“ผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่มาอยู่ต่างแดนกว่าจะสร้างแบรนด์ของตัวเองได้แบรนด์หนึ่งปลาว่าไม่สามารถทำได้ทุกคน มีคนอยากทำมากมายแต่ถ้าวันหนึ่งปลาจะต้องปล่อยปลาก็อยากให้เป็นสมบัติของคนไทยมากกว่าที่สืบเนื่องถึงแม้มันยังไม่สำเร็จ 100% แต่เรามั่นใจว่าไม่มีใครเหมือนเราในญี่ปุ่น”
กว่า 37 ปีล่วงผ่านที่ต้องเดินทางติดตามสามีชาวญี่ปุ่นมาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ ในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น “คุณปลา-นัฐธิณี อิชิยาม่า” ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของร้านสโตร์ไทยชื่อว่า “ร้านปลาทอง” Thai Asian Market แหล่งรวมวัตถุดิบอาหารไทยที่ใหญ่และครบครันมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น เป็นที่รู้จักและยังกลายเป็นขวัญใจของแรงงานไทย “คนไกลบ้าน” ที่คิดถึงอาหารไทยก็มีร้านปลาทองแห่งนี้คอยซัพพอร์ตได้เสมอ
คุณปลา เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นที่นำมาสู่ธุรกิจร้านสโตร์ไทยในญี่ปุ่นปัจจุบันนี้สืบเนื่องจาก ตนเองอยากจะทานอาหารไทยซึ่งในสมัยนั้นย้อนหลังไปเกือบ ๆ 30 ปีก่อนมันยังไม่ค่อยมี หรือมีขายก็ราคาแพงมาก อย่างก๋วยเตี๋ยวชามหนึ่งตอนนั้นราคากว่า 1,500 เยนซึ่งสำหรับตัวเองถือว่าแพงมาก ๆ ไม่สามารถทานได้เลยเพราะหากเทียบกับรายได้ทางเดียวจากสามีซึ่งทำงานประจำอยู่ แต่ว่าในใจของตัวเองก็อยากจะทานและคิดถึงอาหารไทยมาก ๆ
“สมัยนั้นอาหารไทยมีน้อยมาก มีน้อย แล้วก็แพงซึ่งสมัยนั้นในเขตพื้นที่ที่ปลาอยู่นะคะคือปลาอยู่ที่นี่มาตลอดตั้งแต่แรกเลย ไม่มีอาหารไทยแต่ถ้าอยากได้อาหารไทยทีคือต้องไปไกลถึง “โยโกฮามา” ที่เป็นเมืองท่าเรือต้องไปไกลค่ะต้องไปซื้อ พวกวัสดุ(วัตถุดิบต่าง ๆ) ต้องไปถึงโยโกฮามาแล้วก็อาศัยว่าใช้ผักทั่ว ๆ ไปถ้าเป็นพวกผักนะคะ แต่ถ้าพวกน้ำปลาหรืออะไรต่าง ๆ เราก็ต้องไปที่ฝั่งทางโน้นเลย”
แต่ว่าสมัยนั้นที่ตัวเองมาอยู่ที่นี่ใหม่ ๆ โรบินฮู้ดเยอะ กับโอเวอร์สเตย์ ที่เป็นแรงงานไทยเยอะมากในสมัยนั้นเยอะจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะไทยยังมี มาเลเซีย พม่า เยอะมาก ๆ ในช่วงนั้น
“จำได้อยู่ว่าสมัยนั้นเมนูแรกที่ตัวเองทำคือ อยากกินขนมจีนน้ำยา(หัวเราะ) ปลาก็ถ้าเป็นบ้านเราเนี่ยก็ใช้ปลาช่อนใช่มั้ยคะ ก็ปลาช่อนไม่มีอยู่แล้วก็เลยอาศัยว่าใช้ “ไก่” เคี่ยวไก่ให้นิ่ม ๆ เลยมันก็ฟูเหมือนเนื้อปลาเลยเออมันก็โอเคนะ แล้วก็อร่อยด้วยจุดเริ่มต้น แล้วทีนี้อาศัยหน้าด้านหน่อย(หัวเราะ) ถามขายให้คนรู้จักกันแบ่งปัน ตอนแรกก็เอาไปให้เขาชิมก่อนนั่นแหละค่ะเขาบอกอร่อย ๆ ก็เลยถามเขาว่าถ้าเราทำขายเนี่ยจะได้ขายมั้ย ซื้อกินหรือเปล่า เขาก็บอกถ้าจะขาย ขายเท่าไหร่”
เมนูแรกที่ขายตอนนั้น ทำขนมจีนน้ำยา1 หม้อขึ้นมา ได้เยอะมากแล้วก็ “ขนมจีน” คืออาศัยใช้เส้นขนมจีนของญี่ปุ่น(โซเมง) เราเอามาต้มแล้วมันก็จะเหมือนเส้นขนมจีนของไทยเราดี ๆ นี่เอง หนึ่งหม้อได้เยอะมากก็เลยลองมาตักแบ่งเป็นถุง ๆ แล้วขายในราคา 500 เยน
“เราขายในราคา 500 เยนได้ เรามองดูแล้วเราได้กำไรเหลือเฟือเราก็เลยไปถามขายคนที่รู้จักกันที่เราเคยไปแบ่งให้เขาชิม เราขายในราคา 500 ทุกคนตกใจในราคา แต่จริง ๆ ชั่วโมงนั้นเราไม่ได้หวังว่าเราจะต้องได้กำไรเยอะ ๆ แต่เราหวังว่าแค่เราได้ต้นทุนคืนมา แล้วเราก็แบ่งปันกันเท่านั้น”
อีกอย่างถ้าแพงมาก ๆ เราเองก็ไม่อยากซื้อกินแน่นอน สำหรับเราค่อนข้างเป็นคนขี้เหนียวมันแพงเกินไปเราก็ไม่อยากจะซื้อ แล้วเราคิดว่าเป็นราคาที่จับต้องได้ก็เลยยึดตรงนั้นมา สิ่งไหนที่เราไม่ได้กินเราอยากกินแต่เราว่ามันแพง เราจะนึกถึงคนอื่นเลยว่าถ้ามันแพงเกินไปเขาจะกินไม่ได้ถึงกินได้เขาก็จะนาน ๆ กินทีเราก็คิดว่าขายในราคาที่เขาจับต้องได้
“มันช่วยอีกอย่างหนึ่งนะคะว่า อย่างเราเนี่ยจากที่เราคิดถึงบ้านเราคิดถึงอาหารไทย เขาก็เหมือนกันเขายิ่งบางคน เด็กบางคนเขาทำอาหารไม่เป็นอย่างเงี้ย แต่อาศัยของเราอาศัยว่าเราพื้นฐานเราเป็นคนชอบทำอาหารด้วย ก็เลยยึดหลักตรงนี้ ก็เลยกลายเป็นว่าปากต่อปาก จากที่แบ่งปันเพื่อนข้างบ้านก็เลยรู้ว่ามีคนไทยอยู่ที่ไหนก็เริ่มขอเบอร์ติดต่อเขา แล้วก็ถีบจักรยานในลักษณะว่าวันนี้เรามีอันนี้ นี้ ๆ นะคะ เรามีอันนี้ใครสนใจสั่งได้นะอะไรก็คือ เหมือนพรีออร์เดอปัจจุบัน แล้วก็ถีบจักรยานไปส่งเขา”
เคยเปิดร้านอาหารแล้วไม่รอด! เปลี่ยนสู่ “สโตร์ไทย” เริ่มมาถูกทาง
ไม่ประสบผลสำเร็จในการเปิดร้านอาหารไทย แต่ก็ยังไม่ทิ้งที่เราเริ่มต้นมาจากหิ้วตะกร้าขายรับออร์เดอ ยังทำอยู่
“แต่ทีนี้ช่วงไปเปิดร้านอาหารไทย รู้ตัวแล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จเราก็ move ทันทีเลย จบ! แล้วก็มองตัวเองว่าเรามีความสามารถอะไร เราควรเลือกสิ่งที่ดีในตัวของเรามาไม่ใช่หรือ คือถ้าเราไปเปิดร้านเราจะต้องยืมจมูกคนอื่นมาหายใจเราไม่สามารถดูแลเองได้ทั้งหมดปลาก็เลยปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองตั้งแต่วันนั้นเลยว่า ปิดร้านอาหารไทยเสร็จปุ๊บเริ่มมามองความชำนาญของตัวเองว่าตัวเองทำอะไร แล้วขัดเกลาในความชำนาญของตัวเองให้มีประสิทธิภาพ”
โดยได้มีการเข้ารับการอบรม เรียนรู้เพิ่มเติมอะไรหลาย ๆ อย่างสุดท้ายก็เลยมาเปิดเป็น “ขายลูกชิ้น” ในขั้นต้นคือทำลูกชิ้นแฮนด์เมดขึ้นมาก่อน แล้วก็ปรับเปลี่ยนมาเรื่อย ๆ จนเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น ตอนนี้ผลิตด้วยมือไม่ได้แล้วแฮนด์เมดไม่ได้แล้ว ก็เลยได้นำเข้าเครื่องจักรจากเมืองไทยมาเพราะในญี่ปุ่นไม่มีเครื่องจักรที่ทำลูกชิ้น (คนญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยรู้จักลูกชิ้นด้วยในสมัยก่อน) เครื่องตีอาจจะมีแต่ว่าเครื่องหยอดยังไม่มี
“คือตอนนั้นทำไม่ไหวแล้ว คือปวดเมื่อยไปหมดเลยเหมือนว่าถูกทุบ(หัวเราะ) หยอดด้วยมือวันละ 70-80 กิโลฯ อย่างเงี้ยก็คือไม่ไหวแล้วก็ได้นำเข้าเครื่องจักรเข้ามาแล้วก็ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ก็คือเริ่มขยายตลาดเพิ่มขึ้นและก็ลูกค้าก็เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ แล้วหลังสุดท้ายนี่คือ เพิ่มเป็นสโตร์”
ทั้งนี้ ก็คือว่ามันต้องใช้วัสดุ(วัตถุดิบ) หลาย ๆ อย่าง พวกซอสหรืออะไรต่าง ๆ ก็เลยคิดว่าในเมื่อซื้อลัง10 ลังมันก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ก็เลยไปขอเจรจาจากผู้นำเข้าขอเจรจาซื้อเขาจำนวนเยอะอย่างสมมุติว่า 30 ลัง 50 ลัง ให้ราคาได้ไหม ถ้าให้ราคาเราก็จะซื้อจำนวนเยอะ แล้วก็เอามาตั้งขาย ซึ่งนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของการเปิดสโตร์ขึ้นมา ก็เป็นสโตร์ไทยขายร่วมกับลูกชิ้นและก็แหนมซึ่งปัจจุบันนี้ทางร้านก็ยังทำอยู่
“ลูกชิ้น” สินค้าหลักขายดีของร้าน อาหารไทย(แช่แข็ง) ก็ดีไม่แผ่ว!
อาหารก็ยังทำขายอยู่ แต่ว่าจะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นลักษณะที่ว่า ตอนนี้ลูกค้าคนไทยของที่ร้านเยอะ ผู้บริโภคจะเพิ่มมากขึ้น แต่ตัวเองก็ยังยึดอยู่ที่ว่า “ราคา” จะต้องถูก นึกถึงวันที่เราหิว แต่ถ้ามันแพงเราซื้อไม่ได้ แต่เด็กรุ่นใหม่สมัยนี้เด็กคนไทยเยอะมาก ฉะนั้นที่ร้านจะยึดคือยังขายอาหารราคาถูกอยู่ ซึ่งลูกค้าก็จะมีอยู่หลาย ๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะในโซนที่เราอยู่ตรงนี้ จะมีลูกค้ามาจากต่างจังหวัดทั่วญี่ปุ่น ตอนนี้จะมีเด็กไทยเข้ามาทำงานเยอะมากก็เรียกว่าแทบจะทุกจังหวัดเลยที่ร้าน
“ฉะนั้นเราก็ยังยึดการขายอาหารอยู่ แต่เปลี่ยนรูปลักษณ์ไปเป็นลักษณะอาหารแช่แข็งก็คือเราจะเป็นแปรรูปอย่างเช่น ผัดกะเพรา ก็เป็นแช่แข็ง ห่อหมกแช่แข็ง น้ำยาขนมจีน(เมนูแรกที่ทำขาย) ก็ยังทำอยู่แต่ว่าเป็นแบบแช่แข็ง เหล่านี้เป็นต้น ก็คือกลายเป็นว่าสินค้าเราก็คือส่งไปทั่ว ทั่วทุกจุดที่มีลูกค้าคนไทยของเราอยู่ในประเทศญี่ปุ่น”
นอกจาก ประเภท ลูกชิ้น แหนม ไส้กรอกอีสาน ไส้อั่ว หมูยอ พวกนี้ด้วยแล้วก็ยังมี น้ำพริก ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นของแช่แข็ง
“น้ำพริกนี่ก็คืออาศัยว่า พริกที่เราปลูกเอง ก็เอามาแปรรูปเป็นน้ำพริกไม่ได้ขายเป็นเม็ดพริกโดยตรง พริกนี่ปลูกเยอะมากเลยค่ะคือผลผลิตได้หลายตันเลยต่อปีเก็บเข้าตู้คอนเทนเนอร์ไว้ แช่แข็งเก็บไว้ใช้แล้วก็ขายทั้งปีเลยค่ะ แล้วอีกอย่างที่ขาดไม่ได้เลยคือ ผักชี คือผักชีนี่ก็จะปลูกได้ทั้งปีคือหน้าหนาวก็จะมีเทคนิคการปลูกหน้าหนาว หน้าร้อนก็จะมีเทคนิคการปลูกหน้าร้อนซึ่งอุณหภูมิมันจะแตกต่างกัน ผักชีนี่คือมีทั้งปีค่ะ แล้วก็ฤดูต่อไปกำลังจะขายได้ก็คือพวก กะเพรา โหระพา แมงลัก ตะไคร้ มะเขือ แล้วก็พริกค่ะ”
หรือไม่ก็ลักษณะทำเป็นพวก “น้ำปรุง” ต่าง ๆ เช่นน้ำผัดกะเพรา ก็คือส่งให้กับร้านอาหารบางร้านที่สั่งเรามาอย่างเช่น บางร้านเขาไม่ต้องการใช้กุ๊กเพราะว่าการมีกุ๊กบางอย่างทำให้เขาไม่สามารถคอนโทรลเมนูได้ ในเรื่องนี้เราเข้าใจผู้ประกอบการดีเราก็จะส่งเป็นน้ำปรุงให้เขา ซึ่งเขาก็สามารถให้ใครก็ได้ทำก็ออกมาในรสชาติเดียวกัน คือทำตามที่กำหนดไว้ เขาก็เลือกที่จะซื้อน้ำปรุงจากเราพวกน้ำปรุงหรือพวกกะเพรา ฉะนั้นคือกะเพราหรือว่าพริกเราที่ปลูกคือไม่มีคำว่าขายไม่ได้
สำหรับลูกชิ้นที่ร้านจะผลิตตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์(ทุกวัน) คือจะเลือกผลิตแค่ครึ่งวันด้วยพื้นที่เราคับแคบ พื้นที่มีจำกัด จริง ๆ แล้วมันจะต้องเป็นโรงงานแล้วแต่ว่าเราเองไม่มีสถานที่ก็จะทำได้วันละประมาณ 300 กิโลกรัม
“ลูกชิ้นของเรา เราทำเสร็จปุ๊บเราก็จะเอามาเข้ากระบวนการให้มันเย็นกระทันหันเพื่อจะ keep รักษารสชาติของมันไว้ตรงนั้น แล้วก็เอามาแพ็กสุญญากาศเข้าแช่แข็งสามารถเก็บได้นานถึงประมาณ2 ปีโดยที่ไม่ต้องใช้สารกันบูด ไม่มีสารกันบูดนะคะ ก็คือใช้วิธีการซีลดึงอากาศออกแล้วก็เอาไปแช่แข็งในองศาลบไว้ค่ะ”ที่ร้านสามารถขายได้เยอะเพราะว่า ไม่ใช่ว่าทำแล้วขายวันต่อวัน เพราะว่าในพื้นที่ในญี่ปุ่นไม่มีขายแบบสด ๆ แล้วมันก็ไม่หมดอยู่แล้วก็คือจะใช้วิธีขายแบบ “แช่แข็ง” แทนมากกว่า
ราคาขายยึดหลักเดิมคือ ขายไม่แพง
โดยลูกชิ้นที่ร้านขายอยู่ราคาประมาณ 1,650 เยน/กิโลกรัม ซึ่งราคาก็จะแตกต่างกันนิดหน่อยอย่างถ้าเป็นลูกชิ้น “เนื้อ” ราคาจะแพงกว่าหมู แต่ถูกที่สุดนี่ก็คือลูกชิ้นไก่“มันแล้วแต่ประเภทลูกค้า ถ้าลูกค้าเวียดนาม “เนื้อ” กับเอ็นเนื้อขายดีที่สุด แต่ถ้าเป็นลูกค้าคนไทย “ลูกชิ้นหมู” จะขายดีที่สุด” ส่วนอาหารไทยแช่แข็งที่ร้านมีขายอยู่ ราคาถูกที่สุดตอนนี้ อย่างเช่นทุก ๆ เดือนเราจะมีการจัดโปรฯ สำหรับลูกค้ามีทุกเดือนเลย เราอยากให้สับเปลี่ยนให้ลูกค้าได้ทานหลาย ๆ เมนู อย่างเช่นล่าสุด เมนูเดือนที่ผ่านมา“ลาบหมู” 3 แพ็ก 1,000 เยน หนึ่งแพ็กนี่คือ 1 จาน(เป็นกับข้าวได้ 1 จานเลย) ในราคา 1,000 เยนนี่คือได้ 3 มื้อเลย นี่คือถูกที่สุด
แต่ถ้าสมมุติว่าขายที่หน้าร้านเองร้านเราถือว่าขายถูกแล้วเพราะร้านเราอยู่บ้านนอก ก็จะขายอยู่ที่จานละ 800 เยน ก็อันเดียวกันกับตัว “3 แพ็ก 1,000 เยน” นี่คือถูกที่สุดแล้วก็ แพงที่สุดนี่จะเป็น “ไก่ย่างตะไคร้” แพงคืออยู่ที่ 1,300 เยน ต่อ 1 ตัว เป็นไก่ขนาด(น้ำหนักตัว) 1 กิโลกรัม สามารถทานได้ 2-3 คน เป็นไก่อ่อนน้ำหนักอยู่ที่ 1 กิโลกรัม/ตัว มีน้ำจิ้มให้พร้อม เป็นน้ำจิ้มแจ่วที่เป็นพริกแห้งที่ปลูกจากสวนของเราเอง (หัวเราะ) แล้วก็เอามาทำเป็นพริกป่นเอง ฉะนั้นมั่นใจได้ว่าไม่มีเรื่องสารคือทานแล้วปลอดภัยแน่นอน เพราะว่าก็จะทำสวนเองด้วยอันนี้ทำเป็นงานอดิเรกแต่ว่าก็สามารถนำผลผลิตที่ได้มาใช้ได้จริงๆ
ใจเขาใจเรา เป็นร้านค้าขวัญใจคนไกลบ้าน
“คือราคาเนี่ยนะคะปลาจะฟิกซ์ไว้เลยว่า เราจะนึกถึง ถ้าจะตั้งราคาแต่ละอย่างขึ้นมา เราจะนึกถึงวันที่เราหาอาหารไทยไม่ได้
เราอยากกินไอ้นั่นนะอยากกินไอ้นี่นะแต่มันแพงจังเลย อดไว้ก่อนดีกว่ามั้ย เอาไว้ก่อนดีกว่าเอาไว้สิ้นเดือนก่อนดีกว่าอย่างเงี้ยใช่มั้ย เอาไว้เป็นวันที่สำคัญที่สุดแล้วไปกินอาหารไทย อะไรประมาณนี้ ก็เพราะว่ามันแพงแต่ทุกวันนี้ เด็ก ๆ เขาเข้ามาทำงานกันเยอะแรงงานไทยเข้ามาเยอะ ตอนนี้หักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้วถ้าน้อง ๆ ทุกคนอยากกินอาหารไทย แต่ถ้ามันสูงนักเขากินไม่ได้ถ้าเขากินได้เขาจะไม่เหลืออะไรเลยก็คือชีวิตเขาก็จะหมดแค่ กินไปวัน ๆ ก็จะไม่มีความหมายในการที่ว่าเขาจะมาใช้แรงงานเพื่อมาสร้างอนาคต หรือว่ามาสร้างเนื้อสร้างตัวที่นี่ก็จะไม่มีความหมายในเวลาที่เขาตั้งใจมา เพราะมันก็จะหมดกับการกินไปหมด”
แต่เราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยซัพพอร์ตน้อง ๆ ได้ ในราคาที่เขาจับต้องได้ อาจจะไม่ทุกวัน เพราะว่าเราอยู่ไกลกันเพราะเราต้องส่งให้เขา เราขายออนไลน์ แล้วก็ส่งทางไปรษณีย์ไปให้กับลูกค้า(น้อง ๆ ที่เป็นแรงงานไทย) ซึ่งบางคนก็อยู่ฮ็อกไกโดที่มีหิมะตกอย่างเงี้ย ก็จะมาจากหลายจังหวัดเลยเยอะมาก
“สมัยก่อนเนี่ยนะจากถีบจักรยาน แล้วก็ปากต่อปากเท่านั้น ไม่มีโฆษณาอะไรสมัยนั้น แต่ยุคนี้มันเป็นยุคโซเชียลฯ facebook line อย่างเงี้ยใช่มั้ยคะเราสามารถ ส่งข่าวสารได้เลยอย่างเช่นมีสินค้าใหม่ๆ เข้าใหม่เราก็สามารถแจ้งให้ลูกค้าได้รับทราบได้เลย วันนี้มีข้าวเหนียวมะม่วงนะคะ อะไรประมาณนี้ค่ะก็จะเร็วกว่าสมัยก่อน ก็คือสะดวกเยอะเลยค่ะแตกต่างกันเยอะจากสมัยก่อน”
ร้านสโตร์ไทยในญี่ปุ่น “หนึ่งเดียว” ที่ไม่เหมือนใคร
คุณปลา เจ้าของร้านปลาทองเอเชี่ยนฟู้ด ร้านสโตร์ไทยในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ยังบอกด้วย เรียกว่าเป็นความตั้งใจหรือเปล่า เอา “ใจ” ทำประเภทที่ว่า คือทำเต็มที่เลยนะทำเต็มที่ที่สุด ทำ นึกถึงว่าผู้บริโภคกับเราคือนึกถึงว่าเรากำลังบริโภคอยู่ เราคือผู้บริโภค เอาใจใส่ให้มากที่สุด
จากในขั้นต้นซึ่งจริง ๆ ก็ต้องขอบคุณ “สามี” ที่คอยซัพพอร์ตคือเป็นเสาหลักให้ ถ้าไม่มีเขา เราก็คงจะไม่สำเร็จมาถึงวันนี้“แรก ๆ เขาก็ไม่เชื่อในการกระทำของเราหรอก ไม่เชื่อ เขาไม่เชื่อ(หัวเราะ) เขาไม่มั่นใจว่าเราจะอยู่ได้ แต่วันนี้เรามีความสะใจนิด ๆ คือเขามาอยู่กับเราแล้ว(หัวเราะ) เขาลาออกจากงานมาอยู่กับเราแอบสะใจนิด ๆ(หัวเราะ)”แต่ก็ต้องขอบคุณเขา เพราะถ้าไม่มีเขา เราก็คงจะไม่มาถึงวันนี้ได้
แต่ว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายคือ ด้วยวัยของเราปัจจุบันนี้(ปัจจุบันคุณปลาอายุ 60 ปีแล้ว) จริง ๆ แล้วมันเป็นอะไรที่สวยมาก สวยมากสวยงามจริง ๆ ในปัจจุบัน แต่เราก็กลัวว่า เริ่มมีความรู้สึกว่ามันไม่มีใครมาสืบทอด แต่มันก็มันไม่ได้ยากสำหรับการอยู่ในญี่ปุ่นว่าถ้าหากไม่มีคนสืบทอดเราก็สามารถ หาช่องทางอื่นได้ด้วย
“แต่ ณ ปัจจุบันนี้ปลาว่าผู้หญิงไทยคนหนึ่ง ที่มาอยู่ต่างแดนกว่าจะสร้างแบรนด์ของตัวเองได้แบรนด์หนึ่งปลาว่าไม่สามารถทำได้ทุกคน ปลาอยากให้สิ่งที่ปลาสร้างขึ้นมาเนี่ยมันเป็นมรดกของคนไทยที่จะมาทำธุรกิจต่อ อยากให้เป็นสมบัติของคนไทยมากกว่า ที่ไม่ใช่ต่างชาติจะมาเทคเอาท์เอาไปในอนาคตนะคะหากว่าเราจะต้องปล่อย แต่อยากให้มันเป็นของคนไทยที่สืบเนื่อง ซึ่งปลาว่ายังไม่ถือว่าสำเร็จ 100% แต่เรามั่นใจว่าไม่มีใครเหมือนเราในญี่ปุ่น ยังไม่มีใคร แต่อยากให้มันเหลืออยู่กับคนไทยเพราะว่ากว่าปลาจะสร้างขึ้นมาได้เนี่ย มันใช้เวลา 20 กว่าปีที่จะมาถึงวันนี้ขนาดนี้ยังไม่สำเร็จเลย ยังไม่ถือว่าประสบผลสำเร็จแต่เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จเต็ม 100% มันมีสูงมาก ถ้าให้คะแนนวันนี้ปลามาแค่ประมาณ 70% เท่านั้นค่ะ อีก 30% ถึงจะเต็ม 100”
ถ้าเป็นไปได้ จริง ๆ แล้วก็อยากกลับไปอยู่เมืองไทย เพราะถึงเราจะมาอยู่ตรงนี้กว่าค่อนชีวิตแล้วมากกว่าอยู่เมืองไทย การใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นมากกว่าแต่เราก็คือ “คนไทย” เรายังรักเมืองไทยอยู่ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะกลับไปเมืองไทยแต่ว่ามองดูสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วคงเป็นไปได้ยาก คงจะต้องอยู่ที่นี่แหละคิดว่านะแต่ว่าเราคือคนไทย
“ถามว่าที่นี่ก็รัก ที่เมืองไทยก็รัก เพราะว่าเมืองไทยคือ “แผ่นดินแม่” แม้กระทั่งการใช้ชีวิตของปัจจุบันนี้ ยังใช้ตามพระราชดำรัสของ “ในหลวง” ที่แบบอยู่อย่างพอเพียง ปรัชญาของ ร.9 อยู่ในใจปลาตลอดเลยค่ะ เพราะว่าปัจจุบันก็อยู่อย่างพอเพียง คือพระราชดำรัสของท่านนี่ใช้ได้ทุกที่ปรับใช้ได้ทุกที่ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน เราสามารถมาปรับเปลี่ยนใช้ได้กับทุกสถานที่ปลาว่ามันเป็นอะไรที่ โอเคมาก ๆ มันใช่ค่ะ ปรัชญาของท่านใช่ ใช่เลยใช้ได้จริง ๆ แล้วก็ปลาว่า มันสมบูรณ์นะ ที่ยึดหลักท่านยึดหลักในหลวงที่ในการดำรงชีวิตปลาว่าปลาสมบูรณ์ ถึงไม่ได้เป็นคนรวยล้นฟ้าแต่ว่ามันมีความสุข ปลาใช้ชีวิตอย่างพอเพียงแล้วก็มี “ความสุข” ในนี้ค่ะ”
เรื่องราวการสร้างแบรนด์ของคนไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น ผู้หญิงไทยคนหนึ่งที่เริ่มต้นมาจากการเป็นแม่บ้านที่ติดตามสามีชาวญี่ปุ่นมาอาศัยอยู่ในจังหวัดชิบะและด้วยความคิดถึงบ้านคิดถึง “อาหารไทย” จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่ธุรกิจร้านสโตร์ไทยในญี่ปุ่นหนึ่งเดียวที่ไม่มีใครเหมือนในปัจจุบัน ซึ่งได้การตอบรับจากลูกค้าที่เป็นแรงงานไทยรวมถึงชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาทำงานอยู่ในญี่ปุ่นด้วยอย่างอุ่นหนาฝาคั่งมาตั้งแต่แรกเริ่มกิจการเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา
โดยยึดหลักที่ว่า ใจเขาใจเรา เข้าใจถึงหัวอกของคนไกลบ้านว่าเขาต้องการอะไร การตั้งราคาขายที่ไม่แพงสามารถจับต้องได้ถือเป็นอีกหนึ่งการซัพพอร์ตที่ช่วยกันได้จริง ๆ เขาอยู่ได้เราก็อยู่ได้ เพื่อเติบโตไปด้วยกัน จนถึงวันหนึ่งใครจะไปคิดว่าจากเพียงแม่บ้านทำอาหารขายกึ่งการแบ่งปันกันโดยเริ่มต้นจากการถีบจักรยานไปส่ง วันนี้จะกลายเป็นรูปแบบของร้านสโตร์ไทยใหญ่โตมีสินค้าหลากหลายให้ลูกค้าเลือกได้ตามความชอบและพอใจเลย ขอบคุณ “คุณปลา-นัฐธิณี อิชิยาม่า” เจ้าของร้านปลาทองสโตร์ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์แห่งความสำเร็จในครั้งนี้ และนับเป็นอีกแบบอย่างที่ดีของคนไทยในต่างแดนที่มีมิตรจิตมิตรใจให้กับคนไทยด้วยกันอย่างดีเยี่ยมจริง ๆ
ร้านปลาทองสโตร์ Thai Asian Market ตั้งอยู่ที่อำเภออิชิฮะระ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น หรือโทร.0436-23-1542
(ญี่ปุ่น)
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด