xs
xsm
sm
md
lg

ลาออกงานเงินเดือนเปลี่ยนสู่พ่อค้า “ซาลาเปา-ขนมจีบ ทับหลี” เน้นทำสดใหม่ ขายดีไม่เกิน 3 ชม.ของหมดเกลี้ยง!!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สมัยก่อนแม่พี่อยู่ที่กระบุรีเปิดร้านน้ำชาจะมีซาลาเปาขนมจีบขายด้วย สูตรการทำได้มาจากตาทวดซึ่งมีเชื้อสายคนจีนที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา ซาลาเปาทับหลีจะมีเอกลักษณ์คือแป้งและก็ไส้สังเกตดูจะไม่เหมือนทั่วไป เพราะกรรมวิธียังเน้นแบบคนสมัยก่อนทำ”

ซาลาเปาทับหลี
ในวัย 49 ปีที่กล้าตัดสินใจเปลี่ยน! จากงานเงินเดือนที่ทำมานานเกือบ ๆ20 ปีทั้งที่ยังมีภาระหลักอยู่คือ “ลูก” ซึ่งกำลังวัยรุ่นวัยเรียนต้องส่งเสียให้เรียนหนังสือต่ออีกหลายปีเลยกว่าจะจบ แต่ทว่า “พี่ธร-พงศธร ชูภู่”หนุ่มเลือดใต้จากเมืองระนองก็บอกว่าขอพอแล้วกับชีวิตการทำงานโรงงาน เพราะสุขภาพก็เริ่มไม่เอื้ออำนวยด้วยอาการปวดขาข้างซ้าย(กระดูกทับเส้น) ที่เรื้อรังมานานหลายปี รู้สึกทรมานมากเวลายืนทำงานอยู่ในไลน์การผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับรถยนต์ นานทีละหลาย ๆ ชั่วโมงกอปรกับการต้องตื่นตี5 ออกจากบ้านเพื่อส่งลูกไปโรงเรียนก่อนแล้วตัวเองก็ไปทำงานต่อ 2 ทุ่มถึงได้กลับถึงบ้านทุกวัน เป็นอย่างนี้มานานเกินไปแล้วมันน่าจะมีอะไรที่ชีวิตดีขึ้นกว่านี้ได้สิ! ก็เลยไปปรึกษาพี่สาวบอกเขาว่าอยากจะหาอะไรทำสักอย่างหนึ่งแล้ว เป็นหนุ่มโรงงานไปตลอดแบบนี้คงไม่น่าจะไหวแน่! พี่สาวก็เลยบอกพี่มีสูตรขนมของแม่อยู่นะสนใจลองทำขายดูไหม ทำให้หวนนึกขึ้นได้ตอนที่ยังรุ่น ๆ อยู่ใต้กับแม่ยังไม่ได้ขึ้นมาที่กรุงเทพฯ เคยทำของพวกนี้ช่วยแม่ขายอยู่บ้างนี่นา การรื้อฟื้นวิชา “ซาลาเปา-ขนมจีบ” สูตรของแม่ขึ้นมาอีกครั้ง จดรายละเอียดทุกอย่างตามที่พี่สาวบอกมาแล้วลองทำตาม ที่เคยเห็นแม่ทำมาลองปรับลองทำจนกระทั่งคิดว่านี่แหละ ใช่แน่! ซึ่งทุกอย่างคือจะใช้ความคุ้นเคยจากที่เห็นแม่ทำมา พอทำได้แล้วเอาไปให้คนอื่น ๆ ลองชิมดูเขาก็บอกโอเคนะและจนกระทั่งมาลองขายดู ซึ่งลูกค้าก็บอกโอเคเลยทำให้มั่นใจ

ไส้หมูสับที่มีไข่ด้วยนะ
ทิ้งความแน่นอนเรื่องรายได้เพื่อมาเป็น “พ่อค้า”
พี่ธรเล่าว่า การตัดสินใจแรก ๆ เลยก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน ถ้าหากขายไม่ได้ ไม่มีคนกินเลยแล้วจะทำยังไง เพราะเรายอมทิ้งเงินเดือนที่เคยได้แน่ ๆ ต่อเดือนมาคราวนี้ซึ่งไม่รู้ว่าข้างหน้าจะดีหรือไม่ดีแค่ไหน แต่ก็มีแรงฮึดมาจากพี่สาวที่พูดคำหนึ่งว่ามันอยู่ที่เราจะกล้าเปลี่ยนมั้ย” จากนั้นก็เลยตัดสินใจที่จะเดินหน้าต่อคิดเพียงว่า ถ้าได้ดีก็ดีไป แต่ถ้ามันไม่ได้จริง ๆ ก็ค่อยหาอะไรอย่างใหม่ทำต่อไปก็ได้ อาศัยว่ายังพอมีทุนที่เก็บ ๆ มาอยู่บ้างก็มาทำโดยเริ่มต้นจากการ ใช้ทุนที่ไม่ได้สูงมากนักการทำซาลาเปากับขนมจีบสามารถที่จะใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในครัวของแต่ละบ้านทำได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องพึ่งเครื่องจักรกลช่วยในการทำเสมอไป ความแตกต่างของซาลาเปาทับหลีคือเรื่อง แป้ง ที่เลือกใช้เฉพาะซึ่งต้องเป็นแป้งแบบนี้เท่านั้น ส่วนเรื่องไส้ก็จะมีตัวหลัก ๆ แต่เน้นว่ากรรมวิธีการทำคือ จะทำแบบคนสมัยก่อนไม่ได้มีความเนียนละเอียดมากแบบการใช้เครื่องทำ เป็นแบบทำด้วยมือซึ่งจะเห็นว่ารสสัมผัสของเนื้อไส้ก็จะดูแตกต่างไปจากซาลาเปาที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดในภาคกลางทั่วไปเลย

ไส้ถั่วดำ
ขาย “ซาลาเปา-ขนมจีบ ทับหลี”
จุดเริ่มต้นของการเป็นที่รู้จักสำหรับ “ซาลาเปาทับหลี” พี่ธรเล่าให้ฟังด้วย ทับหลีคือเป็นชื่อตำบล ๆ หนึ่งในอำเภอกระบุรี ซึ่งจะมีคนจีนที่ริเริ่มในการทำขายก่อนกอปรกับทำเลตรงนั้นเป็นทางผ่านที่นักท่องเที่ยวสามารถแวะซื้อของฝากเวลามาเที่ยวชายแดน “ไทย-พม่า” หลังการท่องเที่ยวชมวิวทิวทัศน์สวยงามเสร็จแล้วจะเดินทางกลับบ้านก็แวะซื้อของฝากได้ จริง ๆ สูตรการทำซาลาเปาจะไม่ได้มีการบอกกันง่าย ๆ เป็นเพียงแต่การสืบทอดต่อ ๆ กันมาในครอบครัวเท่านั้น อย่างตนเองก็ถือว่าเป็นรุ่นที่สืบทอดมาจากแม่ขณะที่แม่เองก็ได้มาจากยายซึ่งยายได้มาจาก “ตาทวด” อีกทีเพราะมีเชื้อสายคนจีนที่ทำขนมพวกนี้เป็นมาอยู่แล้ว ตอนหลัง ๆ ก็เริ่มมีการทำขายกันมากขึ้นจนเกิดเป็นเหมือนชุมชนของร้านซาลาเปาที่ตั้งร้านขายอยู่ติด ๆ กันหลายสิบร้านขึ้นที่ทับหลี กลายเป็นจุดแวะซื้อของฝากที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดี แต่สำหรับในส่วนของแม่คือว่าจะเปิดเป็นร้านน้ำชาให้คนมานั่งกินที่ร้านด้วย ถือว่าเป็นร้านแรก ๆ ที่เปิดก่อนใครในละแวกก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องการสืบทอดซาลาเปาทับหลีจริง ๆ ก็มีพี่ชายอีกคน(ลูกชายลุง) ที่เขาทำอย่างจริงจังต่อจากพ่อของเขาอยู่ก่อนหน้าแล้ว แต่ในขณะที่ตนเองมาสืบทอดหลังจากที่แม่เสียไปนานกว่า20ปีแล้ว ด้วยเพราะมาทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ และจนกระทั่งว่าคิดอยากจะเปลี่ยนอาชีพแล้ว การรื้อฟื้นวิชาของแม่กลับมาทำซึ่งมันก็สอนอะไรได้หลาย ๆ อย่างแต่ว่าสิ่งหนึ่งคือ เทคนิควิธีการต่าง ๆ ของแม่เคยทำมามันยังดีและพอทำตามออกมาแล้วพบว่า ลูกค้าก็ให้ตอบรับที่ดีด้วย

ขนมจีบไส้หมูสับ น้ำจิ้มทำเอง กล่องละ 20 บาท


เน้นความสดใหม่ ทำขายวันต่อวันเท่านั้น!
พี่ธรบอกว่า ของที่ทำออกมาขายแต่ละวันจะเน้นการทำ “ใหม่วันต่อวัน” เท่านั้น จะไม่มีของค้างคืนที่เอามาขายอย่างเด็ดขาด
เพราะแม่เคยสอนไว้ว่าขายได้มากได้น้อยไม่สำคัญเท่าให้คนกินแล้วเขารู้สึกว่า มันเป็นของดี เขากินแล้วรู้สึกอร่อยก็พอ ทุกอย่างจะเน้นการทำเองทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น สูตรแป้ง สูตรการทำไส้ รวมไปถึงน้ำจิ้ม (ขนมจีบ) ด้วย จะทำวันนี้สำหรับการขายเฉพาะของวันนี้เท่านั้นอย่างตอนนี้ซึ่งตนเองจะมีทำเลขายประจำอยู่ 2 ที่ ใน1 วัน ก็คือ ตอนเช้า เริ่มตั้งร้านประมาณตี 5 ครึ่งเป็นต้นไป อยู่ที่หน้าตลาดมาลีสาย4 (ถนนพุทธมณฑลสาย4) กับอีกทีคือ ตอนบ่าย เริ่มตั้งร้านบ่าย2 โมงเป็นต้นไป อยู่บริเวณใกล้ ๆ กับหน้าโรงเรียนบ้านขุนประเทศ ซอยเพชรเกษม110 (วัดไผ่เลี้ยง) ไปขอตั้งร้านที่หน้าบ้านของพี่ที่รู้จักกันซึ่งเขาก็ให้ความช่วยเหลือเต็มที่รวมถึงที่หน้าตลาดมาลีด้วยซึ่งเจ้าของตึกที่ไปตั้งร้านขายอยู่ด้านหน้าก็ใจดีให้ขายฟรีไม่ต้องจ่ายค่าที่ ดังนั้นแต่ละวันก็คือจะพยายามกะปริมาณให้พอดี ๆ ต่อการขายหมดต่อวันเท่านั้น ช่วงขายตอนเช้าก็จะเตรียมของทำไว้สำหรับขายเช้า ของขายบ่ายก็จะเตรียมเอาไว้แล้วกลับมาทำต่อหลังขายเช้าเสร็จ อย่างซาลาเปาที่ทำอยู่จะมีหลัก ๆ ตอนนี้อยู่ 3 ไส้ คือ ไส้หมู ไส้สังขยาใบเตย และไส้ถั่วดำ พี่ธรบอกว่า อย่างไส้หมูสับจะใช้หมูเป็นแบบ “หมูบด” เท่านั้นกับมีผสมมันหมูเข้าไปด้วยนิดหน่อยตามสูตรที่แม่เคยบอกไว้ ซึ่งจะช่วยให้ไส้จะไม่จับตัวกันแน่นหรือแข็งเกินไปจนทำให้กินไม่อร่อย ไส้ถั่วดำก็จะทำแบบแช่น้ำไว้ให้ถั่วพอง ๆ ก่อนค่อยนำไปต้มให้สุกเปื่อยดีแล้ว จึงค่อยนำมาตำ ไม่ผสมแป้งหรือว่าใส่น้ำตาลไปจนกระทั่งหวานเกิน จะเน้นรสชาติแบบไม่ปรุงแต่งจนมากไป ไส้สังขยาใบเตยก็จะคั้นน้ำใบเตยเองเพราะจะกลิ่นหอมกว่า เป็นต้น

ส่วน “ขนมจีบ” ก็จะใช้หมูบดทำเป็นไส้เหมือนกัน ปรุงรสของไส้ขึ้นมาเอง จะทำไส้หมูไส้เดียวก่อนในช่วงแรก ๆ นี้ แล้วก็ใช้วิธีการต้มเพื่อให้ได้เนื้อของขนมจีบเมื่อสุกดีแล้วมีความนุ่มฟู หมูเด้ง กินอร่อยกว่าแบบนึ่ง ซึ่งถ้านึ่งจะสังเกตเลยว่าตัวแป้งก็จะมีความแข็งหรือแห้งไวกว่าเมื่อวางไว้โดนลม ทำให้รสสัมผัสเสียหายได้เร็วกว่าแบบต้ม และก็ตัวของ “น้ำจิ้ม” พี่ธรบอกว่าก็จะจำแม่มาอีก คือไม่ว่าจะทำน้ำจิ้มอะไรก็ให้มีติด3 รสนี้ไว้ คือ เผ็ด เปรี้ยว หวาน สำหรับขนมจีบตนเองก็จะมีการเคี่ยวน้ำจิ้มขึ้นมาเองด้วย ซึ่งสำหรับปริมาณในการทำขายต่อวัน (แบบพอดี ๆ สำหรับการขายหมด) ซาลาเปาก็จะทำอยู่ระหว่าง 30-40 ลูก ขนมจีบประมาณ30 กล่อง(7 ลูก/กล่อง) และอีกส่วนสำหรับแบ่งขายให้เด็ก ๆ นับเป็นลูกตามแต่ว่าเด็ก ๆ เขาจะมีตังค์มาซื้อเท่าไหร่ก็แบ่งขายให้ได้ บางครั้งก็แถมให้ด้วย


“ความมั่นคง” อยู่ที่ตัวเรา
“พี่ลาออกจากงานมาเมื่อวันที่6 เมษาฯ ปีนี้เอง ตัดสินใจเลย ทิ้งเงินเดือน 13,480 บาท พี่ทำงานที่นี่มาเกือบ ๆ จะ20 ปีแล้วเหลืออีก 6-7ปีก็จะเกษียณแต่ว่า เราตัดสินใจไม่รอดีกว่าออกมาสู้เองลองดู”จากวันนั้นถึงวันนี้พี่ธรบอกว่าสิ่งที่ได้คือ เวลา ที่เห็นได้อย่างแตกต่างเลยเมื่อก่อนออกบ้านตั้งแต่ตี5 กว่าจะกลับมาถึงบ้านอีกทีก็2 ทุ่มทุกวัน ต้องดูแลลูกเองโดยลำพังคนเดียวด้วยเพราะตนเองเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว(มีลูกสาว1 คน) เทียบกับตอนนี้หลังมาทำอาชีพพ่อค้า ออกตลาดขายของครั้งละไม่เกิน 3 ชั่วโมงก็กลับบ้านแล้ว บางที 06.30น.หรือไม่เกิน7.00 น.ก็ขายหมดแล้วในรอบเช้า หรือเต็มที่ไม่เกิน 8.00 น.แต่ส่วนใหญ่จะขายหมดไวก่อน ไม่ค่อยมีว่าของที่ทำมาขายจะเหลือ เพราะว่าอย่างที่บอกไว้คือจะกะปริมาณให้พอดี ๆ กับกำลังซื้อของลูกค้าต่อวัน หรืออย่างช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ตลาดเช้าคนมักจะเยอะกว่าปกติโดยเฉพาะวันอาทิตย์ ก็อาจจะเพิ่มปริมาณของการขายขึ้นมาอีกหน่อยนึง เพราะว่าช่วงบ่ายจะหยุดไม่ได้ไปขายที่โรงเรียนถือเป็นวันพักผ่อนไปด้วยในตัว (ช่วงบ่าย) ขายเฉพาะตอนเช้าซึ่งปรากฏว่า ก็ยังขายได้ดีอยู่ ขายหมดทุกวันอีกเช่นกัน และก็ถือว่าไวอยู่ทำให้ตนเองมีเวลาเหลือสำหรับความเป็นส่วนตัวเมื่อเทียบกับเมื่อก่อนมากขึ้น ขณะที่เรื่องของ “รายได้” จากราคาขายต่อหน่วยเพียง 10 บาทและ 20 บาท/กล่อง พี่ธรบอกว่าหลังหักลบต้นทุนต่าง ๆ แล้วก็ยังเหลือไม่น้อยหน้าไปกว่าการทำงานเงินเดือนเลย! เป็นความพอเพียงที่รู้สึกว่าพอใจ เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ความกลัวในวันนั้นที่ตัดสินที่จะ “เปลี่ยน” คือมันสามารถรักษาความมั่นคงเรื่องของ “รายได้” ให้กับเราได้คืนมาอย่างไม่แพ้กัน แถมยังได้ชีวิตที่เป็นอิสระอย่างไม่คาดคิดว่าหากเราไม่กล้าเปลี่ยนในวันนั้น จะได้พบกับวันนี้ที่ดีขึ้นกว่า! อย่างที่ใจเคยคิดเอาไว้ไหม และยังมีอะไรอีกหลาย ๆ อย่างที่พี่ธรบอกว่าเตรียมจะทำต่อเพื่อให้อาชีพค้าขายนี้มันไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีการสะดุดหยุดลงอีกต่อ ๆ ไปด้วย

สนใจแวะชิม “ซาลาเปา-ขนมจีบ ทับหลี” ฝีมือหนุ่มใต้เลือดระนอง “พี่ธร-พงศธร ชูภู่” ได้ที่ตลาดมาลีเช้าสาย4 หรือโทร.098-808-4953

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น