“ร้านน้องโจ๊ก” ชื่อของร้านอาหารใต้พื้นบ้าน และอาหารทะเลรสเด็ด ที่อยู่คู่เมืองกระบี่มานานถึง 45 ปี หลังทายาทรุ่น 2 “โจ๊ก-ศุภชัย รอดทอง” เข้ามาสานต่อธุรกิจ ก็ถึงเวลายกระดับร้านอาหารบ้านๆ ของครอบครัวให้ เป็นร้านที่มีระบบบริหารจัดการสมัยใหม่ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำงาน จนเติบโตขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว อีกทั้ง แตกแบรนด์ใหม่เพื่อขยายไปปักหมุดนอกพื้นที่ได้อีกด้วย
ในช่วงรีแบรนดิ้ง พร้อมปรับปรุงร้าน เพื่อจะนำธุรกิจเดินหน้าต่อและก้าวไปสู่ความยั่งยืน พวกเขาได้การสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank พาถึงเงินทุนช่วยในการสร้างแบรนด์ พร้อมขยับขยายพื้นที่ร้าน จนแบรนด์กว่า 4 ทศวรรษ กลับมาดังข้ามยุคได้อีกครั้ง
“ร้านน้องโจ๊ก” เริ่มต้นจากร้านข้าวแกงเล็กๆ ในเมืองกระบี่เมื่อ 45 ปีก่อน โดยตั้งชื่อร้านตามชื่อลูกชายที่เพิ่งลืมตาดูโลกหลังเปิดร้านได้ 1 ปี นั่นคือ เจ้าของธุรกิจในปัจจุบัน “โจ๊ก-ศุภชัย รอดทอง” กรรมการ บริษัท นิพนธ์ ยุบล จำกัด เจ้าของร้านอาหาร “ร้านน้องโจ๊ก” และ “มิตรทาวน์” (Meet Town)
หลังเรียนจบและทำงานประจำเป็นวิศวกรอยู่ช่วงหนึ่ง ศุภชัย ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว เพราะรู้สึกหวงแหนในแบรนด์ที่เลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เกิด โดยใช้เวลา 3 ปีไปกับการเรียนรู้งานในครัว หลังจากนั้นจึงคิดขยายร้านและนำระบบการบริหารจัดการสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อยกระดับร้านอาหารของครอบครัวให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น
“ตอนผมเข้ามา ร้านของเรายังเป็นอาคารชั้นเดียวขนาด 3 คูหา รับลูกค้าหมุนเวียนวันละประมาณ 100 ราย พ่อแม่ยังไปตลาดกันเอง ลงมือทำอาหารกันเองทุกอย่าง ตอนนั้นด้วยความที่ร้านเริ่มมีลูกค้าเยอะขึ้น แล้วก็ติดปัญหาตรงที่ทำอาหารช้ามาก เนื่องจากเราเน้นทำสดหมดทุกจาน ผมรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว เราจะต้องขยายร้าน และเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ เปลี่ยนระบบครัว ระบบการบริหารจัดการในร้านอาหารใหม่ เพื่อให้อาหารออกเร็วขึ้น ข้อดีคือ ระหว่างเรียนผมมีโอกาสไปทำงานพิเศษที่ร้านอาหารด้วย ทำให้ได้เรียนรู้การทำงานหลายๆ อย่าง มาพัฒนาที่ร้านของเรา” เขาบอก
เมื่อมีเป้าหมายนำพาร้านไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ศุภชัยตัดสินใจหยุดร้านไป 4 เดือน เพื่อวางระบบทั้งหมดใหม่ โดยได้ภรรยา “พรรณจิรา เอ่งฉ้วน” เข้ามาช่วยอีกแรง จากร้านอาหารที่ใช้ประสบการณ์และสัญชาตญาณในการทำงาน หลังนำระบบเข้ามาใส่ ร้านของพวกเขากลายเป็นร้านที่สามารถตรวจสอบได้ ควบคุมการบริหารจัดการต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ตัวเจ้าของเองก็ไม่ต้องเหนื่อยเท่าเดิม เพราะไม่ต้องทำทุกอย่างด้วยเองอีกแล้ว
“เราเป็นร้านแรกๆ ที่พยายามจะใช้เครื่องทุ่นแรงในการทำร้าน มีการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในร้าน รวมถึงเครื่องมือต่างๆ อย่างเครื่องทอดแบบที่ใช้ในร้านฟาสต์ฟู้ด เพื่อลดแรงงานคน ช่วยควบคุมมาตรฐานของอาหารและช่วยลดความผิดพลาดต่างๆ ลงได้ ต้องยอมรับว่า ร้านอาหารมีรูรั่วเยอะ และการขาดแคลนแรงงานก็เป็นปัญหาสำคัญ เราจึงพยายามนำเครื่องทุ่นแรง รวมถึงระบบต่างๆ เข้ามาใช้ เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้” เจ้าของร้าน ระบุ
หลังขยายร้านและนำระบบเข้ามาใช้ พวกเขาสามารถรองรับลูกค้าได้เพิ่มเป็นเท่าตัว จากวันละประมาณ 100 ราย เพิ่มเป็นกว่า 200 ราย จากลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการ ปัจจุบันร้านน้องโจ๊กรองรับลูกค้าที่เป็นคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเมืองกระบี่ ในสัดส่วน 50 : 50 นอกจากอาหารในร้าน ก็ยังมีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตัวเองจำหน่ายด้วย อาทิ พริกแกงใต้ กะปิ และน้ำสมุนไพร เป็นต้น
แม้ร้านจะทันสมัยขึ้น ทว่าสิ่งที่พวกเขายังคงรักษาไว้ คือหัวใจของการทำธุรกิจ อย่างรูปแบบการปรุงอาหารที่ยังเน้นทำสดใหม่ทุกจาน เลือกวัตถุดิบส่งตรงจากชาวประมง และชุมชนใน จ.กระบี่ ทำให้ได้วัตถุดิบสดใหม่ ราคาไม่แพง และยังได้ช่วยเหลือจุนเจือชาวประมงชายฝั่งที่อยู่ในชุมชนของพวกเขาไปด้วย
“มีอยู่วันหนึ่งผมเริ่มรู้สึกเบื่อและอิ่มตัวกับการทำอาหาร แต่พอมานั่งนึกดู เราเองเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่จะช่วยเหลือสังคมได้ ด้วยสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว อย่างการซื้อวัตถุดิบจากชาวประมง ในชุมชนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกับเรา นำวัตถุดิบในชุมชนมาทำอาหาร เพื่อแนะนำให้นักท่องเที่ยวรู้จัก และเป็นการโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชนไปในตัว มันทำให้ผมรู้สึกว่า สิ่งที่เราทำอยู่มันมีคุณค่า และรู้สึกสนุกมากขึ้นที่จะได้ทำตรงนี้”
หลังปรับระบบภายในร้านจนทุกอย่างลงตัว พวกเขาก็มองถึงการรีแบรนด์ ปรับปรุงหน้าร้านให้ชัดเจนขึ้น และขยายที่นั่งมาเป็น 350 ที่นั่งเพื่อรองรับลูกค้าได้มากขึ้น โดยได้การสนับสนุนจาก SME D Bank ซึ่งศุภชัยบอกว่าเป็นธนาคารที่ตอบโจทย์ธุรกิจของเขา เนื่องจากมีดอกเบี้ยเหมาะสม และเข้าถึงความต้องการของเอสเอ็มอีอย่างแท้จริง
“ด้วยดอกเบี้ยอัตราพิเศษ ทำให้เราสามารถเอาเงินมาหมุนในธุรกิจ เอามาลงทุนโดยที่ไม่ต้องกังวลว่า ต่อไปในอนาคตเราจะมีเงินเพียงพอจะผ่อนหรือไม่ จริงๆ เงินกู้ตัวนี้ผมได้มาก่อนโควิดด้วยซ้ำ แต่พอมาช่วงโควิดเราก็ยังสามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เป็นดอกเบี้ยที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการจริงๆ เงินทุนที่ได้มาเราเอามาปรับปรุงแบรนด์ดิ้งให้ชัดขึ้น โดยจ้างมืออาชีพเข้ามาช่วย และทำแบรนด์ของเราให้ยั่งยืน ไม่ต้องไปไล่ตามเทรนด์ แต่ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เป็นแบรนด์ที่สามารถอยู่กับเราได้ตลอดไป” เขาบอก
เป้าหมายในการขับเคลื่อนร้านน้องโจ๊ก คือทำให้เป็นร้านท้องถิ่นที่อยู่คู่เมืองกระบี่ได้ยาวนานที่สุด เวลาเดียวกันก็แตกแบรนด์น้องใหม่ชื่อ “มิตรทาวน์ (Meet Town)” เพื่อวางแผนขยายไปในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคตอีกด้วย
อย่างไรก็ตามสำหรับทายาทที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจครอบครัว ศุภชัยฝากทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ลองเอาตัวเองไปยืนอยู่ในจุดที่ครอบครัวเคยทำ เพื่อจะได้เข้าใจพ่อแม่ เข้าใจปัญหา และมองเห็นช่องโหว่ที่มีอยู่จริงๆ โดยไม่สนับสนุนการเอาเงินมาแล้วปรับทุกอย่างทั้งหมด เพราะจะทำให้ธุรกิจขาดเสน่ห์ และดีเอ็นเอของเราก็จะหายไปด้วย แต่อยากให้เป็นการปรับตัวเข้าหากันและจับมือเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *