จากเกษตรกรเลี้ยงวัวธรรมดาต้องการยกระดับเนื้อวัวให้โตในตลาด จับโคพื้นเมือง วากิวและแองกัสมาผสมเกิดเป็นโคดำลำตะคอง โคเนื้อ 3 สายเลือดจาก NVK ฟาร์ม จังหวัดนครราชสีมาตีตลาดคนไทยเป็นกลุ่มแรกส่งขายเดือนละ 8 ตัวสร้างยอดขายได้หลักล้านต่อเดือน
นายอรรควัฒน์ วิริยะขจรเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.วี.เค.ฟาร์ม โปรดักส์ จำกัด เจ้าของแบรนด์ โคดำลำตะคอง เล่าว่า เดิมทีการเลี้ยงโคเป็นเพียงอาชีพเสริมในตอนแรก ตนเป็นเหมือนเด็กต่างจังหวัดทั่วไปที่พอเรียนหนังสือจบก็เก็บกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำ ส่วนตัวตนเป็นคนชอบเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เมื่อทำงานเก็บเงินได้สักพักก็เริ่มซื้อวัวและควายไปฝากญาติเลี้ยงก่อน ซึ่งการเลี้ยงวัวสมัยก่อนจะนิยมเลี้ยงแบบแบ่งลูก และด้วยความชอบส่วนตัวก็เริ่มอยากกลับบ้านมาเลี้ยงด้วยตัวเอง
ด้วยความที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นจึงจำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองจากการลงคอร์สสั้นตามสถาบันต่างๆ ที่จัดขึ้นจนกระทั่งเริ่มรู้สึกได้ว่าการเลี้ยงวัวทำไมต้องให้คนอื่นมากำหนดราคาให้ ทำไมเราไม่กำหนดราคาเอง ถ้าหากยกระดับเรื่องคุณภาพได้เราจะสามารถตั้งราคาได้เองหรือไม่ เป็นคำถามที่ติดตัวของเขามาโดยตลอดเวลาที่เลี้ยงวัว
ต่อมาในช่วงปี 2554 ที่เกิดวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ของกรุงเทพฯ ทำให้เขาเริ่มทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ไหวและต้องการกลับบ้านเกิดไปยกระดับคุณภาพการเลี้ยงวัวให้จริงจัง เดิมทีไปกลับระหว่างกรุงเทพฯ และบ้านเกิดมาโดยตลอด การขายเนื้อวัวก็ขายตามราคาตลาด ซื้อมาขายไปอย่างนั้นเสมอมา จนกระทั่งเริ่มมีแนวคิดยกระดับคุณภาพการเลี้ยงและขายเนื้อวัวขึ้นมา ทำให้เขาได้เข้าไปศึกษาหาความรู้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งกำลังรณรงค์เรื่องเนื้อวัวไทยวากิว โดยส่วนตัวของเขาแล้วเป็นคนคิดนอกกรอบและมองว่าไทยวากิวเติบโตช้า เขาจึงหยิบมาต่อยอดและเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยฯ ดังกล่าวด้วยการนำเอาวัวไทยวากิวมาผสมกับพันธุ์แองกัส และสามารถผสมพันธุ์โคไทยกับวากิวและแองกัสได้สำเร็จ 100% กลายเป็นวัวลูกผสม 3 สายเลือดนั่นเอง
เกษตรกรที่เลี้ยงวัวเหล่านี้ถ้าหากเลี้ยงถูกหลักโภชนาการอาจจะสามารถขายและได้กำไรไม่ต่ำกว่า 30% โดยแบ่งเป็นต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ซึ่งในแต่ละสัดส่วนนั้นได้มีการวิจัยแล้วว่าแต่ละส่วนมีกำไรที่เหมาะสมและเกษตรกรอยู่ได้ แต่ขึ้นอยู่กับการจัดการของแต่ละส่วนนั่นเอง ปัจจุบันเอ็น วี เค ฟาร์ม เลี้ยงโคมาประมาณ 28 ปี
ทั้งนี้เอ็น วี เค ฟาร์ม ยังเป็นสถานที่สำหรับให้นักศึกษามาฝึกงานประมาณ 12 สถาบันและผลิตออกสู่สังคมปีละ 100 คน ซึ่งในช่วงเวลาที่ฝึกงานนักศึกษาจะไม่มีค่าใช้จ่ายในการฝึกงานแต่ทางฟาร์มจะมีค่าตอบแทน ค่าแรงเล็กๆ น้อยๆ ให้ไป เนื่องจากเด็กฝึกงานเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นลูกของเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวและมีฐานะยากจน ซึ่งจะต้องมีคุณสมบัติ 4 อย่าง คือ 1.อยากรู้อยากเรียน 2.ขยัน 3.อดทน และ 4.มีวินัย ทางฟาร์มจึงมีนโยบายรับเด็กฝึกงานเหล่านี้เข้ามาศึกษาหาความรู้การเลี้ยงวัวที่ฟาร์มนั่นเอง
“ในความคิดของผมในตลาดต่างประเทศถ้าเราจะไปแข่งขันในเชิงปริมาณอย่างบราซิล ออสเตรเลีย หรือว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ถ้าเราจะไปแข่งขันในเชิงปริมาณสู้ไม่ได้นะครับ แต่ถ้าการแข่งขันในเชิงคุณภาพผมเชื่อว่าเนื้อไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แล้วคนเลี้ยงโคเนื้อเชื่อว่าสามารถทำได้ดีกว่าเพราะว่าเราได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์และอาหาร เรามีพร้อมหมด อย่าลืมนะว่าต่างประเทศพืชพรรณอาหารเขาไม่สมบูรณ์เท่าบ้านเรา แต่บ้านเรามีหมดทำไมไม่หยิบจับเอามาใช้ ผมอายุ 57 แล้วตั้งปณิธานว่าผมตายได้แต่โคดำลำตะคองต้องไม่ตาย! เพราะว่าโคดำลำตะคองสามารถสร้างอาชีพให้กับคนรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ” นายอรรควัฒน์ ระบุ
ปัจจุบันเอ็น วี เค ฟาร์ม เลี้ยงวัวอยู่ประมาณ 400 ตัว บนพื้นที่ 395 ไร่ และมีกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจอยู่ 8 วิสาหกิจทั่วจังหวัดนครราชสีมา และมีชาวบ้านที่เป็นเครือข่ายโดยตรงกว่า 300 ครัวเรือน รวมถึงเครือข่ายในนครชัยบุรินทร์ (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์) ที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรไม่ต่ำกว่า 4,000 ครอบครัวที่มีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของนวัตกรรมที่นำมาพัฒนานั้นทางฟาร์มจะเน้นการปรับปรุงพันธุ์ การผลิตอาหาร รวมถึง BCG ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงสัตว์โดยตรง โดยทางฟาร์มจะเน้นเรื่องนี้และส่งต่อการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเลี้ยงวัว
โคดำลำตะคองในตอนนี้ถูกขายให้กับลูกค้ารายย่อย ขายรูปแบบเนื้อตัดแต่งตามที่ลูกค้าต้องการที่มีทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ปัจจุบันโคดำลำตะคองมีเนื้อหลายเกรดได้แก่ พรีเมี่ยมและซุปเปอร์พรีเมี่ยม ถ้าหากเปรียบเทียบราคากับญี่ปุ่นในเกรดซุปเปอร์พรีเมี่ยมราคากิโลกรัมละ 16,800 บาท โคดำลำตะคองในเกรดเดียวกันกิโลกรัมละ 5,500 บาท คิงโกเบ 24,300 บาท โคดำลำตะคอง 5,500 บาท ซึ่งราคาแพงสุดของโคดำลำตะคองจะอยู่ที่ 5,500 บาทในเกรดที่ดีที่สุด ส่วนเกรดอื่นๆ ราคาก็จะลดหย่อนลงมาและเริ่มขายและติดแบรนด์ตั้งแต่ปี 2561
อย่างไรก็ตามปัจจุบันทางฟาร์มสามารถส่งขายเนื้อวัวได้เดือนละ 8 ตัว ถ้าหากขายเป็นตัว 1 ตัว จะขายในราคา 85,000-120,000 บาท แต่ถ้าหากขายเป็นชิ้นส่วนก้อนใหญ่ๆ จะขายในราคา 140,000-160,000 บาท ส่วนตัดแบ่งแยกชิ้นส่วนก็จะอยู่ที่ราคา 180,000 บาท ซึ่งทำให้ยอดขายต่อเดือนสามารถถึงหลักล้านบาทได้
ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :คนเลี้ยงวัว NVK Farm
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *