xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) สร้างสังคมคนรักผลไม้ City Fresh ต่อยอดธุรกิจผลไม้พรีเมียมนำเข้าสู่ค้าปลีก “คาเฟ่ผลไม้” ครบวงจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผมว่าออนไลน์กับออฟไลน์มันอาจจะไม่ได้เป็นอะไรที่ทดแทนกันได้ 100% คนอาจจะช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยเหตุผลบางอย่างเช่น ความสะดวก แต่การที่คนช้อปปิ้งออฟไลน์มันอาจจะมีเหตุผลอื่นเช่น การอยากได้มามีประสบการณ์มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ได้สัมผัสกับบรรยากาศที่มีความแตกต่าง


ในเรื่องนี้ผมมองว่ามันไม่สามารถทดแทนด้วยการขายออนไลน์อย่างเดียวได้ เพราะฉะนั้นการทำการตลาดในมุมมองของ City Fresh เราเลยคิดว่าต้องทำทั้งออฟไลน์และออนไลน์คู่กันไป แล้วอีกข้อหนึ่งที่มีความสำคัญมาก ๆ ของการทำออฟไลน์ที่เราสัมผัสได้ก็คือ การที่มีร้านหรือมีหน้าร้านมันทำให้มีคนเห็นตัวเราเป็นตัวตนแล้วมันมีความน่าเชื่อถือมากกว่า” คุณบิว-วงศกร ฉัตรอมรวงศ์ Executive Director แบรนด์ City Fresh บอกเล่าถึงจุดเน้นใหม่ของการทำการตลาดผ่านช่องทางออฟไลน์ หรือการมีหน้าร้าน ในรูปแบบของคาเฟ่ผลไม้ครบวงจร สร้างสังคมของ “คนรักผลไม้” เพื่อมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ จากธุรกิจดั้งเดิม City Fresh เป็นบริษัทนำเข้าผลไม้มาขายในประเทศไทย ก็จัดจำหน่ายให้กับหลาย ๆ ที่ส่งให้กับทางห้างสรรพสินค้า ส่งให้กับทางตลาดสดต่าง ๆ บริษัทมีไอเดียที่อยากสร้างความแตกต่างโดยการทำแบรนด์ City Fresh ให้มีความโดดเด่นขึ้นมา คอนเซ็ปต์ก็คือ อยากให้คนที่มาติดตามแบรนด์ City Fresh เป็นคนที่มีความหลงใหลความรักในผลไม้ “จึงเป็นที่มาที่เราพยายามสร้างสังคมของ “คนรักผลไม้”ซึ่งจริง ๆ ของการเป็นสังคมของคนรักผลไม้เนี่ยมันอาจจะไม่ได้จำกัดอยู่แค่ของ คนที่ชอบทานผลไม้อย่างเดียว อาจจะเป็นคนที่ซื้อผลไม้ให้เป็นของขวัญ คนที่ชอบปลูกผลไม้ คนที่ชอบเอาผลไม้ไปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร สามารถได้ทุกอย่างครับเพียงแต่ให้คุณมีความหลงใหลความรักในผลไม้ ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคนรักผลไม้ของเราได้”




จากธุรกิจค้าส่งผลไม้พรีเมียมนำเข้า
บริษัท City Fresh Fruit อายุปัจจุบันคือ 35 ปีแล้ว ก็เปิดมาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ตอนยุคนั้นคุณพ่อคุณแม่ก็เห็นโอกาสว่ามันมีธุรกิจการนำเข้าผลไม้ที่เหมือนเปิดโอกาสให้บุคคลทั่ว ๆ ไปมาสามารถทำกันได้“แล้วก็โดยแบล็คกราวด์ของทั้งสองท่านจริงๆ เนี่ยคุณแม่ในอดีตก็อยู่เป็นร้านขายผลไม้อยู่ใน “ตลาดน้อย” เมื่อ 30-40 ปีก่อนคนก็จะรู้ว่า ถ้าต้องการซื้อผลไม้ที่แบบคุณภาพดีก็ต้องไปตลาดน้อยนะครับ ครอบครัวของคุณแม่ก็เป็นร้านผลไม้ที่อยู่ในตลาด แล้วก็คุณพ่อนะครับเป็นคนที่ทำธุรกิจกับต่างประเทศอยู่แล้วก็เลยจะเข้าใจในการทำธุรกิจกับชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าและส่งออก ก็ทั้งสองคนก็เลยมาตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจร่วมกันโดยที่จิ้มไปของการนำเข้าผลไม้ก็เป็นที่มาของการเปิดบริษัทของเรา” แล้วก็รุ่นลูก ๆ ผมมี 3 พี่น้อง มีพี่สาว 1 คน ตัวผมเป็นคนกลาง แล้วก็มีน้องชาย1 คน ทั้งสามคนก็คลุกคลีอยู่กับวงการผลไม้มาตั้งแต่เด็กเพราะว่าเป็นธุรกิจครอบครัว “ด้วยความคิดของรุ่นลูกที่แตกต่างกันกับคุณพ่อคุณแม่ และก็ยุคสมัยที่มีความเปลี่ยนแปลงไป ความต้องการของตลาดก็อาจจะมีการสนใจเรื่องของ Branding เรื่องของความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ก็เลยเป็นที่มาที่ว่าเราพยายามจะมาเน้นเรื่องของการทำแบรนด์มากยิ่งกว่าในอดีตครับ”




แตกไลน์สู่ค้าปลีก “คาเฟ่ผลไม้พรีเมียม” ครบวงจร
ก่อนหน้าที่จะเป็นรูปแบบใครมาทำก็ได้ ผลไม้มันอาจจะมีของตกค้างอยู่ในตลาดกว่าที่จะไปถึงทางลูกค้าหรือผู้บริโภคมันอาจจะเก่า เช่น แอปเปิล คนก็จะคิดว่าแอปเปิลมันคือ เนื้อทรายนะ โดยที่เขาอาจจะไม่รู้ว่าจริง ๆ คือมันไม่สด แต่เขาก็จะเป็นภาพจำว่าแอปเปิลมันเป็นเนื้อทราย“ตู้แรกที่ทางคุณพ่อคุณแม่นำเข้ามาเป็นแอปเปิลจากญี่ปุ่น คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังว่าเออพอเขาเอาไปส่งให้ลูกค้าปุ๊บลูกค้าได้ลองว่าเอ้ยแอปเปิลมันอร่อยมาก! มันดีมากเลย อันนั้นก็แบบเป็นการจุดประกายทำให้ลูกค้าได้เห็นความแตกต่างว่าเอ้ย ผลไม้ของ City Fresh คุณภาพดีมันก็เหมือนเป็นภาพจำ เป็นการทำแบรนด์กับระหว่างเรากับลูกค้าที่เป็นภาคธุรกิจ”ผลไม้ที่เป็นตัวนำเข้า 3 ชนิดที่คนรู้จัก แอปเปิล องุ่น และก็ส้ม ทั้งสามตัวนี้เป็นตัวที่มี Volume เยอะที่สุดตอนที่บริษัทเริ่มต้นการนำเข้าก็ทำ 3 ตัวนี้ก่อน แต่ว่านอกเหนือจากนั้นแล้วก็จะมีผลไม้นำเข้าจากหลาย ๆ ประเทศที่มันไม่มีอยู่ในเมืองไทย




อย่างถ้าพูดถึง “กีวีฟรุ๊ต” ทุกวันนี้ทุกคนก็ค่อนข้างรู้จักว่ามันคืออะไร ย้อนกลับไปเมื่อ 20 กว่าปีก่อนคนไม่รู้หรอกคืออะไร มันเป็นผลไม้ที่กินเปลือกไม่ได้นะมันต้องปอกทาน ต้องหั่นทานนะ เพราะฉะนั้นวิธีการที่เราจะนำเสนอสินค้าให้กับตลาดมันอาจจะไม่ได้เป็นแค่การขายเฉย ๆ เราต้องบอกว่า คุณต้องกินยังไง คุณต้องเลือกยังไงnเอ้ยทำไมมันเปรี้ยวจังมันอาจจะเป็นเพราะว่า คุณไปกินเร็วเกินไปหรือเปล่า เราก็ต้องมีการบอกให้ลูกค้ารู้ว่าต้องดูนะว่ามันสุกพร้อมเมื่อไหร่ เช็กความสุกยังไง การทานต้องทานตอนสุกแค่ไหน เขาจะได้รู้สึกว่าผลไม้ชนิดนี้เป็นผลไม้ที่ทานอร่อยแล้วก็จะรับประทานกันเพิ่มมากขึ้น “การมีผลไม้ชนิดใหม่ ๆ เข้ามามันก็ทำให้คนรู้สึกสนุกกับการได้ทานผลไม้ประเภทใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้นและอันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ City Fresh พยายามจะสื่อสารให้ลูกค้าเห็นว่าการทานผลไม้มันไม่จำเป็นต้องแบบทานโดยแบบจำเจ ทานเพราะว่าให้มันครบ 5 หมู่ แต่คุณสามารถทานผลไม้ได้อย่างสนุกสนาน”




