xs
xsm
sm
md
lg

ลองปลูกครั้งแรก “มะละกอ 8 ไร่” ลงทุน 3 แสน เก็บผลผลิต 5 รอบ ครึ่งเดือน คืนทุนทั้งหมดแล้ว!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มะละกอเป็นไม้ผลที่อยู่ในกระแสน่าลงทุนอย่างมาก เพราะราคาที่จูงใจมาตลอดระยะเวลา 3-4 ปียิ่งปีนี้ ราคาพุ่งขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการ 30 ปีของการปลูกมะละกอกันเลยทีเดียว ราคาหน้าสวน 50-60บาท/กก. เรียกได้ว่า ใครมีผลผลิตขายในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาคว้าเงินล้านกันเห็น ๆ เลย

อาชีพเดิมก่อนหน้านี้คือขับรถขนส่งมะละกอเพื่อไปส่งที่ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่อย่าง ตลาดไท
วันนี้เราจะพาไปรู้จัก “มือใหม่” ที่ปลูกมะละกอครั้งแรกและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ที่ จ.อุบลราชธานี ของคุณณัฐพล ธัญญชีพ ปลูกมะละกอประมาณ8 ไร่ หรือ1,600 ต้น ลงทุนไปประมาณ3 แสน แต่เก็บมะละกอมาเพียง5 ครั้งก็สามารถคืนทุนเรียบร้อยแล้ว แม้จะปลูกครั้งแรกแต่มะละกอก็ติดผลดกและสวยมาก ยังเหลือเม็ดเงินบนต้นอีกมหาศาล

คุณณัฐพลหรือเบลเล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาปลูกมะละกอนั้นเขามีอาชีพรับจ้างขนส่งมะละกอจากแปลงปลูกไปส่งยังแผงรับซื้อที่ตลาดไทมานานกว่า 8 ปี จึงทำให้เกิดแรงบันดาลใจจากเม็ดเงินที่ชาวสวนมะละกอได้รับแต่ละรอบการเก็บมะละกอ 8 ปีของการวิ่งรถเรียกว่าเดินทางไปเกือบทั่วประเทศ เมื่อจังหวะและเวลาเหมาะสมเขาจึงลองมาปลูกเองครั้งแรกในปีนี้

ผลผลิตมะละกอฮอลแลนด์ มะละกอพันธุ์ยอดนิยมในการทานแบบผลสุกที่ตลาดต้องการสูงมากในตอนนี้
เบลบอกว่า พื้นที่ของเขาแทบจะไม่มีความเหมาะสมในการปลูกมะละกอเลย ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำมาก เพราะปลูกมันสำปะหลังมายาวนาน แหล่งน้ำก็ไม่มี เบลจึงขุดบ่อบาดาล ค่าจ้างขุด 3 หมื่น พร้อมกับขุดสระเก็บน้ำรวมพลาสติกปูบ่ออีกเกือบ 5 หมื่น ต้องเอาไฟฟ้าเข้าสวนอีก เรียกว่าก่อนจะได้ปลูกมะละกอก็หมดไปร่วมแสนแล้ว


มะละกอแปลงนี้ พื้นที่เกือบ 8 ไร่ ลงปลูกมะละกอไป 1600 ต้น ใช้ระยะปลูก 2.8 เมตร โดยสั่งต้นกล้าพร้อมปลูกมาเลย และด้วยความที่ดินมีความสมบูรณ์ต่ำมาก เบลจึงปรับสภาพโครงสร้างดินให้ร่วนซุย เพิ่มธาตุอาหารในดินโดยลงขี้ไก่แกลบไปหนึ่งคันรถสิบล้อ ประมาณ 10 ตัน รวม 25,000 บาท แล้วจึงยกร่องขึ้นแปลง สภาพดินช่วงนั้นยังไม่ได้ดีขึ้นมาก แต่เบลก็ปรับสภาพดินอย่างต่อเนื่องโดยใส่ขี้ไก่แกลบเรื่อย ๆ ทุก 2 เดือน หนึ่งกระสอบใส่ 4-5 ต้น จนสภาพดินปรับขึ้นมาเรื่อย ๆ อย่างที่เห็นตอนนี้สภาพดินดีขึ้นมาก

ฉันพร้อมแล้วเพื่อนออกเดินทางได้!
สำหรับการดูแลมะละกอ เบลก็ใส่ปุ๋ยตามจังหวะการเจริญเติบโต ช่วง 5 เดือนแรก ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ผสมกับ 15-0-0 สัดส่วน 2 กระสอบ(กระสอบละ50กก.) กับ 1 กระสอบ (กระสอบละ25 กก.) ใส่สูตรนี้ทุก 15 วัน ต้นละ 2-3 กำมือ หลังจากนั้นก็มาให้ 16-16-16 สลับกับ 15-5-20 พอ 7 เดือนก็เริ่มให้สูตร 13-13-21 สลับกันไปมา โดยใส่ 8-24-24 ไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อัตราการใส่แต่ละรอบประมาณ 5 กระสอบต่อพื้นที่ทั้งหมด ส่วนทางใบก็พ่นแค่สาหร่ายทะเลกับแคลเซียม-โบรอน ยืนพื้นทุก 10 วัน ช่วงไหนที่ไม่ค่อยมีแดดหรืออากาศปิดก็จะพ่นสังกะสีเสริมบ้าง สารกำจัดโรคและแมลงพ่นตามการระบาดและป้องกันในบางช่วงที่เสี่ยงต่อการระบาด ส่วนใหญ่จะเน้นที่สารกำจัดเชื้อราเพราะเป็นช่วงฝน เบลบอกว่าลงทุนตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงมะละกอเริ่มเก็บผลผลิตได้ อายุ 8 เดือนประมาณ 3 แสน โดยการดูแลทั้งหมด ดูแลกันเพียง 2 คน คือ เบลและพ่อตา โดยจะจ้างแรงงานมาช่วยแค่วันที่เก็บมะละกอประมาณ 6-7 คนเท่านั้น

แปลงปลูกใหม่ยังไม่ค่อยมีปัญหากวนใจเรื่องโรคแมลงศัตรูรบกวน
เบลเริ่มเก็บมะละกอมาได้ 5 ครั้ง ห่างกันประมาณ 4 วันต่อรอบการเก็บ ครั้งแรกเก็บได้ไม่มาก 500 กก. ครั้งที่ 2 เก็บได้ 1,200 กก. ครั้งที่ 3-5 ได้มากถึงครั้งละ 4,000 กก. เริ่มเก็บมะละกอวันที่ 16 ต.ค.มาถึงวันนี้ก็เพียง 20 วัน มะละกอสามารถสร้างรายได้คืนทุนหมดแล้ว โดยราคาช่วงแรกได้ราคาสูงถึง 50 บาท และลดหลั่นลงมาอยู่ที่เกือบ 40 บาท นับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงทีเดียว เบลเองยังไม่คิดว่ามะละกอจะสามารถสร้างรายได้ให้เยอะขนาดนี้


วันนี้เบลไม่ได้ไปวิ่งรถขนส่งมะละกอแล้วหลังจากที่มาทำสวนมะละกอ แต่เขายังขับรถไปส่งมะละกอของเขาเองที่ตลาดไททุกครั้ง เขาบอกว่า ตัดสินใจไม่ผิดที่เลือกปลูกมะละกอและเขาคงจะยึดอาชีพปลูกมะละกอเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวไปอีกยาวนาน เชื่อว่าเกษตรกรในพื้นที่ที่เห็นความสำเร็จของเบลคงจะหันมาปลูกมะละกอตามอย่างเบลอีกมาก ซึ่งเบลก็ยินดีที่จะแบ่งปันความสำเร็จนี้ให้กับคนที่สนใจ

เบลกับอาชีพใหม่ที่เขาบอกว่าพร้อมจะฝากชีวิตไว้กับการปลูกมะละกอแล้ว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ณัฐพล ธัญญชีพ บ้านเลขที่ 212 หมู่ 9 บ้านคำหาด ต.หนองผือ อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี 34170 โทร.092-274-1759 ขอบคุณชมรมเกษตรดิจิทัลและเอสเอ็มอีไทย, ฟอร์ด (ประเทศไทย) สำหรับยานพาหนะสุดแกร่งในการลงพื้นที่บุกตะลุยแปลงเกษตรในครั้งนี้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น