xs
xsm
sm
md
lg

สสว. จับมือ BOI และ 5 หน่วยงานพันธมิตร เชื่อมธุรกิจขนาดใหญ่ช่วย SME กลุ่มวิสาหกิจฐานราก ทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สสว. จับมือ BOI และ 5 หน่วยงานพันธมิตร เชื่อมธุรกิจขนาดใหญ่ช่วย SME กลุ่มวิสาหกิจฐานรากทั่วประเทศ ด้วยมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม โดย “ผู้ให้” จะได้รับการยกเว้น CIT 200% ของเงินสนับสนุน ส่วน “ผู้รับ” คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ทั่วประเทศ พบว่า เบื้องต้นมีไม่น้อยกว่า 488 กลุ่ม ที่ต้องการให้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวชุมชน นอกจากนี้ สสว. เตรียมเดินหน้าขยายความร่วมมือกับธุรกิจขนาดใหญ่หวังช่วย SME ทั้งด้านสภาพคล่อง การปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว การเข้าสู่ Global Supply Chain และ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน

ดร.วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า สสว. ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และหน่วยงานภาคีที่มีบทบาทในการส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจฐานราก ได้แก่ กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม ที่จะช่วยเชื่อมต่อความช่วยเหลือจากธุรกิจรายใหญ่และกลุ่มที่มีศักยภาพ รวมถึงธุรกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไปสู่ผู้ประกอบการ SME ในกลุ่มวิสาหกิจฐานรากหรือวิสาหกิจรายย่อยที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิประโยชน์ของ BOI เป็นเครื่องมือหลัก โดย BOI และ ก.ล.ต. จะเชิญชวนธุรกิจรายใหญ่ กิจการที่มีศักยภาพ และบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ให้ร่วมเป็น “ผู้ให้” ในการพัฒนาสังคมและชุมชนด้วยมาตรการนี้ ขณะที่หน่วยงานภาคีจะทำการกลั่นกรองกลุ่มที่เป็น “ผู้รับ” เช่น วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ซึ่งเป็น SME กลุ่มฐานราก และรวบรวมความต้องการความช่วยเหลือ เป็นข้อมูลให้ธุรกิจรายใหญ่พิจารณา เชื่อว่าแนวทางนี้ช่วยให้เกิดการจับคู่ความช่วยเหลือระหว่างผู้ให้กับผู้รับมากยิ่งขึ้น โดยผู้ให้จะได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่ผู้รับก็ได้รับความช่วยเหลือที่ตรงความต้องการ เกิดผลลัพธ์ในการพัฒนาสังคมและชุมชน รวมถึงระบบเศรษฐกิจฐานรากที่มี SME เป็นกลไกสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผอ.สสว. กล่าว

สำหรับสิทธิประโยชน์ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม จะให้กับกิจการ ที่ดำเนินธุรกิจตามประเภทกิจการที่ BOI ให้การส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการดำเนินการเพื่อสนับสนุนช่วยเหลือวิสาหกิจฐานรากในมูลค่าไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท สามารถแบ่งย่อยออกเป็นกิจกรรมละไม่น้อยกว่า 5 แสนบาทต่อราย แล้วจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) ในวงเงิน 200% ของเงินสนับสนุน เป็นเวลา 3 ปี สำหรับกิจการที่ไม่เคยได้รับสิทธิ CIT ขณะที่กิจการที่ได้รับสิทธิ CIT อยู่แล้ว จะได้รับการเพิ่มวงเงินยกเว้น CIT จากเดิมเป็น 200% ของเงินสนับสนุน

โดยรูปแบบการช่วยเหลือ จะมีทั้งการสนับสนุนโดยตรงไปยังกลุ่มวิสาหกิจฐานราก และการสนับสนุนทางอ้อมผ่านสถาบันวิจัย/สถาบันการศึกษาของรัฐที่มีความร่วมมือกับกลุ่มวิสาหกิจฐานราก ซึ่งความช่วยเหลือจะมีทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ค่าเครื่องจักรอุปกรณ์ การฝึกอบรม ฯลฯ

ในช่วงที่ผ่านมา สสว. ได้เชื่อมโยงเครือข่ายหน่วยงานภาคี รวบรวมข้อมูลของวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ เบื้องต้นมีไม่น้อยกว่า 488 กลุ่มทั่วประเทศ ที่ต้องการความช่วยเหลือในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งถ้าเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จะมีความต้องการ เช่น โรงงาน/เครื่องจักรอุปกรณ์เพื่อพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิต มาตรฐาน รวมถึงด้านการตลาด ส่วนการท่องเที่ยวชุมชน จะมีความต้องการ เช่น อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการท่องเที่ยว การปรับปรุงสถานที่และภูมิทัศน์ การพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาสินค้าของที่ระลึก รวมถึงการประชาสัมพันธ์และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

อย่างไรก็ดี ภายใต้การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ สสว. ยังได้ร่วมกับ BOI จัดกิจกรรมสัมมนา “ขับเคลื่อนการลงทุนสู่สังคม เชื่อมโยงธุรกิจสู่การพัฒนาชุมชน” ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการบริหาร สสว. เป็นประธานเปิดงานและแสดงปาฐกถาพิเศษ และยังได้รับข้อมูลจาก BOI ก.ล.ต. สสว. พร้อมทั้งกรณีตัวอย่างการเข้าร่วมมาตรการจากธุรกิจรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท พี ไอ อินดัสทรี จำกัด และบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ ประเทศไทย จำกัด ซึ่งงานดังกล่าวได้รับความสนใจจากธุรกิจรายใหญ่และผู้สนใจ เข้าร่วมงานเกินกว่า 190 ราย เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น จึงเชื่อว่ามาตรการนี้จะช่วยส่งเสริมให้ SME ฐานราก และวิสาหกิจรายย่อย รวมถึงชุมชนท้องถิ่น มีการพัฒนา สร้างงาน สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มมากขึ้น และเป็นรากฐานสำคัญของระบบเศรษฐกิจประเทศต่อไป

นอกจากนี้ ด้วยบทบาทของ สสว. ที่เป็นหน่วยงานหลักด้านการส่งเสริม SME ของประเทศ ได้มีแนวทางการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่ม SME ฐานรากให้สามารถอยู่รอด เติบโตและมีความเป็นมืออาชีพ โดยกลไกการพัฒนา สสว. เห็นถึงความสำคัญของธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะเป็นทั้งผู้ให้ภายใต้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสังคมและชุมชน และยังเป็นแหล่งงาน แหล่งรายได้สำคัญของ SME ดังนั้น สสว. จึงมีแนวทางจะสร้างความร่วมมือกับธุรกิจขนาดใหญ่ในการพัฒนาและสร้างโอกาสให้ SME ผ่านมาตรการส่งเสริม สนับสนุน เช่น การเสริมสภาพคล่องด้วย Credit Term เพื่อช่วยให้ SME ที่เป็นคู่ค้าได้รับเงินตามเกณฑ์ที่กำหนด การสนับสนุนให้ SME ปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียวและการเข้าสู่ Global Value Chain รวมทั้งการใช้ระบบ Digital Supply Chain Finance เพื่อช่วยให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น