ตอนที่เราริเริ่ม ลูกค้าทั้งหมดที่ซื้อของจากเราเป็นลูกค้าที่ซื้อไปขายต่อทั้งหมดเลย เพราะฉะนั้นเราอาจจะไม่ได้มีโอกาสที่จะไปสื่อสารกับผู้บริโภคให้เขาทราบว่าสินค้าตัวนี้เป็นยังไง ๆ แต่ว่าเราต้องสื่อสารกับลูกค้า “ค้าส่ง” ของเราว่าผลไม้ชนิดนี้นะ รสชาติเป็นแบบนี้นะ มันมาจากแหล่งนี้นะ และความโชคดีของการที่เราค้าขายกับลูกค้าที่เป็นค้าส่งเขาก็เป็น Expert ของผลไม้อยู่แล้วเพราะฉะนั้นเขาก็จะค่อนข้างรู้อยู่แล้วของดีไม่ดีเป็นอย่างไร แล้วตัวเขาเองนี่แหละจะเป็นคนที่ไปสื่อสารต่อให้กับลูกค้า “ตอนที่เรามาทำของค้าปลีกเราก็ต้องระมัดระวังนิดหนึ่งว่า ลูกค้าของเราที่เขาทำค้าส่งเขามองว่ายังไง คือผมว่าตลาดมันมีความใหญ่ของมันอยู่ที่ลูกค้าอาจจะไม่ได้ไปโฟกัสที่ว่าคุณมาตัดตอนฉันขนาดนั้นนะ แต่ในมุมกลับกันผมว่าการที่เราทำการสื่อสารหาผู้บริโภคมากยิ่งขึ้นเนี่ย มันทำภาพที่ลูกค้าเรามองเรา ลูกค้าที่ว่านี่คือลูกค้าภาคธุรกิจเขามองเรามันจะชัดขึ้น”



พรีเมียมกว่าอย่างไร? ด้วย Storytelling
คำว่า Premium มันอาจจะไม่ได้แปลว่าแพงเสมอไป เพราะว่าพรีเมียมมันอาจจะเป็นสิ่งที่มีความพิเศษ ความแตกต่าง ไม่ได้หาได้ทั่ว ๆ ไป แต่ถึงแม้จะเป็นพรีเมียมก็ต้องคุ้มค่ากับเงินที่ลูกค้าได้จ่ายไป เพราะฉะนั้นเวลาที่ลูกค้าเขาตัดสินใจว่ามันคุ้มค่าหรือไม่คุ้มค่ามันอาจจะไม่ได้มองที่ราคาอย่างเดียวเราต้องทำยังไง ต้องมีการเล่า Story เล่าที่มาให้เขาฟังว่า ผลไม้ของเรามันมีข้อดีอย่างนี้นะโดยข้อมูลที่เราต้องให้ลูกค้านั้น เป็นข้อมูลที่จริงใจ ซื่อสัตย์ บอกให้เขารับรู้เราไม่จำเป็นต้อง make story ขึ้นมาเพื่อบอกเขา เราแค่เอาเรื่องราวดี ๆ ที่มันมีอยู่แล้วในตัวผลไม้มาสื่อสารให้เขารับรู้ ให้เขารู้สึกพอใจกับการที่จะจ่ายในมูลค่าที่เรากำหนดเอาไว้“แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมันก็มีจุดที่ต้องระมัดระวังว่า ราคาถ้ามันสูงเกินไปตลาดยังไม่พร้อม มันจะมีผลไม้พรีเมียมบางตัวที่มันก็ต้นทุนแพงจริง ๆ เราก็อาจจะต้องมีกลยุทธ์ในการขายนิดนึงว่าจะต้องขายในช่วงเวลาไหน ขายยังไง เพื่อให้รู้สึกคนยอมรับได้ครับ”


ซึ่ง Story ของตัวผลไม้ตัวเองในฐานะที่คนทำธุรกิจยังรู้สึกหลงใหลกับมันเลย ที่ไปเจอชาวสวนได้คุยกับเขา ส่วนใหญ่คนที่ทำเป็นชาวสวนอยู่ทั่ว ๆ โลกเลยก็จะเป็น Family เหมือนกันเขาก็เป็นรุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นลูก ทำต่อเนื่องกันมาเรื่อย ๆ ส่งมอบความรู้กันว่าการปลูกส้มต้องปลูกแบบนี้ ๆ นะ ทำยังไงให้ส้มมันหวานตอนจะเก็บเกี่ยวต้องดูยังไง ยังไง“แม้แต่ชาวสวนเองก็ยังมีชาวสวนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คุณภาพ” เรื่องของรสชาติมาก กับคนที่อาจจะให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยหน่อยแต่เน้นเรื่องของทำยังไงให้มันได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพราะฉะนั้น City Fresh เองเวลาที่เราไปเลือกสรรว่าจะทำงานกับชาวสวนคนไหน เราก็ต้องดูเหมือนกันว่าคนไหนที่เขาคิดเหมือนกับเราที่เขาให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องคุณภาพ เรื่องรสชาติ เพื่อที่ว่าเราจะได้เอาของที่คุณภาพดีจริง ๆ มาส่งต่อให้กับลูกค้า แล้วเราพูดได้เต็มปากว่าอันนี้เป็นของที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดีจาก City Fresh แล้ว”


แรงบันดาลใจตอนแรกเริ่มเลยคือ เราอยากจะเข้าใกล้ “ผู้บริโภค” ให้มากยิ่งขึ้นโดยที่เจตนาของเราคือเราอยากจะไปคุยกับเขาสื่อสารให้เขารู้ที่มาที่ไปของสินค้า ให้เขาได้รู้อย่างที่เรารู้ ผลไม้แต่ละตัวมันมีข้อดีหลาย ๆ อย่างข้อดีที่ผู้บริโภคอาจจะรับรู้ก็คือตอนที่ได้รับประทาน ตัวนี้รสชาติหวาน กรอบ สดยังไงบ้าง แต่ว่ามีอีกหลาย ๆ เรื่องที่มันไม่ได้ถูกสื่อสารให้กับผู้บริโภคได้รับทราบ ความใส่ใจ ความตั้งใจที่ชาวสวนเขาปลูกขึ้นมา การเก็บเกี่ยวที่ว่าปีหนึ่งอาจจะมีระยะเวลาแค่ไม่กี่เดือน เพาะปลูกมันต้องรอระยะเวลา ลุ้นกับสภาพอากาศ พวกผลไม้แต่ละประเภทจริง ๆ ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวมันแค่ไม่กี่เดือนเองและก็ไม่ใช่ทุกชนิดจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี มันก็อาจจะมีเรียกว่าเป็น seasonal items ซึ่งข้อมูลตรงนี้เป็นจุดที่เราอยากจะเอามาสื่อสารให้กับผู้บริโภคซึ่งเรามองว่าเขาจะรู้สึก เห็นคุณค่าของตัวผลไม้มากยิ่งขึ้นกว่าที่ผ่านมา ที่อาจจะโฟกัสแค่เรื่องของรสชาติ ราคาอย่างเดียว


สร้าง Experience ที่น่าประทับใจ เลือกได้มากกว่า “ผลไม้”
ถ้าจับเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคที่บริษัทจำหน่ายตรงให้ ปัจจุบันก็ยังเป็นทาง “ออนไลน์” เยอะกว่าอยู่ เพราะว่าออฟไลน์ (หน้าร้าน) เราเพิ่งจะเปิดมาได้ประมาณปีกว่า ๆ แต่ก็เชื่อว่าตัวออฟไลน์มันมี Potential ในการเติบโตไปได้โดยเฉพาะในการที่เราจะพยายามให้ลูกค้ามามี Experience สมมุติถ้าเขาอยากจะได้ทานขนมหรืออาหารที่ทำมาจากวัตถุดิบที่เป็นผลไม้ดี ๆ พวกนี้มันอาจจะไม่สามารถขายออนไลน์ได้ เขาก็ต้องมาที่หน้าร้าน“เราคาดหวังว่าตัวนี้จะเป็นแผนในการเติบโตของเราในอนาคต ในส่วนที่เราจะจับกลุ่มผู้บริโภคโดยตรงมากยิ่งขึ้นครับ”


ที่นี่เรามีเพื่อคนที่รักผลไม้จริง ๆ ไม่ว่าคุณจะชอบผลไม้เป็นผลไม้พรีเมียม หรือผลไม้ที่เป็น Value for Money เราก็มีให้เหมือนกันแล้วการที่มาที่ร้านมันไม่ได้มีแค่ผลไม้สดอย่างเดียว คุณสามารถที่จะสนุกสนานกับผลไม้ได้รูปแบบอื่น เช่น ของการเป็นสมูทตี้ การเป็นเครื่องดื่ม การเป็นขนม การเป็นอาหาร พวกนี้คือเป็นเรื่องที่เรามองว่าการเป็น FRUIT LOVERS มันไม่จำเป็นต้องเป็นต้องเป็นผลไม้สดอย่างเดียว มันสามารถเป็นได้ทุกอย่าง อันนี้แหละคือจุดที่เราคิดว่าเราแตกต่างกับคู่แข่งของเราในท้องตลาด

“ผมก็เคยมีไปลองทำ Research ดูนะครับว่าเพราะสนใจว่า คนแต่ละชาติในโลกทานผลไม้กันเยอะแค่ไหนเพราะตอนนั้นอยากรู้ว่า คนไทยเทียบกับต่างชาติเป็นยังไง คนไทยยังทานผลไม้เฉลี่ยต่อปีอยู่แค่ประมาณ 20 กิโลฯ ซึ่งเราอาจจะไม่เห็นภาพมันเยอะหรือน้อยนะแต่ถ้าเราไปดูประเทศอื่น ๆ ถ้าประเทศอย่างพวกอเมริกา ยุโรป เขาจะทานกันอยู่ประมาณ 40 กิโลฯ หรือถ้าประเทศอื่น ๆ ในเอเชียที่เป็นประเทศที่ค่อนข้างพัฒนามาก ๆ แล้วเช่นทาง สิงคโปร์ เขาก็ทานกันอยู่ประมาณ 30 กว่าโลฯ”มันก็เป็นตัวเลขที่เห็นว่า จริง ๆ เมืองไทยยังสามารถทานได้เพิ่มขึ้นนะ อาจจะมีกลุ่มคนที่ทานเยอะ ทานน้อย แต่โดยค่าเฉลี่ยมันยังค่อนข้างต่ำ ถ้าคนที่ไม่ทานผลไม้เลยหรือทานน้อยมาก ๆ หันมาทานเยอะขึ้น มันก็จะทำให้ตลาดเราใหญ่ขึ้นได้“เราพยายามทำให้เขาทานของที่ดีต่อพวกเขามากยิ่งขึ้น โอเคคำว่าดีไม่ดีอาจจะมีรายละเอียดนะเช่นว่า มันปลอดภัยหรือเปล่านะ ปลูกมาจากแหล่งที่เขาใช้สารเคมีที่มันอันตรายหรือเปล่า โอเคนั่นแหละเป็นโจทย์ของ City Fresh ที่ว่าเราจะไปหาผลไม้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ ไม่มีสารตกค้าง ปลอดภัยทานแล้วไม่มีผลกระทบต่อร่างกาย อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญในการที่สรรหามาให้กับลูกค้าเรา”




เป็นสังคมของ “คนรักผลไม้” ที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นได้
คุณบิว-วงศกร ฉัตรอมรวงศ์ Executive Director แบรนด์ City Fresh ยังบอกด้วย ตนเองมองว่าการทำธุรกิจมันมีหลายองค์ประกอบที่มีความสำคัญมาก ๆ สำหรับแบรนด์ของเรา มันอาจจะไม่ได้เป็นแค่ตัวเจ้าของหรือตัวแบรนด์อย่างเดียว เราต้องดูว่าผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียกับธุรกิจของเรามีใครบ้าง หรือในภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า STAKEHOLDER ซึ่งของทาง City Fresh เองเราก็คุยกันในบรรดาพี่น้องแล้วก็ผู้บริหารว่า ผู้มีส่วนได้-ส่วนเสียของเราคือใครบ้างนะ พอเราคุยกันแรก ๆมันก็จะออกมาไวก็ลูกค้าไง! ลูกค้าทั้งลูกค้าผู้บริโภคลุกค้าที่เป็นลูกค้าทางภาคธุรกิจของเรา แต่เราต้องมองให้ออกว่ามีใครคนอื่นอีกหรือเปล่า? ที่มีส่วนได้-ส่วนเสียกับธุรกิจของเรา อย่างเช่นของ City Fresh เราก็มองว่า Grower ก็เป็นหนึ่งในส่วนสำคัญต่อธุรกิจของเราเพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ Grower เราเขามีความสุขกับการทำธุรกิจของเราใช่มั้ยครับ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าหลาย ๆ บริษัทก็เหมือนกันก็คือ ตัวพนักงานที่ทำงานให้เรา เราก็ต้องทำให้เขามีความสุขเหมือนกันในการที่จะมาลงทุนลงแรง พยายามผลักดันให้ธุรกิจของเราเติบโตที่ผมพูดว่า Fruit Lovers Community ที่บอกว่ามันไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่รักการทานผลไม้อย่างเดียว อาจจะเป็นไปได้นะว่าพนักงานเราเขารักผลไม้แค่ว่าผลไม้ให้อาชีพเขา เขาสามารถหารายได้โดยการที่ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจที่เป็นด้านผลไม้ อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งเหมือนกันเขาสามารถเป็นพาร์ทของ Community นี้ได้


“เรื่องหนึ่งที่ระหว่างสามพี่น้องคุยกันก็คือว่า เออเราอยากได้อะไรจากธุรกิจ City Fresh อันนี้นะ ข้อหนึ่งที่เราตกลงและเห็นพ้องต้องกันเนาะ โดยที่อาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องของ commercial อะไรขนาดนั้นคือ อยากให้ธุรกิจนี้อายุเกิน 100 ปี อายุเกิน 100 ปีหมายความว่าเขาอาจจะ อายุยืนกว่าผมก็ได้นะ แต่มันเป็นจุดหนึ่งที่เรารู้สึกว่าเราภูมิใจถ้าเราสามารถผลักดันไปถึงตรงนั้นได้ พอเราคิดแบบนี้ เวลาเราทำกลยุทธ์อะไรวางแผนอะไรเราจะคิดถึงภาพยาว ๆ มาก ๆ เลย มันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องของการแบบทำเพื่อกอบโกยระยะสั้นแล้วก็ไป แต่เราอยากให้ City Fresh มันยังคงอยู่เนาะ ผ่านไปอีก ปัจจุบันเรา 35 ปีใช่มั้ยครับก็เหลืออีก 65 ปีก็จะครบ 100 ตอนบริษัท City Fresh ครบ 100 ผมอยากให้คนเขาจำภาพ City Fresh เป็นบริษัทที่ดีบริษัทที่ทำผลไม้ที่มีคุณภาพ ณ วันแรกที่คุณพ่อคุณแม่เริ่มธุรกิจเมื่อ 35 ปี่ที่แล้วลูกค้าเราผู้บริโภคเรามองเรายังไง ผมอยากให้อีก100 ปีเขามองเราแบบนั้นครับ”

ธุรกิจที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นภายใต้จุดเน้นในเรื่องของ “คุณภาพ”ที่ลูกค้ามีความทรงจำต่อแบรนด์ City Fresh มาอย่างเหนียวแน่นตลอดระยะเวลา 35 ปี ขอบคุณเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดี ๆ ในการประกอบธุรกิจจาก City Fresh โดยผู้บริหารรุ่นใหม่ตัวแทนทายาทของกิจการที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ดี ๆ ในครั้งนี้ สามารถติดตาม City Fresh ได้ทั้งช่องทางออนไลน์ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ และออฟไลน์ในรูปแบบของ “คาเฟ่ผลไม้พรีเมียม” สุดเก๋โดยร้านตั้งอยู่ที่ซอยปรีดีพนมยงค์ 26 กรุงเทพมหานคร สอบถามเพิ่มเติม โทร.095-764-9193



คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น