xs
xsm
sm
md
lg

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยผลศึกษาศักยภาพ 8 เขตประกอบการฯ 5 จังหวัดนำร่อง กางแผนพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยผลการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพเขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านการจัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) และแผนการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ใน 8 เขตประกอบการฯ นำร่อง ใน 5 จังหวัด ภายใต้กรอบการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) ในเขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน มีจุดเด่นในเขตประกอบการไทยซัมมิท เขตประกอบการแอล พี เอ็น จังหวัดสมุทรปราการ เขตประกอบการซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา และเขตประกอบการแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และในประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว ในเขตประกอบการเครือซีเมนต์ไทย จังหวัดระยอง และเขตประกอบการ ทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมมุ่งเดินหน้าศึกษาต่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย พัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน


นายวีรพงษ์ เอี่ยมเจริญชัย รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม ได้ร่วมกับ บริษัท ฟิกท์ แอสโซซิเอท จำกัด ในการศึกษา “โครงการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยระบบ GIS (ภายใต้ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุน)” ในเขตประกอบการอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนา จำนวน 8 เขตประกอบการ ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย


1.เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง

2.เขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ (เครือซีเมนต์ไทย) ระยอง จังหวัดระยอง

3.เขตประกอบการอุตสาหกรรมสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

4.เขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

5.เขตประกอบการอุตสาหกรรมไทยซัมมิท จังหวัดสมุทรปราการ

6.เขตประกอบการอุตสาหกรรม แอล พี เอ็น จังหวัดสมุทรปราการ

7.เขตประกอบการอุตสาหกรรมซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา

8.เขตประกอบการอุตสาหกรรมทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี


โดยการศึกษาในครั้งนี้ ได้จัดทำระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สำหรับการสนับสนุนส่งเสริมและกำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมในเขตประกอบการอุตสาหกรรม ยืนยันแนวเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามที่ได้รับการประกาศ จัดเก็บข้อมูลตำแหน่งโรงงานที่ตั้งในเขตประกอบการอุตสาหกรรมให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน พร้อมทั้งจัดทำโปรแกรมประยุกต์ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS Application) โดยสามารถเชื่อมโยงกับระบบฐานข้อมูลโรงงานของกรมฯ รวมไปถึงการจัดทำการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการกรมโรงงานอุตสาหกรรมและแผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561–2580)


นายวีรพงษ์ กล่าวเพิ่มว่า ผลการศึกษาเขตประกอบการอุตสาหกรรมตามแนวคิด เศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Economy Bio-Circular-Green Economy) พบว่า

ประเด็นเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) จังหวัดระยอง พระนครศรีอยุธยา มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมาก ได้แก่ มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว น้ำมันปาล์ม และผลไม้ตามฤดูกาล ซึ่งผลผลิตเหล่านี้ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมอย่างมหาศาล โดยพบมากในเขตประกอบการสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดระยอง สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมอาหารเครื่องปรุงและประกอบอาหาร อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมพลาสติก หรือเป็นแหล่งเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือการผลิตเอทานอล ทั้งนี้ อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตั้งแต่ 3 – 8 ปี

ประเด็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรในเขตประกอบการอย่างคุ้มค่า ลดการผลิตของเสีย โดยในเขตประกอบการไทยซัมมิท เป็นกลุ่มที่มีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จักรยานยนต์ เครื่องจักรการเกษตร สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ได้ เช่น การเปลี่ยนเครือข่ายการกระจายสินค้าและซ่อมบำรุง เป็นศูนย์รวมการผลิตซ้ำและการรีไซเคิล เขตประกอบการแอล พี เอ็น จังหวัดสมุทรปราการ เป็นกลุ่มผลิตเหล็กขั้นกลาง สามารถใช้เศษเหล็กที่หมุนเวียนในประเทศหรือนำเข้ามาผ่านกระบวนการหลอมและนำมารีดเป็นผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูป เขตประกอบการซันโย จังหวัดฉะเชิงเทรา สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรมที่มีลักษณะคล้ายกัน คือ โรงงานที่ใช้วัตถุเหล็ก เพื่อให้สามารถนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ได้ และเขตประกอบการแฟคตอรี่แลนด์วังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายโรงงาน โดยในเขตประกอบการมีโรงงานประเภท 105 และ 106 เพื่อจัดการคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย, หลอมทำเม็ดพลาสติก นำกลับมาใช้ใหม่ได้

ประเด็นเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เขตประกอบการเครือซีเมนต์ไทย จังหวัดระยอง พัฒนาในรูปแบบ Smart Industrial ที่มีความทันสมัยทั้งด้านเทคโนโลยีการผลิต ระบบการขนส่ง ระบบการสื่อสาร ระบบพลังงาน เพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง โดยลงทุนในเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น IOT หุ่นยนต์อัฉจริยะ (AI Machine) ระบบอัตโนมัติในการตรวจคุณภาพน้ำทิ้ง เป็นต้น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และยกระดับความสามารถการแข่งขันนำมาวิเคราะห์เพื่อหาทางปรับปรุง/ลดการใช้พลังงานหรือเพิ่มผลผลิตโดยใช้พลังงานเท่าเดิม ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการขับเคลื่อนให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0 ของประเทศสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว การมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวเพิ่มมากขึ้น ด้วยวิธีการประเมินหรือแอปพลิ-
เคชันช่วยวัดคาร์บอนฟุตพรินต์ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่เขตประกอบการ ทีพีไอโพลีน จังหวัดสระบุรี แม้ว่าจะอยู่ระหว่างรอการพัฒนา แต่ด้วยอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผู้พัฒนาคาดการณ์ไว้ สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวได้ เช่น โรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ รวมไปถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนต่อยอดการเติบโตอย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยกองส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตและพื้นที่อุตสาหกรรม มุ่งพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมในเชิงพื้นที่ ซึ่งได้ดำเนินโครงการส่งเสริมพื้นที่อุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสมกับศักยภาพชุมชน ไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม อันเป็นกำลังหลักสำคัญของเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ที่มีความสมดุลกับทรัพยากรธรรมชาติ และไม่ทำลายรากฐานวิถีชีวิตของชุมชน นายวีรพงษ์ กล่าวสรุป

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น