xs
xsm
sm
md
lg

“ลิตเติ้ลสแควร์” พื้นที่เล็ก ๆ เพื่อเติมเต็มทักษะ “เรียนผ่านเล่น” วัยก่อนโรงเรียนจริง! ธุรกิจสานฝันอดีตครูอนุบาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยยังมีอะไรอีกลึกๆ เยอะมากซึ่งไม่ใช่การมาโรงเรียนเพื่อมา ก.อา กา ข.อา ขา มันค้านกับทักษะทางสมองจริง ๆ แล้วเขาต้องได้ฝึกฝนทักษะชีวิต ได้เรียนรู้ได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กเพื่อพัฒนาสมอง แต่ในความเป็นจริงโรงเรียนไทยยังไปเน้นเรื่องของการเขียนการอ่าน”


อยากจะเปลี่ยนตัวเองมาเป็นอีกจุดหนึ่งที่มันจะส่งเสริมให้เด็ก ๆ เขาได้พัฒนาทักษะสมองแบบตรงจุดของเขา ความอัดอั้นที่อยู่ในใจมาตั้งแต่สมัยเรียน “ครูปฐมวัย” ต่อด้วยการเข้ารับราชการอยู่ในโรงเรียนเทศบาลอีกประมาณเกือบ ๆ 5 ปี ก่อนที่จะติดสินใจลาออกมาเพื่อประกอบธุรกิจส่วนตัวเองสานต่อความฝันที่มีอยู่ในใจ “คุณต้าร์-ศุภรัตน์ สอสุวรรณ์”เจ้าของธุรกิจ Little Square Co-learning space for kids & family บอกอีกว่าประจวบกับตอนนั้นตนเองก็มี “ลูก” ด้วยก็รู้สึกว่า จ.ระนอง เป็นจังหวัดเล็ก ๆ ที่ยังไม่ได้มีพื้นที่สำหรับเด็กเล็กเหมือนจังหวัดใหญ่ ๆ อื่น ๆ ก็เลยเริ่มหาข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาการรวมทั้งพื้นที่ต่าง ๆ ที่เหมาะสมสำหรับ “เด็กปฐมวัย” หรือเด็กเล็กมีการออกไปศึกษาเกี่ยวกับการเปิดพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับเด็กปฐมวัย จนในที่สุดก็ได้มีการจัดตั้ง “ลิตเติ้ลสแควร์” ขึ้นมา


“จริง ๆ ลิตเติ้ลสแควร์ คือ พื้นที่แห่งการเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ในช่วงอายุตั้งแต่ 0 จนถึง 6 ขวบค่ะ พื้นที่ ที่เด็กเล็กเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่” จากตอนแรกแค่รู้สึกว่าอยากให้เด็ก ๆ มาจอยกัน แค่อยากให้เด็ก ๆ มาสนุก เหมือนเข้ามาเปิดประตูเข้ามาแล้วตรงนี้มันคือ พื้นที่ของฉันนะ! มีพื้นที่เฉพาะ อุปกรณ์เฉพาะ ของเล่นเฉพาะสำหรับวัยต่าง ๆ ยังไม่ได้เป็นโมเดลธุรกิจที่ชัดในตอนแรก จนกระทั่งหลัง ๆ พอเริ่มมีกลุ่มลูกค้ามากขึ้นเด็ก ๆ เข้ามาเยอะขึ้น ทีนี้ก็เลยต้องมาคำนึงถึงส่วนต่าง ๆ ของแต่ละโซนว่าต้องมีการจัดการอย่างไรบ้าง รูปแบบเริ่มจะเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมกับตัวธุรกิจเริ่มมีการปรับเปลี่ยนโมเดลให้ลงตัวขึ้น ให้ดูเหมาะสมกับเด็ก ๆ มากขึ้น และก็ที่สำคัญคือต้องตอบโจทย์ผู้ปกครองด้วย




“เด็กอนุบาลหรือเด็กปฐมวัยก่อนวัยเรียน สิ่งสำคัญ คือ สิ่งแวดล้อมและบุคลากร ซึ่งสองอย่างนี้เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากตั้งแต่เริ่ม “ลิตเติ้ลสแควร์” ต้าร์จะให้พนักงานทุกคนไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน คนทำความสะอาด ผู้จัดกิจกรรม หรือแม้แต่พนักงานบริการ ทุกคนจะต้องเข้าร่วมการเทรนนิ่ง ซึ่งการเทรนนิ่งนี้จะเน้นในเรื่องของการดูแลเด็กโดยเฉพาะ การเทรนนิ่งเกี่ยวกับปฐมพยาบาลเบื้องต้น (first aid) ทุกอย่างทั้งในเรื่องของอาหาร อาหารการกิน เครื่องดื่ม พื้นที่สิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการดูแลยามเจ็บป่วยเกิดอุบัติเหตุ แมลงกัดต่อยในพื้นที่ เพราะว่าพื้นที่เรามันเป็นพูดได้ว่า ข้างในเป็นการทำกิจกรรม ด้านนอกก็จะเป็นโซนเอ้าท์ดอร์ คือ 100% ตรงนี้เป็นพื้นที่แห่งการทำกิจกรรมหมดเลย เพราะฉะนั้นในเรื่องของอุบัติเหตุหรือว่าสิ่งต่าง ๆ ที่มันจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่ได้คาคคิด มันเกิดได้ ตาร์ก็เลยให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่งบุคลากรมาก ๆ” รวมไปถึงในเรื่องของ “หลักสูตรการจัดกิจกรรม” สำหรับเด็ก ๆ ก็ต้องครอบคลุมพัฒนาการ แล้วก็มีในส่วนของที่เรียกว่าหลักสูตรที่เน้นในเรื่องของการ “เรียนผ่านเล่น” ที่สำคัญเลยเพราะว่า เด็กปฐมวัยเขาไม่สามารถเรียนวิชาการหนัก ๆ หรือบางคนอาจจะรู้สึกว่าเอาเด็กอนุบาลมาเรียนพิเศษไหม? แต่ถ้าเขาเข้ามาเขาจะได้เห็นว่าเด็ก ๆ ทำกิจกรรมเรียนรู้ผ่านการเล่น Theme อะไร อุปกรณ์การใช้งาน อุปกรณ์การเล่น อุปกรณ์การเรียนรู้ ทุกอย่างจะครอบคลุมกันเป็นธีม แล้วก็ที่สำคัญต้องปลอดภัย เหมาะสมกับวัย แล้วก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ




“ลิตเติ้ลสแควร์” จะแบ่งพื้นที่ออกเป็น4 โซนด้วยกัน โดยทั้งหมดจะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาการ โซนแรก...จะเป็นโซนของการเสริมพัฒนาการของเด็กเล็ก โดยจะมีกิจกรรมให้เด็ก ๆ ผ่านกระบวนการในการส่งเสริมทักษะ EF และทักษะ SI ทั้ง2 อย่างนี้เป็นหลักการสำคัญที่ใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการ โซนที่ 2...จะเป็นโซน KIDs club ด้วย โดยตั้งใจให้เป็นคิดส์คลับสำหรับเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพราะว่าอย่างเช่นน้อง ๆ ประถมหรือว่ามัธยมเขาก็มีที่ไปของเขาแล้ว เวลาที่เขาอยากจะผ่อนคลายหรือเวลาที่เด็ก ๆ อยากจะใช้เวลาอิสระเขาก็จะได้อยู่ในพื้นที่ของเขา แต่สำหรับเด็กเล็กนอกเหนือจากที่บ้านเขาก็ไม่รู้ว่าจะไปที่ไหนถ้ายังไม่เข้าสู่วัยโรงเรียน ก็เลยจัดตั้งให้มีโซนคิดส์คลับสำหรับเด็กเล็ก โดยพื้นที่จะไม่ได้เน้นยิ่งใหญ่แต่จะเน้นให้เล็ก ๆ กระชับเหมาะสมกับวัย โดยที่ไม่อันตรายจนเกินไป ไม่กว้างขวางจนเกินไป แต่ว่าของเล่นและทุกอย่างที่อยู่ในคิดส์คลับจะเป็นสิ่งที่ช่วยในเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการเช่นกัน โซนที่ 3... จะเป็นโซนคาเฟ่เป็นเรื่องของการบริการ สำหรับผู้ที่มาใช้บริการก็จะมีโซนนั่งพัก มีโซนกาแฟ เครื่องดื่ม อาหารและ โซนสุดท้าย...จะเป็นโซนจักรยาน Pump Track ก็เป็นที่แรกใน จ.ระนอง เหมือนกัน เป็นพื้นที่ให้เด็กเล็ก ๆ ได้มาฝึกจักรยานขาไถประโยชน์ของมันก็คือว่า จะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ส่งเสริมในเรื่องของการทรงตัว ซึ่งทักษะเหล่านี้จะสอดคล้องกับการส่งเสริมพัฒนาการครอบคลุมทุกด้านของเด็กอยู่แล้ว


“ต้องบอกอย่างนี้ก่อนว่าเด็กอนุบาล เขาไม่ได้เรียนรู้วิชาการแบบอ่านเขียนเท่านั้น อ่านเขียนอาจจะมีบ้าง ในบางโรงเรียนแต่ถามว่า มันคือทั้งหมดของการเรียนรู้เด็กปฐมวัยไหม ไม่ค่ะ ซึ่งลิตเติ้ลสแควร์จะจัดกิจกรรมแล้วก็หลักสูตรของที่นี่จะเน้นในเรื่องของการเรียนรู้ในเรื่องของทักษะ EF และ SI สองสิ่งนี้ควบคู่กับ Theme การเรียนรู้ ทักษะ EF (Executive Function) คือ ทักษะทางสมองของเด็ก ความสามารถที่เกิดจากการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ช่วยให้คนเราสามารถควบคุม ความคิด อารมณ์ พฤติกรรม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตนต้องการสำเร็จ และก็ SI (Sensory Integration) ก็คือ ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ในร่างกายของเด็ก กระบวนการทำงานของสมอง ในการรับข้อมูลจากประสาทสัมผัสต่าง ๆ ของร่างกาย จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาคิด วิเคราะห์ และประมวลผล แล้วโต้ตอบออกไปในรูปแบบของพฤติกรรมต่าง ๆ ให้เหมาะกับสถานการณ์ ที่เรากำลังเผชิญอยู่ โดยเราสามารถแบ่งประสาทรับความรู้สึกออกได้เป็น 3 อย่าง คือTactile sensation, Vestibular sensation และก็ Propioceptive sensation“ร่างกายจะต้องได้รับการกระตุ้นแล้วก็เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับสมอง เราก็เลยเน้นหลักการนี้เข้ามา ซึ่งในส่วนของวิชาการถามว่ามีมั้ย มีบ้าง ในเรื่องของการแยกกรุ๊ปไปเด็ก ๆ อยากได้ทักษะการอ่านเขียนภาษาอังกฤษ เราก็จะมีอีกคอร์สหนึ่งให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ แต่หลัก ๆ แล้วในเรื่องของหลักสูตรครอบคลุมของลิตเติ้ลสแควร์ เราจะเน้นในเรื่องของการ “เรียนผ่านเล่น” ผ่านการใช้ทักษะสมองแล้วก็กระตุ้นประสาทสัมผัส จะหนักไปทางนี้มากกว่า”


หลังจากการเปิดตัวธุรกิจนี้มาประมาณ 1 ปีกว่าแล้ว คุณต้าร์บอกว่าหลัก ๆ ตอนนี้กลุ่มที่เข้ามาใน “ลิตเติ้ลสแควร์” ส่วนใหญ่จะเป็น กลุ่มเฉพาะ เฉพาะในที่นี้ก็คือผู้ปกครองจะเป็นผู้ปกครองที่มีความรู้ในเรื่องของทักษะสมอง หรือว่าเห็นความสำคัญของ EF เห็นความสำคัญของการเรียนผ่านเล่น กลุ่มนี้เฉพาะเลยคือเดินเข้ามาแทบจะไม่ถามอะไร พอเห็นกิจกรรมของที่นี่เป็นแบบนี้ การเรียนรู้เป็นแบบนี้ มีการใช้ทักษะนี้ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กแบบนี้ ๆ ผู้ปกครองก็พาเด็กมาลงคลาสเรียนซึ่งอย่างที่บอกว่าเป็นกลุ่มเฉพาะจริง ๆ เพราะว่า เราว่ากันไม่ได้ เพราะว่าประเทศไทยเราเป็นจุด จุดที่เน้นในเรื่องการอ่านเขียนท่องจำซะมาก เพราะฉะนั้นผู้ปกครองที่เขาเห็นความสำคัญของจุดนี้ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง พอทีนี้คนที่เข้ามาในลิตเติ้ลสแควร์ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง กลุ่มเฉพาะ ที่เดินเข้ามาหาเรา ด้วยจุดประสงค์เดียวกัน ในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กหรือส่งเสริมพัฒนาการของลูกที่มันครอบคลุมทั้งหมด นำไปสู่การเรียนรู้ต่อยอดต่าง ๆ ในช่วง 7-8-9 ขวบต่อไป”


สิ่งที่ทำวันนี้มันเป็นเหมือน “ภาพฝัน” ของตัวเอง ตั้งแต่สมัยเรียน รู้สึกว่าตั้งแต่เป็นคุณครู“การดูแลเด็กซึ่งในความเป็นจริงมันจะต้องได้เรียนรู้อะไรที่มันลึกซึ้ง ถึงจะมาอยู่กับเด็กได้อย่างมีคุณภาพจริง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันทำให้เรารู้สึกว่า เราเรียนรู้จากการที่เป็นข้าราชการครูแหละแล้วเราก็ได้เห็นว่า โอเคในสังคมของครูปฐมวัยด้านหนึ่งน่ะมันเป็นยังไง แต่ด้านที่เด็กต้องการน่ะมันเป็นอีกแบบหนึ่งเลย เราก็เลยรู้สึกว่าอยากถอดตัวเองจากตรงนั้นแหละมาเรียนรู้ ในสิ่งที่เด็กปฐมวัยควรจะได้รับจากคุณครู ไม่ว่าจะเป็น ทักษะชีวิตหรืออะไรต่าง ๆ แม้กระทั่งเรารู้สึกว่า ในการทำกิจกรรมหนึ่งกิจกรรม เด็กอยู่กับครูที่ไม่ใช่ครูปฐมวัย กับอยู่กับครูที่เป็นครูปฐมวัย ก้านสมองเขาแตกต่างกันมาก อยู่กับคน ๆ หนึ่งที่ไม่ได้จบปฐมวัยเป็นครูอะไรก็ได้มาสอน การตั้งคำถาม การพูดคุย การเล่นกับเขา มันแตกต่างกัน”


