xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) เจอศึกหนักแต่ใจสู้ “ขนมบ้านอุ๋ม” จากเตาถ่านสู่เครื่องจักร ไม่อยากเป็น “ขนมของฝาก” ชู “ชิฟฟ่อน” เข้าตลาดวัยรุ่น ตั้งเป้าขยาย 100 สาขา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไม่อยากเป็นแค่ “ขนมของฝาก” แต่อยากเป็นขนมที่คน “อยากกินเอง” ระยะทางหลายสิบปีที่ “ขนมบ้านอุ๋ม” เติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ด้วยความตั้งใจที่ต้องการผลิตขนมตั้งแต่รุ่นพ่อให้เป็นขนมที่ถูกปากและคงความเป็น “โฮมเมด” เอาไว้และชูจุดเด่นความเป็นโฮมเมดที่ไม่ธรรมดาเพราะมีเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาเสริมทัพ ชูขนม “ชิฟฟ่อน” เข้าตลาดเจาะทุกกลุ่มลูกค้าตั้งเป้าขยายแฟรนไชส์ให้ถึง 100 สาขา


สุพรรษา อังคเรืองรัตนา หรือ อุ๊ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บ้านอุ๋ม แมเนจเม้นท์ จำกัด เล่าว่า ขนมบ้านอุ๋มเดิมทีชื่อว่า “อั้ง เต็ก หมง” โดยเมื่อ 50 ปีที่แล้วตั้งแต่รุ่นคุณพ่อได้มีการทำขนมเปี๊ยะ ขนมปังแบบเตาฟืนขายในราคาชิ้นละ 1 บาท ขนาดเท่าฝ่ามือ ขายส่งในอำเภอต่างๆ ของจังหวัดฉะเชิงเทรา คุณพ่อเองมีโรงงานผลิตขนมท้องถิ่นในยุคนั้นพร้อมทั้งขายส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศกัมพูชา ซึ่งตัวเธอเองมีพี่น้องรวมเธอทั้งหมด 3 คน และเมื่อเรียนจบคุณแม่ก็ต้องการให้มาสานต่อกิจการของคุณพ่อแต่ตัวเธอเองเป็นคนที่ทำขนมไม่เป็น ต่างจากน้องสาวของเธอคือ จิราภรณ์ อังคเรืองรัตนา หรือ อุ๋ม กรรมการผู้บริหารสินค้าในเครือแบรนด์ Delicious Story และ ขนมบ้านอุ๋ม ที่ชื่นชอบการทำขนมเป็นอย่างมาก


แต่ความจำเป็นที่ต้องยกเลิกกิจการของคุณพ่อไปเพราะว่าทางโรงงานผลิตขนมที่เป็นอุตสาหกรรมที่เป็นที่รู้จักในตลาดและมีเครื่องจักรเข้ามา ซึ่งในตอนนั้นเธอเพิ่งเรียนจบแล้วไม่มีทิศทางเลยว่าจะสานต่อธุรกิจคุณพ่อให้เติบโตไปได้อย่างไร เธอจึงบอกกับคุณแม่ว่าให้เลิกทำ ประจวบเหมาะกับที่คุณอุ๋มเรียนจบด้านวิทยาศาสตร์การอาหารมาได้ประมาณ 2 ปี และได้ใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงเครื่องจักรที่มีมาก่อนและเริ่มมีการนำมาประยุกต์ใช้กับการผลิตขนมและเปิดหน้าร้านขนาดเล็กหลังโรงงานคุณพ่อ และได้ผลตอบรับกลับมาว่าเป็นที่ชื่นชอบแก่กลุ่มลูกค้า ทำให้คุณอุ๊มองเห็นโอกาสและแนวทางในการสานต่อกิจการในรูปแบบใหม่ในชื่อแบรนด์ว่า “ขนมบ้านอุ๋ม” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน


ด้านคุณอุ๋ม จิราภรณ์ อังคเรืองรัตนา กรรมการผู้บริหารสินค้าในเครือแบรนด์ Delicious Story และ ขนมบ้านอุ๋ม เปิดเผยว่า ในช่วง 50 ปีที่แล้วเริ่มมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาในแง่ของเทคโนโลยีอาหาร เช่น สารที่ทำให้สามารถแช่แข็งได้ วิธีการทำให้ขนมนุ่มนาน ซึ่งทางแบรนด์จะมีที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งภาพขนมในสมัยก่อนจะทำจากเตาถ่าน แต่ตอนนี้มีเครื่องจักแต่ยังคงความเป็น “ขนมโฮมเมด” เอาไว้ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปี จากโฮมเมดมาเป็นโรงงานในปัจจุบัน


ความยากของการเป็นโฮมเมดที่ต้องปรับตัวด้วยการนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ อย่างแรกที่ต้องปรับตัวคือบุคคลากรเพราะจากเดิมจะเคยชินกับขนมทำมือ เมื่อมีเครื่องจักร มีเทคโนโลยีเข้ามาบุคลลากรหรือพนักงานบางคนไม่เข้าใจเลยไปต่อด้วยกันยาก ยกตัวอย่างเช่น ขนมปัง ในเชิงโฮมเมดจะใช้แรงคนในการปั้นแล้วกลูเตนยังคงอยู่ในกระบวนการปั้น แต่พอเวลาใช้เครื่องจักรมันคือ “การรีด” ซึ่งได้มีการพูดคุยกันในทีมว่าจะต้องทำให้เป็นกึ่งการปั้นให้ได้ ทำให้ทางแบรนด์ต้องทดลองมากกว่า 20 ครั้งกว่าจะได้สูตรที่ลงตัว


“เป็นความยากของคนที่ทำโฮมเมดเป็นรสเดิม แต่ครั้นเราเป็นโฮมเมดแล้วจะมานั่งโฮมเมดเหมือนเดิมมันก็โตไม่ได้ ก่อนมาเป็นโรงงานนั้นมีบุคลากร 100 กว่าคน ตอนนี้พอมีเครื่องจักรมาใช้บ้างก็ลดลงไปเยอะ เครื่องจักรก็จะไม่เหมือนคนก็จะโดนคอมเพลน แต่ดีที่เขารับฟัง เราคนหน้างานเราก็ต้องรับมาว่าไม่เหมือนนะ อะไรแบบนั้น แบบนี้นะ เขาก็ต้องไปทำการบ้านคือเราจะต้องโฮมเมดให้ได้เพราะว่าเราจะไปสู้กับอุตสาหกรรมไม่ได้” คุณอุ๊ ระบุ


ในตลาดขนมโฮมเมดนั้นคู่แข่งทางการตลาดมีอยู่แล้วแต่ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มผู้บริโภคจะชื่นชอบแบรนด์ไหน ซึ่งขนมบ้านอุ๋มยึดหลักการทำขนมโฮมเมดแบบมีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่องและเชื่อมั่นว่าแบรนด์จะต้องเติบโตให้ได้ด้วยรสชาติขนมที่อร่อยถูกปากลูกค้าอย่างแน่นอน ตลาดแรกที่ขนมบ้านอุ๋มไปบุกคือพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งในกรุงเทพฯ ตามห้างสรรพสินค้าจะมีการจัดบูธอีเว้นท์ค่อนข้างเยอะ ทำให้ทางแบรนด์นำเอาขนมบ้านอุ๋มไปออกบูธตามห้างฯ ชั้นนำ เช่น เดอะมอลล์ และเซ็นทรัลฯ เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าที่เพิ่มขึ้น


หลังจากเข้ากรุงเทพฯ ได้ไม่นานในตลาดตอนนั้นที่เป็นที่ฮอตฮิตเลยก็คือการได้รับมาตรฐานการันตีจาก เชลล์ ชวน ชิม ทำให้ขนมบ้านอุ๋มตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะต้องให้เชลล์ ชวน ชิม กินขนมของทางแบรนด์ให้ได้ จนในที่สุดทางเชลล์ ชวน ชิม นำขนมชิฟฟ่อนไปทดลองกิน ผลปรากฏว่าผ่านในตอนนั้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทำให้กลายเป็นใบเบิกทางให้ขนมบ้านอุ๋มเข้าทุกอีเว้นท์ของห้างสรรพสินค้านั่นเอง หลังจากนั้นเริ่มทำเป็น “คีออส” ในรูปแบบตู้เย็นโดยมีพื้นที่วาง 1.50 เมตร ซึ่งขนมบ้านอุ๋มได้ทำคีออสไปทั้งหมด 10 ตู้และลงวางขายที่ห้างชั้นนำ ซึ่งทำอยู่ประมาณ 5 ปีได้ทั้งลูกค้าขาจรและลูกค้าที่เป็นกลุ่มแม่ค้ารับไปขายต่ออีกที


5 ปีหลังต่อมาเริ่มเจออุปสรรคที่หนักอึ้งเนื่องด้วยเกิดเหตุการณ์การประท้วงกันเกิดขึ้นระหว่างเสื้อสองสี ส่งผลกระทบให้แม่ค้าที่รับขนมไปขายไม่สามารถเปิดร้านขายขนมได้เกิดการเจ๊งในที่สุด ทำให้ทางแบรนด์ตัดสินใจไม่ไปต่อกับการขายในรูปแบบดังกล่าวเพราะวิกฤตนี้ส่งผลกระทบต่อแบรนด์เป็นอย่างมาก

หลังจากนั้นเริ่มคิดหาหนทางกู้วิกฤตให้ได้ด้วยการเริ่มทำแฟรนไชส์ เพราะต้องการขายของในตู้เย็น ไม่ต้องการนำขนมไปขายแบบเร่ขายแล้ว อีกทั้งที่ตัดสินใจทำแฟรนไชส์เพราะต้องการรักษาคุณภาพของขนม เนื่องจากก่อนหน้านี้เมื่อแบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักก็มักจะมีคนมาซื้อขนมไปขายต่อแต่ไม่รักษาคุณภาพให้ ถ้าหากขนมหมดอายุก็จะลบวันที่หมดอายุออกจึงทำให้ทางแบรนด์ควบคุมไม่ได้ เลยตัดสินใจยกเลิกการขายแบบนั้นไปและหันมาทำแฟรนไชส์เพื่อรักษาความเป็นคุณภาพของขนมบ้านอุ๋มเอาไว้นั่นเอง


อุปสรรคเก่ายังไม่หายดีอุปสรรคใหม่ก็เข้ามาตอกย้ำเมื่อโควิด-19 ระบาดหนัก ทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด ซึ่งทางแบรนด์ก็เป็นหนึ่งในนั้น วิกฤตโควิด-19 ทำให้ทางแบรนด์ต้องลดปริมาณต้นทุนต่างๆ ค่าแรงพนักงานบ้าง เพื่อประคองธุรกิจให้ไปได้ ทำให้ทางแบรนด์ต่อสู้วิกฤตนี้ด้วยการขายออนไลน์ที่พอจะช่วยพยุงธุรกิจไปได้ และเริ่มดีขึ้นในปีนี้

ขนมบ้านอุ๋ม คนเข้าใจว่าเป็นแบรนด์ขนม “ของฝาก” ซึ่งทางแบรนด์กำลังแก้โจทย์นี้ เนื่องจากไม่ได้มีความต้องการให้คนรู้จักหรือจะสั่งซื้อขนมบ้านอุ๋มเพราะเป็นของฝาก แต่ต้องการให้คนรู้จักในฐานะขนมที่ต้องการซื้อกินได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้ายังอยู่กับคำว่าขนมของฝากเมื่อนำสินค้าไปขายตามชุมชนจะขายออกยากมาก จุดเดิมของขนมบ้านอุ๋มคือเป็นขนมโฮมเมด แต่ซื้อกินจนเกิดการซื้อฝากทำให้กลายเป็นของฝากไปโดยปริยาย “เราไม่อยากเป็นของฝากที่คนไม่ซื้อกิน เรายังอยากเป็นขนมที่คนซื้อกินเองด้วย ฝากคนอื่นได้ด้วย” คุณอุ๊ ระบุ


การที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและการไม่เป็นขนมของฝากทางแบรนด์ให้ข้อมูลว่ากำลังพัฒนาและคิดค้นการทำให้กลุ่มวัยรุ่นสนใจมากขึ้น อาจจะย่อขนาดขนมให้เล็กลงจากเดิมขนม 1 กล่องมี 8 ชิ้นก็อาจจะลดลงเหลือ 2-4 ชิ้น เพื่อให้สามารถหยิบซื้อกินง่ายกว่ากล่องละ 8 ชิ้น รวมถึงอาจจะทำเป็นชิ้นเดียวพร้อมทั้งพัฒนาสูตรขนมให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เช่น ชิฟฟ่อนไฟเบอร์ เจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ชิฟฟ่อนลาวาตีตลาดลูกค้าวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งชิฟฟ่อนลาวาเริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับผลตอบรับที่ดีขึ้น โดยขนมที่โดดเด่นที่สุดของทางแบรนด์ได้แก่ ชิฟฟ่อน สังขยา และพายลูกตาล ปัจจุบันขนมบ้านอุ๋มสามารถผลิตขนมชิฟฟ่อนได้วันละประมาณ 20,000 ชิ้น

คุณภาพของขนม คุณภาพของโปรดักส์ที่คงที่มาตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปี จนถึงปัจจุบันทำให้ขนมบ้านอุ๋มประสบความสำเร็จอีกขั้น รวมถึงกลุ่มลูกค้าเข้าใจและให้การสนับสนุนในอุดมการณ์การทำขนมโฮมเมดสไตล์ขนมบ้านอุ๋ม นอกจากนี้ยังมีเรื่องระบบการผลิตที่ได้มาตรฐานและเป็นความภาคภูมิใจของแบรนด์ขนมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

อีก 5-10 ปีข้างหน้าขนมบ้านอุ๋มตั้งเป้าการเติบโตและการตอบโจทย์สำหรับกลุ่มลูกค้าไว้ในทิศทางของการเป็นพี่สาวที่เสิร์ฟขนมให้กับน้องๆ ได้กินและเป็นขนมที่ไม่แก่ตามอายุแบรนด์ ตั้งเป้าให้เป็นขนมที่ทุกวันสามารถกินได้และอยากกินเอง


ทั้งนี้ขนมบ้านอุ๋มได้รู้จักกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank ที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของสินเชื่อเงินลงทุนให้กับทางแบรนด์ เพื่อจะนำมาพัฒนาและต่อยอดในส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดโรงงานและพัฒนาสินค้าให้สามารถเติบโตได้ ซึ่ง SME D Bank ได้มองเห็นโอกาสในความตั้งใจของผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาแบรนด์สินค้าให้เติบโตขึ้นในอนาคต จึงเข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนให้แบรนด์ “ขนมบ้านอุ๋ม” ได้เติบโตและขยายกิจการเพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น


อย่างไรก็ตามขนมบ้านอุ๋มที่เริ่มต้นจากการเป็นโรงงานเล็กๆ ขายขนมโฮมเมดจากรุ่นพ่อมาสู่รุ่นลูกแต่กลับต้องเจอกับอุปสรรคและขวากหนามระหว่างทางค่อนข้างมาก แต่กระนั้นก็ไม่สามารถหยุดความตั้งใจที่จะสานต่อกิจการของคุณพ่อลงได้ ขนมบ้านอุ๋มมีเสน่ห์ที่เห็นได้ชัดในเรื่องความเป็นขนมโฮมเมดที่มีเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามามีบทบาทในการผลิตแต่ยังคงความเป็นขนมโฮมเมดเอาไว้ได้ ถือว่าเป็นการพัฒนาแบรนด์ให้เติบโตในตลาดได้เป็นอย่างดี บวกกับรสชาติขนมที่อร่อยถูกปากที่ไม่ว่าใครได้ลิ้มลองก็จะติดใจอย่างแน่นอน

ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :
ขนมบ้านอุ๋ม BaanOum



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น