วันนี้ถ้าไม่พูดถึง Mixue Thailand (มี่เสวี่ยไทยแลนด์) คงจะไม่ได้แล้ว เพราะเป็นแฟรนไชส์ไอศกรีมและเครื่องดื่มจากต่างประเทศที่ได้รับความนิยมมาแรงมากในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา วัดได้จากการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว และเป็นธุรกิจที่มีการค้นหาของคนไทยผ่านช่องทาง Google อันดับต้นๆ เป็นรองแค่สุกี้ตี๋น้อย และชาตรามือ เท่านั้น
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ Mixue เป็นใครมาจากไหน
สำหรับ Mixue เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ไอศกรีมและเครื่องดื่มชาผลไม้ ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีน และเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เมื่อเดือนกันยายน 2565 โดยเปิดสาขาแรกที่รามคำแหง ระยะเวลาแค่ 1 ปี สามารถขยาย สาขามากกว่า 200 สาขา เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมีแผนที่จะขยายสาขาในต่างจังหวัดทั่วประเทศในอีก 1-2 ปีข้างหน้านี้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา Mixue มีสาขาในต่างประเทศมากกว่า 11 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ กัมพูชา ฟิลิปปินส์ และไทย โดยสาขาแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มี่เสวี่ย เลือกเปิดที่ประเทศเวียดนาม และต่อมาประสบความสำเร็จในการขยายสาขาในอีกหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ก่อนจะบุกตลาดในประเทศไทย ปัจจุบัน Mixue ทั่วโลกได้มีการขยายสาขาอย่างรวดเร็วมากจนตอนนี้มีสาขามากกว่า 30,000 สาขา ทั่วโลก และเป็นร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีสาขามากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นรองเพียง แมคโดนัลด์ ซับเวย์ สตาร์บัคส์ และเคเอฟซี เท่านั้น
สร้างธุรกิจวัยเรียนก่อนจะมาเป็นเจ้าของธุรกิจ
แฟรนไชส์อาหารติด 1 ใน 5 สาขามากที่สุดในโลก
Mixue ก่อตั้งขึ้นโดย “จาง หงเซา” (Zhang Hongcho) เมื่อ 26 ปีที่ผ่านมา ที่เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน จุดเริ่มต้นมาจากตอนนั้นในช่วงที่เขากำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง และด้วยครอบครัวไม่มีฐานะทางการเงินที่ดีนัก ทำให้ต้องหารายได้ในระหว่างเรียน โดยการไปเป็นลูกจ้างร้านขายน้ำแข็งไส และหลังจากมีประสบการณ์ในการทำน้ำแข็งไส เลยคิดว่าน่าจะเปิดร้านขายน้ำแข็งไสบ้าง โดยในตอนแรกยืมเงินยายมา 4,000 หยวน มาเปิดร้านของตัวเอง โดยตอนนั้นมีรายได้จากการขายน้ำแข็งไสอยู่ที่วันละ 100 หยวน แต่ปัญหา คือ ที่ประเทศจีนเวลาอากาศหนาวจะหนาวมากและยาวนาน น้ำแข็งไสจะขายไม่ได้เลย ขายได้เฉพาะในช่วงหน้าร้อน ตอนนั้นเลยตัดสินใจปิดร้านเลิกขาย
ในช่วงที่ปิดร้านไปนั้นกลับไปศึกษาหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้สามารถขายได้มากกว่านี้ ก่อนจะกลับมาเปิดขายอีกครั้ง และครั้งนี้มาพร้อมกับชื่อร้านของตัวเองว่า Mixue Bingcheng แปลว่า ปราสาทน้ำแข็งที่สร้างด้วยหิมะแสนหวาน โดยเป็นน้ำแข็งไสแบบบิงซู ก่อนจะมาปรับเปลี่ยนเป็นไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ในปี 2006 ตอนนั้น เป็นรายแรกในประเทศจีน และ หลังจากเปิดขายไอศกรีม เจอคู่แข่งจากญี่ปุ่น ทำให้ยอดขายลดลงไปมาก
งัดกลยุทธ์ราคาแจ้งเกิด Mixue
ครั้งนี้ทำให้เขาต้องมาปรับตัวอีกครั้งเพื่อให้อยู่รอดได้ และครั้งนี้ได้งัดกลยุทธ์ราคาเข้ามาสู้ ด้วยการตั้งราคาขาย ไอศกรีมในราคาแค่ 2 หยวน ในขณะที่คู่แข่งขายอยู่ 10 หยวน ราคาที่แตกต่างกันมาก แต่รสชาติไม่ได้ต่าง ทำให้ครั้งนั้นสร้างยอดขายถล่มทลาย มีคนมาต่อคิวตั้งแต่ร้านยังไม่เปิด สร้างชื่อให้ Mixue มาจนถึงทุกวันนี้
และเป็นที่มาของแฟรนไชส์ เพราะหลังจากมีคนมาต่อคิวเพื่อซื้อไอศกรีม หลายคนก็เลยมาถามขอซื้อแฟรนไชส์ ทาง “คุณจาง” เจ้าของร้านเลยตัดสินใจเปิดขายแฟรนไชส์ ตั้งแต่ปี 2007 มาจนถึงปัจจุบันที่มีแฟรนไชส์ออกไปสู่ต่างประเทศ หลายประเทศ ตามที่กล่าวมาข้างต้น
โมเดลความสำเร็จของ Mixue
ความสำเร็จของ Mixue ถ้ามองจากผู้บริโภคทั่วไปทำไมถึงเลือกซื้อไอศกรีมและเครื่องดื่มของร้านนี้ เหตุผลง่ายและชัดเจนที่สุด คือ ความคุ้มค่า นั่นคือ ราคาและรสชาติ Mixue เลือกที่จะขายไอศกรีมและเครื่องดื่มในราคาที่ทุกคนจับต้องได้ โดยราคาไอศกรีมซอฟต์เสิร์ฟ ที่เสิร์ฟมาในโคนวาฟเฟิล ขายอยู่ที่ราคาโคนละ 15 บาท และเครื่องดื่มเริ่มต้นที่ 20 บาท เสิร์ฟในแพกเกจจิ้งที่ดูดี และที่สำคัญอยู่ในร้านที่ถูกออกแบบมาเน้นความหรูหราทันสมัย เหมือนร้านเครื่องดื่มราคาแพงๆ
โดยมีสัญลักษณ์ที่ออกแบบเป็นรูป “Snow King” ตุ๊กตาสโนว์แมนสวมมงกุฎ และด้วยภาพลักษณ์ที่นำเสนอออกไปผ่าน แบรนด์ที่ทันสมัยในราคาจับต้องได้ เป็นเหตุผลที่คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นชื่นชอบกันมาก เป็นเหตุผลที่ Mixue ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็ว
ในส่วนของรสชาติ ถ้าเป็นในส่วนของเครื่องดื่มมีให้เลือกหลากหลาย รสชาติหลายเมนูก็ถูกปากคนไทย วัดได้จากแฟรนไชส์ที่เปิดไปแล้ว หลายๆ แห่งประสบความสำเร็จสร้างยอดขายในระดับที่น่าพอใจ ในส่วนของรสชาติไอศกรีมไม่แพ้คู่แข่ง อันนี้ในมุมของผู้บริโภคที่ตัดสินซื้อไอศกรีม และเครื่องดื่มของ Mixue
ราคาแฟรนไชส์ไม่ธรรมดา ต้องมีเงินในกระเป๋า 7 หลัก
อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ราคาที่ Mixue นำมาใช้ จนสามารถทำราคาถูกได้นั้น ส่วนหนึ่งจะต้องมาจากการบริหารจัดการด้านวัตถุดิบที่ดี เพราะการซื้อปริมาณมากราคาถูกลง ทำให้สามารถทำราคาที่หลายคนตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก ท้ายสุดต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างด้วย ถ้าราคาถูกอย่างเดียวแต่คุณภาพไม่ดี โอกาสจะแจ้งเกิดในประเทศไทย ที่การแข่งขันสูงแบบนี้น่าจะยาก
ในส่วนของแฟรนไชส์เอง ทาง Mixue คิดค่าแฟรนไชส์ โดยแบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังนี้ ค่าแฟรนไชส์ 50,000 บาทต่อปี ค่าการจัดการ 25,000 บาทต่อปี ค่าฝึกอบรม 10,000 บาทต่อปี ประกัน 100,000 บาท อุปกรณ์ 450,000 บาท วัตถุดิบ 250,000 บาท ค่าตรวจสอบรายปี ในกรุงเทพฯ 2,500 บาท และต่างจังหวัด 5,000 บาท และยังมีค่าติดตั้งและตกแต่ง และค่าเช่า อีกที่ขึ้นอยู่กับสถานที่นั้น ขนาดพื้นที่จะเปิดได้ต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่ต่ำกว่า 30 ตร.ม. ซึ่งรวมราคาแฟรนไชส์ พร้อมเปิดได้จะต้องมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่าหลักล้านบาท โดยทาง Mixue ตั้งเป้าไว้ว่าจะเปิดแฟรนไชส์มี่เสวี่ยในประเทศไทยภายในระยะเวลา 3 ปีให้ได้ที่ 2,000 สาขา
ท้ายสุดนี้ ราคาแฟรนไชส์ระดับนี้ และสิ่งที่เขาให้ รวมถึงยอดขายที่ลูกค้าแฟรนไชส์จะต้องนำกลับไปพิจารณาเองว่า ทำเลของเราจะสร้างยอดขายได้เท่าไหร่ และต้องใช้เวลาในการคืนทุนนานแค่ไหน คุ้มหรือไม่กับการลงทุนตัวเลข 7 หลักแบบนี้
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด