xs
xsm
sm
md
lg

ส.สิ่งทอฯ จับมือ TTRI เปิดศูนย์ทดสอบและรับรองสิ่งทอไทย-ไต้หวัน เร่งทดสอบสินค้าป้อนตลาดอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จับมือ สถาบันวิจัยสิ่งทอแห่งไต้หวัน ร่วมเปิดศูนย์ทดสอบและรับรองสิ่งทอไทยไต้หวัน ไต้หวัน เร่งพัฒนาบริการทดสอบ ด้านเทคนิค ฟังก์ชั่น และสิ่งทอทางการแพทย์ เน้น One Stop Service พร้อมเป็นศูนย์กลางการทดสอบสินค้าสิ่งทอป้อนสู่ตลาดอาเซียน ซึ่งงานนี้ได้รับเกียรติจาก Mr.Lin Chuan-Neng ผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงเศรษฐกิจ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มาเป็นประธานร่วมในการเปิดงานครั้งนี้ด้วย


นายปราโมทย์ วิทยาสุข ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดำเนินงานภายใต้ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของประเทศ มีภารกิจ ด้านการพัฒนา วิจัย เพิ่มผลิตภาพ เพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งด้านแนวคิดสร้างสรรค์ ด้านอุตสาหกรรม และบุคลากร พร้อมผลักดันเรื่องมาตรฐาน ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานที่ผ่าน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ได้เริ่มมีความร่วมมือและเป็นพันธมิตรกับ สถาบันวิจัยสิ่งทอของไต้หวัน ตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยในปี 2560 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดความร่วมมือทางอุตสาหกรรมไทย-ไต้หวัน (Taiwan – Thailand industrial collaboration Summit : TTICoS) ณ ประเทศไทย พร้อมกับการลงนามบันทึกความเข้าใจฉบับแรกของ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (Thailand Textile Institute : THTI) และ สถาบันวิจัยสิ่งทอแห่งไต้หวัน (Taiwan Textile Research Institute : TTRI) เพื่อให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมสิ่งทอของทั้งสองประเทศ ในด้านเทคโนโลยีการทดสอบสิ่งทอ และบริการสำหรับสิ่งทอทางเทคนิค ที่มีคุณสมบัติพิเศษเชิงฟังก์ชั่น รวมถึงการกระชับความร่วมมือเชิงลึก เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความสามารถ ด้านเทคนิค และการพัฒนาตลาด


โดยในช่วงวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 ปี ที่ผ่านมายังคงดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องผ่านทางออนไลน์ สถาบันวิจัยสิ่งทอแห่งไต้หวัน ซึ่งมีความสามารถด้านการทดสอบคุณสมบัติพิเศษเชิงฟังก์ชั่นที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย ได้ให้ความช่วยเหลือและมีความร่วมมือด้านการทดสอบอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) รวมถึงหน้ากาก และชุดป้องกัน ภายในระยะเวลาอันสั้น พร้อมการรับรองอย่างเร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤตการขาดแคลนสิ่งทอทางการแพทย์ ระหว่างนั้น ได้มีการประชุมสุดยอด TTICoS ปี 2564 สถาบันวิจัยสิ่งทอแห่งไต้หวัน เล็งเห็นถึงศักยภาพของ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฉบับใหม่ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการทดสอบและการรับรองสิ่งทอทางการแพทย์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันข้อมูลและประสบการณ์ โดยมีเป้าหมายจัดทำแผนการรับรองแบบสองทาง สำหรับการรับรอง สิ่งทอป้องกันที่มีคุณสมบัติพิเศษเชิงฟังก์ชั่น ทางเทคนิค และทางการแพทย์ พร้อมจัดตั้งศูนย์บริการทดสอบและรับรองสิ่งทอไทย-ไต้หวัน

ความร่วมมือกับไต้หวันนั้นมีมานานกว่า 17 ปี ซึ่งรูปแบบการทำงานมีความคล้ายคลึงกันและได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องแล็ปและงานวิจัยเป็นหลัก ซึ่งงานวิจัยและแล็ปของไต้หวันมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ในการร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา เนื่องด้วยในช่วงแพร่ระบาดนั้นไม่มีใครทราบได้ว่าจะมีหน้ากากอนามัยเพียงพอต่อการงานใช้งานหรือไม่ และต่อให้เพียงพอต่อการใช้งานเรื่องมาตรฐานก็เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากในช่วงที่แพร่ระบาดอย่างหนัก ซึ่งทางสถาบันฯ เองที่นอกจากจะตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานหน้ากากอนามัยแล้วยังรวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ ซึ่งในช่วงนั้นเองทางสถาบันฯ ได้รับความร่วมมือจากไต้หวันเป็นอย่างดีทำให้เกิดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับหน้ากากอนามัยและเครื่องมือแพทย์ เนื่องจากทางสถาบันฯ ได้มีนวัตกรรมและเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยให้กับสินค้านั่นเอง

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าไปตรวจสอบคุณภาพสินค้าและมาตรฐานนั้นไม่จำเป็นต้องส่งไปที่ไต้หวันอีกต่อไปเพราะทางสถาบันฯ สามารถตรวจสอบและมีเครื่องมือรองรับได้เช่นเดียวกัน ปัจจุบันมียอดการเข้ามาตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังจะได้ประโยชน์อื่นนอกจากมาตรฐานและคุณภาพส่งออก คือ ได้เนื้อผ้าที่มีคุณภาพ เนื้อผ้าที่ไม่มีสิ่งปนเปื้อน เป็นต้น สำหรับเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทางสถาบันฯ สามารถตรวจสอบและได้มาตรฐานคุณภาพได้เป็นอย่างดี ได้แก่ เสื้อกาวน์ หน้ากากอนามัย ถุงมือ รองเท้า รวมถึง ชุดคนไข้ เป็นต้น


ด้าน Dr.Robert Jou, Vice President Taiwan Textile Research Institute กล่าวว่า ในปี 2566 นี้ ได้มีการประชุมสุดยอด TTICoS 2023 อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสอันดี ในการเปิดศูนย์บริการทดสอบและรับรองสิ่งทอไทย-ไต้หวัน (THAILAND-TAIWAN TEXTILE TESTING AND CERTIFICATION SERVICE CENTER) ร่วมกันอย่างเป็นทางการ เพื่อเร่งเพิ่มประสิทธิภาพและขยายขีดความสามารถในการทดสอบและรับรอง สิ่งทอป้องกัน ที่มีคุณสมบัติพิเศษเชิงฟังก์ชั่น ทางเทคนิค และทางการแพทย์ โดยมีแนวทางดำเนินงานร่วมกันคือ

1. ยกระดับทักษะและเทคนิคที่เกี่ยวข้องผ่านการเรียนรู้ร่วมกันและการแลกเปลี่ยนเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

2. ปรับปรุงการควบคุมคุณภาพผ่านมาตรฐานและขั้นตอนการทดสอบทั่วไปเพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และเพิ่มความพึงพอใจของผู้บริโภค

3. ยกระดับความสามารถในการแข่งขันระดับสากลด้วยการพัฒนาความสามารถในการทดสอบร่วมกันให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ ความร่วมมือกันครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งทางไต้หวันมีส่วนช่วยเทรนด์บุคลากรของทางสถาบันฯ ซึ่งในระหว่างความร่วมมือก็ได้มีการพัฒนาและทดสอบของสถาบันฯ และขยายขอบข่าย ซึ่งโดยทางไต้หวันจะทำหน้าที่เช็คและตรวจสอบผลของสถาบันฯ ว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ กล่าวคือไต้หวันรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการแนะนำและตรวจสอบผลที่ได้

นอกจากนี้สถาบันวิจัยสิ่งทอแห่งไต้หวัน จะเน้นผลิตเส้นด้าย ผ้า ฟอกย้อม และมีความเชี่ยวชาญเรื่องเส้นใยประดิษฐ์มากกว่าเส้นใยธรรมชาติ ต่างกับของไทยที่จะเน้นเส้นใยธรรมชาติแต่ของไต้หวันจะเน้นเป็นเทคโนโลยีมากกว่า โดยในปัจจุบันได้มีการร่วมมือสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น


อย่างไรก็ตาม จากองค์ความรู้ด้านการทดสอบที่ก้าวหน้าและมีศักยภาพของ สถาบันวิจัยสิ่งทอแห่งไต้หวัน ผสานความร่วมมือกับ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จะช่วยยกระดับทักษะการทดสอบ เทคโนโลยี เพิ่มรายการทดสอบสิ่งทอและการรับรองได้ในไทย ช่วยลดต้นทุนการส่งทดสอบ แก่ผู้ประกอบการ SME และอุตสาหกรรมไปยังต่างประเทศได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถขยายฐานการทดสอบด้านมาตรฐานอุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยและไต้หวันให้ไปสู่ตลาดต่างประเทศ และเร่งเดินหน้าครอบคลุมไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยสถาบันฯ สิ่งทอ ตั้งเป้าพัฒนา เพื่อให้ “ศูนย์บริการทดสอบและรับรองสิ่งทอไทย-ไต้หวัน” เป็น One Stop Service ที่ได้มาตรฐานและใหญ่ที่สุดของอาเซียน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ทำความเข้าใจแนวโน้มการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยและตลาดสิ่งทออื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น