xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ฟูราโนะฟาร์มกับการแก้ปัญหาผลผลิตตกเกรดเปลี่ยนสู่ “ไวน์” เพิ่มมูลค่าได้ 300%ทันที!!! ยอดผลิต 2 หมื่นขวด/เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




“ขายเมล่อนโลละ 100 แต่กิโลละ 100 พอกลายเป็นไวน์จะได้เกือบๆ 4 ขวด มูลค่ามันจะดับเบิ้ลไปเยอะมาก จาก 100 เขยิบไป 320 แต่ว่านับจาก 100 เลยไม่ได้นั่นหมายถึงเกรด A ลูกสวย ของเราคือ 0 เราเอา 0 มาเป็น 320 อันนี้เราทำได้ แปรรูปเรา success”



จุดเริ่มต้นของการมาเป็นเกษตรกรย้อนกลับไป 7 ปีที่แล้ว เพียงเพราะว่าอยากจะลองปลูก “เมล่อนญี่ปุ่น” ให้กับสามีได้ทานเพราะเขาชอบ หลังจากที่ซื้อมาในราคาลูกละ 2,700 บาท!!! เมล่อนคิโมจิจากฟูราโนะ ฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ของฝากตนเองซึ่งตอนนั้นลาออกจากงานประจำมาเป็นแม่บ้านอยู่บ้านเลี้ยงลูก ก่อนหน้าคือเป็นพนักงานโรงงานเรียนจบมาทางบริหารธุรกิจก่อนจะลาออกมา รู้สึกเกิดความเสียดายเงินที่ซื้อเมล่อนว่าทำไมมันถึงได้แพงจัง! ก็เลยบอกกับสามี“ป๊าเดี๋ยวแก้วลองปลูกให้ชิม”เป็นการเริ่มต้นจากการทดลองปลูกทำให้คนรักได้ทาน แล้วศึกษาเรียนรู้เองจากอินเตอร์เน็ต

 “แล้วก็เดินตามองค์ “พ่อหลวง” รัชกาลที่ 9 แก้วรู้มาว่าการปลูกเมล่อนจะใช้สารเคมีค่อนข้างเยอะในการดูแล จะทำยังไงล่ะ? ไม่ให้เขาไม่ต้องฉีดยา แก้วเริ่ม search เข้าไปดูของโครงการหลวง อันนั้นคือพ่อหลวงสอนให้ใช้โรงเรือนมาคุมในเรื่องของแมลง แก้วเริ่มเอาอันนั้นเข้ามาอันแรกเลยที่เอามาทำโรงเรือน แก้วก็ไปเอาไม้ไผ่มาเลยปักแล้วก็ข้างบนเป็นพลาสติกด้านข้างเป็นผ้ามุ้ง แต่ว่าอาจจะไม่สวยเหมือนตามทฤษฎีนะเพราะว่าเงินทุนน้อย (จากทุน 3,000 บาท) แล้วก็เริ่มปลูกที่ 60 ต้น” คุณแก้ว-ปคุณา บุญก่อเกื้อ เจ้าของแบรนด์ “Furano Farm” แห่งบ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ย้อนเล่าถึงความเป็นมาของฟาร์มแห่งนี้ให้เราฟัง




อุปสรรคคือ “ดิน&น้ำ” เค็ม!!! แต่ผ่านมาได้เพราะทฤษฎีของ “พ่อ”
แต่ 60 ต้นแรกพอเริ่มปลูกจริงจัง เจอปัญหาของที่นี่คือ “ดินเค็ม” ดินเป็นเกลือ ดินเป็นผงแป้งเลย(ผงแป้งเด็ก) คือเป็นคราบเกลือ น้ำเจอ “น้ำเค็ม” เจอปัญหาทั้งดินทั้งน้ำต้องทำยังไง? “แก้วหลบปัญหาก่อน ตอนเริ่มต้นแก้วใช้วิธีการคือหนีปัญหา คือปลูกใส่ถุง ก็ใช้ระบบน้ำหยดก็ใช้น้ำประปา แล้วก็เป็นเกษตรกรที่ขี้เกียจเลยเริ่มใช้ระบบตั้งเวลาในการให้น้ำ อันนั้นคือระบบแรก ๆ ที่เราทำ”ซึ่งมันได้ผล 60 ลูกเลยนะที่ได้ในคร็อปแรก ปัง!มากแล้วตอนนั้นก็ปลูกด้วยสายพันธุ์ “คิโมจิ” ของญี่ปุ่นแล้วการขาย พอ 60 ลูกทำยังไงล่ะกินคงไม่หมดแน่ ๆ เพราะอยู่กันแค่ 3 คน 50 ลูก แก้วลองขอ ขอปุ๊บแก้วเริ่มโพสต์ขาย เห็นมั้ยว่าตลาดแก้วอยู่ในโลกออนไลน์ ตั้งเพจเลย: บ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์ เริ่มทำสตอรี่วันนี้ต้นขนาดนี้นะคะ วันนี้เราทำอะไรกับเขา ลองกลับไปย้อนดูในเพจจะเห็นหมดเลยค่ะ ขายผ่านเพจ” ลูกค้าสั่งมาอีก กินแล้วสั่ง อันนี้คือหลัก “การตลาดนำการผลิต” แล้วลูกค้าเขาจะเข้าใจว่า ถ้าสั่งเมล่อนสวนนี้นะมันต้องรออีก3 เดือน เหมือนกับลูกค้าได้ปลูกเมล่อนไปกับเรา


พอโรงเรือนที่ 2 ได้ขายได้ มียอดสั่งกลับมาอีกกลายเป็น 150 ลูก“พอ 150 ลูกเนี่ยเอาละวะ! เพาะเม็ดก็ยังไม่เป็นเลยยังเพาะเน่าอยู่เลยนะ เพาะเม็ดยังเน่าทำอะไรก็ยังไม่เป็น เมล็ดพันธุ์บริษัทไหนดีก็ยังไม่รู้ยังมั่วซั่วอยู่เลยแต่เอาไงงก! ค่ะหนูตัดสินใจทำโรงเรือนเลย 8 สิงหาปี 2559 ทำโรงเรือนที่1 ขนาด 8 x 16 เมตร 300 ต้น แก้วเดาว่าแก้วจะได้ 300 ลูก”นั่นหมายถึงขายได้แล้ว 150 เหลืออีก 150 ลูกทำไมถึงจะขายไม่ได้ คิดแค่นี้ แล้วก็ลงมือทำ แล้วก็ทำได้แล้วก็ขายให้ลูกค้า ก็ทำแบบนี้ทำเรื่อย ๆ พอปลูกเมล่อน เก็บเกี่ยวขาย ส่งให้ลูกค้า แบ่งต้นทุนออก กำไรใส่กระปุก พอมีเงินถมดินปลูกโรงเรือนเพิ่มอีก ก็ค่อย ๆ เขยิบเพิ่มมาเรื่อย ๆ “คือเราไม่ได้ลงทีเดียว แต่เราค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ทำ เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ว่าแก้วไม่เคยเสียหายนะ แก้วเสียหาย แต่มันก็จะเสียหายเฉพาะโรงเรือนเพราะว่าเราทำเราไม่ได้ปลูกพร้อมกัน เราใช้วิธีการสลับกันปลูก”


พอทำมาได้สักระยะหนึ่ง ประมาณโรงเรือนที่ 2 เริ่มมีเกษตรกร เริ่มมาเริ่มเข้ามาเรียนรู้โดยมี ธ.ก.ส. เริ่มมองเห็นก็เลยพาเกษตรกรเข้ามาเรียน“แก้วอาจจะแปลกจากเกษตรกรคนอื่น เพราะแก้วใช้คือปัญหาของแก้วคือ น้ำเค็ม ดินเค็ม ถูกมั้ยคะน้ำเค็มแก้วใช้น้ำประปา แก้วก็ต้องเลือกใช้น้ำน้อยอันนี้คือมันโดนบีบด้วยตัวของมันเอง มันเข้าคอนเซ็ปต์ว่าปลูกพืชใช้น้ำน้อย ช่วงนั้นหน้าแล้งพอดี ตอนแรกปลูกใส่ถุงก่อนนะพอมันเป็น2 โรงเรือนขึ้นไปแล้วเราไม่ไหว ปลูกใส่ถุงเราต้องขนจากถุงเวลาปลูกเสร็จขนถุงออกไปตากแดด เอาวัสดุปลูกไปตากแดดไปฆ่าเชื้อ ขนออก 300 นั่งกรอกใหม่ขนเข้า 300 เราก็เลยคิดที่จะลงดิน


” ทำยังไงล่ะ? ดินมันเค็มก็เลยไปที่โครงการพระราชดำริฯ เขาหินซ้อน ขอความช่วยเหลือเรื่องการแก้ปัญหาดินเค็ม ส่งตัวอย่างเข้าไปตรวจวิเคราะห์ก่อน “ ใช้หลักการ 80 : 20 โดยที่ 80%เป็นอินทรียวัตถุ อีก 20% ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องใช้ “ปุ๋ยเกล็ด” ในการให้หวานบ้าง ให้บำรุงใบบ้าง ก็เอามาทำจนเกิดการได้ผล พอได้ผลก็เลยทำแบบนั้นมาตลอด มีเซ็นเซอร์จับว่าตอนนี้ความชื้นดินตอนนี้เท่าไหร่ แล้วเราให้น้ำแค่ต้นไม้ต้องการ แล้วก็พวกปุ๋ยทุกอย่างให้แค่ต้นไม้ต้องการไม่ให้เกิน ทุกอย่างต้องวัด วัดค่าดิน วัด ECปุ๋ย วัดหมดทุกอย่าง




ผลิตอาหารปลอดภัยป้อนครัวการบินไทย และโมเดิร์นเทรด

คนที่เข้ามาเขาก็จะให้ความรู้กับแก้วตลอดเลย คนที่บอกว่าเข้ามาเรียน รู้มั้ยว่านั่นคือ “ครู” ของแก้วเพราะฉะนั้น เวลาที่รู้อะไรก็จะถ่ายทอดทุกอย่างให้เขารู้ด้วย และก็บอกกันเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเริ่มมีเกษตรกรสนใจมาปลูกเมล่อน “เริ่มสร้างเครือข่ายเริ่มเข้าไปเป็น Young Smart Farmer ของจังหวัดฯ แล้วมีท่านผู้ตรวจการของกระทรวงเกษตรฯ
ท่านเผอิญมาที่นี่แล้วแก้วก็เล่าให้เขาฟังว่าเนี่ย หนูทำแบบนี้แล้วปัญหาที่เจอคือหนูตลาดรอดนะ แต่เวลาที่เราไปคลุกคลีกับเกษตรกรจริง ๆ เกษตรกรผลิตเก่ง แต่เขาขายไม่เป็น ก็เลยเอากลุ่มเราค่ะติดคอนเน็คกับการบินไทย



แต่ว่าส่งการบินไทย จะต้องเป็นรูปแบบกลุ่มก็เลยตั้งเป็นสหกรณ์ฯ ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ส่งแค่เมล่อนอย่างเดียวให้การบินไทยแต่ว่าจะมี ข่า ใบมะกรูด ตะไคร้ แตงกวา ฯลฯ มีหลาย ๆ อย่างส่งเข้าครัวของการบินไทย“แล้วพอเราได้ทำการค้าขายให้การบินไทยแล้วเนี่ย มันกลายเป็นว่าการบินไทยการันตีให้เราแล้วไงโดยปริยาย โลโก้การบินไทยมาติดที่หน้าผากแล้ว โมเดิร์นเทรดก็เข้ามาเป็นการเปิดทาง” โมเดิร์นเทรดเข้ามาเองโดยที่เราไม่ได้ไปหา เพราะว่าคอนเซ็ปต์ของแก้วคือ แก้วจะขายถึงลูกค้าเลย แก้วจะไม่ผ่านคนกลาง เพราะฉะนั้นโมเดิร์นเทรดเข้ามามันทำให้กลุ่ม/สหกรณ์ฯ ได้ส่งเข้าท้อปส์ซูเปอร์มาร์เก็ตจนถึงทุกวันนี้


ทำ “ไวน์” หมักจากผลไม้ คำตอบที่ใช่แต่ว่ามันก็ไม่ง่าย!
“เหมือนที่แก้วบอกค่ะ แก้วมองเห็นว่าเกษตรกรต้องแปรรูป ด้วยความที่แก้วหลังชนฝา หลังชนฝาตรงที่เรามีสินค้าที่มันเหลือจากการที่ไปส่งห้างฯ ด้วยความที่เราอาจจะเอาไปเยอะแล้วช่วงนั้นขายไม่ทัน เราก็ต้องขนกลับมาแล้วทิ้งไงคะ มันคือ “ต้นทุน” เห็นทีไรน้ำตาก็จะร่วงแต่ห้างฯ เขาจะจ่ายเงินแค่เฉพาะที่วิ่งผ่านแคชเชียร์ เห็นเกษตรกรผู้ปลูกยังมีลูกเล็ก ลูกไม่สวย อันนั้นเขาก็ต้องทิ้งเอาไปให้ไก่ให้เป็ดกินมันก็ไม่สร้างมูลค่า ขายก็ไม่ได้ลูกค้าก็ไม่ซื้อ ด้วยมองว่าลูกเล็กลูกไม่สวยแต่เนื้อในน่ะดี”ก็เลยเริ่มมองเห็นว่ามันไม่ได้แล้ว มันจะต้องหาทางช่วยเพื่อนแล้ว ก็เลยโอเค “ถังหมัก” เลยแก้วมองไม่เห็นอะไรแล้วที่จะแปรรูปแล้วมันได้หมดจดเท่ากับ “การหมัก” ปอกเปลือก เอาเม็ดออกแล้วเข้าถังหมัก เติมยีสต์ แล้วเขาก็เป็นแอลกอฮอล์เกิดกลายเป็น “น้ำไวน์เมล่อน” เป็นฟรุ๊ตไวน์


เวลาที่ไปบ้านของอี๊ (พี่สาวของแม่) แก้วก็มักจะได้ชิม “น้ำหมัก” รสชาติต่าง ๆ ที่อี๊หมักขึ้นมาเอง(สูตรน้ำหมักเพื่อสุขภาพจากป้าเช็ง) เขาจะกินเพื่อสุขภาพกันอยู่แล้ว“จริง ๆ น้ำหมักที่อี๊หมักมันก็มีแอลกอฮอล์ เพียงแต่ว่าชาวบ้านไม่ได้เช็ก ว่ามันมีแอลกอฮอล์ กินมันดีกับสุขภาพเขาเป็นนู่นเป็นนี่เขาก็หายอะไรเงี้ย แต่เขากินเพื่อการรักษานะ กินเพื่อมอมเมากับกินเพื่อรักษามันต่างกัน เหรียญมีสองด้านเนาะ หนูก็เลยเอาไอเดียตรงนั้นมาทำแล้วก็มาลองหมัก”ต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย มีอาจารย์เข้ามาสอน แล้วก็ไปเรียนเรื่องการทำไวน์เพิ่มเติมด้วย จนสุดท้ายที่มาได้จริง ๆ เลยคือเจ้าหน้าที่ของ ธ.ก.ส. ที่เข้ามาเป็นไวน์เมกเกอร์ให้




“คือแก้วหมักครั้งแรกมันเกิดปัญหา ขวดระเบิด! มันจะมีครั้งหนึ่งของประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้สุราชุมชนแต่คนทำไม่มีองค์ความรู้ไงคะ คือเราเปิดโอกาสให้เขาได้แต่เราต้องให้ความรู้เขาด้วย การหมักแบบไม่มีองค์ความรู้ทุกคนหมักได้นะ ทุกบ้านหมักได้หมดเลย หมักออกมาเป็นไวน์ก็ได้แต่เราต้องทำให้ถูกต้อง” แก้วพูดกับทุกคนเสมอว่าถ้าคิดจะทำอะไรสักอย่าง ต้องถูกต้องตามกฎหมาย ทุกอย่างแล้วเราก็เดินตามขั้นตอนของกฎหมาย แล้วก็เริ่มทำ“ครั้งแรก ๆ ด้วยความที่เราทำออกตลาดใหม่ ๆ ก็อันนี้เป็นประสบการณ์ตรงเลยนะ พอทำแล้วปุ๊บเนี่ยมีลูกค้าเขาก็น่ารักค่ะอยากสนับสนุน สั่งเลยค่ะ100 ลัง พอเราเห็นออร์เดอ100 ลังแล้วตาโต! คิดถึงเด็กที่แค่นอนแล้วยังไม่ลุกนั่งแต่วิ่งเลย! วิ่งเลยโอ้โห 100 ลัง(1,200 ขวด) คือแบบวิ่งเลย! เราก็รีบเอาน้ำหมักบรรจุขวดขายแต่ว่าก็ทำตามขั้นตอนนนะคะ” 

แต่ปัญหาเกิดคือ ขวดระเบิด! เป็นเหมือนในยุคนั้นเลยที่ขวดระเบิด พอขวดระเบิดปุ๊บแก้วเจอลูกค้าคนแรกบอกว่า อึ้ยน้องขวดน้องมันระเบิดนะ แก้วเก็บของคืนหมดเลย“แล้วแก้วมานอนกับระเบิด 1,200 ลูก ไม่คิดว่ามันจะเกิด เพราะทุกอย่างเราทำแบบเราคิดว่าเราดีที่สุดแล้ว แต่ว่าพอมันเป็นmass ขึ้นมาเนี่ยเรารีบเกินไป พอเรารีบปุ๊บคือเรา เหมือนตาโตค่ะ เห็นเงิน เห็นออร์เดอเราตาโต มันระเบิด ทำไมมันระเบิด4 วัน4 คืน! นึกถึงอารมณ์คนที่ไม่ได้นอน4 วัน4 คืน พอหลับตาแล้วน้ำตาก็ไหล มันเป็นอะไร แล้วคราวนี้คือแก้วถอยไม่ได้ไง” 

การที่แก้วถอยไม่ได้เพราะอะไร หนึ่งแก้วมีคนในชุมชน ลุง ๆ ป้า ๆ แก้วไหวมั้ย“มันเป็นอะไรที่แบบ แค่คำพูดว่าไหวมั้ย แค่นี้ แล้วทุกคนก็ทำดี ทุกคนทำดี ทำอย่างที่แก้วบอก สู้ ๆ นะ แค่เนี้ยไหวมั้ย สู้ ๆ นะ ต้องไปต่อเว้ย!” จากนั้นก็มานั่งเอากระดาษมาแผ่นหนึ่ง เริ่มจดทุกอย่าง ข้อ1 จานชามสะอาดมั้ย ข้อ2 มีดล้างหรือเปล่า ทุกอย่างเลยนะ ข้อ3 ผลเมล่อนที่เอาเข้ามามันเป็นยังไง ทำทีละข้อ ๆ เขียนให้หมดที่คิดว่ามันจะมีปัญหา“แต่ตอนนั้นแก้วหนักมาก หนักคือมันลงทุนไปแล้ว แล้วก็มันไม่ใช่เงินหมื่นน่ะมันคือเงินล้าน! มันขยับเป็นโรงงานแล้ว มันมีการลงทุนจริงแล้วด้วยเงินของตัวเองด้วย ด้วยเงินของเมล่อนด้วย คือเดิมพันแก้วสูง แก้วคือลูกพระยาตาก แก้วทุบหม้อข้าวตัวเองเลยแก้วไม่รู้ว่าข้างหน้าจะไปเจออะไร แก้วจะตายหรือแก้วจะเกิด ใช่! แก้วทุบหม้อเลยทุบหม้อข้าวแล้วเอาเงินลงตรงนี้ทั้งหมดเลย เพื่ออยากให้มันเกิด”เช็กทุกข้อที่คิดว่ามันจะเกิดปัญหา แล้วก็มาลบออกทีละข้อ ไอ้นี่ไม่เสี่ยง ๆ แล้วมาเจอว่าหนึ่งผลไม้ที่เราได้มาการที่เราเอามาหมักแล้วเราปั่นเลย มาทั้งเนื้อทั้งน้ำเลยเอาไปหมัก มันจัดการยากเรื่อง “ความใส” 

สองเราไม่มีเครื่องจักร(เครื่องกรอง) ที่ดีพอเพราะว่าของเดิมใช้เป็นผ้า ผ้าขาวบางในการใช้กรองอยู่ แต่ว่าก็จะมีขั้นตอนหนึ่ง “พาสเจอร์ไรซ์” อันนั้นมีเครื่อง เราคิดว่าเราใช้เครื่องแล้วเราหยุดยีสต์ได้“เรามั่นใจ คือเหมือนเด็กเหมือนที่บอกนอนแล้ววิ่ง ยังไม่หัดนั่งเลย เสร็จแล้วก็ค่อย ๆ ตัดออก ๆ พอเราไม่มีเครื่องจักร เราไม่มีเครื่องมือที่ดีพอ ความสะอาดเราเริ่มแบบไม่ได้แล้ว การที่เรารู้ว่ามันสะอาดก็จริงมันผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ก็จริง แต่การกรอกเรายังใช้มือค่อย ๆ กรอก คือมันมีโอกาสสัมผัสมือเราที่แบบมันไม่สะอาด การปนเปื้อน” เราก็เลยเขียนโครงการเรา ไปขอทุนจาก ธ.ก.ส. เพื่อที่จะซื้อเครื่องจักร เดินต่อยังไงต้องเดินต่อ




ไปต่อ.... ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ใช่!

เจอปัญหาคือ เครื่องจักรไม่มี ถ้าเราหยุด มันเงินทั้งนั้นเลยนะ ที่เราสร้างโรงเรือนที่เราขออนุญาตสร้างโรงงานไปแล้ว มันเงินทั้งเลย แล้ว ธ.ก.ส. ก็ให้ทุนมาซึ่งก็เอามาลงเป็นเครื่องจักรหมดเลยทุกบาททุกสตางค์

“เป็นไวน์เมล่อนที่มีความหวาน คือแอลกอฮอล์ต่ำ แก้วไม่ทำไวน์ที่เป็นขวดใหญ่นะ 15 ดีกรีอันนั้นคือไวน์ ของเราอยู่ในกลุ่มของ Sweet wine หรือไวน์หวาน อยู่ในกลุ่มของค็อกเทล เอาจริง ๆ ถ้าภาษาอังกฤษเขาเรียก cocktail คือหมักเอาแค่ 5% แอลกอฮอล์ ไวน์เนี่ยกระบวนการหมักนะ แรก ๆ คือน้ำตาลสูง แอลกอฮอล์เป็น 0 ไม่มี มันจะค่อย ๆ น้ำตาลต่ำลง แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น น้ำตาลต่ำลง แอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น สีเหมือนกัน สีมันจะเริ่มต่ำลง เราก็จะขึ้น ๆ อะไรอย่างเงี้ยค่ะเราต้องเช็กทุกวัน ว่าเราต้องการ 5 บริกซ์เราต้องการความหวานอยู่ 5-8 บริกซ์ เราต้องการสีอยู่ เราต้องการแอลกอฮอล์แค่ 5% แอลกอฮอล์ อย่างเงี้ยค่ะพอได้ปุ๊บหยุดยีสต์เลย”สี รสสัมผัส ทุกอย่างมาจากธรรมชาติทั้งหมดเลย แล้วเราก้เริ่มต้นจากเมล่อนเราแบ่งเมล่อนออกเป็น 2 สี เมล่อนสีเขียว กับเมล่อนสีส้ม ไวน์ก็แบ่งเป็น 2 สี พอเราเริ่มมาทำไวน์ตอนนี้เราเริ่มปรับการปลูกของสมาชิก จากสายพันธุ์เดิมที่ปลูกกันเราเริ่มเปลี่ยนเป็น “มิโดริกับอาซาฮี” เพราะว่าสายพันธุ์ญี่ปุ่นเขามี “ความหอม” เราต้องการความหอม ความหวาน และสี “คือมันมีผลถ้าเราไปเอาสายพันธุ์อื่นมาอย่างเงี้ยค่ะมันไม่ได้ หากว่าเกษตรกรปลูกแล้วเกิดการผลิดพลาดเราสามารถมาช่วยเขาต่อได้”

สำหรับกลุ่มลูกค้าหลัก กลุ่มคนที่ไม่ดื่ม กลุ่มสาว ๆ ผู้หญิงไม่ดื่มหนัก และกลุ่มคนรักสุขภาพ“หลัก ๆ เลยคือที่นี่เลยค่ะ คุณอยากกินไวน์ที่นี่ซิกเนเจอร์ที่นี่ เข้ามาหาเราสิคะ เข้ามาที่นี่ค่ะได้ชิมเลย เข้ามาถึงเราจะมีเวลคัมดริ้งเป็นเมล่อนก่อน เมล่อนผลสดให้ทานนะคะลูกค้าก็จะได้ทาน ได้ชิมเมล่อนก่อน แล้วก็จะมีไวน์ทุกรสชาติที่เรามีให้ชิมเลย ค่ะคือเราอยากให้ทุกคนรู้ว่ารสชาติของไวน์ที่เกิดจากกระบวนการหมักจริง ๆ เป็นยังไง ค่ะเราอยากให้ชิม ไม่ซื้อไม่เป็นไร ชิมแล้วบอก”ไวน์ของที่นี่ก่อนที่จะขาย คนที่เป็นเทสเตอร์ให้ก็คือกลุ่มลูกค้า แล้วเราก็ปรับ ๆ ตามที่ลูกค้าบอก จนได้สูตรที่เรานิ่งเราก็ทำแบบนั้นมา เราอาจจะไม่มีผลวิจัยที่เป็นการเขียนแต่ว่า เราถามจริงจากลูกค้า ไม่ใช่ว่ารสชาติที่แก้วชอบนะ เป็นรสชาติที่ลูกค้าชอบ เราถึงได้ทำออกมา




from LOCAL to “เลอค่า” ขึ้นมาให้ได้!

เจ้าของแบรนด์ “Furano Farm” บอกด้วยว่า วัตถุดิบ1 กก. คือ20 บาท วัตถุดิบที่เป็นผลสด(รับซื้อมาจากเกษตรกรสมาชิก) ที่เอามาแปรรูปแล้วก็ต้องผ่านกระบวนการผลิตอีก 6 เดือน กว่าจะได้ออกมาใส่ขวดให้ จากสวย ๆ อยู่ได้แค่ 2 สัปดาห์กลายเป็น อยู่ได้ถึง 2 ปี“ก็อนาคตนะคะ แก้วจะไม่ได้ทำแค่ไวน์เมล่อนอย่างเดียว แก้วจะทำผลไม้ทุกอย่างในจังหวัดฉะเชิงเทราที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร (สินค้าเกษตรหลัก ๆ) ซึ่งจะเจอปัญหาคล้าย ๆ กันด้วย ตอนนี้เราก็แตกออกมาได้เป็นหลายรสชาติมากขึ้น”

ล่าสุดได้รับคัดเลือกเป็นเกษตรกร 1 ใน10 คนที่ ธ.ก.ส. คัดเลือกให้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น “ซึ่งเขาพาไปดูไวน์ ที่ฟูกุโอกะ ตรงประเด็นกับเราเลยค่ะ พอไปปุ๊บไปดู อ๋อ! มันอ๋อเยอะมาก แล้วก็ไปชิม ชิมของเขา ของเขามันซ่า! ของเราต่าง” ที่ไปดูคือของเขาเป็นไวน์องุ่น เขาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกองุ่นแล้วเขาก็เอาองุ่นที่มันตกเกรดอันนั้นเอามาหมัก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำมา 50 กว่าปีแล้วตอนนี้เขาน่าจะอยู่ในรุ่นของลูกหรือหลานแล้ว แต่ของเราเพิ่ง 1 ปีเอง อีก 50 ปีตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องเป็นแบบเขาให้ได้“ก็ไปชิมของเขาแล้วก็ไปดู อึ้ยน้ำไวน์ที่เป็นออริจินัลของเราไม่แพ้เขาเลย เรารู้แล้วโอเคเราไม่แพ้ เทียบรุ่นได้! เราไปได้เราสู้เขาได้ แล้วเราก้ไปดูว่าเอ๊ะความใสล่ะ? ความใสเป็นไงเราก็ไปดูของเขาแล้วของเรา เฮ้ย! เทียบได้ ๆ โอเค โอเค อย่างเงี้ยค่ะ แต่ว่าสิ่งที่เรายังไปต่อถึงเขาไม่ได้คือ กินแล้วมันต้องซ่า!


เราก็ถามเขาว่าต้องทำยังไง อะไรอย่างเงี้ย ซึ่งเขาดีมากเขาก็ให้เราได้ชิมได้หลาย ๆ รส แก้วก็ได้ไปดูทั้งกระบวนการที่เขาหมัก แล้วก็ไปดูการแต่งร้านของเขาเป็นอย่างไร คือญี่ปุ่นเขาดีอย่างหนึ่งถ้าคุณจะกินสินค้าของเขาเนี่ย คุณต้องมาหาเขา ต้องมาที่บ้านเขา นี่คือซิกเนเจอร์“แล้วเราก็ทำได้ ตอนนี้ทำออกมาได้แล้ว ก็เป็นแบบ Sparkling wine อยู่ในกระบวนการที่ขออนุญาตสรรพสามิตว่า ขออนุญาตใช้กระป๋องเราต้องขออนุญาตก่อน”


จากคนที่คิดแค่ว่าจะปลูกเมล่อนให้สามีได้ทาน ให้ลูกได้ทาน ให้คนที่เรารักได้ทาน“หนูได้มีโอกาสปลูกเมล่อนให้ลูกของ “พ่อ” หนูได้ทานนั่นก็คือ องค์สมเด็จพระเทพรัตนฯ5 ปีแล้วค่ะล่าสุดที่ไป แก้วมีโอกาสเอา Furano ฟรุ๊ตไวน์ของเราใส่กระเช้าค่ะ แล้วก็พระองค์ท่านก็ถือสมุด ด้วยความที่แก้วไปทุกปีมั้งคะเวลาแก้วเข้าไปแก้วจะมีสลักชื่อ ทรงพระเจริญ จะสลักชื่อลงไปในลูกเมล่อนคือลูกนี้ของพระองค์ท่านนะ เราจองนะ เราใส่กระเช้าแล้วถวายพระองค์ท่าน ท่านก็เขียนรูปเมล่อนแล้วก็มีลูกศรลงมาว่าแล้วก็เป็นไวน์ แล้วก็ท่านก็ถามต่ออีก แล้วจะเป็นอะไร? นั่นคือเป็นคำถามที่พระองค์ท่านให้โจทย์กับแก้วมา คือใหญ่มาก! ว่าเราจะต้องมีการพัฒนาอะไรต่อไปอีก

“ตอนนี้เราก็เดินอยู่ทั้ง ตามร้านของฝาก ห้างโมเดิร์นเทรด เราก็พยายามที่จะเข้าไปคุยกับเขาอยู่ เพียงแต่ว่าเราอาจจะยังเข้าไม่ถึง จริง ๆ แต่ว่าพยายามพี่หนูต้องติดต่อใคร ไปไหน ไปไหน ไปเสนอขายอะไรอย่างเงี้ยค่ะ พยายามอยู่แต่ว่าถ้ามันจะมีทางลัดหรือว่ามีคนที่เห็น เห็นแนวความคิดว่าสิ่งที่เราเนี่ยค่ะ หนูไม่ได้หวังว่าหนูจะรวยจากการขายไวน์ หนูไม่ได้หวังว่าเราจะต้องรวยจากการขายสินค้าที่มีแอลกอฮอล์ แก้วแค่หวังว่าสิ่งที่เราทำแล้วก็แปรรูปออกมาเนี่ย มันได้มีโอกาสขายไปถึงคนทาน มันไปต่อได้ ซึ่งถ้าแก้วไปต่อได้นั่นหมายถึง เกษตรกรของเราไปรอดด้วย”อันนี้คือสิ่งที่แก้วตั้งใจทำ และก็หวังมาก ๆ แก้วบอกทุกคนเสมอว่า หนูไม่รวยหรอกนะเพราะอย่าลืมว่า ทุก ๆ 1 ขวดของการขาย รายได้จะคืนสู่ชุมชนทั้งหมด เกษตรกรก็มีรายได้ด้วย เพราะเราก็รับสินค้าจากเกษตรกรมาแปรรูป ไม่ได้เอาสินค้าจากนอกประเทศเข้ามาเลยในกระบวนการผลิต ใช้ทุกอย่างที่มีอยู่ในประเทศทั้งหมดเลย เอามาทำเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น“คอนเซ็ปต์ของแก้ว คือ ทำสินค้าให้LOCAL ให้เลอค่าขึ้นมาให้ได้!”

จากเมล่อนตกเกรดที่ขายไม่ได้เลย ราคา 0 บาท เปลี่ยนมาเข้าสู่กระบวนการหมัก “ไวน์” แปรเปลี่ยนมาเป็นฟรุ๊ตไวน์หรือ “ไวน์เมล่อน” เป็น Sweet wine ซึ่งมีแอลกอฮอล์เพียงแค่ 5% เท่านั้น ดื่มเพื่อสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์สำหรับกลุ่มคนที่รักสุขภาพจริง ๆ สามารถที่จะเพิ่มมูลค่าจาก 0 ขึ้นมาเป็น วัตถุดิบ 1 กก. รับซื้อมาจากเกษตรกรในราคา 20 บาท นำเข้าสู่กระบวนการแปรรูปทำไวน์ออกมาจะได้ประมาณ 4 ขวด(275ml) ภายใต้ระยะเวลาในการผลิต 6 เดือน จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ “Furano Farm” ในราคาปลีกคือ 80 บาท/ขวด ซึ่งปัจจุบันโรงงานผลิตไวน์แห่งนี้สามารถทำได้สูงสุดจากการแปรรูปผลผลิตเกษตร(เมล่อน) อยู่ที่ระดับ 2 หมื่นขวด/เดือน เป็นต้นไป

ขอบคุณเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจดี ๆ จาก Furano Farm สามารถสนับสนุนสินค้าจากชุมชนแต่การันตีเรื่องของคุณภาพที่ได้มาตรฐานในระดับโรงงานที่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ติดตามผลงานด้านการตลาดที่ทางแบรนด์มีการ เคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องได้ที่ Furano Farm” ในทุกช่องทางการสื่อสารผ่านโชเชียลฯ หรือเพจ/เฟซบุ้ก:บ้านสวนเมล่อน อ.บ้านโพธิ์ สอบถามเพิ่มเติมโทร. 062-394-4659



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น