xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มจากดินแดนที่ราบสูง พลิกชีวิตจากรถเข็นขายส้มตำ สู่ เจ้าของ“สวนดอนธรรม” รีสอร์ต บนพื้นที่ 50 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สวนดอนธรรม” จังหวัดกาฬสินธุ์ รีสอร์ตสไตล์โฮมสเตย์ที่ถูกออกแบบให้เข้ากับบรรยากาศการเข้าพักท่ามกลางธรรมชาติ ในแบบบ้านไม้ชนบทในภาคอีสาน บนพื้นที่ 50 ไร่ ความน่าสนใจไม่ได้มีแค่รีสอร์ต แต่ยังมีเรื่องที่น่าสนใจกว่า นั่นคือ เส้นทางชีวิตของเจ้าของที่กว่าจะได้มาเป็นเจ้าของรีสอร์ตแห่งนี้ ของ “คุณโชฏึก คงสมของ”


จากเด็กบ้านนอกเข้ากรุง
หางานทำอาศัยวัดเป็นที่พักพิง


คุณโชฏึก เจ้าของเฮือนกาฬสินธุ์ – สวนดอนธรรม เล่าให้ฟังว่า ผมมาจากครอบครัวคนอีสานที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยอะไร ทำให้ต้องออกมาค้าแรงงานในกรุงเทพฯ เหมือนกับคนอีสานหลายๆ คน โดยไม่ได้มีญาติ หรือคนรู้จักให้ได้ไปพักพิง จุดพักที่ดีที่สุด คือ อาศัยวัด เพราะการจะไปเช่าบ้าน แน่นอนเงินที่ติดตัวมาไม่พอ วัดจึงเป็นที่พึ่งในช่วงแรกก่อนจะเดินทางไปหางานทำ

โดยเริ่มต้นทำงานครั้งแรกที่บริษัทการบินไทย ในตำแหน่งพนักงานขนถ่ายพัสดุ เริ่มงานครั้งแรกในปี 2523 แม้จะทำงานในบริษัทที่มั่นคงก็จริง แต่เป็นแค่พนักงานธรรมดา เงินเดือนไม่ได้มาก ไม่พอกับค่าใช้จ่ายในการดูแลครอบครัว ทำให้ “คุณโชฎึก” ต้องหารายได้เสริมในระหว่างทำงานประจำ ด้วยการเข็นรถขายส้มตำ เพราะไม่ยากเช่าร้าน หรือ เช่าพื้นที่เปิดร้าน ก็เลยใช้การเข็นรถขายไปตามจุดต่างๆ


หารายได้เสริมหลังเลิกงานเข็นรถขายส้มตำ
จนสามารถเปิดร้านอาหารอีสาน 2 แห่ง

โดยอาศัยเวลาในช่วงวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ และตอนเย็นหลังเลิกงานมาเข็นรถขายส้มตำกับภรรยา และด้วยความเป็นคนอีสานส้มตำจึงเป็นเมนูที่ถนัด บวกกับรสมือที่ดี ทำให้ส้มตำรถเข็นของคุณโชฎึกและภรรยาได้รับการตอบรับดีมาก ดีขนาดรายได้มากการทำงานประจำเสียอีก ภรรยาเห็นลู่ทางตัดสินใจเปิดร้านอาหารอีสานทำแบบจริงจังจากเงินเก็บที่ได้จากการเข็นรถขายส้มตำ และการเปิดร้านอาหารอีสานในครั้งนั้นก็ประสบความสำเร็จขายดีมากจนสามารถเปิดร้านที่สองได้ในเวลาไม่นาน

จนกระทั่ง วันหนึ่ง “คุณโชฏึก” คิดว่าอยากจะกลับไปทำมาหากินที่บ้านเกิด จังหวัดกาฬสินธุ์ เพราะในช่วงทำงานเค้าได้เก็บเงินซื้อที่ดินเอาไว้แปลงหนึ่ง ประกอบกับในตอนนั้นเค้าอายุ 55 ปี ทางบริษัทเปิดให้เออรี่รีไทน์ ก็เลยปรึกษาภรรยาว่าต้องการจะกลับไปทำสวน สร้างอาชีพที่บ้าน ภรรยาก็ไม่เห็นด้วย เพราะกิจการร้านส้มตำของเขากำลังไปได้ดี


เก็บเงินซื้อที่ดิน ก่อนตัดสินใจทิ้งทุกอย่าง กทม.
บุกเบิกพื้นที่แห้งแล้งกาฬสินธุ์ จุดเช็คอินแห่งใหม่

“ก่อนจะลาออกมา ภรรยาผม (คุณสมพร คงสมของ) ทำร้านอาหารอีสาน ก็คุยกับเขาว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดแล้ว ตอนแรกภรรยาผมเขาก็ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะธุรกิจเขากำลังไปได้สวย แต่ผมก็บอกว่ากรุงเทพฯ ไม่เหมาะให้เราใช้ชีวิตตอนแก่หรอก เรากลับบ้านไปทำสวนของเราดีกว่า สุดท้ายเขาก็ยอม กลับมาที่นี่ด้วยกันปี 2549”


คุณโชฏึก เล่าว่า ตนเองได้เริ่มซื้อที่ดินบริเวณที่เปิดรีสอร์ตปัจจุบันนี้ เก็บไว้เมื่อปี 2541 ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ คิดอยากทำให้ที่ดินตรงนี้เป็นป่าแบบที่เราเคยใช้ชีวิตสมัยยังเด็ก สมัยนั้นป่าเคยอุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น และมีผลหมากรากไม้ให้เรากินไม่จบสิ้น อีกสิ่งที่ผมสนใจคือวัฒนธรรมคาวบอย ก็คิดอยากมาเป็นคาวบอยอีสานที่นี่ และจุดเปลี่ยนให้ผมตัดสินใจว่าควรพาตัวเองไปอยู่ต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งมาจาก กระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบพอเพียงของในหลวง


ตั้งใจทำที่พักให้เป็นแหล่งเรียนรู้สถาปัตยกรรมอีสาน

อย่างไรก็ดี ด้วยความที่ ที่ดินตรงนี้ค่อนข้างแล้ง เลยฟื้นฟูยาก ผมจึงเริ่มจากขุดสระ เอาต้นไม้มาลงค่อยๆ ปลูกกันไป และได้แบ่งพื้นที่บางส่วนมาทำบ้านพักโฮมเสตย์ โดยได้ไปศึกษาเรื่องสถาปัตยกรรมอีสาน เพื่อจะได้มาบอกช่างได้ว่า เราต้องการบ้านแบบไหน และค่อยๆทำที่ละหลัง จนเสร็จสมบูรณ์ได้อย่างที่คาดหวัง และในส่วนพื้นที่การทำเกษตร มีการทำนา ปลูกต้นไม้ เลี้ยงปลา และทำปุ๋ย อื่นๆ ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งคนที่เข้ามาพักนอกจากจะได้พักท่ามกลางธรรมชาติ ในเรือนไม้ตามแบบอีสาน และยังได้สัมผัสการใช้ชีวิตการทำเกษตรแบบของคนอีสานด้วย

โดยตั้งชื่อที่นี่ว่า “สวนดอนธรรม” ซึ่งเริ่มจากเปิดร้านอาหารให้ภรรยาก่อนชื่อ ‘เฮือนกาฬสินธุ์’ ชื่อเดียวกับที่เธอเคยเปิดที่กรุงเทพฯ เปิดเมื่อราวปี 2552-2553 แล้วก็ค่อยๆ ขยายพื้นที่เพิ่มที่พักที่ละหลัง ค่อยๆ ทำไป จนวันนี้ ผ่านมากว่า 10 ปี ที่เราทำที่พัก “สวนดอนธรรม” มีบ้านพักไว้รับรองคนที่ต้องการเข้ามาพักได้ถึง 20 หลัง รองรับคนเข้าพักได้ถึง 100 คน



ความฝันอยากให้พื้นที่แห่งนี้เป็นมากกว่าที่พัก

จากจุดเริ่มต้น ตอนนั้นกาฬสินธุ์ยังไม่มีโรงแรมหรือ รีสอร์ตที่มีการนำวัฒนธรรมพื้นถิ่นมานำเสนอ ผมก็เลยเอาเรือนอีสานที่ปลูกมาทำเป็นบ้านพักแบบโฮมสเตย์ มีเรือนขนาดใหญ่ที่รองรับการจัดประชุมหรืองานแต่งงาน โดยเรือนไม้ในพื้นที่ของผมทั้งหมด ปลูกใหม่ตามรูปแบบดั้งเดิมของสถาปัตยกรรมอีสาน ก็หวังไว้ไม่ใช่แค่ให้คนมาใช้พื้นที่และถ่ายรูปสวยๆ กลับไป แต่ผู้คนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จะสามารถเข้ามาเรียนรู้สถาปัตยกรรมพื้นบ้านอีสานได้ด้วย


“ผมฝันเอาไว้ว่าอยากให้สวนดอนธรรมเป็นพื้นที่เรียนรู้ ผมมีกำลังสร้าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าผมไม่ถนัดและมีพลังมากพอจะบริหารจัดการ ถ้ามีบุคลากรหรือหน่วยงานมาช่วย ก็คงจะดีมากๆ ผมวาดเอาไว้ว่าอยากทำพิพิธภัณฑ์ เพราะผมสะสมประติมากรรมดินเผาไว้พอสมควร และมีเพื่อนศิลปินที่ทำงานศิลปะอยู่หลายคน เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักบรรพบุรุษคนอีสานที่มีส่วนสร้างบ้านแปงเมือง ทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดิน หรือสร้างแบบอย่างที่ดีให้คนรุ่นหลัง”


ไม่ได้หวังผลทางธุรกิจ ต้องการเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมอีสาน

คุณโชฎึก เล่าว่า ความฝันของเขาที่เดินทางกลับบ้านเกิดในวันนี้ ไม่ได้หวังว่าจะสร้างธุรกิจร่ำรวยอะไร เพราะถ้าคิดเช่นนั้น คงจะทำร้านอาหารที่กรุงเทพฯต่อ เพราะหาเงินได้ง่ายกว่า แต่ครั้งนี้ เป้าหมายต้องการสืบสานวัฒนธรรมอีสาน ออกไปให้คนที่มาเยือนกาฬสินธุ์ได้รู้จัก และนำไปบอกต่อโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ส่วนผลทางธุรกิจก็เพียงเพื่อเลี้ยงดูแลครอบครัว ส่วนตัวเราสองคนไม่ได้มีลูก และการได้กลับมาอยู่กับครอบครัว อยู่กับญาติพี่น้องเป็นความสุขที่เราต้องการให้เกิดขึ้นในช่วงบันปลายชีวิต เหมือนกับพี่ๆน้องๆ ชาวอีสานที่ออกไปค้าแรงงานเหมือนกับตนเอง พอวันหนึ่งเมื่อหาเงินได้ก้อนหนึ่งฝันว่าจะกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดของตัวเอง


อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผมฝันอยากจะเป็นคาวบอยอีสาน เป็นความสุขที่อยากจะทำให้มันเกิดขึ้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องของนายฮ้อย พ่อค้าเร่ขายวัว-ควายให้ชาวนาตามหมู่บ้านต่างๆ ในอีสาน ไม่เพียงเรื่องความอุตสาหะ มานะ และความซื่อสัตย์ของนายฮ้อยที่เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นหลัง แต่เรายังได้เรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกรอีสานสมัยก่อน เห็นถึงวิถีชีวิตอันเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชาวบ้าน ซึ่งสมัยนี้ด้วยสังคมที่บีบให้เราต้องแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ภาพแบบนายฮ้อยจึงค่อยๆ เลือนหายไป เป็นต้น เมื่อมีโอกาสอยากจะให้มันเกิดขึ้นอีกครั้ง ผ่านการบอกเล่าของ สวนดอนธรรมแห่งนี้

ติดต่อ โทร.08-2801-8885
Facebook : เฮือนกาฬสินธุ์-สวนดอนธรรม

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น