โรงอบไอน้ำโรงนี้เปิดมา 30 ปีแล้ว แต่เรามาทำช่วง 15 ปีหลังนี้ เรามีออร์เดอเยอะคือส่งไปเข้าทั้งห้างฯแล้วก็ขายทีวีด้วย ช่วงที่มีออร์เดอเยอะๆ เราหาโรงอบฯไม่ได้ก็เลยมาทำที่นี่เอง หลักเราส่งเองด้วยแล้วก็รับจ้างอบด้วย เพราะโรงอบไอน้ำนอกจากญี่ปุ่นแล้วก็จะมี เกาหลี ไต้หวันด้วย
คุณหลิน-ธนาสรณ์ วิชัยรัตนกุล ผู้บริหาร จากบริษัท พี.เค.สยาม จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) และบริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด (ประเทศไทย) บริษัทคนไทยที่บุกเบิกการส่งออก “มะม่วงน้ำดอกไม้” ไปญี่ปุ่นมานานกว่า 30 ปีแล้วรวมไปถึงสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ ภายใต้การนำของ “คุณพิมใจ มัตซูโมโต้”(คุณแม่) ซึ่งเป็นนักธุรกิจหญิงไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นมานานกว่าครึ่งศตวรรษแล้ว คุณหลินเล่าให้ฟังอีกว่า ความที่เราอยู่ญี่ปุ่นมานานแล้วคือประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม ผลไม้ ของเราโดดเด่น มีรสชาติที่ดี และก็ผลไม้ไทยที่ส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นหลัก ๆ ก็คือเป็น มะม่วง“ซึ่งมะม่วงเนี่ย คุณแม่ เป็นบุคคลผู้ติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่ทำให้สามารถส่งมะม่วงเข้าประเทศญี่ปุ่นได้เลย แต่ทีนี้การที่จะส่งมะม่วงเข้าประเทศญี่ปุ่นเราไม่สามารถที่จะเอาจากสวนแล้วมาแพ็คลงกล่องได้ ข้อจำกัดก็คือ ระหว่างประเทศคือประเทศไทยเป็นเมืองร้อนก็จะมี “แมลง” ทีนี้ทางประเทศญี่ปุ่นเขายอมรับว่า ถ้ามะม่วงผ่านการอบไอน้ำด้วยอุณหภูมิเท่าไหร่ ความชื้นเท่าไหร่ แล้วจะสามารถฆ่าไข่แมลงวันฯ ที่อยู่ในมะม่วงได้ เพราะฉะนั้นเขาก็เลยยอมรับว่า คุณส่งได้แต่ต้องอบไอน้ำก่อน”
ก่อนหน้านั้นบริษัทฯ ส่งมะม่วงไปค่อนข้างเยอะเลย แต่ความที่ “โรงอบไอน้ำ”ไม่สามารถที่จะอบให้กับทางบริษัทได้ “เราก็เลยมาบริหารทำโรงอบไอน้ำเอง โดยการมาที่นี่คือเป็นของหลวง เราได้สัมปทานแล้วมาบริหารโรงอบไอน้ำเอง เราก็คือส่งเองด้วยและก็รับจ้างอบด้วย”การส่งออกประเทศไทยเวลาส่งออกไป นอกจากเรื่องการอบไอน้ำเพื่อกำจัดแมลงวันผลไม้แล้ว อาจจะมีปัญหาว่าไปเจอพวกสารตกค้าง ซึ่งการหาของที่มีคุณภาพ(พูดตรง ๆ ว่า) ถ้าเป็นบริษัทญี่ปุ่นหาของไปแล้วของไม่ได้คุณภาพเขาก็อาจจะไม่สู้ต่อเขาอาจจะไม่เอาของไทยก็ได้ แต่ในเมื่อเราเป็นคนไทย เราอยากเอาของไทยเราก็ต้องหาวัตถุดิบที่ดี แล้วถ้าเกิดเจอปัญหาอะไรเราต้องช่วยแก้ปัญหาให้ได้ จนแก้ปัญหาได้เพื่อเราจะไปต่อได้“เพราะฉะนั้นเราพูดตรง ๆ ว่าที่เราขาย ไม่ใช่ว่าเราขายอะไรก็ได้นะ เพราะเราเป็นคนไทยเราอยู่ในประเทศญี่ปุ่น และเราเห็นศักยภาพในผลไม้ไทยว่า อันนี้มันไปต่อได้แต่มันผ่านกรรมวิธีอะไรเพิ่มขึ้น บางบริษัทเขาอาจจะไม่อยากทำก็ได้ แต่เราก็คือไม่รู้แหละเรารู้สึกเราอยากทำ เราภูมิใจ แล้วมันทำได้”แต่ปัญหาอะไรบางอย่างอาจจะเรื่องข้อมูลต่าง ๆ อาจจะไม่ถึงกันใช่มั้ย เราเป็นผู้ออกของเอง เราคุยกับเจ้าหน้าที่เอง เรารู้จักลูกค้าเองเพราะฉะนั้น ข้อมูลตรงนี้เรามี
สิ่งสำคัญคือเน้น “คุณภาพ” ปลอดภัย และไม่มีปัญหาเรื่องแมลง
สำหรับมะม่วงที่ส่งไปญี่ปุ่นหลัก ๆ คือ มะม่วงสุกก็จะเป็น มะม่วงน้ำดอกไม้(เบอร์4 และก็สีทองด้วย) และหลังจากนั้น มะม่วงมหาชนก ก็เข้าได้แต่พันธุ์มหาชนกอาจจะมี “กลิ่น” ที่คล้าย ๆ ของบ้านเขา ที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่าแอปปาดูมาโงวะ(แอปเปิล) จะมีความหอมซึ่งคล้าย ๆ กับของเขา แล้วก็เป็นลูกลักษณะรี ๆ ยาว ๆ แต่ถ้าคนไทยจะไม่ค่อยคุ้นเคยเพราะคนไทยจะทานเป็น มะม่วงน้ำดอกไม้มากกว่า“แล้วมหาชนกนี่เปลือกเขาจะหนาหน่อย เขาสามารถไปเรือได้ด้วย จะได้ลด cost ลดค่าใช้จ่ายการขนส่ง ทำให้ต้นทุนถูกกว่า ลูกค้าซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่า”
30 ปีแล้ว แต่ว่า10 ปีแรกก็ยังไม่ค่อยมีคนทำเท่าไหร่ เริ่มมาทำกันเยอะขึ้นช่วง 20 ปีหลังนี้ แล้วตอนนี้ก็มีโรงอบฯ มะม่วงที่จะส่งออกไปไม่น้อยกว่า 10 โรงขึ้น แต่ส่ง “เกาหลี” จะมากกว่า ตลาดเกาหลีจะใหญ่กว่า เปิดทีหลังญี่ปุ่นก็จริงแต่ว่ากฎระเบียบต่าง ๆ ในการส่งญี่ปุ่นอย่างไร เกาหลีเขาก็ใช้กฎระเบียบแบบนั้น หมายความว่าญี่ปุ่นจะส่งเข้าได้ก็คือ ต้องอบไอน้ำ เกาหลีเขาก็เลยใช้สูตรเดียวกัน ถ้าญี่ปุ่นยอมรับ เกาหลีก็เป็นแบบนั้น“แต่ช่วงหลังเนี่ยญี่ปุ่นเขาจะคุมเข้มเรื่อง สารตกค้างมากกว่า ทำไมเขาถึงคุมเข้มเพราะว่าการส่งไปแต่ละครั้ง แต่ละอย่างเนี่ย ทุก ๆ 6 เดือนเขาจะขอตัวอย่างเราไปสุ่มตรวจ พอสุ่มตรวจ ๆ พอเจอ ถ้าเจอเนี่ยเขาก็จะ สมมุติว่าเจอครั้งนึงอย่างงั้นขอ4 ล็อต ขอล็อตนึงนะ/2 ล็อต ขอล็อตนึงนะ ถ้าตรวจเจออีกบังคับตรวจทุกล็อตเลยเป็นอย่างนี้ แต่เกาหลียังไม่ได้เข้มขนาดนั้น” เพราะฉะนั้นก็ต้องขอความร่วมมือว่า สวนไหนแปลงไหนกลุ่มเกษตรกรไหนอยากส่งญี่ปุ่น ต้องละเอียดเรื่อง “สารตกค้าง” นิดหนึ่ง ลักษณะก็คือว่าเรื่องของ “ความปลอดภัย” เพราะว่าไม่ให้ใช้นะ แต่ตอนช่วงจะถึงเก็บเกี่ยว ระยะเวลาเท่าไร ที่ตรวจแล้วไม่พบขอเป็นแบบนั้น
“ของเรานี่จะเป็นแบบกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ แล้วก็ที่ผ่านมาเนี่ยคือหลังจากที่ คือเราก็ทำมาหลายปีแล้วและก็ที่โรงอบไอน้ำโรงนี้ เราจะมีเหมือนกับว่าให้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ก็คือเราทุกปีเราต้องพาเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเราก็เลยได้ connection เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเงี้ยค่ะ”ทำไมถึงต้องพาไปดู ถามว่าความรู้เรื่องการเกษตรมันสามารถแชร์กันได้ บางครั้งถามว่า ญี่ปุ่นด้วยคุณภาพ “ดิน” เขาดูแลว่าต้นไม้ ผลไม้จะอร่อย คุณภาพ(ความหวาน) จะดีแค่ไหนมันอยู่ที่ คุณภาพดิน ต้องดูแลดินแบบไหน มันถึงได้ออกมาคุณภาพความหวาน ความอร่อยของเขา ประเทศไทยบางทีอาจจะใส่ปลายทาง ต้นทางไม่ได้โฟกัสมากนัก ก็เอาความรู้ตรงนี้แหละทำไม เขาถึงได้ปลูกแล้วก็อร่อย พื้นที่เขาน้อยแต่เขาทำคุณภาพ
"คือก่อนหน้านี้เรามะม่วง แล้วเราก็ไปทำมังคุด ทำกล้วย ทำหลายอย่าง ทีนี้กลุ่มที่ผ่านมาเป็นลักษณะว่าเราไม่ได้ทำแบบเชิงรุก ว่าจะต้องเอาข้อมูลต้องเอาแผน แต่นับจากนี้ไปเราก็ต้องทำแบบนั้นเพราะว่า ลูกค้าที่ปลายทางเราเริ่มมีเยอะขึ้น”
“กล้วยหอมทอง” ของประเทศไทย ญี่ปุ่นก็ยังเปิดรับไม่อั้น!
นอกจากมะม่วงสุกแล้วก็จะมี มังคุด มะพร้าว หลัก ๆ ที่มีทำอยู่ตอนนี้แล้วก็จะมี “มะม่วงดิบ” ด้วย แต่ญี่ปุ่นถ้าขายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะไม่ทานมะม่วงดิบ คนญี่ปุ่นจะทานเป็นมะม่วงสุก“แต่ของหลินเนี่ยจะเป็นตลาดคนไทย คนเวียดนาม คนต่างชาติ จะเป็นเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ดิบ โชคอนันต์ดิบ” โดยในส่วนของมะม่วงที่ส่งไปที่ญี่ปุ่น ต่อ 1 ลัง ซึ่งตอนนี้ค่าเงินมันถูกมากเลยทำให้ปลายทางราคาสูง 1 ลังตีว่าประมาณ 6,000 เยน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1,500 บาท (5 กก.) หรือตกกิโลกรัมละประมาณ 300 บาท ลูกค้าที่ซื้อมะม่วงจากเราไปเขาซื้อไปขาย ซื้อเป็นกล่อง ๆ ละ 5 กก. แต่เวลาไปวางขายจะเป็น “ผล” ถ้าในซูเปอร์ฯ จะขายเป็นผล ราคาก็ประมาณตั้งแต่ 400-700 เยน หรือ 100 กว่าบาท/ผล
“ที่อบไอน้ำก็จะมี มะม่วง มังคุด ส้มโอ คือ 3 ตัวนี้จะต้องอบไอน้ำก่อน และที่ส่งญี่ปุ่นได้อีกก็มี มะพร้าวน้ำหอม กล้วย สับปะรด อันนั้นก็แค่ทำความสะอาด”กล้วยที่ญี่ปุ่น เขาจะนิยมบริโภคทุกวัน กล้วย volume จะสูงมาก ความต้องการทานกล้วย กับมังคุด กับมะม่วง จะคนละแบบกันเลย กล้วยจะทานได้ทุกวันเป็นอาหารมื้อเช้า“เขาบอกว่าทานกล้วยวันละ 1 ผล ตั้งแต่เมื่อก่อนนี้น่าจะเป็นรุ่นที่ส่งจากฟิลิปปินส์ แต่ว่ากล้วยมันก็มีประโยชน์อยู่แล้ว ก็คือทานกล้วย1 ผล ทุก ๆ วัน ทำให้คนกลายเป็นว่ายิ่งตอนนี้เป็นผู้สูงวัยด้วย เขาก็รู้สึกว่ามันอยู่ท้องแล้วมันก็มีรสชาติอร่อย”แล้วก็กล้วยทุกวันนี้มีของฟิลิปปินส์ เอกวอดอร์ ของไทยเราเคยทำเข้าไปเมื่อ 2 ปีก่อน เข้าได้แทบจะสัปดาห์ละ 1 ตู้คอนเทนเนอร์เลย แต่มันไปหยุดไปเพราะว่าเจอเรื่องของ “สุก” ระหว่างทางกับเจอ “สารตกค้าง” แต่ตอนนี้คือสามารถแก้ปัญหาได้แล้ว แต่ว่ากลุ่มที่ทำก่อนหน้านี้เจอปัญหาแล้วเขาไม่ได้เคลียร์ก็หยุดกันไป“แต่ตอนนี้คือความต้องการของกล้วยมันมีอยู่ แล้วเราก็มองหากลุ่มเกษตรกรในประเทศไทยว่า กลุ่มไหนที่จะสามารถมีกำลังการผลิตและก็ สามารถส่งได้อย่างจริงจัง ที่ไม่มีปัญหาเรื่องแมลงและก็ไม่มีปัญหาเรื่องยาฆ่าแมลง”เป้าหมายคือ 5,000 ตัน แล้วประเทศญี่ปุ่นเขาให้โควตาปลอดภาษีกับเรา 8,000 ตัน/ปี เรายังทำไม่ได้ ที่ผ่านมาส่งออกได้ประมาณ 2,000 ตัน แค่นั้นเอง ซึ่งโอกาสยังมีอีกเยอะเลยแล้วสมมุติว่าเราทำเต็มโควตาแล้ว ประเทศไทยก็สามารถยื่นขอไปเพิ่มได้อีก“คือเรามีระบบของเราอยู่แล้ว แล้วทำตามนั้น ก็แลกเปลี่ยนข้อมูลกัน คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่เราจะสามารถส่งออกกล้วยหอมไปประเทศญี่ปุ่นได้”
ในส่วนของผลไม้ที่จะส่งเข้าไปญี่ปุ่นได้ต้องผ่านเช็กลิสต์ในเรื่องอะไรบ้าง? ยาฆ่าแมลงเป็นอันดับหนึ่งเลย สวนนั้นจะต้องมี GAP สวนนั้นจะต้องขอดูการใช้ “ยา” ของสวน แล้วก็ในส่วนของความสวยของผลถ้าในกรณีมะม่วงมันก็จะมี A, B, C แต่ถ้าส่งญี่ปุ่นจะต้อง A หรือ B เลยก็คือ ผลต้องสวยหรือไม่ก็ต้องข้างหนึ่งสวยอีกข้างหนึ่งเป็นรอยนิดหน่อย เรื่องทั้งรสชาติและก็ความสวย แต่ที่สำคัญคือปลอดภัยเบอร์หนึ่ง เพราะเราต้องส่งตรวจ(เข้า LAB) และก็ไปถึงญี่ปุ่นก็จะมีสุ่มตรวจเป็นบางครั้ง แต่เราก็เอาปลอดภัยดีกว่า “ถ้าสุ่มเจอเนี่ย มันจะโดนระงับ ระงับของบริษัทเราและหลาย ๆ บริษัทมันจะมีผลถึงอนาคตของผลไม้ตัวนั้น ๆ ด้วยอย่างเงี้ย อาจจะถูกระงับไม่ให้เข้าเลยก็ได้” การส่งออก คือ ออกจากสวนมาโรงแพ็ค ส่งถึงญี่ปุ่น ไปจุดกระจายสินค้า ส่งไปถึงบ้านลูกค้า ซึ่งตรงนี้ช่วงเวลาตรงนี้ ผู้ส่งออกจะต้องรู้ ต้องคุยกับเกษตรกร คุยกับลูกค้าว่านับตรงช่วงนี้ ยังไงให้ของจากสวนไปถึงลูกค้าแล้วกินอร่อย
ผลไม้ของเกษตรกรบ้านเขา เราก็เอามาช่วยทำตลาดด้วย
ความที่เราได้ไปขอความร่วมมือกับ “สหกรณ์” ที่ประเทศญี่ปุ่น ในการพาเกษตรกรไปดูงาน แล้วสหกรณ์ของประเทศญี่ปุ่นเขาก็คือช่วยเกษตรกรในละแวกนั้นขายของ แล้วบางทีมีผลไม้เขาก็อยากส่งออก“เราก็เลยต้อง เขาขอให้เราอยากส่งประเทศไทย แล้วเรามีบริษัทอยู่ที่นี่อยู่แล้ว เราก็เลยช่วยเขานำเข้ามาขายให้กับคนที่ประเทศไทย”แล้วเราพาคนไปดูงานเราก็บอก เรามีผลไม้นะแล้วทุกคนปลูกมะม่วง ปลูกมังคุดนะ ฯลฯ เขาก็เห็นแล้วเราก็เอาของส่งไปเป็นตัวอย่างให้ด้วย เขาก็ช่วยเราด้วยช่วยทำตลาดให้เราด้วย เราก็เลยเอาของญี่ปุ่นที่เขาขายอยู่มาทำตลาดให้เขาด้วย “ก็จะมีสตรอเบอรี่ มีองุ่นไชมัสแคท แล้วก็มีพลับ มีสาลี่ แล้วก็อย่างปลายปีก็จะมีพลับสด-พลับแห้ง แอปเปิล แอปเปิลจากอาโวโมริและก็จะมีลูกพลับจากฟูกุโอกะ อย่างเงี้ยค่ะ” เวลาเอาผลไม้แต่ละชนิดเข้ามาทีหนึ่ง จะเป็น 1 ครั้งหรือ 2 ครั้งแค่นั้นเอง (ตามฤดูกาลของผลผลิตนั้น ๆ) ปีแรก ๆ ลูกค้าอาจจะไม่รู้จักว่าเอ๊ะทำไมราคาสูง แต่พอได้ทานปุ๊บความที่รสชาติ คุณภาพ มันอร่อย “เหมือนตอนนี้ก็มีส้ม ส้มมิกัง/ส้มเฮ้าส์ บางคนลูกหนึ่งอย่าง 1 กล่อง 2.5 กก. ประมาณ 24 ผล ก็ถ้าราคาที่เราส่งก็อยู่ประมาณหลักพัน (2,000กว่า) แต่ลูกค้ารับไปบางคนไปขายก็ขาย 3,000 กว่า“ตอนแรกก็ว่ามันแพงนะ แต่พอมาทานเทียบกันส้มไทยกับส้มญี่ปุ่นมันไม่มีเมล็ดน่ะ แล้วมันหวานมาก เรื่องความหวานเรื่องรสชาติมันได้ และอาจจะด้วยจำนวนมันน้อยด้วย มันก็เลยได้ราคาแล้วก็ส่งเครื่องบินมาด้วยแหละ”
ก็หลายปีเหมือนกัน ทำตอนหลังมานี้ ก็คือแจมมาเพราะว่าผลไม้มันไม่ได้มีทั้งปี อย่างช่วงนี้(เดือนธันวา) จริง ๆ แล้วมะม่วงมันควรจะเริ่มแล้วนะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปีนี้อาจจะเป็นกุมภาเลย แล้วปีนี้โชคดีว่าเดือนธันวาเราก็เลยทำสับปะรดภูแล ก็คือตอนนั้นพาลูกค้ามาดูกล้วยหอมทองแล้วก็ซื้อให้เขาทาน เขาทานแล้วอร่อย อยากได้อีกแล้วโชคดีที่ “สับปะรด” มันก็มีโควตา ก็สามารถส่งไปได้
8 ชนิดผลไม้จากไทย ที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้นำเข้าได้
“มะม่วง มังคุด ทุเรียน ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม กล้วยหอมทอง มะขามหวาน และก็สับปะรด จะมีประมาณ 8 อย่างนี้ที่อนุญาตให้เข้าได้ แต่ที่อบไอน้ำก็คือ มะม่วง มังคุด ส้มโอ (3 ตัวนี้) ทุเรียนแค่ทำความสะอาด แล้วก็กล้วยก็คือล้าง แพ็ค ทำความสะอาด มะพร้าวก็ ดูแค่ผิวภายนอก สับปะรดก็ดูผิวภายนอก”แต่คำว่า “โควตา” คือ ปลอดภาษี ก็จะเป็นสับปะรดกับกล้วย อย่างอื่นก็เสียภาษีนำเข้า แต่มากน้อยก็แล้วแต่เราเลยที่จะเอาเข้าไป (จำนวน) ที่เราจะหาเข้าไปได้ “คือเวลานำเข้าเนี่ยเขาจะตรวจเกษตร เกษตรเขาจะดูเรื่องผิวภายนอกมีแมลงมั้ย กับที่บอกว่าเฉพาะอบไอน้ำเนี่ยก็ต้องมีใบไฟโต ใบว่าจากโรงอบไอน้ำว่ามีการเซ็นโดยมีเจ้าหน้าที่เกษตรไทย ก็คือกักกันพืชเนี่ย เป็นคนทำเอกสารนี้ออกมาให้ แล้วส่วนสาธารณสุขเขาจะดูเรื่องสารตกค้างโดยถ้าไม่มีประวัติอะไรก็ทุก 6 เดือนเขาจะขอสุ่ม แต่ถ้าเจอเขาก็จะบังคับตรวจทุกล็อต อันนั้นก็จะเป็นข้อจำกัดอีกอันหนึ่งว่าคุณเอาของเข้าไปปุ๊บ คุณต้องทิ้งไว้สนามบินจนกว่าจะมีผลตรวจสาร ถ้าผ่านคุณเคลียร์ของออกไปขายได้ แต่ถ้าเกิดเจอผลตรวจคุณต้องทิ้งทั้งล็อต”
“มะม่วงกับมังคุด” ตอนนี้ต้องการมากใครมีเอามาเลย!
ผู้บริหารบริษัท พี.เค.สยาม จำกัด(ประเทศญี่ปุ่น) และ บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด(โรงอบไอน้ำ) บอกด้วย ตอนนี้หลัก ๆ ขอเลยหนึ่งคือ มะม่วง และก็ มังคุด มะม่วงกับมังคุด 2 ตัวนี้ขอเลย! ถ้าใครมีตอนนี้บริษัทฯ อยากทำมากเพราะตลาดต้องการ "ต้องการรับเลย! ค่ะแต่ขอให้คุณทำแค่ว่า ปลอดแมลงแล้วก็ยาฆ่าแมลง มะม่วงเนาะ แล้วก็มังคุดเนี่ย มังคุดหลินจะทำโดยไม่อบไอน้ำ แต่ว่าเราต้องมีของคุณภาพว่าของคุณต้องไม่แตก ไม่บุบไม่แตก แต่เรื่องความเขาเรียกว่าอะไร เนื้อแก้วยางไหล หลินต้องมาทำในโรงอบฯ เพื่อทำการคัดแยกก่อนจะส่งอีกทีหนึ่ง”อยากจะให้ทุกคนคือซื่อสัตย์ ทำแบบตรงไปตรงมาช่วยกัน ก็คือของที่ส่งออกมันต้องผ่านกรรมวิธี ระยะเวลาอีก ถ้าคุณภาพคุณด้อยตั้งแต่จุดแรกแล้ว มันไปต่อยากนะ อะไรที่มันส่งออกเหมือนคุณภาพต้องแข็งแรงนิดหนึ่ง การส่งออกเพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ“แต่หลินอยากจะฝากอีกเรื่องหนึ่งคือ คนไทยส่วนใหญ่จะมองว่าได้ราคาดี ๆ ตรงนี้หลินอยากให้มองว่าถ้าลูกค้ามี volume มี order มี plan กันเอาแบบคุณมีเท่าไหร่ เราพยายามขายให้หมดเลย แต่ว่าเอาราคานิ่ง ๆ ที่คุณอยู่รอด ไม่ใช่คุณแบบฉันต้องราคารอสูงให้เท่าไหร่ ให้เท่าไหร่ รอคนมาประมูลราคาอย่างงั้นน่ะ คืออยากให้เปลี่ยนความคิดตรงนี้นิดหนึ่ง แต่ตลาดประเทศอื่นหลินไม่แตะนะ แต่สำหรับญี่ปุ่นเนี่ยหลินมองว่าลูกค้าคุณภาพ แล้วลูกค้าเขาต้องการได้ทานของอร่อย ถ้าคุณมีของดีของอร่อย ราคาที่คุณคุ้มค่าใช้จ่ายบวกกับกำไรที่คุณต้องการไปแล้วเรามาคุยกันแล้วเราทำกันยาว ๆ มีเท่าไหร่เราพยายามทำตลาดให้หมดเลยอย่างเงี้ย ดีกว่ามั้ย”
คือในฐานะที่เป็นคนไทย แต่ว่าไปอยู่ญี่ปุ่นมา 30 ปีก็คือ หลินรักทั้งสองประเทศเลย รู้สึกว่าประเทศญี่ปุ่นเขามีความ คือประเทศเขาเป็นเกาะ เขาปลูกอะไรมากไม่ได้ ต้องพึ่งพาสินค้านำเข้า แล้วก็ประชากรเขาก็เยอะ แล้วเขาต้องการบริโภคอย่างของไทยเนี่ย ประเทศไทยคือ “ผลไม้” อย่าง 7-8 อย่างที่ส่งไป คุณภาพถามว่ามีของอร่อย ของดีเยอะเลย แล้วประเทศไทยคือมีพื้นที่เยอะมากแต่เรา อยากให้ปรับเรื่องว่า เราต้องปลูกเพื่อ ถ้าเรามีกลุ่มลูกค้าอยู่แล้ว เรารู้อยู่แล้วถ้าเราอยากจะขายญี่ปุ่น ลูกค้าเขามีกำลังซื้อเขาต้องการของดี ของปลอดภัย ถ้าเราตั้งใจปลูกเพื่อขายเขา แล้วราคาเอาแบบที่บอกว่าเราอยู่ได้ แต่เอาจำนวนเอาปริมาณ “หลินเชื่อว่าประเทศไทยยังส่งอะไรได้อีกเยอะเลยแล้วก็อยากให้ทุกคนว่าขอให้ตั้งใจจริง แล้วก็คือที่บอกความปลอดภัยอันดับหนึ่งคือ เราทานได้ ครอบครัวเราทานได้ ไม่ว่าใครก็ทานของเราได้ไม่ต้องมาป่วยทีหลัง หมายถึงว่าเรื่องคุณภาพเรื่องความปลอดภัยเนาะ ส่วนรสชาติอันนั้นก็ต้องตามเขาเรียกว่า เชื่อว่าเกษตรกรทุกคนทราบแล้วว่าทำอย่างไรให้ผลไม้เราอร่อย นั่นแหละถ้าทำได้”แล้วมีการวางแผนกับคนกลางอย่างบริษัทเอง ที่เป็นคนไทยที่อยากให้ทั้งประเทศไทยส่งออกไปแล้วให้ประเทศญี่ปุ่นได้ทานของอร่อย“หลินมั่นใจว่ามันโตแน่นอน! คือหลินเป็นคนไทยเนาะจะให้หลินไปขายของประเทศอื่น พูดตรง ๆ ก็ไม่อยาก อยากทำงานให้ประเทศไทยมากกว่า และหลินก็รู้สึกว่าถ้าหลินเอาของไม่ดีไปหลินก็ต้องมีความซื่อสัตย์ว่า หลินอยากส่งของที่ดีไปให้ผู้บริโภค เขาไว้ใจเรา เราต้องคัดของที่ดีที่สุด เพื่อส่งไปให้เขา เป็นคนกลางที่พร้อมจะทำงานให้ทั้งสองฝ่ายwin win ทางนี้ก็ต้องขายของต้องได้เงิน ต้องได้กำไร แต่ว่าคนกินก็ต้องไม่ได้ว่าซื้อแพงหูฉี่ เขาต้องได้กินของอร่อย ของดี ของปลอดภัย อื้อ! นั่นแหละเราก็ต้องทำให้สองฝ่ายรู้สึกว่า รู้สึกภูมิใจเนาะ หลินขอเป็นสะพานบุญแล้วกันเนาะให้กับ สินค้าเกษตรไทยค่ะ”
ความใส่ใจเรื่อง “คุณภาพ” และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความปลอดภัยในการบริโภค เป็นสิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดปลายทางที่สำคัญของผลไม้รวมถึงสินค้าเกษตรไทยหลาย ๆ ชนิดต้องเข้าใจและทำให้ได้ แล้วจะไร้ปัญหาเรื่องตลาดและราคาที่เคยเป็นดรามาคู่กันมากับภาคเกษตรไทยต่อไปสามารถที่จะขจัดให้หมดไปได้ ขอบคุณผู้บริหารของทั้ง2 บริษัทที่ได้กรุณามาร่วมแชร์ประสบการณ์การค้าการขายกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อเป็นข้อมูลที่สำคัญให้กับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป รวมทั้งยังได้เปิดช่องสำหรับเกษตรกรที่กำลังมองหาตลาดให้กับผลผลิตด้วย ข้อมูลเรื่องการตลาดในครั้งนี้จักเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับคนที่มีความสนใจพัฒนาอย่างแท้จริง ขอบคุณ คุณพิมใจ มัตซูโมโต้ และคุณหลิน-ธนาสรณ์ วิชัยรัตนกุล ไว้ ณ โอกาสนี้
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อไปได้ที่ บริษัท พีแอนด์เอฟ เทคโน จำกัด เลขที่ 50 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ โทร.0-2942-7022
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด