xs
xsm
sm
md
lg

ตุ๊กตาเชียงใหม่ กลุ่มแม่บ้านกิ่วแล รายได้เสริมทำนากลายเป็นอาชีพหลักโกอินเตอร์หลายปท. ออเดอร์ 50,000 ตัวต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เกษตรกรบ้านกิ่วแล จังหวัดเชียงใหม่ เดิมอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก ไม่เพียงพอต่อครองชีพ จึงได้รวมตัวกันผลิตตุ๊กตาขาย โดยมี อำพร ยาวิลาศ อดีตครูสอนตัดเย็บเสื้อผ้า ช่วยดูแลด้านการผลิตและจัดจำหน่าย จากออเดอร์เดือนหนึ่งไม่ถึง 100 ตัว วันนี้ตุ๊กตาเชียงใหม่แม่บ้านกิ่วแล ส่งขายในประเทศ และต่างประเทศ ออเดอร์เดือนละ 50,000 ตัว ออเดอร์ระดับโรงงานผลิต


อำพร ยาวิลาศ ประธานกลุ่มหัตกรรมสตรีแม่บ้านกิ่วแล จังหวัดเชียงใหม่ ผู้พัฒนาออกแบบและผลิตเพื่อจัดจำหน่ายตุ๊กตาเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้พี่เป็นครูสอนเกี่ยวกับอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าที่สมาคม วาย.เอ็ม.ซี.เอ. จังหวัดเชียงใหม่ อยู่ 2 ปี และเริ่มมีแนวคิดว่าอาชีพหลักของที่บ้านคือทำนา พอเสร็จจากฤดูทำนา ก็จะว่างไม่มีงานทำ แม่บ้านของครอบครัวที่มีฝีมือเย็บปักถักร้อยก็จะพากันไปรับผ้ามาปะ มาเย็บ เพื่อหารายได้เสริมกัน แต่ก็ได้กำไรน้อย

ตนเลยคิดจัดตั้งกลุ่มหัตกรรมสตรีแม่บ้านกิ่วแล จังหวัดเชียงใหม่ ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะออกแบบผลิตทำเสื้อผ้าเพื่อเสนอขายให้กับลูกค้า แต่ภายหลังเปลี่ยนมาออกแบบเพื่อผลิตตุ๊กตาที่เป็นงานฝีมือแทน เพราะราคาและรายได้จะดีกว่า อีกทั้งคู่แข่งน้อย ถ้าเทียบกับตลาดเสื้อผ้ามีคนทำเยอะกว่า โดยหันมาผลิตตุ๊กตา อาทิ ตุ๊กตาช้าง, หมี, ลิง, กระต่าย ขายแทน


จนปัจจุบันกลายเป็นอุตสาหกรรมครอบครัวที่สามารถทำได้ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เย็บผ้า สอยผ้า ยัดนุ่นตัวตุ๊กตา ที่มีงานและมีรายได้ เข้ามามากขี้นเรื่อยๆ จนขยายไปสู่หมู่บ้านใกล้เคียงที่เข้ามาร่วมอยู่ในการทำธุรกิจผลิตตุ๊กตานี้ไปด้วยกัน อีกทั้งพี่เองยังได้รับโอกาสจากการที่ได้เข้าไปพูดคุยเพื่อนำตุ๊กตาไปวางขายในแหล่งท่องเที่ยวที่บริษัททัวร์ 3-4 บริษัท ที่จะนำนักท่องเที่ยวมาลง ในช่วงแรกๆ ที่นำตุ๊กตาไปวางขาย ซึ่งตอนนั้นขายได้ 20-30 ตัวต่อวัน จากนั้นกลายเป็นขายตุ๊กตาได้วันละ 100 ตัว แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเทศกาลด้วย

ทั้งนี้ เริ่มมีออเดอร์ ตุ๊กตาจากผู้ประกอบการรายนั้น รายนี้ เข้ามา จากผลพ่วงที่ทางกลุ่มอุตสาหกรรม จังหวัดเชียงใหม่ ได้พาผู้ซื้อมาเยี่ยมชมกลุ่มผู้ผลิตตุ๊กตาเค้าเห็นว่ากลุ่มหัตกรรมสตรีแม่บ้านกิ่วแล จังหวัดเชียงใหม่ สามารถเองทำได้หมดเลย ตั้งแต่การออกแบบลวดลาย รูปทรงตุ๊กตา การตัดเย็บผ้าต่างๆ เลยสนใจสั่งซื้อตุ๊กตาจากเราไปวางจำหน่ายต่อ ตอนนั้น มีออเดอร์ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตัวต่อเดือน ช่วงปี 2542-2546


กระทั่งปี 2546 ประเทศไทยมีการจัดงาน โอทอป ครั้งแรกขึ้น ที่เมืองทองธานี ปรากฎตุ๊กตาที่นำมาจัดแสดงขายหมดภายใน 2 วัน มากกว่านั้นคือ การได้มาพบปะพูดคุยทำความรู้จักกับลูกค้ารายใหม่ๆ ภายในงานจนเกิดลูกค้ารายใหม่ๆ มาว่าจ้างให้ช่วยออกแบบตุ๊กตา ทำพ่วงกุญแจ และกระเป๋า เพื่อทำเป็นของที่ระลึกไปวางขายอยู่ตามโรงแรม ห้างร้าน ต่างๆ เป็นจำนวนกว่าหลายพันชิ้น จนมาปี 2548 เมื่อมาร่วม ออกงานโอทอป สิ่งที่เห็นคือ ทุกคนต่างผลิตตุ๊กตามาขายกันจำนวนมาก และมีการตัดราคา ลอกเลียนแบบลายสินค้าขายกัน


สุดท้ายตนตัดสินใจเลิกไม่ได้มาร่วมออกร้านในงาน โอทอป แต่หันไปเป็นผู้ผลิตอย่างเดียว พร้อมทั้งมีการปรับเปลี่ยนการออกแบบให้ยากขึ้น เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบ และได้มีโอกาสไปร่วมออกบูธกับหน่วยงานต่างๆ ในต่างประเทศ นำตุ๊กตาไปจัดแสดงภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย เยอรมัน เกาหลี ญี่ปุ่น และทุกครั้งที่ไปออกบูธงานแสดงสินค้ากลับมา ก็จะตามมาด้วยออเดอร์ จากประเทศต่างๆ ติดต่อเข้ามา จึงทำให้งานฝีมือด้านการออกแบบและผลิตตุ๊กตาของ กลุ่มหัตกรรมสตรีแม่บ้านกิ่วแล จังหวัดเชียงใหม่ ได้มีลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการสั่งสินค้าไปจำหน่าย ราคาเริ่มต้นที่ตัวละ 8 บาท ถึง 1,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจำนวนการสั่งมากน้อยขึ้นอยู่กับราคาที่เลือก เช่น ถ้าเลือกตุ๊กตาตัวละ 40 บาท ยอดการสั่งซื้อคือต้องมีขั้นต่ำ 50 ตัวขึ้นไป เป็นต้น


โดยจุดเด่นของเราอยู่ที่การออกแบบ เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ทำตุ๊กตาออกมามีความเป็น 3 มิติ ไม่ได้เป็นแบบที่ทำตุ๊กตาออกมาแล้วมีรูปทรงแบนๆ เรียบๆ อีกทั้งเรามีองค์ประกอบครบทั้งเรื่องฝีมือการเย็บปักถักร้อย บุคลากรคือ จำนวนแม่บ้านที่เข้ามาทำงานตรงนี้ ทำให้สามารถผลิตชิ้นงานได้จริงตามออเดอร์ ที่ลูกค้าต้องการ

จากชื่อเสียงที่สั่งสมมานาน เป็นที่ยอมรับบอกต่อของลูกค้าแบบปากต่อปาก ทำให้เราได้รับการสนับสนุนของกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ พาไปพบปะกับผู้ผลิตทำให้ผู้ประกอบการรู้จักเรามากขึ้น รวมถึงการไปออกบูธในงานโอทอป และการไปออกบูธยังตลาดต่างประเทศในแต่ละปี จนทำให้ปัจจุบันมีออเดอร์การผลิตตุ๊กตาไม่ต่ำกว่า 10,000-50,000 ต่อเดือน โดยที่เรายังไม่คิดเรื่องการทำตลาดออนไลน์ เพราะแค่นี้ก็ผลิตไม่ทันแล้ว

ติดต่อ โทร. 081-952- 2238


กำลังโหลดความคิดเห็น