ผลไม้ที่เป็นสายพันธุ์จากไต้หวันสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยมานักต่อนักแล้ว เช่น ฝรั่งไส้แดงที่เราเห็นขายไปทั่วในตลาดเวลานี้ มาจากไต้หวัน ไม่เฉพาะไต้หวันหลายประเทศ ที่มีผลไม้สายพันธุ์ใหม่ เกษตรกรหัวก้าวหน้า หรือ เกษตรกรรุ่นใหม่ก็จะหยิบจับมาปลูกสร้างรายได้กันเป็นจำนวนมาก ไม่พ้นแม้แต่ไม้เมืองหนาว เกษตรกรไทยปลูกได้หมด สมแล้วที่ไทยจะเป็นครัวของโลก
ลาออกจากงานช่วงโควิด เป็นเกษตรกรเต็มตัว
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา จะได้เห็นเกษตรกรหน้าใหม่ๆเกิดขึ้น เพราะหลายคนที่พอจะมีพื้นที่กลับบ้านเกิดหันมาทำเกษตรในแนวทางของเกษตรแนวใหม่ และประสบความสำเร็จ สร้างรายได้มากกว่าการทำงานประจำ เช่น สองสามีภรรยาเจ้าของ บ้านสวนกัญญาภัทร ร้อยเอ็ด กลับบ้านเกิดมุ่งมั่นกับการทำสวนผลไม้รูปแบบใหม่ สร้างรายได้ต่อเดือนกว่าครึ่งแสนบาทบบนพื้นที่ ที่มีอยู่เพียงไม่กี่ไร่
นายศักดิ์ดา (คุณเหน่ง) จารย์เขื่อง เจ้าของบ้านสวนกัญญาภัทร สวนผลไม้แนวใหม่ บ้านชมสะอาด อำเภอเมยวดี จังหวัดร้อยเอ็ด เล่าว่า ที่มาของการมาทำสวนผลไม้ของตนเอง เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 7-8 ปี ที่ผ่านมา โดยตนเองและภรรยามีบ้านอยู่ที่ร้อยเอ็ด มีที่ดินอยู่ 8 ไร่ ซึ่งทั้งสองคนทำงานประจำอยู่ที่กรุงเทพฯ ตนเองเป็นครูสอนเด็กเล็ก ส่วนแฟนทำงานเป็นพยาบาล ช่วงแรกที่เริ่มทำสวนตอนนั้นยังไม่ได้ลาออกจากงาน แต่ไม่อยากทิ้งที่ไว้ให้รกร้าง ตนก็เลยไปเรียนคอร์สการทำเกษตรแนวใหม่ ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน นครปฐม โดยเรียนคอร์สสั้นๆ แต่เรียนอยู่หลายคอร์ส ทำให้เรียนนานประมาณ 2 ปี
เลือกปลูกเฉพาะผลไม้สายพันธุ์ต่างประเทศ
ในรูปแบบของผลไม้ปลอดภัย
หลังจากที่ได้ไปเรียนที่เกษตรแนวใหม่ ม.เกษตร กำแพงแสน ในช่วงนั้น เริ่มทำสวนผลไม้ไปด้วย โดยเลือกผลไม้ที่เป็นสายพันธุ์แท้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เป็นหลัก และเน้นการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี สารพิษ ซึ่งผลไม้ที่เลือกมาปลูกในช่วงแรก คือ ฝรั่ง และน้อยหน่า เป็นสายพันธุ์จากไต้หวัน ซึ่งในช่วงนั้น ก็จะขับรถไปร้อยเอ็ดเพื่อดูแลสวนของตัวเอง เดือนละ 2 ครั้งในช่วงวันหยุด การขับรถจากกรุงเทพฯ ไปร้อยเอ็ด ค่อนข้างเหนื่อยเพราะไกลจากกรุงเทพฯ อยู่ค่อนข้างมาก แต่ได้ครอบครัวช่วยดูแลให้บ้างในช่วงที่เราไม่ได้เดินทางไป
จนกระทั่งเมื่อ 3-4 ปีก่อนหน้านี้ เป็นช่วงโควิดพอดี ตนเองและแฟน ก็เริ่มมองว่า สวนผลไม้ของเราเริ่มให้ผลผลิตที่ดีขึ้นเรื่อย และสร้างรายได้ให้กับเราในระดับที่น่าพอใจ เริ่มมองเห็นลู่ทางการสร้างรายได้จากสวนผลไม้ว่าน่าจะทำรายได้ให้กับเราสองคนได้ไม่น้อยกว่าเงินเดือนประจำที่เราทั้งสองคนทำอยู่ และที่สำคัญไม่ต้องขับรถขึ้นลง กรุงเทพน ร้อยเอ็ดบ่อยๆ ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงานทั้งคู่ กลับมาลุยทำสวนผลไม้ของเราอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นช่วงโควิดพอดี ทำให้การตัดสินใจลาออกของเราทำได้ง่ายไม่ต้องคิดเยอะ ปัจจุบันกลายมาเป็นเกษตรกรชาวสวนอย่างเต็มตัว
สร้างรายได้ ครึ่งแสนต่อเดือน
โดยสวนผลไม้ของเรา ประกอบไปด้วย น้อยหน่าไถตง ฝรั่งไส้แดงหงเป่าสือ และพุทรา 3 สายพันธุ์ ได้แก่ น้ำอ้อย หิมะขาว และหยกขาว โดยมุ่งไปที่การเลือกสายพันธุ์ใหม่เข้ามาปลูกในสวนของเรา เพราะส่วนหนึ่งต้องการเปิดสวนให้เป็นสวนเกษตรเพื่อการเรียนรู้ ของภาคอีสาน ใครๆ ก็สามารถแวะเข้ามาที่สวนของเราได้ จะมาหาความรู้ เรื่องการทำสวนผลไม้สายพันธุ์ใหม่ หรือ ต้องการมาซื้อผลไม้อย่างเดียวเราก็ต้อนรับหมด ทุกคน
คุณเหน่ง เล่าว่า หลังจากตัดสินใจลาออกมาทำสวนผลไม้ มีรายได้ต่อเดือนหลักแสนบาท เมื่อหักต้นทุนออกมีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณสัก 40,000-50,000 บาท เป็นรายได้ที่เราค่อนข้างพึ่งพอใจมาก เพราะส่วนหนึ่งไม่ต้องเดินทางไปทำงาน ไม่ต้องกังวลกับปัญหาการจราจร ทำงานเวลาไหนก็ได้ ทุกอย่างสามารถออกแบบเองได้ มีเวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น ไม่ต้องเร่งรีบ อะไร
พุทรามาแรงสุดช่วงนี้ ขายกิโลละ 200 บาท
หลายคนอยากจะรู้ว่าแล้วว่า “คุณเหน่ง” เจ้าของสวนมีรายได้จากอะไรบ้าง เริ่มที่ตอนนี้ เหมือนจะมาแรงสุด นั่นคือ รายได้ จากจำหน่ายผลผลิตพุทราสายพันธุ์ไต้หวัน ทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยเฉพาะหยกขาว เป็นพุทราที่มีผลโตเหมือนแอปเปิ้ลเขียว แต่มีเนื้อสัมผัสยังเป็นพุทรา และมีความหวานและกรอบ ถูกใจคนที่ชื่นชอบผลไม้ ซึ่งการปลูกพุทราครั้งนี้ คุณเหน่งเน้นการปลูกแบบปลอดภัย ไร้สารพิษ สารเคมี โดยเป็นการปลูกในโรงเรือน ที่เป็นมุ้งครอบ บนพื้นที่ 300 ตารางวา สามารถปลูกต้นพุทราได้ทั้งหมด 150 ต้น การลงทุนทำโรงเรือน และ ต้นพันธุ์ รวมๆ กัน ประมาณเกือบ 1 แสนบาท ซึ่งสามารถคืนทุนได้ตั้งแต่การเก็บผลผลิตได้ในปีแรก
คุณเหน่ง เล่าว่า พุทราใช้ระยะเวลาในการปลูกเพียงแค่ 1-2 ปี ก็เก็บผลผลิตขายได้ โดยในปีแรกตั้งราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท การตั้งราคาระดับนี้ได้เพราะมีคนซื้อ และที่สำคัญคือยังไม่มีคนปลูกมากนักยังหากินยากอยู่ และด้วยรสชาติคนที่ได้กินเค้ายอมที่จะจ่าย ซึ่งหนึ่งต้นให้ผลผลิตได้ประมาณ 40-50 กิโลกรัม ผลผลิตที่เก็บได้โดยรวมอยู่ที่ประมาณ 3-4 ตัน โดยมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท เป็นรายได้ที่ครอบคลุมกับค่าใช้จ่าย ที่ลงทุนไป (ถ้าเก็บผลผลิตได้ 3,000 กก.x กิโลกรัมละ 200 บาท ยอดขายอยู่ที่ประมาณ 600,000 บาท/ปี)
เกษตรกรรุ่นใหม่ไม่ง้อพ่อค้าคนกลาง ตั้งราคาเองขายเอง
ในส่วนของราคาผลไม้ที่สวนของผมนั้น ผมจะเป็นคนกำหนดราคาขายเอง เพราะส่วนหนึ่งไม่ได้ขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่มารับซื้อผลไม้ตามสวนเหมือนกับเกษตรกรคนอื่นๆ แต่จะเป็นการขายตรงถึงมือผู้บริโภคเองเลย ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ รสชาติของผลไม้ที่ออกจากสวน จะต้องเป็นผลไม้ที่รสชาติดี เพราะไม่ได้ขายแค่ผลไม้ แต่เราขายผลไม้ที่มีแบรนด์ ซึ่งแบรนด์ของเรา คือ บ้านสวนกัญญาภัทร ด้วยเหตุนี้ การใส่ใจดูแล เพื่อให้ผลผลิตที่ดีที่สุด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากสำหรับสวนของเรา”
โดยคุณเหน่ง บอกว่า รายได้ 70-80% มาจากการขายผ่านออนไลน์ ส่วนที่เหลืออีก เป็นลูกค้าที่วอล์กอิน เข้ามาซื้อ ลูกค้าออนไลน์ส่วนใหญ่จะมีการสั่งจอง ตั้งแต่เริ่มออกผล พอผลไม้เก็บเกี่ยวได้ลูกค้าจะได้เห็นว่า เราได้ดูแลผลไม้ของเค้าอย่างไร ด้วยเหตุนี้ ลูกค้ามั่นใจว่าจะได้ผลไม้ที่ปลอดภัย ไปรับประทาน ส่วนราคาเมื่อเทียบกับคุณภาพจะต้องไปในทิศทางเดียว ราคาแพงคุณภาพดี ลูกค้าจะแวะเวียนกลับมาซื้อซ้ำอีก
แจ้งเกิดบนแพลตฟอร์มออนไลน์
ในส่วนของช่องทางการขายทางออนไลน์ทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์มอื่นๆ โดยเน้นการสร้างตัวตน ด้วยการทำคลิปวีดีโอ นำความรู้เรื่องการทำเกษตรมาบอกกล่าวให้กับคนที่เข้ามาชมเราทางออนไลน์ ให้คนที่เข้ามาดูทางหน้าเพจ ได้เห็นการดูแลสวนของเราว่า เราทำอย่างไรบ้าง หลายคนที่ไม่ได้เป็นลูกค้าได้ความรู้กลับไป หรือ ต้องการจะปลูกไม้ผลเหมือนกับเรา ก็มาขอความรู้เพิ่มเติม และซื้อกิ่งพันธุ์จากเรากลับไป ทำให้เรามีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายกิ่งพันธุ์ด้วย อันนี้เป็นเหตุผลที่ทำไมเราจะต้องหาผลไม้สายพันธุ์ใหม่ มาปลูกที่สวนของเราตลอดเวลา
บทสรุปความสำเร็จ บ้านสวนกัญญาภัทร ร้อยเอ็ด รายนี้ มาจากการเป็นคนรุ่นใหม่ การทำเกษตรแนวใหม่ตามรูปแบบที่ได้ไปอบรมมา ตั้งแต่การเลือกที่จะปลูก ว่าจะปลูกอะไร ไปจนถึงช่องทางการขาย ว่าจะขายให้ใคร วางเป้าหมายชัดเจน นำเทคโนโลยีมาช่วยในการเข้าถึงลูกค้า การสร้างแบรนด์ให้กับผลผลิตของตัวเอง การสร้างแบรนด์ต้องมาควบคู่ไปกับการขายผลไม้คุณภาพด้วย ถ้าไปด้วยกันได้ ราคาไม่ได้เป็นตัวแปร สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ ความสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง ไม่ได้แค่ขายผลผลิตเท่านั้น พร้อมจะขายโนฮาว ให้คนอื่นๆ นำไปทำต่อยอด โดยมีรายได้จากการขายกิ่งพันธุ์
ติดต่อ FB: บ้านสวนกัญญาภัทร (น้อยหน่า ฝรั่ง)
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด