xs
xsm
sm
md
lg

19 ปี OKMD ต่อยอดสังคมแห่งการเรียนรู้ สู่แพลตฟอร์ม “Knowledge Portal” รองรับโลกเปลี่ยน ทุกคนเข้าถึงได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ได้จัดงาน “Thailand Knowledge Landscape” ในโอกาสครบรอบ 19 ปี ของการดำเนินงาน ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการวิวัฒนาการและการเติบโตของ OKMD ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และบริหารงาน ภายใต้สโลแกน “กระตุกต่อมคิด” ด้วยความมุ่งมั่น ที่จะพัฒนาความคิด เพิ่มความรู้ สร้างสรรค์ต่อยอดภูมิปัญญาให้สังคมไทย เป็นสังคมที่มีองค์ความรู้ จวบจนปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมไทย OKMD ก็ได้ปรับบทบาทพัฒนาองค์ความรู้และออกผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อตอบโจทย์สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งต่อองค์ความรู้ ไปยังเครือข่ายและขยายผลทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีปาฐกถาพิเศษ และการเสวนาในหัวข้อ “Thailand Knowledge Landscape” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานเครือข่าย


เป้าหมายให้ไทยเป็นสังคมก้าวหน้า

ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานกรรมการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า เมื่อ 19 ปีที่แล้ว รัฐบาลได้ตั้ง OKMD ขึ้นมา เพื่อให้ประเทศไทยขับเคลื่อนการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึง การพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จวบจนปัจจุบันที่เรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งมีหมุดหมายให้ไทยเป็นสังคมก้าวหน้า พัฒนาคนในโลกยุคใหม่ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งโอกาสและมีความเป็นธรรม ซึ่ง OKMD มีส่วนร่วมในการพัฒนา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตามหมุดหมายดังกล่าว โดยได้พัฒนา ทั้งเรื่องของคอนเทนท์ รูปแบบการเรียนรู้ที่น่าสนใจ ทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ในที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยขึ้นอีกมากมาย ถือเป็นผลงานความสำเร็จที่น่ายินดี

“ตลอด 19 ปี จึงเป็นช่วงที่สั่งสมศักยภาพพร้อมที่เรียนรู้และรับผิดชอบในเรื่องสำคัญมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดที่เรากำลังยืนอยู่และก้าวต่อไป และพร้อมที่จะปรับตัวเพื่อให้ทันต่อโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก้าวต่อไปของ OKMD ต้องปรับตัวให้เป็นคนที่อยู่ในแนวหน้า ทำสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นต้นแบบ และถ่ายทอดไปยังแหล่งคนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึง ลดความเหลื่อมล้ำของคนไทย และต้องมีโครงการแนวการเรียนรู้ใหม่ๆ ระดับโลก การเปิด OKMD Knowledge Portal จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรใหม่ๆ การบริหารจัดการและการรวบรวมองค์ความรู้อย่างมืออาชีพ ทำให้คนไทยรู้เท่าทันโลก พัฒนาต่อยอดความรู้ เพื่อตนเอง สังคมและเพื่อประเทศไทย” ดร.ปรเมธี กล่าว


26 องค์กรพันธมิตรขับเคลื่อนความรู้สู่สังคมไทย

ด้าน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 19 ปี ในการดำเนินงานของ OKMD เต็มไปด้วยการพัฒนาการเรียนรู้ในทุกมิติ ทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ ขับเคลื่อนนวัตกรรมทางความคิด เพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของคนทุกช่วงวัย ผ่านกระบวนการเรียนรู้สาธารณะที่เสริมศักยภาพคน ในรูปแบบการสร้างแหล่งบริการองค์ความรู้รูปแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ทันสมัย มีชีวิตชีวา เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งนี้ จากการประเมินมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ในปี 2566 ของผู้เชี่ยวชาญภายนอก อย่างบริษัท นิคเคอิ รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า okmd สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจสุทธิได้จำนวน 10,438.96 ล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มทางสังคมได้ถึง 6,615.19 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า okmd สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมถึง 17,054.15 ล้านบาท

ผู้อำนวยการ OKMD กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่โลกยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราได้เล็งเห็นถึงความจําเป็นในการพัฒนาต่อยอดแหล่งเรียนรู้ให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอนาคต จึงร่วมมือกับอีก 26 องค์กรพันธมิตรขับเคลื่อนความรู้สู่สังคมไทย ได้แก่ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมวิชาการเกษตร กรมศิลปากร กรมอนามัย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง บริษัท แกมมาโก้ ประเทศไทย จำกัด คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP)

รวมทั้ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ สถาบันวิทยาลัยชุมชน สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หอการค้าจังหวัดสกลนคร องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสิงห์บุรี ในการร่วมมือในการสนับสนุนและพัฒนาบริการองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งใน ศูนย์กลางการเรียนรู้ออนไลน์ของประเทศ ภายใต้ชื่อ OKMD Knowledge Portal



OKMD Knowledge Portal แพลตฟอร์มเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ

“OKMD Knowledge Portal เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ออนไลน์จากทั่วประเทศ ประกอบด้วยข้อมูลความรู้และหลักสูตรออนไลน์จำนวนมาก ที่ได้รับการบริหารจัดการความรู้อย่างเป็นมืออาชีพ โดยมีการจัดหมวดหมู่ความรู้ที่ชัดเจน มีการพัฒนาเนื้อหาให้ง่ายต่อความเข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้ทันที มีรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยและหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการและพฤติกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป และเป็นการพัฒนาศักยภาพให้คนไทยสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ตลอดจนนำเอาความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและการประกอบอาชีพ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ” ผู้อำนวยการ OKMD กล่าว

สำหรับระบบการให้บริการของ Knowledge Portal นั้น ดร.ทวารัฐ ระบุว่า มี 4 ระบบ ได้แก่ 1. Library for All (ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์) ประกอบด้วยสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบ E-book, E-magazine, Audiobook และ Podcast ที่เชื่อมโยงกับห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ กว่า 10 แห่ง มีฐานข้อมูลหนังสือหลายหมื่นเล่ม 2. Online Learning Center ประกอบด้วย หลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ คลิปความรู้ในด้านต่างๆ ทั้งหลักสูตรระยะสั้นและระยะยาว ที่ผู้เรียนสามารถนำไปเทียบกับรายวิชาเดียวกันที่สอนอยู่ในสถานศึกษาต่างๆ เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต

และ 3. The Knowledge Sharing (พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ออนไลน์) เป็นพื้นที่ออนไลน์สาธารณะที่ประชาชนสามารถนำข้อมูลความรู้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นพื้นที่แสดงผลงานทางวิชาการเพื่อให้ความรู้แลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็น และเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ในประเด็นต่างๆ ที่ประชาชนมีความสนใจร่วมกัน รวมถึงเป็นพื้นที่อิสระที่ประชาชนสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวคิดเกี่ยวกับสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนและสังคม และ 4. AI Search Engine หรือระบบค้นหาและแนะนำเว็บไซด์อัจฉริยะ เป็นระบบสืบค้นอัตโนมัติ ทั้งในรูปแบบ Chatbot และ AI Search ที่มีระบบช่วยคัดกรองเนื้อหา ช่วยให้การสืบหาข้อมูลความรู้มีความสะดวกสบายและรวดเร็ว มีการคัดเลือกเว็บไซต์ที่มีข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์ มีความถูกต้อง และเชื่อถือได้ รวมถึงมีการแนะนำเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงเพื่อให้ผู้ใช้งานได้รับข้อมูลความรู้ที่มีความครบถ้วนหลากหลายแง่มุม


จุดเด่นแตกต่างจากแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์อื่นๆ

ดร.ทวารัฐ กล่าวด้วยว่า OKMD Knowledge Portal มีจุดเด่นที่แตกต่างจากแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์อื่นๆ
คือ นอกจากจะเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ทั่วประเทศแล้ว ยังเน้นเรื่อง กระบวนการจัดการความรู้ โดยจะมีทีมงานที่เป็น Curator ทำหน้าที่รวบรวม แบ่งหมวดหมู่ คัดสรร ประมวลความรู้ องค์ความรู้ในด้านต่างๆ และสื่อการเรียนรู้ที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของของโครงการเอง และองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงมาจากแหล่งเรียนรู้เครือข่าย เพื่อบริหารจัดการเนื้อหาหรือองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ และชุดความรู้ หลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย จุดเด่นประการที่สองคือ KP ยังมี กระบวนการสร้าง Knowledge demand เพื่อกระตุ้นความอยากเรียนรู้ สร้างความสนใจใฝ่รู้ให้เกิดกับประชาชน ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้การถ่ายทอดความรู้เป็นไปอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ

“ผลสำเร็จของการดำเนินงาน 19 ปีที่ผ่านมา เป็นความภาคภูมิใจของเราที่มีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย วันนี้ โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ OKMD มุ่งมั่นเป็นหน่วยงานหลักที่จะเชื่อมโยงองค์ความรู้ในสังคมไทยเข้าด้วยกัน สร้าง Thailand Knowledge Landscape ที่เติบโตขึ้น ให้สังคมไทยสามารถก้าวสู่การเป็นสังคมอุดมปัญญาพร้อมแปลงเปลี่ยนความรู้ให้เป็นโอกาส ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในโลกยุคใหม่ที่ไร้พรมแดน และในปีที่ 20 ของ OKMD เราจะดำเนินการใน 3 เรื่องสำคัญ คือ 1) สร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ และหลากหลายรูปแบบ ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และเชื่อมโยงเข้ากับพันธมิตร ทั้งรูปแบบดิจิทัล และทางกายภาพ เช่น สร้างเส้นทางการท่องเที่ยว เป็นต้น แนวคิดที่จะทำให้การเรียนรู้เป็นรูปแบบตามอัธยาศัย นอกห้องเรียน 2. สร้างต้นแบบการเรียนรู้ อย่างอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบ TK park พัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ฯลฯ และ 3.สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ เพราะเรื่องการเรียนรู้ เป็นการสร้างเครือข่ายให้เกิดความเชื่อมโยงกัน มีการจัดกิจกรรมร่วมกัน” ดร.ทวารัฐ กล่าว


การเปลี่ยนแปลงเร็วกระทบต่อการเรียนรู้อย่างน่าห่วง

ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร กล่าวในช่วงหนึ่งของการเสวนา ว่า การเรียนรู้ในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงเร็ว มีทั้งส่วนที่ดีขึ้น และส่วนที่ น่าเป็นห่วง แต่การเข้าถึงความรู้ค่อนข้างจะเท่าเทียมกัน แม้จะยังไม่ทั้งหมดแต่ถือว่าดีกว่าเดิมมาก เช่น พิพิธภัณฑ์ก็พัฒนาดีกว่าเดิมมาก ตอนนี้จะเรียนที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องออกไปเรียนต่างประเทศ อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ คนมีความเข้าใจความเท่าเทียมมากแค่ไหน รวมถึงการเลือกเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัญหาของเด็กรุ่นใหม่อย่างมาก อย่างแรกคือตั้งคำถามไม่ถูก และสอง คือคนเดี๋ยวนี้จะรู้แบบผิวเผิน ไม่รู้ลึก ทำให้เกิดความรู้เทียมขึ้นมาแทน ดังนั้นหากต้องการให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ต้องยอมรับที่จะอยู่กับความจริง ไม่รู้ก็ต้องยอมรับว่าไม่รู้ ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง รู้ทุกอย่าง จะทำให้เป็นสังคมแห่งการรู้ลึกรู้จริง

ส่วน นายธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัท บลูบิล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง Active Learning Society ว่า อดีตความรู้เป็นเรื่องจำกัด แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เวลานี้ประเทศไทยตกเป็นอาณานิคมของเทคโนโลยีต่างชาติ เนื่องจากแพลตฟอร์มในไทยเป็นของต่างชาติ และคนไทยได้ให้ข้อมูลไปต่างชาติไปทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องที่เราเสียเปรียบ นอกจากนี้ เรายังมีเรื่องความแตกต่างระหว่างวัย เรามักจะมองว่า Gen ใหม่มีปัญหา แต่จริงๆ แล้ว Gen ใหม่รับข้อมูลได้ดี ไม่มีปัญหา แต่คนรุ่นเก่ามีปัญหาเยอะมาก และยากมากที่จะรองรับการเรียนรู้ใหม่ๆ ยิ่งเชื่อความรู้เดิม ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการคน ทำอย่างไรถึงเกิดการเรียนรู้ หัวใจหลักของการเปลี่ยนโลก คือความกระหายใคร่รู้ อยากรู้อยากเห็น เช่น การตั้งคำถามทุกอย่าง หรือกระตุกต่อมคิด หรือเอ๊ะ ทำอย่างไรให้เด็กๆ รู้จักเอ๊ะได้ 

โดยที่ไม่มีใครว่า และอย่าไปบอกเด็กว่าเขาโง่ ทำบรรยากาศให้ห้องเรียน ห้องทำงาน ให้เด็กสามารถเกิดความอยากรู้อยากเห็นได้สอดคล้องกับ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่า เวลาพูดถึงเรื่องการเรียนรู้ บางทีไปปนกับความรู้ ประเด็นสำคัญคือจะกระตุ้นคนอย่างไรให้สนใจเรียนรู้ สังคมไทยขณะนี้มีปัญหาเรียนรู้ใหม่ได้ยากมากเพราะเอาแต่วนอยู่ในลูปอยู่ในมุมของตัวเอง คนรุ่นใหม่ก็เติบโตมากับการจัดการศึกษาของบ้านเรา เมื่อเขาตั้งคำถามขึ้นมา บางคำถามก็มีประโยชน์ แต่ไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดอะไร เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ได้เน้นการส่งเสริมแต่เน้นการท่องจำและให้รอที่จะรับความรู้ เป็นวัฒนธรรมส่งต่อกันมา ซึ่งเป็นการยากที่จะกะเทาะออก

“เยาวชนต้องการพื้นที่แสดงออก แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยได้เกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ทั้งที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก จำเป็นต้องสื่อสารไปยังคนรุ่นใหม่ที่มีอำนาจที่จะส่งเสียง” ผศ.ดร.อดิศร กล่าวทิ้งท้าย

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น