xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานปิดตัวเพราะพิษ ศก. เชฟและทีมงานรวมตัวทุ่ม 2 แสน เปิดร้านขนมใหม่ I Eat Cake Café ตั้งเป้า 6 เดือนคืนทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อบริษัทที่ทำอยู่ต้องปิดตัวลงเพราะเจอวิกฤตเศรษฐกิจขาดทุนย่อยยับทำให้ไปต่อไม่ไหว เชฟและทีมงานที่สนิทกันรวมตัวทุ่มเงิน 200,000 บาท เปิดหน้าร้านขนม I Eat Cake Café ย่านลาดพร้าว ตั้งเป้า 6 เดือนต้องคืนทุน เน้นการบริการและคุณภาพสินค้ามัดใจลูกค้า ไม่ว่าจะล้มกี่ครั้งก็ต้องลุกขึ้นและต่อสู้มันไปให้ได้


นางสาวณัฐกฤตา วรรณศิริศิลป์ เชฟและผู้ก่อตั้งร้าน I Eat Cake Café เล่าว่า ก่อนหน้านี้เธอก็เคยเปิดร้านขนมมาแต่ต้องปิดตัวลงไปเพราะพิษเศรษฐกิจและโควิด-19 ทำให้ไปสมัครงานเป็นเชฟที่บริษัทแห่งหนึ่งแต่ต้องมาปิดตัวลงเพราะพิษเศรษฐกิจอีกรอบ เมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเธอและเพื่อนในทีมอยู่ในช่วงที่ตกงาน ทำให้เธอและกลุ่มเพื่อนเชฟหันมารวมตัวกันเปิดร้านขนมด้วยกัน เหตุเพราะการสมัครงานใหม่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในช่วงสิ้นปี เพราะฉะนั้นจึงตัดสินใจมาลงทุนเปิดร้านด้วยกัน


จากประสบการณ์โดยตรงด้านการเปิดร้านขนมและคลุกคลีการทำงานเกี่ยวกับขนมมาค่อนข้างเยอะทำให้ตัดสินใจเปิดร้านขนมใหม่อีกครั้ง โดยเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกันกับคนในทีมเดิมที่เคยทำงานมาด้วยกันเมื่อตอนยังอยู่ที่บริษัทเดิม ด้วยความที่สนิทกันในทีมที่มีทั้งเธอที่เป็นเชฟ มีสุวัฒฐา จันทร์อิน RD และผู้จัดการร้านในตอนนี้ และพรพรรณ โพธิ์เกษม Production ฝ่ายผลิต ที่ร่วมใจกันมาเริ่มต้นเปิดร้านขนมใหม่ในชื่อ I Eat Cake Café ซึ่งนำเสนอร้านในรูปแบบของการเป็นร้านขนมและคาเฟ่ขนาดเล็ก ปัจจุบันเพิ่งเริ่มเปิดร้านได้ประมาณ 1 เดือนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา


การเริ่มต้นเปิดร้านใหม่ด้วยการไปเช่าพื้นที่ขาย มีความจำเป็นต้องวางแผนในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตลาด โปรดักส์สินค้าต่างๆ พร้อมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่กลุ่มลูกค้าให้รู้จักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้มีการวางแผนและทดสอบสำรวจตลาดว่าขนมประเภทใดบ้างที่เหมาะสมและพร้อมเจาะกลุ่มลูกค้าได้ในขณะนี้ด้วยการทำโบรชัวร์และโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามารู้จักมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันร้านขนมตั้งอยู่ที่ ซอยโยธินพัฒนา 7


เปิดร้านใหม่ลูกค้ายังไม่ค่อยรู้จักหน้าร้านมากนัก มีเพียงลูกค้าเดิมที่รู้จักผ่านโลกออนไลน์ ทำให้ทางร้านจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ให้กับลูกค้าหน้าร้านมากยิ่งขึ้นในตอนนี้ บวกกับเข้าร่วมแพลตฟอร์มส่งอาหารเดลิเวอรี่เพื่อให้ลูกค้าในบริเวณใกล้เคียงได้มองเห็นร้านขนมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการนำเอาขนมประเภทแห้งไปฝากขายตามร้านของฝาก ร้านอาหาร และคาเฟ่ ปัจจุบันมีฝากขายประมาณ 2-3 ร้านและมีการวางแผนเพิ่มร้าน ในส่วนของขนมต่างๆ ของทางร้านที่มีทั้ง เค้ก เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ขนมแห้ง เช่น คุกกี้ ขนมเปี๊ยะ มีความพิเศษและจุดเด่นในเรื่องของรสชาติและวัตถุดิบที่ใช้เป็นเกรดพรีเมี่ยมและผลิตมาขายในราคาที่จับต้องได้


สำหรับกำลังการผลิตในตอนนี้ทางร้านจะรับตามออเดอร์เป็นหลัก ในส่วนของขนมเปี๊ยะสามารถผลิตได้วันละ 200-300 ชิ้น คุกกี้สามารถผลิตได้วันละ 3 กิโลกรัม และเค้กที่ค่อนข้างใช้เวลานานในการผลิต ซึ่งใน 1 วันสามารถผลิตและส่งได้ประมาณ 8-9 ก้อน นอกจากนี้ยังมีการวางแผนเพิ่มไลน์สินค้าเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ามากยิ่งขึ้น

เริ่มต้นมาได้ประมาณ 1 เดือน มือใหม่มากสำหรับการเปิดหน้าร้าน จำเป็นต้องมีการวางแผนธุรกิจให้ดีและประคองธุรกิจไปให้ได้ ซึ่งการเปิดหน้าร้านและการผลิตเค้กมาสต็อคไว้ในแต่ละวันเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากเวลามีลูกค้าเข้าร้านมาจะต้องมองหาเค้กหรือขนมที่วางขายในตู้เป็นเรื่องปกติ ซึ่งการทำสต็อคไว้นั้นจะเป็นวิธีที่เรียกลูกค้าได้นั่นเอง ถึงแม้ว่าในแต่ละวันจะขายออกไม่หมดแต่จำเป็นต้องมีวางโชว์ที่หน้าร้าน


การจัดการขนมที่ขายไม่หมดในแต่ละวันนั้นถ้าหากขนมมีสีที่เปลี่ยนไปทางร้านก็จะจัดการด้วยการโละทิ้งไม่เก็บไว้ขายให้ลูกค้าต่ออย่างแน่นอน เนื่องจากทางร้านมีความต้องการให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่สดใหม่อยู่เสมอนั่นเอง ในช่วงแรกที่เปิดขายมีของเหลือค่อนข้างเยอะ แต่พอเปิดร้านไปได้สักพักก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้มีของเหลือมากจนเกินไป

หันมาเปิดหน้าร้านแบบออฟไลน์แต่ต้องเจอกับปัญหาการไม่ค่อยมีลูกค้าเข้าร้าน ทำให้ทางร้านต้องมองหาแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสำรวจและเจรจาธุรกิจที่เป็นร้านเบเกอรี่ ร้านคาเฟ่ต่างๆ เพื่อทำเค้กส่งให้กับร้านดังกล่าวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทางร้านจะไม่มีการใส่สารกันเสียเพื่อให้ลูกค้าสบายใจได้เมื่อกินขนมของทางร้าน


ปัจจุบันมีลูกค้าครอบคลุมทุกเพศทุกวัยเพราะขนมของทางร้านสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มวัย สามารถเลือกกินได้อย่างตามใจชอบ รวมถึงมีเมนูเครื่องดื่มที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย นอกจากนี้ขนมเปี๊ยะยังดึงดูดลูกค้าที่มีอายุเข้ามาได้เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าสามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่มทุกวัยนั่นเอง ซึ่งราคาเมนูต่างๆ เริ่มต้นที่ราคาหลักสิบไปจนถึงหลักร้อย เค้กต่อชิ้นแพงสุด 120 บาท ส่วนขนมเปี๊ยะเริ่มต้นที่ราคา 70 บาท โดยขนมเปี๊ยะจะมีชื่อแบรนด์แยกว่า “เปี๊ยะเค้าแมว” ขายมาได้ประมาณ 6-7 ปี และได้นำมาขายร่วมกับร้านในปัจจุบันนั่นเอง


ทั้งนี้ขนมเค้กที่เป็นเมนูซิกเนเจอร์ ได้แก่ เค้กเรดเวลเวท เค้กมะพร้าว และขนมปี๊ยะ ซึ่งขนมเปี๊ยะนั้นมีความโดดเด่นในเรื่องของเนื้อสัมผัสที่มีความแป้งบางนุ่ม ไส้เยอะ มีทั้งหมด 2 ไส้ ได้แก่ ไส้ถั่วและเผือก ซึ่งได้รับผลตอบรับและฟีดแบกที่ดีกลับมาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังดึงความน่าสนใจด้วยหน้าตาของขนมที่เป็นเลเยอร์ชั้นและสีพาสเทลดูสวยงามและน่ากินนั่นเอง


ในส่วนของด้านการลงทุนเปิดหน้าร้านใหม่นั้นเม็ดเงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 200,000 บาท และได้มีการตั้งเป้าการคืนทุนไว้ที่ 6 เดือน เฉลี่ยแล้วจะต้องทำยอดขายได้ประมาณเดือนละ 33,000 บาทโดยประมาณ เนื่องจากทำเลที่ตั้งและการโปรโมตเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในการเปิดหน้าร้านเป็นอย่างมาก และการตั้งเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจก็มีความสำคัญและจำเป็นเช่นเดียวกัน ทางร้านจึงได้มีการวางแผนเอาไว้เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจนั่นเอง


“ข้อคิดในเรื่องของการทำงานที่มาเปิดหน้าร้านเองนะคะ มันก็มีอิสระในการทำขนมใหม่ๆ ค่ะ เราอยากทำขนมไหนโดยที่เราเลือกวัตถุดิบและตั้งราคาเองได้ มันค่อนข้างง่ายกว่าการที่เราไปเป็นลูกจ้างให้เขากำหนดราคามาให้ในต้นทุนเท่านี้ๆ นะมันจะค่อนข้างยากนิดหนึ่ง การที่เราจะได้ขนมอร่อยอย่างหนึ่งเลยคือคุณภาพวัตถุดิบต่างๆ ในมุมของเชฟเป็นเรื่องที่สำคัญค่ะ มันก็จะง่ายขึ้นในเรื่องของการทำงาน แต่ว่าในเรื่องธุรกิจอย่างที่บอกว่าเราลงทุนเองเพราะฉะนั้นทุกอย่างมันคือเงิน ดังนั้นเราต้องรับความเสี่ยง รอเวลาและคิดการตลาดทุกวันค่ะ หยุดไม่ได้เพราะว่าเงินมันเดินออกทุกวัน” คุณณัฐกฤตา ระบุ


ในส่วนของความรู้สึกของคนที่ตกงานแล้วอยู่ในช่วงเวลาสิ้นปีที่การสมัครงานค่อนข้างยากนั้นเจ้าของร้านและทุกคนในทีมที่มารวมตัวกันมีความรู้สึกได้ว่า “เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยค่ะ แต่เหนื่อยคนละอย่าง อันนั้นอาจจะกดดันจากหัวหน้างาน จากบริษัท แต่ว่าสิ้นเดือนเรามีเงินเดือนรองรับอยู่แล้วก็จะบริหารการเงินได้ แต่สำหรับการลงทุนมาเปิดร้านต้องยอมรับความจริงค่ะแล้วก็ต้องทำให้ได้เท่านั้นค่ะ เราต้องสั่งตัวเองค่ะวางแผนตัวเองดีๆ ว่าจะพัฒนาร้านไม่ให้หน้าร้านเงียบยังไง ต้องไปแจกโบรชัวร์ระแวกร้านให้ลูกค้าได้รู้ว่ามีเราอยู่ค่ะ แล้วก็มีบริการส่งให้ฟรีที่เป็นบริการของร้านด้วยค่ะ มันก็โอเคในระดับหนึ่งเพราะการส่งฟรีมันดึงดูดนะแล้วเราไม่ถูกหักเปอร์เซ็นต์จากแอปฯ ด้วยลูกค้าก็จะโอเคค่ะ” คุณณัฐกฤตา ระบุ


อย่างไรก็ตาม ในอนาคตได้มีการวางแผนต่อยอดธุรกิจเอาไว้ว่าถ้าหากหน้าร้านในตอนนี้เติบโตไปในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง ก็มีการวางแผนต่อยอดและขยายไปอีกหนึ่งสาขาที่ต่างจังหวัดเพื่อกระจายและส่งต่อความอร่อยให้กับลูกค้าได้อีกหนึ่งช่องทาง
อย่างไรก็ตามถ้าหากผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญกับปัญหาเช่นเดียวกับทางร้านในตอนนี้ คุณณัฐกฤตา ฝากข้อคิดและแนะนำว่า “ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้ถ้าหากเจอปัญหาก็ต้องสู้ค่ะ เพราะมันเป็นทั้งประเทศ สู้อย่างเดียวแล้วก็ปรับเปลี่ยนแผนไปเรื่อยๆ อย่าหยุดทำค่ะ คิดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้ แล้วยิ่งถ้าเรามั่นใจและมีฝีมือที่ดีว่าเราทำอร่อย แต่ว่าเราจะทำยังไงให้คนรู้จัก ให้คนเข้ามามันก็มีหลายช่องทางให้เรียนรู้ ใช้สื่อโซเชียลให้เหมาะสมให้ตรงเป้าหมายให้ได้ มันไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน”

ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :
I Eat Cake Cafe いただきます。










* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น