การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยธุรกิจเอสเอ็มอี ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายของ ทีมงานรัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงที่รับผิดชอบอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรม หลังจากได้รัฐบาลใหม่ บทบาทหน้าที่ ตกไปอยู่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอย่าง “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” กระทรวงด้านเศรษฐกิจ กับความท้าทาย เพราะมีหลายโจทย์ยาก รอการพิสูจน์ฝีไม้ลายมือ ผู้แทนชาวบ้านจาก อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช ทายาท อดีต ส.ส. 9 สมัย “มาโนช วิชัยกุล” แม้จะย้ายออกจากพรรคเก่าแก่มาอยู่รวมไทยสร้างชาติ แต่ความไว้วางใจจากประชาชนในพื้นที่ให้เข้าไปทำงานในฐานะผู้แทนประชาชนสมัยที่ 4 ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
ผลงานรมต.หน้าใหม่ ผลักดันเอสเอ็มอีก้าวข้ามช่วงศก.ผันผวน
พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงผลงานตลอดระยะเวลาการทำงาน 3 เดือนหลังรับตำแหน่ง ในการผลักดันเอสเอ็มอี ก้าวข้ามในช่วงเศรษฐกิจของประเทศและของโลกมีความท้าทายจากรอบด้าน ทั้งสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือแม้แต่โรคระบาด ว่า ที่ผ่านมา ได้มีการทำความร่วมมือ คู่ค้าสำคัญของไทย นั่นคือ ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับ จังหวัดวากายามะ ในเรื่องของอุตสาหกรรมแปรรรูปด้านการเกษตร อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และ อุตสาหกรรม BCG
ตั้งดีพร้อมเซ็นเตอร์ 11 จังหวัด ทั่วปท.
รองรับกิจกรรมทำร่วมกันSMEไทย-ญี่ปุ่น
โดยจะเน้นการดำเนินงานในรูปแบบความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นในลักษณะ Local-to-Local ผ่านศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค (ดีพร้อมเซ็นเตอร์) ทั้ง 11 แห่ง ที่กระจายอยู่ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานในภูมิภาคของดีพร้อม ในการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมและ SME ของทั้งสองประเทศ เช่น การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและเชื่อมโยงธุรกิจ การเจรจาจับคู่ธุรกิจที่สามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมทั้งสองฝ่าย โดยคาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะเกิดจากการจัดโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและจังหวัดวากายามะ ของญี่ปุ่นในปีงบประมาณ 67 จะไม่ตํ่ากว่า 200 ล้านบาท
ยกระดับเอสเอ็มอีสู่การผลิตยานยนต์สมัยใหม่
นอกจากนี้ รมว.อุตสาหกรรม ยังมีความพยายามที่ส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมยานยนต์ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและยกระดับอาชีพชุมชนสู่การผลิตที่มีมาตรฐาน โดยเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานอีวี เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ในภูมิภาคอาเซียน
โดยแผนส่งเสริม ยานยนต์สมัยใหม่ หรือยานยนต์ไฟฟ้านั้น ในขณะนี้ได้มีการวางแนวทางการพัฒนาในหลายแนวทาง เริ่มตั้งแต่ การเตรียมแผนการจัดการแบตเตอรี่เพื่อให้เกิดการนำกลับมาใช้ซ้ำ หรือ การรีไซเคิล รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนเครดิต หรือ ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในนโยบาย BCG และที่ยังอยู่ในระหว่างการเจรจาหารือ ในส่วนของการส่งเสริมยานยนต์สมัยใหม่ คือ การผลักดันให้เกิดการนำยานยนต์ไฟฟ้า มาใช้กับรถของหน่วยงานราชการ และรถบริการสาธารณะ เช่นรถขยะ โดยมุ่งเน้นการนำรถเก่ามาดัดแปลง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงแผนการพัฒนาบุคลากรในประเทศให้มีศักยภาพ โดยเฉพาะในส่วนของวิศวกร เพื่อลดการใช้ทรัพยากรบุคคลจากต่างประเทศ
ขณะเดียวกัน ก็ได้เร่งดำเนินการก่อสร้าง ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทยสู่การเป็นซุปเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญส่งเสริมให้ไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
ปั้น 'ไทยโกโก้ฮับ' ปักหมุดนครศรีฯ
เนื่องด้วย “รมว.พิมพ์ภัทรา” เป็นผู้แทนมาจากการเลือกตั้งใน จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้ทราบถึงพื้นที่ของจังหวัดดีว่ามีอะไรโดดเด่น เป็นที่มาของการผลักดันให้ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางในการผลิตโกโก้ เพราะด้วยนครศรีฯ เป็นหนึ่งจังหวัดที่มีพื้นที่การปลูกโกโก้ค่อนข้างมาก และโกโก้เป็นหนึ่งในพืชที่สามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศได้ โดยเริ่มต้นที่ จ.นครศรีธรรมราชก่อนที่จะขยายผลไปทั่วประเทศสู่การเป็นโกโก้ฮับ คาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 4,000 ล้านบาท
ในขณะนี้ดีพร้อมได้ทำงานร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำแผนปฏิบัติการอุตสาหกรรมโกโก้ไทย จะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อเร่งขับเคลื่อนทั้งระยะสั้น กลาง ยาว เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการ สนับสนุน ผู้ประกอบการไทยให้มีศักยภาพส่งออกสู่ตลาดโลก ลดนำเข้า รวมทั้งได้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย อาทิ อาหารเพื่อสุขภาพชั้นดีเยี่ยม ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น
เสนอครม.ตั้งศูนย์อุตฯฮาลาล
ยกระดับอาหารฮาลาลสู่ฮับอาเซียน
นอกจากนี้ ผลงานที่ รมว.อุตสาหกรรม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะทำงาน โดยแนวทางการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลนั้นจะมีข้อเสนอกลไกลการบริหารงานศูนย์ฯในระยะสั้น 3 เดือน โดยการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนวาระฮาลาล และทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ฯ
หลังจากนั้นก็จะขยายบทบาทและยกระดับศักยภาพสถาบันอาหารให้เป็นเจ้าภาพและศูนย์กลางการประสานงานเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ (National Focal Point) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ (Nation Agenda) รวมถึงจะต้องมีขอยืมตัวข้าราชการ พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติงานในศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลที่จัดตั้งขึ้นในระยะทดลอง 1 ปี
ขณะเดียวกัน ก็ได้วางแนวทางภารกิจส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่ ขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกา จีน ฯลฯ รวมถึง การเจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้า และบริการฮาลาล สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล ,ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมการจัดงาน “HaLal Expro 2024” , กิจกรรมทางการทูต (งาน Thai Night) เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริหารฮาลาลไทยในภารกิจ MICE เช่น ท่องเที่ยว การบิน การประชุม การจัดนิทรรศการนานาชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีภารกิจพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน โดยเป็นการยกระดับการผลิตและพัฒนาต้นแบบสินค้าฮาลาล แบ่งเป็น พัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม พัฒนา/จัดทำ Role Model เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเชื่อว่าภายใน 3 ปีจะทำให้จีดีพี (GDP) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 55,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรม
แนวทางปรับตัวเพื่อรองรับกติกาใหม่ของโลก
ความจริงข้อหนึ่ง ที่เป็นความท้าทายของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงหน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการอย่าง กระทรวงอุตสาหกรรมเอง นั่น คือ การเปลี่ยนแปลง เพื่อรับกับกติกาใหม่ของโลกที่เปลี่ยนไป หลักที่เห็นได้ชัดเจน เรื่องของสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเอสเอ็มอีตั้งปรับตัวไม่ได้ ปรับตัวไม่ทัน โอกาสทางการค้าก็จะต้องตกไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพความพร้อมมากกว่า และหนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ การลงทุน โดยเราก็จะมีพันธมิตรทำงานร่วมกันในการผลักดันเอสเอ็มอีบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน นั่นคือ ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอีดีแบงค์) เข้ามาดูแลด้านการเงินให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงทำให้มีแหล่งทุนควบคู่ไปกับการสร้างองค์ความรู้ เหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนรับเทรนด์ใหม่ในภายภาคหน้า เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ยังคงดูแลควบคู่ไปกับรถยนต์สันดาป ภาคเกษตรก็จะต้องดูแลให้มั่นคงโดยมีแนวคิดการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่เปิดไปยังประเทศต่างๆ มีตลาดใหญ่กว่าเดิมเพื่อส่งเสริมให้พี่น้องประชาชน เกษตรกรที่มีช่องทางการสร้างรายได้มากขึ้น
ตัดอ้อยสดลดฝุ่น PM 2.5
เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม
สถานการณ์ที่น่าห่วงสำหรับประเทศไทยคือ ปัญหาฝุ่น pm 2.5 โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เล็งเห็นปัญหาต่างๆและได้เร่งดำเนินการแก้ไขโดยเริ่มจากการเสนอโครงการสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น pm 2.5 โดยสนับสนุนงบประมาณในการตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท นับเป็นของขวัญปีใหม่ที่รัฐบาลช่วยชาวไร่อ้อย ส่งผลให้เกษตรกรฯ ที่เข้าร่วมโครงการ ประมาณ 140,000 ราย มีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 8,000 ล้านบาท อีกทั้งการที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด ส่งผลดีหลายอย่าง ทั้งทำให้อ้อยที่เก็บเกี่ยวมีปริมาณมากขึ้นเพราะไม่สูญเสียจากความร้อนของไฟที่เผาไหม้ หรือสารอาหารแร่ธาตุต่าง ๆ ในดินก็ไม่เสียหาย และยังลดมลพิษ pm 2.5 ในอากาศ เมื่อไม่มีการเผาไหม้ก็เกิดผลดีทั้งเกษตรกรและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ฟื้นโปรเจ็กต์แร่โพแทชอีสาน
โครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดอุดรธานี ของ บริษัท เอเซียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) และโครงการเหมืองแร่โพแทชจังหวัดชัยภูมิ ของบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ทั้ง 2 โครงการดังกล่าวถูกคัดค้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ต้องหยุดชะงักไป หนทางที่จะฟื้นโครงการขึ้นมาได้ จะมี 3 ส่วนสำคัญ คือ 1.รัฐจะต้องออกมาตรการกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนและเข้มงวด 2.ตั้งกองทุนเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาชุมชน ควบคู่กับการพัฒนาสังคม 3.ภาคเอกชนจะต้องมีเงินทุนพร้อม ถ้าครบทั้งหมดนี้โครงการเหมืองแร่โพแทชสามารถเดินต่อไปได้
“ความจริงวันนี้คือ ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยปีละกว่า 4 ล้านตัน ทั้งที่เรามีสำรองแร่โปแตชสูงถึง 4 แสนล้านตัน มากสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแคนาดา เบลารุส และเยอรมนี กระทรวงอุตสาหกรรมเองก็เตรียมเสนอแก้ไข พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อจัดระเบียบโรงงานอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็ก ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเท่าที่ควร ทั้งลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม การระบายน้ำเสีย อากาศเสีย ฯลฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขระเบียบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วย”
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมอุตสากรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี รวมกับบริษัทฯ ชี้แจงและจัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
หารือ แก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมเหล็ก
สถานการณ์ของเหล็กในตลาดภายในประเทศกำลังมีปัญหาที่กำลังถูกแก้ไข เรื่องนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้หารือกับ 10 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย จนได้ข้อสรุปคือ มาตรการห้ามตั้ง/ขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต และมาตรการสนับสนุนการใช้สินค้าในประเทศ สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ กำหนดนโยบายระงับการส่งออกเหล็ก เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ ห้ามตั้ง/ขยายโรงงานผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน เกินกว่าความต้องการ และเร่งส่งเสริมให้โครงการภาครัฐเลือกใช้สินค้าเหล็กในประเทศที่ผลิตจากโรงงานที่ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนปรับปรุงเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่เป้าหมายการ Net Zero Carbon
3 เดือนพิสูจน์ผลงาน กับเวลาของรัฐบาลที่เหลืออยู่ เป็นโจทย์ที่ท้าทาย “พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล” ว่าจะสามารถถือธงนำ ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนได้หรือไม่
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด