xs
xsm
sm
md
lg

ตำนานลุงขาวไขอาชีพ 90 ปี ขาวละออเภสัช ยุคเปลี่ยนผ่านสู่สมุนไพรนวัตกรรมตอบโจทย์คนทั่วโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชื่อของ “ลุงขาวไขอาชีพ” ไม่มีใครไม่รู้จัก แต่ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า “นายวราพงษ์ พงษ์บริบูรณ์” หรือลุงขาวไขอาชีพ ที่สอนอาชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย มาตั้งแต่ปี 2512 พ่วงกับตำแหน่งผู้บริหารคนสำคัญของขาวละออเภสัช ซึ่งมาถึงวันนี้ ขาวละออเภสัช ตกทอดมาถึงทายาทรุ่นที่ 3 รวมระยะเวลาดำเนินกิจการมากว่า 90 ปี มีการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์สมุนไพรขาวละออเภสัชมากมายเกิดขึ้นในยุคนี้


ภาพจำในอดีตขาวละออเภสัช

นายวัชรพงษ์ พงษ์บริบูรณ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ขาวละออเภสัช เล่าว่า ขาวละออเภสัชถือกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2472 จุดเริ่มต้นของขาวละออเภสัช เกิดขึ้นครั้งแรกที่สะพานพุทธ โดยนายหลง หรือ “หมอหลง ขาวละออ” เป็นแพทย์แผนไทยมีความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย เป็นการรวมองค์ความรู้ด้านสมุนไพรที่เป็นภูมิปัญญากับธรรมะที่เป็นองค์รวม กายใจ ได้มาเป็นผลิตสมุนไพร ที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยคนไทยในสมัยโบราณที่ระบบสาธารณสุขของไทยยังไม่ได้เจริญก้าวหน้าเหมือนอย่างทุกวันนี้

โดยสมุนไพรตัวแรกของขาวละออเภสัชในยุคนั้น ได้แก่ ยาถ่ายพยาธิขาวละออมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ ทำไมถึงต้องเป็นยาถ่ายพยาธิ เพราะในอดีตด้วยระบบสาธารณสุขความสะอาดแหล่งอาหารและน้ำของเรายังไม่สะอาด มีการปนเปื้อนทำให้พยาธิเข้ามาสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กๆ และ หมอหลง รวมกับ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลพัฒนาสูตรยาถ่ายพยาธิขึ้นในสมัยนั้น


และที่ดูเหมือนจะสร้างชื่อ และเป็นภาพจำของขาวละออเภสัช นั่นคือ ยากวาดสมานลิ้นขาวลออ ถ้าย้อนกลับไปสัก 50 ปี เด็กที่เกิดใหม่จะต้องได้รับการกวาดลิ้นด้วยขาวละออ ซึ่งเป็นความชาญฉลาดของหมอภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ที่รู้ว่า เด็กแรกคลอดหรือเด็กอายุน้อยจะมีลิ้นขาวที่เรียกว่า ซาง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคที่สำคัญ ทำให้เด็กไม่สบาย และถ้าไม่ได้กวาดลิ้น หรือ เอาฝ่าขาวนั่นออกไปเชื้อโรคที่อยู่ในปากจะลงไปในลำคอ ทำให้เด็กป่วยและกินอาหารไม่ได้ และขาวลออเป็นตัวช่วยให้กับเด็กแรกเกิดในยุคนั้นไม่ต้องเจ็บป่วย มาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ขาวละออเภสัช ก็เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศมาจนถึงปัจจุบัน ที่ขาวละออยังคงไม่หยุดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรออกมาช่วยดูแลสุขภาพของคนไทย ปัจจุบันถือว่าเป็นยุคที่ 3 ที่ ขาวละออเภสัช ได้นำนวัตกรรมใหม่ โดยทีมนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยยกระดับสมุนไพรไทย ให้สามารถตอบโจทย์คนไทยและคนทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญกับการรักษาทางเลือก แทนการรักษาด้วยยาปฏิชีวานะ


ยุคการเปลี่ยนผ่านขาวละออเภสัช
สู่สร้างนวัตกรรมสมุนไพรไทย

พอมาถึงยุคนี้ ขาวละออเภสัช มีสินค้าสมุนไพรนวัตกรรมใหม่ มากมายที่ได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานด้านวิจัยและนวัตกรรมของภาครัฐ หลายแห่ง เช่น ในช่วงโควิดเป็นรายแรกที่พัฒนาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในรูปแบบของสารสกัดฟ้าทะลายโจรให้อยู่ในแคปซูลเดียว โดยไม่ต้องกินฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 4-5 เม็ด แม้ว่าโควิดจะผ่านไป สารสกัดฟ้าทะลายโจรยังคงตอบโจทย์คนไทยที่ต้องการเลี่ยงการกินยาปฏิชีวนะหันมากินฟ้าทะลายโจรในช่วงที่เริ่มอาการเจ็บป่วยและถ้าไม่หายค่อยไปหาหมอและกินยาตามที่หมอจัดให้

และที่เป็นความภาคภูมิใจ ของขาวละออเภสัช อีกตัวหนึ่งนั่นคือสารสกัดจากกระเทียม นายวัชรพงษ์ เล่าว่า ตอนทำสารสกัดกระเทียม ได้ทำงาน กับ หน่วยงาน GTZ เยอรมัน เพราะเยอรมันเห็นถึงคุณประโยชน์ของกระเทียมที่จากเดิม ไม่อนุญาตคนของเค้ากินกระเทียมเพราะกินมันแรง แต่พอเห็นว่า กระเทียม มีคุณประโยชน์มากมาย และได้เลือกที่จะมาทำงานวิจัย ร่วมกับเราในนการพัฒนาสารสกัดกระเทียม จนปัจจุบัน ขาวลออเภสัช สามารถทำสารสกัดกระเทียม ที่ได้สารไอท็อกซินสูงสุด 1% ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน


นอกจากนี้ ขาวลออเภสัช ยังมีงานวิจัยที่ทำงานร่วมกับ หน่วยงานด้านงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับอีกหลายหน่วยงาน และได้ทุนสนับสนุน ไม่ว่าจะทุนวิจัย จาก วช. หรือ การทำวิจัยร่วมกับสวทช. คณะเภสัช มหาวิทยาลัยมหิดล หรือคณะเภสัชของ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้มีการพัฒนายากวาดสมานลิ้นที่เป็นแบบผง ออกมาเป็นแบบเจล เพื่อรักษาแผลในปากได้ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ขึ้นมาในปี 2560 และยังมีสมุนไพรสกัด อีกหลายตัว เช่น มะรุม และกาวเครือขาว ที่ขาวละออได้ทำวิจัยร่วมกับหน่วยงานด้านวิจัย

ในส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย นอกจากตลาดในประเทศ แล้ว ยังได้มีการส่งออกไปในหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง มาเลเซีย และเกือบทุกประเทศในอาเซียน และมีแผนที่จะส่งออกไปยังประเทศซาอุดิอาระเบีย และจีน แต่ติดปัญหาเรื่องของอย.ในแต่ละประเทศ ซึ่งถ้าถามเรื่องการยอมรับในตัวผลิตภัณฑ์ของขาวละออ เภสัช หลายประเทศให้การยอมรับ แต่ต้องผ่านกระบวนการขึ้นทะเบียน ซึ่งในหลายประเทศมีขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก และต้องใช้เวลา ไม่เหมือนกับสินค้าทั่วไป

ติดต่อ www.khaolaor.com




กำลังโหลดความคิดเห็น