ยุคนี้ เครื่องดื่มที่น่าจะเป็นซอฟพาวเวอร์ของประเทศไทย ก็ต้องยกให้ชาไทยชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทย หนึ่งในเครื่องดื่มที่ต้องมาชิม นั่นคือ ชาไทย ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะของชาไทย และนอกจากแบรนด์ดังที่เป็นกระแสและทำให้หลายคนหันมาดื่มชาไทยแล้วอีกหนึ่งแบรนด์ที่เชื่อว่าหลายคนจดจำกันได้ เพราะเมื่อหลายปีก่อนนี้ หันไปทางไหนก็จะมีร้านขายเครื่องดื่มแฟรนไชส์ที่ใช้ชื่อว่า “ชาตันหยง”
นำเอกลักษณ์ชาใต้มาเสิร์ฟคนไทยทุกจังหวัด
วันนี้ คนเมืองหลวง กรุงเทพฯ เอง อาจจะไม่ค่อยได้เห็นร้านแฟรนไชส์ ชาตันหยงมากนัก ในปัจจุบัน แต่ถ้าเป็นในต่างจังหวัดแฟรนไชส์ชาตันหยง ก็มีให้เห็นกันในทุกจังหวัด ซึ่งเจ้าของบอกว่า วันนี้ “ชาตันหยง” มีสาขา ที่เปิดไปแล้วมากกว่า 1,800 สาขา กระจายอยู่ในทุกจังหวัด รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฯลฯ ที่แฟรนไชส์ชาตันหยงเปิดอยู่มากว่า 50 สาขา
การเติบโตของ “ชาตันหยง” นับถึงปัจจุบัน เดินทางมาเข้าถึงปีที่ 10 เชื่อว่า คนไทยหลายคนน่าจะเคยได้ลิ้มลองรสชาติของชาไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ดินแดนด้ามขวานของประเทศไทยรายนี้กันมาบ้างแล้ว เชื่อว่าน่าจะถูกปากใครหลายคน ทำให้ชาตันหยง ยังครองใจคนไทยในหลายจังหวัดของประเทศไทย วัดได้จากการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องปีละไม่ต่ำกว่า 150 สาขา
ทำไมต้องเป็น “ชาตันหยง”
วลัยลักษณ์ วณิชชาภิวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาตันหยง จำกัด และเจ้าของแฟรนไชส์ ชาตันหยง เล่าว่า ตนเองเป็นคนพัทลุง และตัดสินใจมาเปิดแฟรนไชส์ ชาตันหยงเมื่อ 10 ปี ที่ผ่านมา ตอนนั้นเป็นพนักงานบัญชี และอยากจะมีอาชีพเสริมเปิดร้านเครื่องดื่มเล็กข้างบ้าน และเลือกเมนูชา เพราะที่บ้านเกิดภาคใต้มีแหล่งปลูกชาที่ขึ้นชื่ออย่าง “ชาตันหยง” ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ก็เลยนำเอกลักษณ์โดดเด่นของชาตันหยง มาสร้างเป็นชื่อแบรนด์ เพื่อสื่อให้รู้ว่าเราเป็นชาใต้ต้นตำรับจริงๆ และให้คนที่ได้มีโอกาสมาชิมจะได้รู้จักชาตันหยงมีความโดดเด่นอย่างไร
โดยในตอนแรกที่เปิดขายมีเพียงแค่ 5 เมนู เท่านั้น ปัจจุบันได้พัฒนาเมนูเครื่องดื่ม เพื่อให้ลูกค้าแฟรนไชส์นำไปขายหน้าร้าน ไม่ต่ำ 20-30 เมนู วันนี้ แม้จะผ่านมากว่า 10 ปี แล้ว ชาตันหยงยังไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนาเมนูใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าแฟรนไชส์นำไปสร้างทางเลือกใหม่ให้กับลูกค้าของตัวเอง
ขยาย 1.800 สาขา ขายวัตถุดิบ 40 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ ด้วยความโดดเด่นของชาตันหยง ทำให้มีคนสนใจขอซื้อแฟรนไชส์กันเป็นจำนวนมากตั้งแต่ โดยในปีแรกๆสามารถเปิดขายแฟรนไชส์ ได้มากถึง ปีละ 300-400 สาขา แต่หลังๆ ด้วยเศรษฐกิจไม่ค่อยดีหนัก ประกอบกับการแข่งขันตลาดเครื่องดื่มมีสูง ทำให้แฟรนไชส์ชาตันหยงขยายสาขาได้น้อยลง ลดลงไปกว่าครึ่งหนึ่งเหลือปีหนึ่งประมาณ 100-150 สาขา รวมตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีสาขาแฟรนไชส์ มากถึง 1,800 สาขา มีตัวแทนที่ดูแลสาขาแฟรนไชส์ อยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด ซึ่งเราในฐานะเจ้าของแฟรนไชส์ มีรายได้จากการขายวัตถุดิบปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาท
รับอานิสงส์กระแสชาไทย
วลัยลักษณ์ เจ้าของแฟรนไชส์ ชาตันหยงบอกว่า วันนี้ ตลาดชาไทยกำลังเป็นกระแส ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ามาจากการทำตลาดเชิงรุกของแบรนด์ดัง และจากกระแสของชาไทยนี้เอง กลับเป็นแรงบวกทำให้เราได้รับอานิสงส์ไปด้วย เพราะในช่วงที่เครื่องดื่มจากไต้หวันอย่างชานมไข่มุกมาแรง ทำให้หลายคนหันไปกินชาไต้หวันกันเยอะ กระทบกับยอดขายของเราพอสมควร แต่พอช่วงนี้กระแสชาไทยมาแรง ทำให้คนหันมาสนใจชาไทย และกินชาไทยเยอะขึ้น เราก็พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย
ยกระดับชาตันหยงข้างทาง เจาะกลุ่มพรีเมี่ยม
ด้วยเหตุนี้ แผนการตลาดที่วางไว้จากนี้ คือ ต้องการที่จะยกระดับแบรนด์ชาตันหยงให้ เป็นพรีเมียมเพื่อยกระดับชาตันหยงให้เข้าไปเจาะตลาดลูกค้าในกลุ่มพรีเมี่ยมมากขึ้นด้วย และเพื่อแสดงให้เห็นว่าชาตันหยงของเราคุณภาพไม่แพ้แบรนด์ดัง โดยมีแผนที่จะเลือกสาขาแฟรนไชส์ที่โดดเด่นในจังหวัดนั้น ยกระดับเป็น “ชาตันหยงพลัส” CHATANYONG PLUS เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า ชาที่เลือกมาใช้เป็นชาคุณภาพพรีเมียม แต่เราขายในราคาที่ทุกคนเอื้อมถึงได้ โดยจะมีปรับแค่สูตรการชงให้ตอบโจทย์คนที่เป็นลูกค้าที่มีกำลังซื้อขึ้นมา และต้องการดื่มชาในรสชาติที่เข้มข้นขึ้น แต่ยังคงใช้ชาตัวเดิมที่สั่งมาจากในพื้นที่ภาคใต้
ในส่วนราคาตอนนี้ ยังไม่ได้ตั้งราคาที่แน่นอน นอกจากการปรับสูตร การยกระดับชาตันหยงครั้งนี้ ต้องปรับรูปแบบการนำเสนอไม่ว่าจะเป็นการจัดร้าน เมนูภายในร้าน และ แพคเกจจิ้ง ซึ่งทุกอย่างจะถูกปรับและยกระดับเพื่อให้คนไทยได้กินชาไทย จากพื้นที่ตำบลตันหยงมัสแหล่งผลิตชาคุณภาพที่สำคัญของภาคใต้ในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่ง เราเชื่อว่า การยกระดับครั้งนี้ เป็นตัวเลือกให้กับคนที่ชื่นชอบชาไทยคุณภาพ ได้มีทางเลือกมากขึ้นด้วย และเป็นการปลุกกระแสชาไทย ให้กลับมาสามารถแข่งขันกับชาในประเทศอื่นๆ ได้
เตรียมบุกตลาดสร้างชื่อชาไทยในต่างประเทศ
วลัยลักษณ์ พูดถึงการดูแลสาขาแฟรนไชส์ ที่มีมากถึง เกือบ 2,000 สาขา ของเธอว่า ใช้การแต่งตั้งตัวแทน และให้ผลตอบแทนของตัวแทนเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย เพื่อให้ดูแลเครือข่ายแฟรนไชส์ของตนเอง ในส่วนการทำหน้าที่ของเราหลังจากการขายแฟรนไชส์ไปแล้ว คือ การส่งวัตถุดิบ การคัดเลือกวัตถุดิบคุณภาพ และการสอนสูตรการชงเครื่องดื่มให้อร่อย รวมถึงการคิดเมนูใหม่ๆ ส่วนการควบคุมดูแลแฟรนไชส์ตัวแทนจะทำหน้าที่ตรงนี้
สำหรับในส่วนการทำแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ก็ใช้หลักการเดียวกัน คือ การแต่งตั้งตัวแทน ขึ้นมา ที่ผ่านมา การทำตลาดในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นการไปออกบูทร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านมีตัวแทนติดต่อเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์ จากการที่ได้เห็นสาขาในจังหวัดชายแดน และอยากจะนำไปเปิดประเทศตัวเอง แต่พอไปร่วมออกบูทกับหน่วยงานภาครัฐ ได้ลูกค้าอินโดนีเซีย เวียดนาม เพราะเป็นประเทศที่ชื่นชอบการดื่มชาพอได้ชิมพอใจกับรสชาติชาตันหยง
ที่ผ่านมา เห็นชาใต้หลายแบรนด์ แต่ละแบรนด์มีความโดดเด่นแตกต่างกัน แต่ทุกแบรนด์ได้รับการตอบรับจากลูกค้านักดื่มชาได้เป็นอย่างดี ด้วยเอกลักษณ์ของชาใต้ ซึ่งชาตันหยงเป็นร้านแฟรนไชส์เครื่องดื่มริมทาง ที่นำเอกลักษณ์ชาใต้มาเป็นจุดขาย เช่นเดียวกัน แต่ที่ยังสามารถรักษาฐานลูกค้าและอยู่ได้นานและขยายสาขาได้จำนวนมากได้ เป็นตัววัดถึงคุณภาพของเครื่องดื่มชาไทย อีกหนึ่งแบรนด์ที่เตรียมจะไปโลดเล่นสร้างชื่อชาไทยในต่างประเทศ
ติดต่อ FACEBOOK : ชาตันหยง
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด