xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป)“ศุภมาส” เร่ง 3 แผนดันไทยเป็น EV HUB ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ลด PM.2.5 ร้อยละ 30 ใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทั่วโลกมีนโยบายลดการใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ไออีซี (Internal Combustion Engine: ICE) ในส่วนของประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 286/2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ บอร์ดอีวี มีนโยบายมุ่งเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียวที่คํานึงถึงสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน” เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

พร้อมทั้งเป็นการสานต่อนโยบาย Carbon Neutrality เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นําของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในมาตรการสําคัญที่ทําให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง มีคำสั่งแต่งตั้งให้เพิ่มรัฐมนตรีกระทรวง อว. เข้าใน ‘บอร์ดอีวี’ ด้วย


เดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมยายยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรี อว. ได้ประกาศเดินหน้าแผนพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศทันที เร่งดำเนินการใน 3 แผนงาน คือ ‘พัฒนากำลังคน เพิ่มสัดส่วนการใช้รถ EV และหนุนงบวิจัย EVทั้งระบบ’ ซึ่งกระทรวง อว. มั่นใจว่าแผนงานทั้ง 3 นี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็น EV HUB ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และไปสู่เป้าหมายการผลิตยานยนต์ไม่ปล่อยมลพิษร้อยละ 30 ภายใน 5 ปี ตามที่รัฐบาลต้องการ

นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามที่รัฐมนตรีกระทรวง อว. ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เพิ่มเติมเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั้น เนื่องจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และประธานบอร์ดอีวี เล็งเห็นว่ากระทรวง อว. เป็นกระทรวงสำคัญที่จะมาร่วมขับเคลื่อนโยบาย ในการผลักดันให้ประเทศเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญอันดับหนึ่งของภูมิภาค และ 10 อันดับแรกของโลก

โดยมีเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 คิดเป็นกำลังการผลิตรถยนต์ประมาณ 725,000 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 675,000 คัน เพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้กับประเทศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แก้ไขความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม




นางสาวศุภมาส กล่าวว่า ได้มีการประกาศนโยบาย “อว. For EV” เพื่อผลักดันแผนงานที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าภายใต้กระทรวง อว. 3 แผนงาน คือ

1. EV-HRD การพัฒนาทักษะกำลังคน เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อาทิ การออกแบบ การผลิต การพัฒนาซอฟแวร์ และการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบรรจุไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายในการผลิตกำลังคน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 150,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยปี 2567 จะผลิตกำลังคนให้ได้ 5,000 คน มอบหมายให้ สภานโยบายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นหน่วยงานขับเคลื่อน

2. EV-Transformation การส่งเสริมให้หน่วยงานภายใต้ อว. ปรับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูงขึ้น โดยมีเป้าหมายให้หน่วยงานในสังกัด อว. เปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย ร้อยละ 30 ของยานยนต์ที่ใช้งานของหน่วยงานภายในระยะเวลา 5 ปี และจัดทำระบบต้นแบบการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกของกระทรวง อว. เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของ Green campus โดยมอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานอื่นของกระทรวง อว.

3. EV-Innovation การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปรับปรุงแผนด้าน ววน. ให้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อน อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ให้เป็น Flagships ที่สำคัญของกองทุนส่งเสริม ววน. และเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยมอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) มาร่วมดำเนินการขับเคลื่อนงานวิจัย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการสวทช.
สวทช.ยกระดับการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า

ด้าน ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ. สวทช. กล่าวว่า “การเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้า นั้นเราสามารถที่จะเลือกได้ว่าอยากจะเปลี่ยนโดยนำเข้ามาทั้งคัน หรือนำเข้าบ้างส่วนและผลิตในประเทศบางส่วน และเพื่อไม่ให้เงินออกไปต่างประเทศทั้งหมด ดังนั้นสวทช.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เตรียมการผลิตในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ตามศักยภาพของเราเพื่อลดการนำเข้า

“การเปลี่ยนอุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปเดิมให้ไปเป็นเครื่องยนต์EV เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ต้องเข้าไปทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมที่มีในประเทศ ซึ่งสวทช. ก็จะมีหน่วยที่ทำเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ในส่วนของมาตรฐานความปลอดภัยทางสวทช.มีมาตรฐานกลาง ที่สามารถปรับมาใช้กับการทำงานตรงนี้ได้ โดยได้มีการนำเข้ามาตรฐานเหล่านั้นมาเพื่อมาตรวจวัดอยู่แล้วเช่นกัน อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ การสร้างกำลังคน รองรับด้วย”

ตั้งเป้าหน่วยงานอว. 200 กว่าหน่วย ลดการใช้คาร์บอน 500,000 ตัน/ปี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วีรชัย อาจหาญ รองผู้อำนวยการสวทช.กล่าวว่า สำหรับบทบาท สวทช. รับผิดชอบเรื่อง EV-Transformation ตามที่ได้รับนโยบายมาโดยเร่งผลักดันให้หน่วยงานของกระทรวง อว. ที่มีทั้งหมดกว่า 200 หน่วย ปรับเปลี่ยนมาใช้รถ EV อย่างน้อย 30% ตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งได้รับมอบหมายจากรมต. ศุภมาศ ให้เราเป็นหน่วยงานต้นแบบนำร่อง

โดยการทำงานต้องเริ่มจากการสำรวจว่ามีปริมาณการใช้เท่าไหร่ จะทำยังไงให้หน่วยงานปรับเปลี่ยน ซึ่งต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างในการผลักดันตรงนี้ เช่น การเชิญชวน โดยการจัดกิจกรรรม เพราะเราเชื่อว่าทุกคนอยากเปลี่ยนมาใช้รถที่ช่วยลดคาร์บอนอยู่แล้ว แต่ติดปัญหาเรื่องของลดค่าใช้จ่าย เราจึงมีแผนที่จะทำงานร่วมกับทางมหาวิทยาลัยที่มีการใช้แพลตฟอร์มการลดคาร์บอน โดยการรวบรวมคาร์บอนแล้วส่งต่อไปเป็นคาร์บอนเครดิตจำหน่าย ตั้งเป้าไว้ว่าหน่วยงานของอว.จะสามารถลดการใช้คาร์บอนได้ไม่ต่ำกว่า 500,000 ตัน/ปี


ทั้งนี้ สวทช.เป็นหน่วยกลาง ในการทำงานครั้งนี้ เนื่องจากเราเป็นหน่วยงานด้านวิจัย มีนักวิจัย ที่สามารถซัพพร็อตการทำงานตรงนี้ ได้ โดยเราสามารถเขียนโปรแกรมและรวบรวมโปรแกรมได้ ซึ่งหน่วยงานที่มาร่วมขับเคลื่อนกับเรา 3 เดือน เราก็จะมีงบประมาณให้กับหน่วยงานนั้น เพื่อนำไปใช้จัดกิจกรรมขับเคลื่อนกับหน่วยงานของตนเอง

สำหรับกิจกรรม ที่ทำนอกเหนือ จากการสร้างรายได้จากการจำหน่ายเครดิตคาร์บอนแล้ว มีแผนงานอื่น เช่น การทำข้อเสนอทำแผน Transformation เทียบการใช้รถปกติกับรถ EV เหมือนการประกวดแผนธุรกิจ และผู้ชนะการประกวดได้เงินรางวัลพร้อมถ้วยรางวัล เป็นต้น และนำข้อมูลที่ได้ตรงนี้ มาเป็น Back up ในการศึกษาปรับเปลี่ยน EV-Transformation ช่วยให้เราได้เห็น Dashboardที่เป็น Transformation ของการใช้รถยนต์ปกติเป็นรถไฟฟ้าของแต่ละหน่วยงานด้วย

สร้างความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม


นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมต. อว.
กล่าวทิ้งท้ายว่า ขอให้ภาคอุตสาหกรรม เชื่อมั่นว่า อว. สามารถที่จะตอบโจทย์ของผู้ประกอบการได้ สามารถมาทำงานร่วมกับ อว. ได้ ทั้งในด้านการพัฒนากำลังคน การกำหนดโจทย์วิจัย การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่วนภาคการศึกษา โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย ขอให้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมอีวี โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร การสร้างหลักสูตร การฝึกอบรม การจัดให้มีศูนย์ทดสอบ การวิจัยและพัฒนา

ทั้งนี้ รวมทั้งการทำงานร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเพื่อสนับสนุนในการสร้างบุคลากร ส่วนหน่วยงานให้ทุน ขอให้ทำการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมอีวีเป็นประเด็นที่มีความสำคัญในลำดับต้นๆในการพิจารณาทุนวิจัย และหน่วยงานอื่นในกระทรวง อว. หน่วยงานใดที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอีวี ขอให้สนับสนุนตามภารกิจและบทบาทของตนพร้อมพิจารณาปรับเปลี่ยนรถไอซีอีมาเป็นรถอีวี เพื่อให้กระทรวง อว. เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้อีวี

สำหรับ นโยบาย อว. For EV นี้ มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมอีวี และทำให้อุตสาหกรรมอีวี เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นความหวังของประเทศไทย และรัฐมนตรีอว.ย้ำว่า อนาคตน่าจะได้เห็นแบรนด์ยานยนต์อีวีสัญชาติไทยเกิดขึ้นแน่นอน


กำลังโหลดความคิดเห็น