และก็สิ่งสำคัญที่สุด คือ ครูจะต้องมีหัวใจที่รักเด็ก ๆ อย่างแท้จริงด้วย จากประสบการณ์ในการเป็นคุณครูโรงเรียนเทศบาลมาก็ได้เห็น“ความไม่พร้อม” หลาย ๆ อย่างที่เด็ก ๆ ในกลุ่มนี้ต้องอยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ พ่อแม่ลำบาก ไม่มีเงิน ปัญหาชีวิต
พ่อแม่เลิกกันอยู่กับคุณย่าคุณยาย ทุกสิ่งทุกอย่างมันดูไม่ค่อยจะพร้อมสำหรับเด็ก ๆ สักเท่าไร แล้วพอออกมาทำธุรกิจเองก็ได้มีโอกาสเห็น “ความพร้อม” ของเด็กที่พ่อแม่เขาทะนุถนอมมาก เพอร์เฟ็กต์ เกิดมาทุกอย่างพร้อม “แต่สิ่งสำคัญคือเรารู้สึกว่า เขาคือเด็กเหมือนกัน เราก็อยากให้เขาได้รับอะไรที่เหมือนกัน ถ้าสมมุติว่าเขาสามารถเติบโตไปโอเคที่บ้านไม่เหมือนกัน แต่ได้เข้ามาในชุมชนที่มีการส่งเสริมเด็ก ๆ อย่างมีคุณภาพ เขาก็สามารถที่จะเติบโตไปพร้อม ๆ กันได้” การเข้ามาร่วมกับโครงการแก้ปัญหาการศึกษาของประเทศไทย อย่าง “โครงการอยู่ดีมีครู” โดยมูลนิธิดั่งพ่อสอน เป็นโครงการที่มุ่งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชน พัฒนาคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยและพัฒนาการของเด็กเล็ก และสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน โดยการร่วมสนับสนุนการออกแบบต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชน และเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกภ ภายใต้แบรนด์ XKRUSIVE (เอ็กซ์ครูซีพ) เพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุดลิมิเต็ด อิดิชัน มาจัดจ้างครู พร้อมส่งเสริมให้เกิดครูแม่แบบจากปราชญ์ท้องถิ่นและผู้นำชุมชน คุณต้าร์มองว่าเป็นโครงการที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ เน้นที่จะส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็กให้เด็ก ๆ ได้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ “โครงการนี้เขามีโมเดลดี ๆ ลงสู่เด็ก แน่นอนว่าถ้าบุคลากรคน ๆ หนึ่งที่มีใจรักเด็กแล้ว โมเดลที่เขาจะนำไปสอนเด็กมีคุณภาพอีก ทีนี้ตาร์ก็เลยคิดว่ามันเชื่อมโยงกันเลย ตรงที่ว่ามันจะแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ทำให้เด็ก ๆ เขาได้มาโรงเรียนอย่างมีความสุข เรียนรู้อย่างถูกต้องกับทักษะสมองของเขา ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย เพราะว่าบุคลากรปลอดภัย ผู้ปกครองก็ได้ไปทำงานอย่างมีความสุขไม่ต้องพะวงหน้าพะวงหลังก็เลยรู้สึกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่เชื่อมต่อเกี่ยวกับลิตเติ้ลสแควร์ตรงนี้”

และในฐานะของ “คุณครู” คนหนึ่ง ยังได้เผยถึงความรู้สึกที่อยู่ในใจลึก ๆ เกี่ยวกับการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่จะเป็นอนาคตของชาติต่อไป “จริง ๆ ในพาร์ทของการเป็นคุณครูนะคะเราก็รู้สึกว่า เราอยากให้เด็ก ๆ เขาได้อยู่กับคนที่มีคุณภาพ เรารู้สึกว่าถ้าสมมุติเขามีต้นแบบชีวิตที่ดี ครู ก็คือแม่พิมพ์ ถ้าเขาได้อยู่ได้ใช้ชีวิตได้เรียนรู้อยู่กับคนที่เป็นต้นแบบที่ดีของเขา ต่อให้เขาเจออะไรที่บ้านมาไม่ดี เจอปัญหาเจออะไรต่าง ๆ ที่มันทำให้เขารู้สึกว่าพาร์ทหลังบ้านเขาไม่ดีเลย แต่เมื่อเขาก้าวเข้ามาสู่โรงเรียนก้าวเข้ามาสู่สังคมเขาเจอคนที่เป็นเหมือน “ดอกไม้บาน" ในหัวใจเขาต้าร์คาดหวังแค่ อยากให้คนที่อยู่กับเด็ก ใช้ชีวิตอยู่กับเด็ก สอนเด็กอยู่ในโรงเรียนอยู่ในสถาบันอะไรต่าง ๆ มีคุณภาพและก็รักเด็กจริง ๆ ไม่ใช่เป็นใครก็ได้ อยากให้เป็นคน ๆ หนึ่งที่อย่างน้อย ๆ ข้อเดียวที่มี คือ รักเด็กจริง ๆ”

ติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ สำหรับเด็กเล็กของ “ลิตเติ้ลสแควร์” ระนอง ได้ทาง FB : Little Square Co-learning space for kids & family สอบถามเพิ่มเติม โทร.092-897-3444


กำลังโหลดความคิดเห็น