จากความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนสินค้าไทยโดยกรมการพัฒนาชุมชนและ TikTok ผลักดันให้ “กระติ๊บข้าวคล้าพิกุลเกล้า” หนึ่งในสินค้า OTOP จังหวัดบึงกาฬ ที่สานต่อภูมิปัญญาชาวบ้านจากการสานกระติ๊บข้าวเหนียวด้วยไม้คล้า พร้อมรวมกลุ่มชาวบ้านสร้างอาชีพและทำการตลาดออนไลน์ผูกตะกร้ากับ TikTok Shop เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและเปิดโอกาสให้สินค้ากระจายสู่สายตากลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย สร้างรายได้ให้สมาชิกและชุมชนหลายหมื่นบาทต่อเดือน
นางสาวนาราพิมพ์ ราชลี หรือ วาล์ว อายุ 38 ปี เจ้าของแบรนด์และประธานโอท็อปกลุ่มกระติ๊บข้าวคล้าพิกุลเกล้า เล่าว่า กระติ๊บข้าวอยู่ในชีวิตประจำวันของเธอมาตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก เดิมทีทางครอบครัวก็สานกระติ๊บข้าวกันเป็นประจำกันอยู่แล้ว ซึ่งตัวเธอเองก็ได้เรียนรู้และฝึกการสานกระติ๊บข้าวมาตั้งแต่อายุ 6 ขวบ พร้อมทั้งเห็นว่ากระติ๊บข้าวถูกนำไปวางขายตามท้องตลาดและเป็นสินค้าที่ค่อนข้างขายดีมาโดยตลอด เพราะพื้นที่ทางภาคอีสานนิยมรับประทานข้าวเหนียวเป็นส่วนใหญ่ กระติ๊บข้าวจึงเป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และเธอเองก็มีความต้องการนำเอาภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างการสานกระติ๊บข้าวขายมาเพิ่มมูลค่า เธอจึงริเริ่มนำเอากระติ๊บข้าวธรรมดามาดัดแปลงให้เกิดความแปลกใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าพร้อมกับยกระดับให้เป็นกระติ๊บข้าวมงคล
เหตุผลที่เธอเลือกมาสานต่อภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยการสานกระติ๊บข้าวนั้น เป็นเพราะว่าเธอมีความต้องการให้กระติ๊บข้าวมีความสวยงามจากเดิมที่เป็นเพียงกระติ๊บข้าวธรรมดาที่บรรจุข้าวรับประทานทั่วไป แต่เธอมองว่ากระติ๊บข้าวมีความสำคัญสามารถทำให้เป็นวัตถุมงคลได้ เนื่องจากเป็นภาชนะที่ใส่ข้าวให้รับประทานได้ทุกวัน เธอจึงเลือกยกระดับและต่อยอดการทำกระติ๊บข้าวและเริ่มสร้างแบรนด์อย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2563
สำหรับไม้ที่เลือกนำมาสานกระติ๊บข้าวทางแบรนด์จะเลือกเป็นไม้คล้า ซึ่งมีลักษณะลำต้นคล้ายต้นหวาย ภายในลำต้นมีลักษณะคล้ายโฟม เมื่อนำมาสานเป็นกระติ๊บข้าวก็จะสามารถเก็บอุณหภูมิความร้อนของข้าวได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับไม้ชนิดอื่น นอกจากนี้ยังมีวัสดุทดแทนคล้ายหวายเทียมมาเสริมในการสานอีกด้วย ปัจจุบันไม้คล้ามีทั้งที่ปลูกเองและรับซื้อมาจากพื้นที่ในจังหวัดบึงกาฬ
ทั้งนี้จุดเด่นและความพิเศษของกระติ๊บข้าวจะมีความโดดเด่นเรื่องสีที่มาจากสีธรรมชาติ ไม่มีรา ไม่มีมอด ซึ่งกระติ๊บข้าวทั่วไปตามท้องตลาดอาจจะมีการนำชอล์กสำหรับกำจัดราและมอดขีดไว้ตามกระติ๊บข้าว แต่ของทางแบรนด์จะไม่มีการใช้ชอล์ก เนื่องจากไม้คล้ามีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถป้องกันราและมอดได้ โดยก่อนที่จะนำมาสานกระติ๊บข้าวได้นั้นต้องนำไปตัดเป็นเส้นและมีความบาง หลังจากนั้นนำไปตากแดดประมาณ 3-5 แดดจึงจะนำมาสานได้
นอกจากนี้กระติ๊บข้าวสามารถเก็บรักษาได้นาน 3-5 ปี หรือมากกว่า พร้อมทั้งสามารถนำไปซักล้างได้ ในส่วนของรูปทรงของกระติ๊บข้าวทางแบรนด์ได้ศึกษาลวดลายตามเว็บไซต์ต่างๆ และนำมาประยุกต์เพื่อดัดแปลงให้เป็นลายของตัวเอง ปัจจุบันกระติ๊บข้าวมีทั้งหมด 4 รูปทรง ได้แก่ ทรงกลม ทรงรี หัวใจ และสี่เหลี่ยมสำหรับกลุ่มลูกค้านั้นถ้าหากเป็นหน้าร้านก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าชาวบ้านทั่วไป แต่ถ้าเป็นออนไลน์จะเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อ เนื่องจากทางร้านมีกระติ๊บข้าวที่ราคาค่อนข้างสูง
อีกทั้งยังได้มีการรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อผลักดันให้ชาวบ้านมีอาชีพและรายได้เสริมจากการเอาเวลาว่างจากงานประจำมาสานกระติ๊บข้าวขาย ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 20 คน ซึ่งในแต่ละเดือนสมาชิกก็จะนำกระติ๊บข้าวที่สานเสร็จเรียบร้อยแล้วมาส่งให้กับทางร้าน และสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านประมาณ 5,000-10,000 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กำลังการผลิตของแต่ละคนด้วย ซึ่งกระติ๊บ 1 ใบใหญ่จะใช้เวลาสานประมาณ 3 ชั่วโมงและสมาชิกสามารถผลิตได้วันละ 2 ใบต่อคน
ทั้งนี้การรวมกลุ่มชาวบ้านเพื่อต่อยอดสินค้าในระดับ OTOP ให้เติบโตด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าและเพิ่มช่องทางการตลาดโดยเน้นไปที่การตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางแบรนด์ได้มีการนำสินค้าไปผูกตะกร้ากับทาง TikTok Shop เพื่อเป็นช่องทางในการเปิดการมองเห็นสินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยที่ทางร้านได้เข้าร่วมเมื่อเดือนกันยายน ปี 2566 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับราคากระติ๊บข้าวนั้นทางร้านเผยว่าราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 200-3,500 บาท ซึ่งเมื่อเข้าร่วมกับ TikTok Shop ก็จะมีแคมเปญหรือโปรโมชั่นลดราคาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ลูกค้าสนใจสินค้าเพิ่มมากขึ้น บวกกับเจ้าของแบรนด์ได้มีการไลฟ์สดสานกระติ๊บข้าวให้ลูกค้าได้เห็น ซึ่งเธอเผยว่าลูกค้าที่เข้ามาดูการไลฟ์สดก็จะมีทั้งที่ชื่นชอบสินค้าและชื่นชอบในตัวเธอเองด้วย ทำให้เธอมองว่าการไลฟ์สดสานกระติ๊บข้าวใน TikTok เป็นช่องทางที่เหมาะสมและเป็นโอกาสในการเพิ่มจำนวนลูกค้าให้มาสนใจสินค้าของเธอได้เป็นอย่างดี
“เราเคยสั่งของใน TikTok Shop แล้วได้ราคาถูก ขนส่งเร็ว เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าขนส่งเร็วหรือช้าเพราะว่าเราเคยขายกับแพลตฟอร์มอื่นมาก่อน พอมาเจอขนส่งใน TikTok Shop พบว่าใช้เวลาเร็วกว่าแพลตฟอร์มอื่นรวมถึงถูกหักค่า GP น้อยกว่า ทำให้เราตัดสินใจมาทำการตลาดใน TikTok Shop อย่างจริงจัง” เจ้าของแบรนด์ระบุ
ปัจจุบันทางแบรนด์นำสินค้าผูกตะกร้ากับ TikTok Shop ไว้ประมาณ 20 ตะกร้า จำนวน 200 ชิ้น ซึ่งทาง TikTok Shop เองก็มีการสนับสนุนทางร้านโดยการมอบคูปองและส่วนลดให้ลูกค้าโดยที่ทางร้านไม่ต้องจ่ายเอง ทำให้ลูกค้าสนใจและต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ซึ่งตั้งแต่ผูกตะกร้ามาตั้งแต่เดือนกันยายนของปีที่แล้วสามารถขายกระติ๊บข้าวไปได้ประมาณ 70 ใบหรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 30,000 บาท โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดจะเป็นกระติ๊บข้าวขนาด 7 นิ้วและมีการกลับมาซื้อซ้ำอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตทางแบรนด์วางแผนและตั้งเป้าการเติบโตยอดขายใน TikTok Shop เอาไว้ที่ปีละประมาณ 1,000 ใบ ยอดขายประมาณ 1,000,000 บาท
ทั้งนี้นอกจากที่เธอเองจะไลฟ์สดขายสินค้าใน TikTok Shop แล้ว เธอยังสอนให้สมาชิกและชาวบ้านในกลุ่มฝึกใช้งานแอปพลิเคชั่น TikTok เพื่อให้เอาสินค้าที่ทำไปลงขายในแพลตฟอร์มให้เกิดรายได้ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะมีอายุมากแล้วแต่เธอก็พยายามฝึกให้สามารถทำเป็นเพื่อที่จะได้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับสมาชิกนั่นเอง
จุดแข็งในการทำธุรกิจสานกระติ๊บข้าวขายนั้นเจ้าของร้านเผยว่าสินค้าของทางร้านเป็นสินค้าแฮนด์เมด มีการคุมโทนให้เป็นสีธรรมชาติทั้งหมด และไม่มีการใส่สารที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค รวมถึงเป็นสินค้าที่ถูกผลิตออกมาให้ดูสวยงามและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากที่สุดในท้องตลาด ส่วนจุดอ่อนจะเป็นในส่วนของกำลังการผลิตที่ค่อนข้างไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้กำลังการผลิตสวนทางกับยอดการสั่งซื้อเข้ามาเนื่องจากผลิตไม่ทันตามความต้องการของผู้บริโภค ทำให้ทางแบรนด์เองก็กำลังแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า
ในอนาคตทิศทางการต่อยอดธุรกิจของแบรนด์กระติ๊บข้าวคล้าพิกุลเกล้าจะมุ่งเป้าไปที่การเปิดโรงงานเป็นของตัวเอง เพราะว่าต้องการรวมกลุ่มทีมงานให้มีคุณภาพมากขึ้นจนส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นและสามารถยกระดับสู่การส่งออกไปยังต่างประเทศได้ เนื่องจากในปัจจุบันทางแบรนด์ได้มีการทดลองตลาดต่างประเทศผ่านตัวแทนจำหน่าย แต่ยังสะดุดในเรื่องของกำลังการผลิตที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค
นอกจากกระติ๊บข้าวแล้วทางแบรนด์ยังวางแผนแตกไลน์สินค้าใหม่ เช่น กระเป๋าเป้ กระเป๋าสะพายข้าง พวงกุญแจสำหรับเป็นของฝากจากจังหวัดบึงกาฬ ซึ่งยังคงความเป็นสินค้าที่ทำมาจากการสานไม้คล้าเช่นเดียวกับกระติ๊บข้าว
คุณวาล์ว กล่าวเพิ่มเติมว่า อาชีพสานกระติ๊บข้าวเป็นงานที่ตอบโจทย์สำหรับเธอได้เป็นอย่างดี เพราะว่าเธอได้อยู่กับสิ่งที่เธอรักในบ้านเกิดของตัวเองพร้อมกับสร้างอาชีพให้ตัวเองและชาวบ้านในชุมชนให้มีรายได้ ซึ่งเธอเองสามารถสร้างรายได้จากการสานกระติ๊บข้าวขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ได้ถึงประมาณเดือนละ 50,000-100,000 บาทเลยทีเดียว
ด้านนายชยชัย แสงอินทร์ รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้มีการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วประเทศได้ผลิตสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์หรือ OTOP ที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี มีผลิตภัณฑ์กว่า 2 แสนรายการ และมีผู้ประกอบการสินค้า OTOP นับแสนราย โดยได้มุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการด้วยการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้า ซึ่งในปัจจุบันการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแพลตฟอร์ม TikTok Shop ที่ได้รับความสนใจและความนิยมเป็นจำนวนมาก ทำให้กรมการพัฒนาชุมชนมองเห็นโอกาสการเติบโตของผู้ประกอบการผ่านความร่วมมือกับทาง TikTok เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้า OTOP ให้สามารถมีช่องทางการขายและคอนเทนต์โปรโมตสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขายได้
ปัจจุบันกรมการพัฒนาชุมชนได้ร่วมมือกับ TikTok มาตั้งแต่ปี 2566 และได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งในปี 2567 ได้มีการดำเนินการส่งเสริมและผลักดันให้สินค้า OTOP โลดแล่นใน TikTok Shop เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการเปิดเวทีอีเว้นท์ให้กับสินค้า OTOP อย่างเวที OTOP EXPO เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการนำสินค้ามาแสดงให้ผู้บริโภคได้มองเห็นเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้แลกเปลี่ยนความรู้เพื่อนำความรู้และทักษะไปพัฒนาและต่อยอดสินค้าของตนเอง
ทั้งนี้ผู้ประกอบการ OTOP กระจายอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งในแต่ละจังหวัดรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่มีฐานะยากจนและไม่มีอาชีพ โดยส่งเสริมให้ได้ผลิตสินค้าในพื้นที่ของตนเองและนำมาจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการ OTOP มีหลากหลายกลุ่มและมีสินค้าหลากหลายประเภททั้งที่จำหน่ายภายในประเทศและส่งออกต่างประเทศ ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนได้ผลักดันผู้ประกอบการให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมหาช่องทางในการจัดจำหน่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการสามารถขายสินค้าและสร้างรายได้ผ่าน TikTok Shop ได้มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชนและ TikTok ที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำสินค้ามาจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์ม TikTok Shop ประสบความสำเร็จอย่างมากและตั้งเป้าให้ผู้ประกอบการเติบโตและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตามกระติ๊บข้าวคล้าพิกุลเกล้าเป็นหนึ่งในสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ของจังหวัดบึงกาฬ โดยที่ TikTok ร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เข้ามาส่งเสริมผู้ประกอบการและผลักดันสินค้า OTOP ให้สามารถโลดแล่นในตลาดออนไลน์ที่เชื่อมโยงร้านค้าและชุมชนเข้าไว้ด้วยกัน ควบคู่ไปกับการยกระดับสินค้าและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการอย่าง TikTok Shop และผลักดันสินค้า OTOP ของไทยให้เติบโตขึ้นและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
ติดต่อเพิ่มเติม
TikTok Account ID: @naraphim789
Shop: kวาล์วกระติ๊บข้าวเหนียว100ล้าน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *