เปิดความฝันของอดีตซีอีโอบริษัทประกันยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นก่อนลากออกมาทำตามความฝันและกลับบ้านเกิดเพื่อปั้นผ้าไหมไทย แบรนด์ Chayanna ให้โลดแล่นในตลาดโลก พร้อมยกระดับภูมิปัญญาชาวบ้านที่กำลังจะหายไปกลับคืนสู่ปัจจุบันด้วยการผลิตผ้าไหมจากเส้นใยและสีธรรมชาติที่หาได้จากพื้นที่ในท้องถิ่นเพื่ออนุรักษ์และต่อยอดการทำผ้าไหมไทยให้คงอยู่ต่อไป
แม้ความฝันจะดูแตกต่างจากอาชีพที่ทำมานานเกือบ 30 ปี แต่ ดร.ชญณา บอกว่า เราสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานบริษัทญี่ปุ่น มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะปรัชญาการทำงานของคนญี่ปุ่น ikigai คือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริง คือรู้ว่า ตื่นเช้ามาเราต้องทำอะไรเพื่อให้ชีวิตที่เหลืออยู่ หรือต้องรู้ว่ามีชีวิตเพื่ออะไร โดยทำใน 4 สิ่ง ต่อไปนี้คือ 1.ทำในสิ่งที่ชอบ 2.ทำในสิ่งที่ถนัด 3.ทำในสิ่งที่มีรายได้เลี้ยงชีพเพียงพอ และ 4.ทำในสิ่งมีประโยชน์กับโลกใบนี้ หากครบ 4 สิ่งนี้ ikigai เกิดแน่นอน
ดร.ชญณา ศิริภิรมย์ หรือ จ๊ะ เจ้าของแบรนด์ผ้าไหมไทยธรรมชาติ Chayanna เล่าว่า การที่ตัดสินใจออกมาทำแบรนด์ผ้าไหม เป็นของตัวเอง หลายคนก็เตือนว่า เราจะทำได้เหรอ ไม่ใช่ผ้าไหมทั่วไปด้วย แต่เป็นผ้าไหมธรรมชาติ ที่หาคนทำยาก ใช้เวลาในการทำงาน และต้นทุนค่อนข้างสูง แต่ด้วยความที่เราเองก็ผูกพันกับผ้าไหม ด้วยการซึมซับจากความรักในผ้าไหมของคุณแม่ ที่เก็บสะสมไว้นับร้อยผืน ผ่านกาลเวลามากว่า 40 ปี ในวันที่เราได้มีโอกาสสัมผัส ทำให้เข้าใจว่าทำไมคุณแม่ถึงรักผ้าไหม เพราะเราเองก็ตกหลุมรักในทันที เพราะผ้าไหมมีความพิเศษคือมีชีวิตชีวา ซึ่งนอกจากงดงามด้วยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว เนื้อผ้ายังสามารถปรับอุณหภูมิได้อย่างน่าอัศจรรย์ และเมื่อนำมาออกแบบตัดเย็บเป็นชุด ในแบบที่ทันสมัย ก็สามารถสวมใส่ออกงานได้ ใช้ในชีวิตประจำวันก็โก้เก๋ ไม่ซ้ำใคร คนเห็นต่างทักว่าสวย หลายคนขอซื้อ จนตอนนี้แทบจะไม่เหลือแล้ว
“จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่คิดว่า เราควรจะนำผ้าไหม ซึ่งเป็น “ศิลปะแห่งภูมิปัญญา” ออกแบบโดย “ศิลปินพื้นบ้าน” มีเรื่องราวในทุกผืนผ้า มาพัฒนาเป็นแฟชั่น ที่สามารถสวมใส่ได้หลากสไตล์ ลงตัวในทุกโอกาส ในแบบที่เป็นตัวเอง และสามารถทำตลาดได้ทั่วโลก” คุณจ๊ะ กล่าว
หากันจนเจอคนทอผ้าไหมธรรมชาติ
จนกระทั่งได้มีโอกาสได้เจอกับคุณสุวลักษณ์ มาศยะ หรือคุณเอ๋ เจ้าของแบรนด์ผ้าไหม “โชติกา” ซึ่งมีชื่อเสียงมากใน อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ครอบครัวของคุณเอ๋ ในอดีตเคยทอผ้าไหมแบบธรรมชาติ แต่ด้วยความนิยมที่ลดลง เพราะต้องใช้เวลาในการทอนาน หาคนทอยาก และขายก็ยากด้วย ทำให้ครอบครัวต้องปรับตัวไปใช้เคมี และจะย้อมธรรมชาติสำหรับการประกวดเท่านั้น และมือทออย่าง คุณเอ๋ และคุณย่าบัวตอง (แม่สามีของคุณเอ๋) แพ้สารเคมี จึงหันไปทำอาชีพอื่น
ด้วยความเสียดายฝีมือและภูมิปัญญาจะตกหาย คุณจ๊ะเลยสั่งครอบครัวของคุณเอ๋ ทำเฉพาะผ้าสีธรรมชาติ เดือนละเป็นร้อยเมตร ในแบรนด์ของ “Chayanna” และขอให้คุณเอ๋ และคุณย่าบัวตอง กลับคืนสู่กี่ทออีกครั้ง ซึ่งทั้งสองมีความสุขกับการได้ทอผ้าไหม เพราะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้สัมผัสทั้งกลิ่นใบไม้ กลิ่นดิน และความนุ่มนวลของเส้นไหม ที่ส่องประกายแวววาว ยามต้องแสงยามเช้า และแสงสุดท้ายของวัน ส่วนลายที่ย่าบัวตองหลงใหลและทอเป็นหลักคือลายดอกบัว ที่มีความงดงาม วิจิตร ส่วน คุณเอ๋ เป็นผู้ที่มีฝีมือในการให้สี จึงเป็นคุม ซึ่งคุณจ๊ะบอกว่า เรื่องแบบนี้สอนกันไม่ได้ ต่อให้ได้โจทย์เดียวกัน และเรียนมาเหมือนกัน คุณเอ๋ สามารถกำหนดสี ให้กลมกลืน สวยงาม ยากต่อการเลียนแบบ กลายเป็นจุดเด่นของแบรนด์ “Chayanna” (ชะ-ยัน-น่า)
กว่าจะเป็นแบรนด์ “Chayanna”
ในช่วงของการเริ่มต้น คุณจ๊ะ ซื้อเส้นไหมคุณภาพพรีเมี่ยมเกรด 3A จากพ่อค้าค้นกลาง เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณภาพ และในอนาคตจะประสานกับทางกลุ่มผ้าไหมที่ อ.บัวลาย จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและผลิตเส้นไหมคุณภาพดีแหล่งใหญ่ ให้มาเป็นต้นน้ำสำหรับการผลิตผ้าไหม Chayanna และนับเป็นความโชคดีที่ครอบครัวคุณเอ๋ มีคนรุ่นใหม่อย่าง “น้องนาเดีย” สาวสองที่รักการทอผ้าไหม และมีร่างกายที่แข็งแรง เป็นแรงงานคนสำคัญ อดีตเธอเคยย้อมผ้าไหมด้วยเคมี แต่หันมาย้อมสีธรรมชาติ และถูกวางตัวให้ทำทุกอย่างตั้งแต่ไปหาโคลนจากหนองน้ำกองแก้ว ซึ่งอยู่หน้าบ้าน ตัดกิ่งไม้เพื่อทำฟืน ตัดใบไม้หลากหลายชนิดในท้องถิ่น เพื่อนำมาต้มให้เกิดสีที่แตกต่างกันไปตามชนิดของใบไม้ ในแต่ละฤดู
“นอกจากจะได้ความรู้ในการเลือกวัสดุธรรมชาติจากประสบการณ์ตรงแล้ว ยังได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากหนังสือ มาจากหนังสือ “สีสร้างสรรค์ Color Creation” ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานให้ไว้ศึกษา นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างที่สุดของครอบครัว” คุณเอ๋ กล่าวอย่างภูมิใจ
ส่วนกรรมวิธีกว่าจะเป็นผ้าไหม คุณเอ๋ เล่าว่า ด้วยกรรมวิธีการผลิตที่พิถีพิถันละเอียดอ่อน ต้องเริ่มจากการเลือกเส้นไหมคุณภาพดี ซึ่งถือเป็นต้นน้ำสำคัญในการผลิตผ้าไหม โดยเริ่มจากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนได้ฝักเหลือง จากนั้นนำมาสาวเพื่อให้ได้เส้นไหม แล้วนำมากวักแยกเส้นไม่ให้พันกัน เสร็จแล้วนำมาต้มเพื่อลอกกาวไหม และกวักอีกรอบ ก่อนจะนำไปค้นลำหมี่ให้เป็นไปตามลวดลายที่วางไว้ แล้วนำมามัดลวดลายตามที่ต้องการลงย้อมสี
สำหรับสีธรรมชาติ ที่ใช้ในการย้อมสี คุณเอ๋จะเลือกใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติตามฤดูกาล และหาได้ในท้องถิ่น ได้แก่ ใบสัก ถ้าเป็นใบอ่อน ให้สีชมพูอ่อน แต่ถ้าใบแก่ จะให้สีน้ำตาลทอง , ใบสบู่เลือด (หรือท้องถิ่นเรียกว่าใบตุ๊กตา) ให้สีเขียว ,ฝักคูณดิบ ให้สีโทนเหลือง ฝักแก่ให้สีโทนน้ำตาล, ตัวครั่ง ให้สีแดง ชมพู และโอลด์โรส แล้วแต่จำนวนครั้งของการย้อม ,มะเกลือดิบ ให้สีเขียวเข้ม ถ้านำมาตากแดดหลาย ๆ ครั้ง จะให้สีโทนน้ำตาล ,เปลือกมะพร้าวน้ำหอม ให้โทนสีเทา, ใบหูกวาง ใบอ่อนให้สีน้ำตาอ่อน ใบแก่ให้โทนสีน้ำตาลแก่ นอกจากนี้ กรรมวิธีการย้อมสีธรรมชาติ ยังมีความมหัศจรรย์ คือ ถ้านำไปสีที่ได้จากธรรมชาติ ไปผสมกับโคลน ก็จะให้สีที่เข้มขึ้น เช่น ครั่งผสมกับโคลนจะให้สีม่วงกะปิ มะเกลือผสมโคลนจะให้สีเทาเขียว เป็นต้น และถ้านำมาผสมกับปูนขาวก็จะเปลี่ยนสีที่สวยไปอีกแบบ เช่น ผสมกับครั่ง จะได้โทนน้ำตาลชมพู
เมื่อได้สีตามที่ต้องการแล้ว ก็เป็นช่วงของการโอบสีโดยนำเชือกฟางมาโอบไว้ให้แน่น เพื่อแยกให้ได้สีตามที่ต้องการ จากนั้นก็นำมาย้อมสีพื้น แล้วแก้เชือกฟางที่โอบอยู่ออกทั้งหมดก่อนนำไปกวักอีกครั้ง แล้วปั่นใส่หลอดนำไปทอ ซึ่งกระบวนการนี้สำคัญมากเพราะมีการวางลวดลายไว้แล้ว หากเส้นไหมขาดก็ต้องต่อให้สนิท
“ผ้าไหมธรรมชาติแต่ละผืน มีความยาว 4 เมตร ใช้เวลาทอเป็นเดือน นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมชาวบ้านจึงไม่นิยมทำกันนัก แต่ถ้าไหมธรรมชาติ จะโดดเด่นคือมีความแวววาวสะท้อนแสง เหมือนเพชรร้อยเหลี่ยมที่มองมุมไหนก็สวย ไหมทุกผืนจะแตกต่างกันด้วยสีสันและลวดลาย เนื่องจากเป็นการทำมือ และใช้วัสดุจากธรรมชาติ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ความสวยงาม มีชีวิตชีวา และความมหัศจรรย์ของผ้าไหมคือ ปรับอุณหภูมิตามสภาพอากาศ ฉ่ำเย็นเมื่ออากาศร้อน และจะอบอุ่นเมื่ออากาศเย็น”
หลายคนถามว่า ไหมธรรมชาติสีตกไหม และจะซีดเร็วหรือเปล่า ซึ่งเป็นคำถามยอดฮิตของคนขายผ้าไหมมักเจอเสมอ ซึ่งคุณเอ๋ ที่คลุกคลีกับผ้าไหมมาทั้งชีวิตบอกว่า สีสันที่มาจากธรรมชาติฆ่าไม่ตาย สมัยก่อนคนโบราณ ก็ใช้ยางกล้วยผสมกับการย้อมผ้า ทำให้เกิดความคงทนของสี และไม่ตกสี ยิ่งซักยิ่งสวย ยิ่งเก่า ยิ่งมีคุณค่า ผ้าไหมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังมีการเก็บไว้อย่างดี สวยงาม เป็นมรดกที่ล้ำค่าของหลาย ๆ ตระกูล
4 ลวดลายบนผืนผ้าไหม “Chayanna”
แบรนด์ “Chayanna” มีทั้งผ้าทอเต็มผืน และชุดสำเร็จ ที่ถูกออกแบบตัดเย็บอย่างประณีตทุกขั้นตอน จากช่างผู้ชำนาญ เพื่อให้ผู้ที่สวมใส่ สวย เรียบหรู มีความร่วมสมัย มีรสนิยม สวมใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเชื้อชาติ ทุกไลฟ์สไตล์ และทุกโอกาส ฉีกทุกข้อจำกัดที่เคยมีมา มี 4 ลวดลายที่สร้างสรรค์จากลายโบราณนำมาประยุกต์เพิ่มเติมให้มีเอกลักษณ์และเรื่องราว คือ ลายดวงใจดอกแก้วประยุกต์จากลายประจำกระทรวงมหาดไทยให้ละมุนอ่อนช้อยสะดุดตาขึ้น ลายบัวหลวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการบูชาคุณความดี ลายกุหลาบเล่นไฟที่มีความสวยสะดุดตา และลายคั่นนาคพิง ประยุกต์การใส่เทคนิคหมี่คั่นโบราณให้เห็นถึงความมีไสตล์ผู้มาก่อนกาลของคนโบราณ
ทั้งนี้ได้นำลายทั้ง 4 มาออกแบบเป็น 3 คอลเล็กชันให้เหมาะกับทุกคน คือ
1. Nirvana หรือ นิพพาน สะท้อนถึงความอิ่มเอมในชีวิต ให้ความหมายของชีวิตตัวเองด้วยตัวเอง สงบเย็นสบายชุดจึงถูกออกแบบให้เป็น “KIMONO ROBE” บ่งบอกถึง Unisex Dress มีความทันสมัย โดดเด่น ในแบบที่เป็นตัวเอง
2. Diplomat เป็นการนำคุณค่าของผ้าไหมไทย มาออกแบบให้เป็น Luxury Dress สุภาพ เรียบหรู สามารถสวมใส่เป็นทางการได้ ให้ความรู้สึก Business ที่ยังคงความ Friendly เข้าถึงได้
3. MetrOriental นำความเป็นไทยของผ้าไหม มาออกแบบให้มีกลิ่นอายของความเป็นคนเมืองในแบบเอเชีย หรือ Oriental ใส่ความมีชีวิตชีวา สามารถสวมใส่ได้ทุกวัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *