“มะพร้าวน้ำหอมสายพันธุ์ทั่วไปส่วนมากจะปลูกกัน คือ น้ำหอมสามพราน น้ำหอมบ้านแพ้ว แล้วก็น้ำหอมราชบุรี ในอดีตคือ “น้ำหอมสามพราน” มาจากพันธุ์น้ำหวานอัมพวาที่ปลูกไปแล้วมัน “กลาย” มาอยู่ต้นหนึ่ง มันมีความหอมกลิ่นใบเตยคือเป็นเอกลักษณ์”
คุณประยูร วิสุทธิไพศาล เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาพืชสวน และในอีกด้านหนึ่งนั้นยังเป็นที่รู้จักของวงการมะพร้าวฐานะที่เป็นเจ้าของสวนแม่พันธุ์ดี “น้ำหอมราชบุรี” ที่โด่งดังเป็นมะพร้าวน้ำหอมแชมป์ส่งออกและปัจจุบันเป็นพันธุ์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ของจังหวัดราชบุรีด้วย จากประสบการณ์ตรงที่คลุกคลีในอาชีพสวนมะพร้าวน้ำหอมมาไม่ต่ำกว่า30 ปี คุณประยูรได้พูดถึงประวัติความเป็นมาสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมที่เป็น “พันธุ์เชิงการค้า” เด่น ๆ ของประเทศไทยไว้อย่างน่าสนใจอีกว่าจากการ “กลาย” ของพันธุ์มะพร้าวน้ำหวานอัมพวาซึ่งมีการนำขึ้นไปปลูกที่เขตวัดบางช้างเหนือ แล้วมันเกิดการกลายขึ้นมาอยู่ต้นหนึ่ง สายพันธุ์เขาจะลูกไม่ใหญ่ การกลายพันธุ์ขึ้นมาก็คือ “ทาง” จะเขียวและก็ “ลูก” จะเขียว คือเขียวกว่าน้ำหวานอัมพวา แล้วก็พบเพิ่มเติมขึ้นมาอีกคือมันมี “ความหอม” กลิ่นใบเตย คือเป็นเอกลักษณ์ หลังจากนั้นก็ได้ขยายพันธุ์ไปทั่วเลย โดยอำเภอบ้านแพ้ว ราชบุรี และก็ฉะเชิงเทราด้วย
ข้อดี ของสายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมสามพราน คือ ความหอม ความหวาน ที่มากกว่า แล้วในการให้ผลผลิตคือ จั่นของเขาจะยาว ทางของเขาจะสั้น ข้อถี่ ซึ่งทำให้ความสูงก็จะช้าไปด้วย ระยะปลูกต่อไร่ไม่ต้องถึง6 เมตรแต่สามารถใช้ 5 เมตรก็เพียงพอ เรื่องการติดผลดก! คือดีมากแต่ว่าก็มี ข้อเสีย อยู่บ้าง ลูกจะไม่ใหญ่(ไซส์ไม่ค่อยได้ตามสเป็กของตลาดส่งออก) ทำให้เกิดปัญหาเรื่อง “การควบ” ที่แต่ละปีชาวสวนกับพ่อค้าคนกลางมักจะได้วิวาทกันอยู่บ่อย ๆ เพราะเรื่องของขนาดผลที่ค่อนข้างเล็กไปจึงทำให้การซื้อจะต้องควบ(2 ผลเท่ากับ1 ผล) เท่านั้นจึงจะซื้อได้ แต่ทว่าทางฝั่งของคนขายหรือสวนเองก็จะรู้สึกว่ามันไม่ค่อยคุ้มค่า ซึ่งเป็นปัญหาอยู่บ้างในส่วนของตลาดการส่งออก และจากที่มีการนำไปปลูกโดย “ฟาร์มอ่างทอง” แล้วเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมาอีก คือเอาน้ำหอมสามพรานไปปลูกแล้วมันกลายอยู่ต้นหนึ่ง “ลูกใหญ่” และลักษณะกะลาของเขาจะกลม ลูกใหญ่กว่าน้ำหอมสามพราน เป็นที่รู้จักกันต่อมาในชื่อของมะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว มีขยายพันธุ์ทั่วไปในเขตสมุทรสาคร ราชบุรี และสมุทรสงคราม
“พันธุ์ที่มีชื่อเสียงก็คือ น้ำหอมบ้านแพ้ว เพราะน้ำหอมบ้านแพ้วเนี่ยข้อดีก็คือ จะมีลูกใหญ่ค่อนข้างเสมอ แต่ว่าปลูกไปแล้วเนี่ย
“ดก” สู้น้ำหอมสามพรานไม่ได้ พอปลูกแล้วสู้น้ำหอมสามพรานไม่ได้ แต่น้ำหอมสามก็จะกลับไปปลูกไม่ได้เหมือนกัน เพราะว่าลูกไม่ใหญ่ ทีนี้มันก็เลยกลายเป็นว่าน้ำหอมบ้านแพ้วเนี่ยก็ขยายพันธุ์ทั่วไป แต่ข้อด้อยที่พบก็คือว่า พออายุสิบกว่าปีไม่เกิน20 ปี ต้นก็จะสูง จะสอยยากแล้วเพราะต้นเขาจะสูงมากเลย คือข้อเขาห่าง เขาสูงไว ขาเขายาว ปลูกระยะทั่วไปน้ำหอมบ้านแพ้วก็คือ 6x7 เมตร”
ทีนี้กลับมาที่เรื่องของพันธุ์ “น้ำหอมราชบุรี” บ้าง คุณประยูรเล่าให้ฟังว่าสายพันธุ์ที่ตนเองปลูกอยู่มีความเป็นเอกลักษณ์อยู่อย่างหนึ่ง ที่โตมาคู่กับน้ำหอมบ้านแพ้วคือ ดั้งเดิมเป็นพันธุ์ที่ได้มาจากนักวิจัยของ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน(ท่านอาจารย์ชูศักดิ์) ซึ่งมีการพัฒนาสายพันธุ์ลูกผสมขึ้นมาที่เกิดจาก “น้ำหอมสามพราน”(แม่) ผสมกับมะพร้าว “หมูสี”(เกสรตัวผู้/พ่อ) จนกระทั่งได้ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ที่ผ่านการทดสอบและการคัดเลือกพันธุ์ดีมาแล้ว “ซึ่งพันธุ์นี้ข้อดีของเขาคือว่ามีความ ลูกใหญ่ จั่นยาว และก็ทางสั้น แต่ว่าระยะแรก ๆ ก็ยังไม่ได้มีชื่ออะไร เพราะเมื่อก่อนจะปลูกองุ่นกันในเขตนี้ รายได้ตัดทีละเป็นล้าน ๆ สี่ส้าห้าล้าน สามล้าน ห้าล้าน สิบล้าน ไม่เคยคิดจะปลูกมะพร้าว เพราะสมัยก่อนตัวเลขของมะพร้าวไร่ละหมื่นสองหมื่น เกษตรกรปลูกไว้ดีกว่าเอาที่ให้เขาเช่าอะไรประมาณนี้”
จนกระทั่งพอมารุ่นหลังเขาว่าพันธุ์บ้านแพ้วดี ใคร ๆ ก็พูดถึงกันมากขึ้น ก็เลยลองปลูกคนละล็อคกันเพื่อจะเปรียบเทียบดู “พอคนละล็อคกันแล้วเทียบตัวเลขแล้วต่าง! ต่างกันคือ ของเราเนี่ย2 ปีถ้าสมบูรณ์นะ2 ปีครึ่งติดละ ติดลูกแล้วตัดได้เลย2 ปีครึ่ง ตัดลูกได้เลย แล้วก็ตัดไปเขาออกแล้วเขาจะดก พอดกไปเรื่อยเนี่ย ก็จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการทิ้งช่วงว่างสำหรับเกษตรกรคนที่ปลูกมะพร้าวพันธุ์นี้” เป็นเอกลักษณ์ของพันธุ์อีกแบบก็คือว่า การติดลูกจะติดเรื่อยไปคล้ายของ “น้ำหอมสามพราน” ความดก ความหอม ความหวาน แต่ความหวานเทียบกับ “น้ำหอมบ้านแพ้ว” แล้ว ความหอมพอกัน แต่ความหวานจะเหนือกว่า วัดค่าออกมาได้ตั้งแต่ 9 บริกซ์เป็นต้นไป ทั้งนี้ ความหอม ความหวาน มันก็ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ด้วย ถ้าปลูกแล้วเจ้าของดูแลเอาใจใส่ ความหวาน ความหอม ก็จะพีคขึ้นมา
คุณประยูรยังบอกด้วย มะพร้าวน้ำหอมถ้าเขามีความหอม เขาก็จะมีความหวานเพิ่มขึ้นตามมา หากความหอมเขาน้อยลง ความหวานก็ลดลง ตัวนี้ก็จะเป็นเงาตามตัวด้วย“ตรงนี้มันขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ด้วย เกษตรกรบางคนว่าโอ้ยปลูกบ้านแพ้ว ดำเนิน สามพราน ในเขตนี้ถ้าปลูกไปแล้วก็ต้องหอมหวาน แต่ไม่จริง! ปลูกแล้วให้เทวดาเลี้ยงแล้ว ความหอม ความหวาน มันก็ไม่ได้ ถ้าปลูกแล้วเจ้าของดูแล เอาใจใส่ ความหวาน ความหอม ก็จะพีคขึ้นมา” ตัวเองเป็นเกษตรกรแต่อาศัยประสบการณ์ที่ไปหลาย ๆ จังหวัดมา เห็นการปลูกที่แตกต่างออกไปในเรื่องของสภาพดินและก็น้ำที่ไม่เหมือนกัน แล้วก็จะสังเกตว่า “รสชาติ” เป็นยังไง ก็จะมีวิธีการเติม การปรับให้ เพื่อได้คุณภาพของผลผลิตที่ออกมาไม่ด้อยไปกว่าแหล่งที่เป็นต้นตำรับของสายพันธุ์หรือ “ต้นแม่” ที่นำมาปลูกด้วย
ยกตัวอย่างปัญหาที่คนซื้อพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมจากแหล่งที่มีชื่อเสียงเดิม แต่นำไปปลูกในพื้นที่แตกต่างออกไปแล้วมักพบว่า ผลผลิตที่ได้ไม่ค่อยหอม ไม่ค่อยหวานเลย เทียบกับแหล่งพันธุ์เดิมแล้วทำไมคุณภาพไม่เหมือน เป็นเพราะว่ามันมีการกลายพันธุ์เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งคุณประยูรได้อธิบายถึงสาเหตุที่มาของปัญหาดังกล่าวด้วย หากเกษตรกรได้สายพันธุ์แท้จากแหล่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้ นำไปปลูกแล้วพบว่า “รสชาติ” ความหวาน ความหอม ไม่ได้แบบเดียวกับแหล่งเดิมของต้นแม่พันธุ์ที่มา ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากเลย! ยกตัวอย่างกรณีของสวน ๆ หนึ่งที่นำพันธุ์ของตนเองไปปลูกอยู่ที่บางเลน จ.นครปฐม เนื้อที่ผลิตประมาณ 35 ไร่ พบปัญหาก็คือว่าจากสภาพดินคือ ดินเปรี้ยว น้ำเปรี้ยวปลูกมะพร้าวถ้าเปรี้ยวอย่างนี้ ไม่มีคนซื้อ ต้องตัดทิ้งแน่! แนวทางในการแก้ไขคือ ขั้นแรกตนเองได้แนะนำให้ใส่ขี้ไก่ไปต้นละ1 กระสอบไปเลย จากนั้นประมาณ 3 เดือนทางสวนโทรกลับมาแจ้ง “ความหวาน” ได้แล้วแต่ว่ายังไม่หอม! ขั้นต่อมาคือแนะนำให้ใส่กากอ้อยที่หาซื้อได้จากโรงงานน้ำตาลซึ่งพอดีตรงกับช่วงของฤดูหน้าอ้อยโรงงานด้วย ทั้งหมดใส่กากอ้อยไปประมาณ 4 คันรถบรรทุก ถึงตอนนี้พบว่าลูกค้าให้การตอบรับมะพร้าวจากสวนดีมาก ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามะพร้าวไม่แพ้ราชบุรี ไม่แพ้บ้านแพ้ว
จากในอดีตเขตราชบุรีโดยเฉพาะละแวกของ อ.ดำเนินสะดวก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่ขึ้นชื่อเรื่องของพืชผักผลไม้เศรษฐกิจนานาชนิดที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย และจากที่เคยคิดกันว่า “มะพร้าวน้ำหอม” เป็นแค่เพียงไม้ที่ปลูกกันที่เอาไว้เพราะอยากจะให้คนเช่าที่ รายได้ที่ค่อยจูงใจมากนักหากเทียบกับพืชเศรษฐกิจอื่นที่ปลูกกันอยู่ในยุคนนั้น แต่ปัจจุบันจากการที่มี “พันธุ์ดี” เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของพื้นที่ก็ทำให้แนวคิดของเกษตรกรได้เปลี่ยนไปอย่างมาก จากตัวเลขรายได้ของมะพร้าวน้ำหอมช่วงที่พีคสุด ๆ เมื่อปี 2559-2561 คุณประยูรบอกว่ายุคนั้นชาวสวนขายมะพร้าวได้รายได้กว่า แสนบาท/ไร่/ปี บวกลบขึ้น-ลงของราคาในตอนนั้น กระทั่งมาถึงในระยะหลังช่วงปี 2562 เรื่อยมาจนตอนนี้ ตัวเลขรายได้สวนมะพร้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่น/ไร่/ปี บวกลบขึ้น-ลง แต่ถ้าดูแลก็ขยับขึ้นไปอีกได้กว่า 7-8 หมื่นบาทก็มี หรือถ้าดูแลไม่ดีก็ร่วงลงมาได้เหมือนกันอยู่ที่3-4 หมื่นบาท/ไร่ กรณีให้เทวดาช่วยเลี้ยง กระแสในเรื่องของมะพร้าวน้ำหอมมีความสนใจแทบจะ 90% แล้วในพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ความน่าสนใจสำหรับการลงทุนอีกอย่างคือว่า มะพร้าวน้ำหอมจะมีต้นทุนผลิตอยู่แค่ประมาณ 2-3 บาท/ลูกเท่านั้น
คุณประยูรบอกว่าหากเทียบกับพืชอื่นตัวเลขรายได้อาจจะดูไม่สูงเท่าแต่ทว่าหลังจากหักลบต้นทุนต่าง ๆ ออกทั้งหมดแล้วนำมาเทียบกันมะพร้าวน้ำหอมนับว่ามีความคุ้มค่าให้กับชาวสวนได้มากกว่าในหลาย ๆ เรื่องที่พืชอื่นยังทำไม่ได้
ทั้งนี้ สำหรับคนที่สนใจหรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของ “พันธุ์ดี” มะพร้าวน้ำหอมสายพันธุ์ไหนที่น่าสนใจในเชิงการลงทุนและสามารถส่งออกได้ดีซึ่งสำหรับ “คุณประยูร วิสุทธิไพศาล” นับว่าเป็นอีกแหล่งข้อมูลหนึ่งที่รับรองได้ว่าคุณไม่ผิดหวังจากกูรูมะพร้าวน้ำหอมท่านนี้อย่างแน่นอน สอบถามเพิ่มเติมโทร.081-736-8874
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *