก็คิดว่าอันเนี้ยแหละน่าจะเหมาะกับคนไทยและก็คนไทยใส่แล้วมันก็เท่ คนเอเชียใส่ที่แบบคนเอเชียจะมีไซซ์ตัวที่ค่อนข้างเล็กกว่า ซึ่งการใส่เสื้อที่ไซซ์ใหญ่กว่าตัวเองเนี่ยจะทำให้ตัวเองเนี่ยดูตัวใหญ่ขึ้นและก็ดูดีขึ้น และก็เขาเรียกว่าโครงสร้างของตัวเนี่ยสมบูรณ์ขึ้นครับ ก็จะทำให้คนใส่นี่ดูดีขึ้นด้วย”
มันคือการที่ตัดไซซ์ซิ่งที่ตัวใหญ่กว่า เพื่อให้คนใส่ดูดีขึ้นในไซซ์ซิ่งที่พอดีกับตัวคนใส่ ก็เหมือนคล้าย ๆ ที่ตัดเผื่อมาไว้แล้ว อันนี้ก็คือผ่านกระบวนการคิดไว้แล้วถ้าคนไซซ์ตัวประมาณนี้นะ ใส่เพิ่ม/บวกประมาณนี้ ก็จะดูดีขึ้น
จากทุนเพียง 5,000 บาท ปั้นแบรนด์ “VELIKA” มากับช่างผ้าคู่ใจ
“ใช้ชื่อ VELIKA ตั้งแต่แรกเลยครับ แล้วก็ใช้ยาวมาจนถึงทุกวันนี้เลย จริง ๆ VELIKA เนี่ยมันเป็นภาษาสโลวิกแปลว่า ยิ่งใหญ่ ครับซึ่งผมเห็นว่าคำนี้มันมีความหมายดีเท่ดีและก็ ฟังแล้วดูแบบเออเท่ดีนะน่าจะคล้าย ๆ แบรนด์นอกเลยอะไรเงี้ย(หัวเราะ) ผมก็เลยเอามาเป็นชื่อแบรนด์ตั้งแต่แรกเลย”
ซึ่งจริง ๆ ตอนที่เริ่มด้วยทุน 5,000 บาท จากที่ยืมพ่อด้วยซ้ำ ประมาณนี้และก็จาก 5,000 บาท ก็เริ่มไปศึกษาหาข้อมูลว่าแพทเทิร์นตัวไหนสวย แพทเทิร์นตัวไหนดีใส่ยังไงต้องสวย แล้วก็ต้องใช้/เลือกผ้าอะไรถึงแบบจะเหมาะกับสภาพประเทศไทยที่มันค่อนข้างร้อน มันก็จะเป็นหนึ่งตัวเลือกแล้วว่าเราต้องเลือกผ้าให้เหมาะ แล้วก็ไซซ ์ซิ่งต้องสวย อันนี้ก็คือจุดเด่นที่ทำตั้งแต่แรกแล้วก็ทำให้ขายออกมาได้เรื่อย ๆ
การผลิตตอนแรกค่อนข้างง่าย ก็คือผลิตแพทเทิร์นออกมาก่อน ได้แบบเสื้อแล้ว
“พอได้แบบแล้วเนี่ยก็จริง ๆ ตอนนั้นน่ะผมไปเดินหาตามแถวโซนพระราม2 เลยนะ ว่ามีช่างเย็บตรงไหนเก่ง ๆ บ้าง แต่จริง ๆ มันจะไม่ได้เป็นโรงงานที่แบบสวยหรูหรือว่า one stop แบบที่ใครเคยเห็นนะครับ มันจะเป็นอารมณ์แบบชาวบ้านเขามาเย็บกันอะไรเงี้ยผมก็เดินเข้าไปถามว่า พี่ครับเขารับเย็บมั้ยรับเย็บเสื้อมั้ย โอเคเราก็เริ่มดิวงานไปเรื่อย ๆ จนกว่าเขาจะทำตามสเป็กตรงที่ตามเราต้องการได้ครับ แล้วเขาก็ทำออกมาให้ตัวหนึ่งก่อนเราก็ approve แบบ ว่าแบบนี้ดีมั้ย สุดท้ายก็ผ่านซึ่งทุกวันนี้ยังทำกับเจ้านั้นเรื่อย ๆ เลยครับ”
แต่ถ้าเป็นโรงงาน OEM หรือโรงงานที่เป็นแบบ one stop service เขาจะมีขั้นต่ำที่ค่อนข้างสูง อย่างเช่นถ้าสมมุติว่าอยากทำ 1 ตัว เขาก็จะกำหนดมาแล้วว่า 1 ตัวทำได้แค่ 1 สีนะ 1 สีก็คือขั้นต่ำ 100 ตัว และก็กระจาย/เกลี่ยไซซ์ได้ แต่ก็ต้องทำ 1 ลาย ก็แสดงว่า 1 ลายทำได้แค่ 100 ตัวแล้วก็สีเดียว
“ซึ่งถ้าสมมุติว่าเราควักเงินมาเองเนี่ย เราสามารถกำหนดแบบได้ ว่าเราอยากทำสีอะไร ไซซ์อะไร กี่ลาย ขั้นต่ำมันก็ต่ำลงมาเรื่อย ๆ แล้ว เราก็จะใช้ cost การผลิตที่ค่อนข้างน้อยกว่า ก็ทำให้ตรงนี้สามารถทำให้ผมเริ่มต้นได้จากเงินแค่ประมาณ 5,000-6,000 บาทครับ และก็ทำให้เงินก้อนนั้นเนี่ยงอกเงยมาเรื่อย ๆ แล้วก็เอาไปต่อยอดธุรกิจได้ครับ”
ตลาดเสื้อสีพื้นเริ่มมีคู่แข่ง พลิกแพลงสู่ “ลาย” เอกลักษณ์เฉพาะ
ถ้าใช้คำว่าติดตลาดอาจจะต้องใช้คำว่า ประมาณ 2 ปีถึง 3 ปีเลย เพราะว่าก็ต้องทำให้ลูกค้ารู้จักแบรนด์เราให้มากก่อน ตอนที่เริ่มทำประมาณ 1-3 ปีจะขายแต่เสื้อเปล่ามาตลอดเลย ตอนแรกก็เก็บฐานลูกค้าไว้ก่อนว่าเราขายเสื้อเปล่านะแต่เสื้อเปล่าของเราก็มีคุณภาพดี ภายใน 1-3 ปีได้ลูกเพจมาประมาณ 3 หมื่นกว่าคน
“หลังจากนั้นผมก็เริ่ม มันเริ่มมีคู่แข่งเยอะขึ้นแล้วครับ มันมีคู่แข่งที่แบบทำเสื้อสีพื้นเนี่ยออกมาค่อนข้างเยอะ แล้วผมรู้สึกว่าถ้าผมอยู่ตรงนี้ผมจะก้าวต่อไปไม่ไหวแล้ว ผมก็เลยเลือกที่จะออกแบบ “ลาย” ต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองเข้ามาใส่ประกอบกับเสื้อผ้าของเรา ทำให้เสื้อผ้าของเราเนี่ยมีแบรนด์ที่แบบ ค่อนข้างที่จะ ใช้คำว่าภาพลักษณ์ที่ดูดีขึ้น ประมาณนี้ครับ ผมก็สามารถที่จะอัพราคาที่เพิ่มขึ้นได้ด้วย แต่ก็ไม่ได้อัพแค่ราคาอย่างเดียวในคุณภาพก็อัพขึ้นมาด้วยครับ เราก็เลือกใช้ผ้าที่ดีขึ้น ไซซ์ซิ่งก็คัทให้มันละเอียดขึ้น ทำให้คนใส่ดูดีขึ้นได้ด้วย”
หลังจากที่ทำให้เสื้อผ้าของตัวเองติดตลาดแล้ว ก็เริ่มมีการวางขายใน “หน้าร้าน” ต่าง ๆ อย่างเช่นหน้าร้านที่สยามฯ ตอนนี้ก็กระจายไปค่อนข้างทั่วไทยแล้ว มีประมาณ 11-12 หน้าร้าน ที่ลูกค้าสามารถเข้าไปซื้อได้
“ช่วงแรกเนี่ยผมจะ มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่แบบโดดเด่นมากก็คือ ป้ายเสื้อเนี่ยผมจะทำที่เป็นคล้าย ๆ แบบป้ายเสื้อที่มาปักข้างหลังน่ะครับ ซึ่งอันนั้นเนี่ยยังไม่เคยมีใครทำเลยแล้วผมก็เริ่มทำตั้งแต่แรก แล้วบางคนเห็นเนี่ยก็จะจำได้แล้วว่าอันนี้เป็นแบรนด์ของเรา เพราะว่ามันไม่มีใครเขาทำจริง ๆ มันจะคล้าย ๆ กับใส่เสื้อกลับหลังหรือเปล่าอะไรเงี้ย เพื่อนก็จะแซวมา ก็ค่อนข้างจะโชว์แบรนด์ครับด้านหลัง ด้านหน้าก็ประกอบกับโลโก้เล็ก ๆ ทำให้เคนเห็นแล้วอ้อ! อันนี้ VELIKA”
ส่วนเรื่องของ “ลาย” จริง ๆ ไอคอนหลักของแบรนด์ มีลายอยู่ลายหนึ่งซึ่งเป็นตัววี(V) ด้านหลังตัวใหญ่ ๆ อันนั้นก็จะเป็นลายที่เริ่มทำตั้งแต่แรก จนถึงตอนนี้ก็ยังทำอยู่ ซึ่งก็เอามาอะแด๊ปตามสมัยว่าอยากเปลี่ยนอะไรบ้าง เปลี่ยนให้มันโมเดิร์นขึ้นมั้ย หรือว่าอยากเปลี่ยนสีเปลี่ยนแบบให้มันดูดีขึ้นมั้ย ทำให้มันวาไรตี้มากขึ้นหลากหลายมากขึ้น ทำให้คนเลือกได้ว่าชอบสีนี้ ชอบสีไหน
“จริง ๆ แบรนด์ VELIKA ค่อนข้างคุมโทนครับ ทุกลายเนี่ยผมออกมา ใช้คอนเซ็ปต์เดียวก็คือแบบ ออกมาแล้วมันต้องเท่(หัวเราะ) ออกมาแล้วมันต้องเท่มันต้องสวยอ่ะ ก็คือคอนเซ็ปต์แบรนด์เนี่ยผมคิดในหัวอย่างเดียวเลยว่า ลายนี้ออกมาใส่แล้วมันต้องเท่นะ แนวน่ารัก ๆ ผมอาจจะไม่ได้ทำเท่าไหร่ก็อาจจะไม่ได้ทำเลย ก็เน้นแค่แนวเท่ครับ”
ถ้าถามถึง reference บางทีเวลาไปเห็นรูปภาพอะไรที่มันเท่ ๆ ก็จะจำมาแล้วเราจะอะแด๊ปเป็นแนวไหนได้บ้าง ที่สามารถทำให้เป็นแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์เรา เราสามารถผลิตวางลงบนตัวเสื้อแล้วสวย ใส่แล้วเท่ ก็จะเอามาอะแด๊ป
จับกระแสที่อินเทรนด์ เพิ่มเป็น SKU สินค้าให้มีหลากหลาย
ทาร์เก็ตกรุ๊ปจริง ๆ ของ VELIKA น่าจะเป็นเด็กช่วง ม.ปลาย จนถึงประมาณ 28 ปี ผู้ชาย เป็นทาร์เก็ตกรุ๊ปผู้ชายประมาณ 15-28 ปี ประมาณนี้ ที่สามารถมีกำลังทรัพย์ที่สามารถซื้อได้
“ส่วนใหญ่ทาร์เก็ตจะเป็นผู้ชายครับ เพราะว่าลูกค้าเนี่ยที่เก็บ DATA มาส่วนใหญ่ประมาณ 90% เป็นผู้ชาย ส่วนผู้หญิงเนี่ยก็มีซื้อบ้าง แต่ก็เป็นผู้หญิงที่แบบออกแนวมีสไตล์จัดนิดนึงชอบแต่งตัวเสื้อ oversize ใหญ่ ๆ เท่ ๆ อะไรเงี้ยครับ ก็จะมีเข้ามาบ้างประปรายครับ”
ค่อย ๆ ทำออกมาเริ่มแรกก็เสื้อ และก็กางเกงขาสั้น แล้วก็จะมีหมวก มีกระเป๋า มีรองเท้าแตะ ตอนนี้ก็ค่อนข้างเรียกว่าได้ทั้งตัวแล้ว ทำมาเรื่อย ๆ ค่อย ๆ เดินขึ้นมาทีละสเต็ป แบบเซฟตัวเองนิดหนึ่ง แต่ละอย่างตอนนี้ก็ขายได้เรื่อย ๆ
“ก็มีช่วงหนึ่งที่ “เซิร์ฟสเก็ต” ฮิต ๆ ครับผมก็ทำ เซิร์ฟสเก็ต ออกมาขายได้ผลตอบรับดีมากเลย ผมทำมาตอนแรก 200 ตัวก็ขายหมดเลย 200 ตัว ก็ค่อนข้างดีครับ ก็คิดว่าช่วงไหนฮิตช่วงไหนอะไรฮิต ผมก็จะทำตรงนั้นออกมาขาย แล้วก็ต้องดูด้วยว่าจะได้ผลตอบรับดีมั้ยขายได้หรือเปล่า พอค่อนข้างมั่นใจเนี่ยก็จะไปคุยกับโรงงานแล้วว่าอยากทำอะไรประมาณนี้ เราก็ผลิตออกมาขายได้เลย”
เป็นแบรนด์ไทยน้องใหม่ แต่ทำไมราคาขายจึงแพงได้?
แต่ละ SKU ที่ผลิตออกมา ก็ค่อนข้างเป็นสินค้าที่ค่อนข้างตายตัว ใช้ได้ตลอด มันไม่ใช่ fast fashion แต่มันเป็นแฟชั่นที่สามารถอยู่ได้เรื่อย ๆ ของมัน โดยไม่มีวันตาย เสื้อยืด กางเกงขาสั้น ทรงยังไงก็ทรงอย่างงั้นก็ทำมาเรื่อย ๆ แค่เราอาจจะเปลี่ยน “ลาย” ให้มันทันสมัยหรือว่า ลายคลาสสิคที่มันสามารถอยู่ได้ของมันเรื่อย ๆ
“แป๊กมีบ้างครับ แต่ไม่ถึงขั้นขายไม่ออกเลยครับอาจจะ ขายออกช้าหน่อยอาจจะไม่ได้ขายดีแบบเทน้ำเทท่าอย่างลายอื่น ๆ ลายฮิต ๆ อะไรเงี้ย มันก็จะมีลายที่แบบขายออกช้าบ้างครับ มีครับมี แต่ขายหมดครับ(หัวเราะ)หมดทุกล็อตครับ”
แต่ละครั้งที่พรีเซ้นต์สินค้า ส่วนใหญ่ก็จะมี KOL หรือว่าอินฟลูเอนเซอร์ ที่สามารถช่วยโปรโมตสินค้าให้เราได้ ก็อาจจะเล็ง ๆ บ้างว่าแบบนางแบบคนนี้ดีนะ นายแบบคนนี้ดีนะ สามารถมีเพาเวอร์ที่จะสามารถกระจายสินค้าให้เราได้ ทำให้ลูกค้าสามารถรับรู้ถึงสินค้าที่เราผลิตอยู่หรือว่าออกใหม่ เราอาจจะส่งให้เขาแล้วก็ให้เขาช่วยโปรโมตให้หน่อย แล้วทีนี้ลูกค้าก็จะเห็นสินค้าของเรามากขึ้น
“แต่ส่วนใหญ่ที่ทางร้านโปรโมตเนี่ย จะเป็นการลงโฆษณามากกว่าครับเพราะว่าเน้นเรื่อง “ออนไลน์” ใช่มั้ยครับก็จะมีการลงโฆษณาใน facebook Instagram Shopee อะไรอย่างเงี้ยครับ ส่วนใหญ่หลัก ๆ จะเป็นทางนั้นมากกว่า” ก็จะมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ อย่างเรื่องของ “ราคา”
ตั้งแต่แรกขาย 350 บาท ตอนนี้ก็แบบสตาร์ทก็ประมาณ 790 /890 ไปจนถึงแบบ1,000 กว่าบาท 2,000 บาทก็มี ก็พัฒนาไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ได้พัฒนาแค่ Price อย่างที่บอกก็จะมีพัฒนาเรื่องใส่ใจรายละเอียดในสินค้ามากขึ้น เลือกผ้าให้มันดีขึ้น ทุกอย่างก็คือ Quality แบบดีขึ้นทุกอย่างเลย
“จริง ๆ ลูกค้าเนี่ยมา จากหลายทิศหลายทางเลยก็หลัก ๆ จะมี 3 ส่วนครับ ส่วนแรก ก็มาจากออนไลน์เห็นจากโปรโมต AD ใช่มั้ยครับ เห็นจากในโฆษณาบ้าง อาจจะเห็นจากนายแบบบ้าง อาจจะเห็นจากอินฟลูฯ ที่ผมส่งให้บ้าง อันนี้ก็ลูกค้าอาจจะมาจากทางออนไลน์บ้างครับ สอง ก็จะเป็นส่วนของหน้าร้านครับ ซึ่งอย่างที่บอกว่าหน้าร้านเนี่ยผมฝากขายเกือบ 10 กว่าสาขาตอนนี้ซึ่งถ้าสมมุติว่าลูกค้าเดินเข้ามาเนี่ยแล้วเตะตาแล้วว่าเสื้อตัวนี้อ้าวสวยจัง ไหนลองเข้าไปดู ในเมื่อเขาชอบตัวแรกแล้วเขาซื้อมา ตัวที่สองเขาอาจจะเสิร์ชชื่อแบรนด์ใน IG เราแล้วว่าแบบ ชื่อแบรนด์ชื่ออะไร ตรงนั้นผมก็อาจจะได้มาจากลูกค้าหน้าร้านด้วย สาม ก็จะเป็นลูกค้าที่สัญจรครับ ที่ไปออกบูธเขาก็บางทีเห็นบูธเขายังไม่รู้จักแบรนด์เรา เขาก็เดินเข้ามาก็เห็นว่า เสื้อผ้าเราสวยดีก็เลยซื้อกลับไป แล้วสุดท้ายก็กลับมาซื้ออีกตามออนไลน์บ้างอะไรเงี้ยครับ”
งานดีไซน์ดีแถม Quality ผ่าน! มีดิวงานร่วม “แบรนด์นอก” ลุ้นโกอินเตอร์
ออดี้-ณพวัฒน์ ฉัตรเกศแก้ว เจ้าของแบรนด์แฟชั่นสตรีทแวร์ “VELIKA” บอกด้วยว่า การเลือกใช้วัสดุในการผลิตแต่ละอย่างก็จะเลือกมาให้แบบ ลูกค้าไปจับดูแล้วไม่มาบ่นให้ทีหลังแน่นอน ก็คือเราต้องเลือกให้สมกับราคาที่ลูกค้าต้องจ่ายไป
“รูปแบบจริง ๆ ในตอนนี้ ยังไม่ค่อยมีกำหนดครับ แต่อยากตอนนี้กำลังคิดว่า อยากออกให้เดือนละตัวหรือสองตัวอะไรเงี้ยครับ ต่อ SKU อะไรอย่างเงี้ยครับ อยากออกให้มันเยอะขึ้นเพราะว่าลูกค้าก็มีถาม ๆ มาบ้างว่า ทำไมเสื้อลายใหม่ยังไม่ออกหรอผมก็ (หัวเราะ) บางทีมัน ตามอารมณ์ผมครับ อยากทำก็ทำอยากคิดลายใหม่อยากใส่ ตัวผมจะเป็น ค่อนข้างที่จะแบบคิดว่าผมอยากใส่อะไรผมก็อาจจะผลิตแบบนั้น บางทีหัวตันผมก็ยังไม่ผลิตออกมา ผมก็อือปล่อยลายเดิม ๆ ออกไปขายก่อนอะไรเงี้ยครับ ก็ยังไม่มีกำหนดครับว่าแต่ละตัวเนี่ยออกมา กี่เดือนกี่แบบอะไรเงี้ยครับ”
ณ วันนี้ก็เปิดเป็นบริษัทเรียบร้อยแล้ว ส่วนสายงานการผลิตก็ขยายตามขึ้นมาด้วย จากตอนแรกที่มี “ช่าง” ที่ผลิตอยู่เป็นชาวบ้านที่มาช่วยกันเย็บตอนนี้ก็ขยายไปเป็นอีกเจ้าหนึ่ง อีกเจ้าหนึ่ง ก็กระจายงานตามความเหมาะสมว่า เจ้านี้ทำอะไรเก่ง เจ้านี้ทำอะไร ก็จะกระจายงานกันไป
“ผมก็จะค่อนข้างที่จะผลิตมา ค่อนข้างที่จะพอดีกับให้ส่งหน้าร้านได้ กับเราขายเองได้ ผมก็จะมีขั้นต่ำอยู่ที่ประมาณ “ลาย” ละประมาณเกือบ 300 ตัว ที่สามารถส่งหน้าร้านได้และก็เราขายเองได้ ถ้าสมมุติว่าลายไหนที่มันแบบ ฮิตจริง ๆ เราก็แบบขายหมดเร็ว ผมก็สามารถทำรีสต็อกเพิ่มขึ้นมาแล้วก็ค่อยส่งไปอีกทีได้ครับ ทำให้มันพอดีกับความต้องการดีมานด์ของร้านกับตัวเราเองทำได้ครับ”
โดยส่วนตัวยังมองว่า ณ ตอนนี้ oversize มันยังไปได้เรื่อย ๆ ของตัวมันเองเพราะว่า มันค่อนข้างฮิตมาหลายปีแล้ว และก็ยังไม่เห็นวี่แววว่ามันจะดับเลย คิดว่ามันยังไปได้ต่อของมันเรื่อย ๆ มันเป็นทรงเสื้อที่สวยเลยแหละ แล้วก็คิดว่ามันน่าจะอยู่ยาวได้ไปเรื่อย ๆ เลย ส่วนเรื่อง “คู่แข่ง”ตอนนี้ก็มีเยอะมาก แยกเป็น 2 ประเภทได้เลย คู่แข่งอันแรกก็คือ เสื้อสีพื้น อันนั้นตัวเองก็ออกมาจากวงการแล้ว ไม่นับ อันที่สองก็จะเป็นคู่แข่งที่แบบคล้าย ๆ แบรนด์ VELIKA ซึ่งก็จะมีการเอามาตีแบรนด์ทำ Quality ให้มันดีขึ้น ขายในราคาที่แบบค่อนข้างเกือบสูง ซึ่งอันนี้ก็จะมีหลายแบรนด์อยู่ที่เป็นคู่แข่ง ก็จะมีบางแบรนด์ที่ไปได้บ้างไปไม่ได้บ้างแล้วแต่แบรนด์เลย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพเขาดีกว่าว่าเขาสามารถทำให้มันออกมาแล้ว Quality ดีหรือเปล่า น่าจดจำมั้ย
“แนวโน้มในอนาคตก็มีนะครับ ตอนนี้คิดว่าจะไปตีตลาดต่างประเทศอยู่ครับซึ่งที่ผ่านมาเนี่ยเคยมี ก็มีร้านจากต่างประเทศเนี่ยมารับสินค้าของเราเอาไปขายอยู่เหมือนกัน ก็จะมีสิงคโปร์ เวียดนาม อะไรเงี้ยครับมีบ้างก็มารับ เขาอาจจะเห็นแบรนด์เรามาจากช่องทางไหนผมไม่แน่ใจเพราะผมก็ไม่ได้ถามเขาเหมือนกัน (หัวเราะ) เขาก็เข้ามาใช่มั้ยครับแล้วก็ขอซื้อสินค้าของเรา แบบซื้อขายส่งนะ ราคานี้แล้วเขาก็เอาสินค้าอันนี้กลับไปขายในประเทศของเขา ในร้านของเขา ก็มีมาบ้างครับผมก็คิดว่า ลูกค้าต่างประเทศก็อาจจะมีบ้างครับผมว่าการขยายไปต่างประเทศน่าจะเป็นเรื่องที่ดี และก็ในอนาคตเนี่ยน่าจะมีไปวางขายที่ประเทศเวียดนามด้วยครับตอนนี้ เพราะว่ากำลังมีดิว ๆ งานกันอยู่ ส่วนเรื่องอยากให้ “แบรนด์” โกอินเตอร์มั้ย ก็อยากนะครับเพราะว่าจริง ๆ ตอนนี้ก็มีงาน collab กับการ์ตูนเรื่องหนึ่งอยู่ ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นเรื่องอะไร ก็เป็นการ์ตูนของญี่ปุ่นครับที่ค่อนข้างดังเลยเรื่องนี้ จะมี collab คอลเล็กชั่นกับแบรนด์เราด้วย ยังไงฝากด้วยนะครับ”
ความน่าสนใจอีกอย่างที่อยากจะฝากไว้เผื่อเป็น inspiration ให้กับน้อง ๆ ด้วย ที่นอกเหนือจากเรื่องราวของการก่อร่างสร้างธุรกิจแล้ว ออดี้ยังเล่าให้ฟังว่าแรงจูงใจที่สำคัญอีกอย่างในตอนนั้นขณะที่เรียนอยู่ปี 2 แล้วคิดมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองก็คือว่า อยากจะมี “เงิน” เพื่อมากินมาเที่ยวเพิ่มอีกตามประสาของวัยรุ่นช่วงนั้น เดินสยามหรืออยากจะทำอะไรตามใจ แต่ว่าติดตรงที่เงินค่าขนมจากที่บ้านให้ตอนนั้นได้วันละไม่ถึงร้อยก็เลยต้องคิดหาทางเอง เพียงแค่นี้จริง ๆ ที่คิดทำธุรกิจในตอนนั้น ปัจจุบันออดี้สามารถมีธุรกิจและเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าแฟชั่นสตรีทแวร์ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างเหนียวแน่นจนเรียกได้ว่าถึงขนาดมี Brand Loyalty ที่คอยติดตามเก็บทุกคอลเล็กชั่นของแบรนด์ “VELIKA” อย่างน่าชื่นใจแทนจริง ๆ ขอบคุณเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดี ๆ และประสบการณ์แห่งความสำเร็จที่ให้เกียรติมาร่วมแชร์ในครั้งนี้
สามารถติดตามผลงานได้จาก FB : Velika Clothing IG : VELIKA ADDICTED หรือทุกช่องทางออนไลน์ หรือโทร. 095-415-6395
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด