สสว. สรุปสถานการณ์ SME ปี 2566 คาดว่า GDP SME ขยายตัวร้อยละ 4 คิดเป็นมูลค่า 6.44 ล้านล้านบาท ขณะที่ปี 2567 GDP SME มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 4–5 ปัจจัยหลักยังมาจากการท่องเที่ยวและการส่งออก รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง เตรียมเพิ่มศักยภาพ SME เข้าสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน รองรับความต้องการสินค้าและบริการจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงาน 2nd SME Symposium 2023 หัวข้อ “Trend ทางออก SME ไทย ก้าวต่อไปอย่างยั่งยืน - SME ไทย โลกใหม่ใบสีเขียว” ซึ่ง สสว. จัดขึ้นในวันนี้ (18 ธันวาคม 2566) เพื่อเป็นเวทีในการสะท้อนทิศทางของ SME ในปี 2567 และประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อการเติบโตของ SME โดยเฉพาะมุมมองการปรับตัวของผู้ประกอบการต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืน อาทิ คุณอมรพล หุวะนันทน์ CEO & Co-Founder บริษัท Moreloop คุณลี-อายุ จือปา เจ้าของแบรนด์กาแฟอาข่า อ่ามา (AKHA AMA) จ.เชียงใหม่ คุณวิโรจน์ ฉิมมี เจ้าของฟาร์มสเตย์ "บ้านไร่ ไออรุณ" จ.ระนอง คุณจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนากิจการสู่ความยั่งยืน
“ปี 2567 ที่กำลังจะมาถึงนี้จะเป็นปีที่ SME ต้องพัฒนาศักยภาพและเตรียมการรับมือกับความหลากหลายรวมถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก โดยประเด็นที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญ มีตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีบทบาทกับการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น การทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนหรือธุรกิจสีเขียวซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญที่ผู้ค้ารายใหญ่ของโลกใช้กีดกันทางการค้า และการนำ Soft Power มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ สสว. ได้กำหนดเป็นแนวทางหลักของการส่งเสริมผู้ประกอบการภายใต้แผนปฏิบัติการส่งเสริม SME ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ SME อยู่รอด เติบโต และเป็นกำลังสำคัญของระบบเศรษฐกิจประเทศ” ผอ.สสว. กล่าว
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของ SME ในปี 2566 นี้ GDP SME ยังเติบโตในระดับที่สูงกว่า GDP รวมของประเทศ แสดงถึงการฟื้นตัวของ SME จากสถานการณ์โควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี GDP SME ขยายตัวได้ 3.7% ภาพรวมของปีนี้จะเติบโตได้ถึง 4% หรือคิดเป็นมูลค่า 6.44 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างชะลอตัวด้วยผลจากความระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน การจ้างงานขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.8 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับลดลงหลังจากที่สูงมากในปี 2565 จากผลของราคาวัตถุดิบและราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นในช่วงดังกล่าว และยังมีผลต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งจากสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยเพื่อลดความร้อนแรงของอัตราเงินเฟ้อและลดความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างประเทศส่งผลต่อต้นทุนการลงทุน ภาระหนี้สินและการชำระหนี้ของผู้ประกอบการ การส่งออกของ SME ใน 10 เดือนแรก มีมูลค่า1.1 ล้านล้านบาท ขยายตัวได้ถึง 27.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยคาดว่าทั้งปี 2566 การส่งออกของ SME จะสามารถขยายตัวได้ 28% หรือจะมีมูลค่า 1.35 ล้านล้านบาท และที่สำคัญคือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้สูงตามคาดการณ์ ทำให้ GDP SME ในภาคการค้าและภาคการบริการเติบโตสูงกว่าภาคธุรกิจอื่น ๆ
ส่วนในปี 2567 สสว. คาดการณ์แนวโน้มการเติบโต GDP SME อยู่ระหว่าง 4–5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวโน้มการท่องเที่ยวและการส่งออก รวมทั้งเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การสู้รบและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อาจกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นความท้าทายให้ SME ต้องปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง โดย สสว. เล็งเห็นความสำคัญในการปรับตัวของผู้ประกอบการ SME เพื่อรับมือกับเทรนด์ธุรกิจสีเขียวสู่ความยั่งยืนซึ่งเป็นการทำธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากจะช่วยในด้านภาพลักษณ์ทางการตลาดให้กับสินค้าและบริการของ SME แล้วยังสนับสนุนเป้าหมายยุทธศาสตร์ของประเทศในการขับเคลื่อน BCG Model และเกิดผลดีกับโลกของเราในระยะยาวอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ข้อมูลต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ นอกจากจะเป็นแนวทางในการปรับตัวให้กับผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นข้อมูลสำคัญให้กับหน่วยงานที่มีภารกิจในการส่งเสริม SME เพื่อประโยชน์ในการจัดทำแผนงาน โครงการในการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นต่อไป โดย สสว. ได้เตรียมการสนับสนุนทั้งด้านความรู้ กับ SME Academy การลดค่าใช้จ่ายในการจัดทำมาตรฐาน การตรวจประเมินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของผู้ประกอบการ ผ่านบริการ BDS หรือ SME ปังตังได้คืน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สสว. Call Center 1301