xs
xsm
sm
md
lg

ราคาแบบนี้ขายได้จริง!! ปั้นแบรนด์ Siam มัดใจกลยุทธ์ราคา หวังเป็น Soft Power ไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การขายสินค้าราคาถูก ต้องถูกขนาดไหนถึงจะทำให้ทุกคนว้าวได้ แต่ถ้าราคาถูกคุณภาพไม่ได้นอกจากจะไม่ว้าวแล้ว สินค้ายังไปต่อไม่ได้ เพราะกลยุทธ์ราคาไม่ได้เป็นตัววัดความสำเร็จ แต่กลยุทธ์ราคาบวกคุณภาพเท่านั้นถึงจะทำให้ยอดขายปังได้


สร้างแบรนด์ Siam มัดใจทุกคนด้วยกลยุทธ์ราคา


วันนี้ พามารู้จักเจ้าของแบรนด์ Siam ของหนุ่มวัย 37 ปี “สุเมธชัย อินทกรณ์” ตั้งใจที่ใช้ชื่อ Siam เพราะรักในประเทศไทย อยากจะทำให้แบรนด์ Siam สินค้าจากประเทศไทยได้เป็น Soft Power กลยุทธ์ราคาถูกคุณภาพเต็มร้อย เริ่มด้วยกระเป๋าแฟชั่นราคาใบละร้อยบาท หรือ ปลากระป๋องราคากระป๋องละ 10 บาท และ ล่าสุด น้ำผึ้ง ราคาขวดละ 100 บาท ในปริมาณ 1,000 กรัม ทุกอย่างเป็นสินค้าผลิตในประเทศไทย ที่เจ้าของยืนยันว่า สินค้าแบรนด์ Siam ทุกตัวคุณภาพไม่ได้ถูกเหมือนราคา


นายสุเมธชัย อินทกรณ์ (ออม) เจ้าของแบรนด์ Siam เล่าว่า ที่มาของแบรนด์ Siam เกิดจากความตั้งใจหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด ทำให้เราเห็นว่าหลายคนลำบากค่าครองชีพเพิ่มขึ้น อาหารการกิน ของใช้ต่างๆ ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่รายได้ของคนไทย ไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเราเองกว่าจะผ่านโควิดมาได้ ก็ต้องประคับประคองตัวเองมาด้วยความยากลำบากเช่นกัน ทุกวันนี้ ผมเองก็ยังเป็นหนี้ ก็เลยกลับมาคิดว่า ถ้าทำธุรกิจเราก็อยากจะทำอะไร ที่ได้ช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยได้สินค้าคุณภาพในราคาที่เข้าถึงได้

“ผมเป็นคนที่เคยได้ค่าแรงขั้นต่ำมาก่อน ผมเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 14 ปี ทำงานพาร์ตไทม์ได้เงินวันละร้อยกว่าบาท เลยเข้าใจว่าคนที่มีรายได้น้อยเป็นอย่างไร ไม่มีใครที่ช่วยเหลือเราได้ ยิ่งในช่วงโควิด ข้าวของแพงขึ้นเท่าตัว และในช่วงนั้น ผมก็จะเจอปัญหาเช่นเดียวกับคนอื่นๆ เพราะธุรกิจขายกระเป๋าที่ผมทำภรรยา ขายไม่ได้ ทำให้ต้องหันมาทำธุรกิจเพิ่ม เป็นธุรกิจอะไรก็ได้ ที่ช่วยลดค่าครองชีพ ช่วยให้คนที่มีรายได้น้อย และช่วยให้เราสามารถมีรายได้ดูแลครอบครัวได้”


ขายสินค้าราคาถูกช่วยคนรายได้น้อยช่วงค่าครองชีพพุ่ง

ที่มาของปลากระป๋อง 10 บาท เกิดขึ้นในช่วงที่ธุรกิจของผมมีปัญหาการกินปลากระป๋องเป็นทางเลือกที่ผมและครอบครัวก็กินกันบ่อยในช่วงนั้น เพราะเรามองว่าประหยัด แต่ปลากระป๋องที่เรากินมีราคาเพิ่มขึ้นทุกวัน และทำอย่างไรถึงจะขายปลากระป๋องให้คนมีรายได้น้อยสามารถซื้อกินได้ ผมก็เลยทำปลากระป๋องในราคากระป๋องละ 10 บาท ออกมาขาย”

ส่วนที่มาของ กระเป๋าใบละร้อย “ออม” เล่าว่า เริ่มขึ้นเมื่อครั้งที่คุณออมเดินทางกลับมาจากการไปทำงานที่ต่างประเทศ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ตอนกลับมาประเทศไทยครั้งนั้นมาเงินติดตัวมา 6-7 แสนบาท ก็มาทำธุรกิจขายกระเป๋าแฟชั่นร่วมกับแฟน ซึ่งเราก็ยังคงเน้นขายราคาถูก ซึ่งวันหนึ่งผมไปรู้จักโรงงานกระเป๋าแห่งหนึ่งต้องการโละกระเป๋าเราก็ไปเหมามามีตำหนิบ้าง เอามาขายในราคาใบละ 100-120 บาท การขายกระเป๋าของเราในช่วงนั้นกับแฟนขายดีมาก วันหนึ่งไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นไปจนถึงงหลายหมื่นบาท


โควิดทำทุกธุรกิจสะดุด แม้แต่สินค้าราคาถูก

ธุรกิจกระเป๋าเริ่มสะดุดหลังจากเจอสถานการณ์โควิดทุกอย่างพับไปหมดเลย จากขายวันละหลักหมื่น ค่อยลดลงไปเรื่อยเหลือวันหนึ่ง 3,000-4,000 บาท ต้องบอกว่าเราไปต่อไม่ได้ช่วงนั้น เรียกว่า ขาดทุน ทำให้เราเริ่มเป็นหนี้สะสม และต้องมองหาสินค้าอื่นๆ ต่อไป เพราะหยุดไม่ได้ ที่ผ่านมาผมขายมาหลายอย่าง เคยขายเกี๊ยวซ่า ทำร้านเกี๊ยวซ่า ยังขาดความรู้เรื่องการบริหาร และการจัดการ สุดท้ายต้องปิดตัวลง

จนสุดท้ายก็ได้กลับมาบ้านเกิด และได้รู้จักกับโรงงานผลิตน้ำผึ้ง ตอนนั้น ผมไม่มีเงินเลยก็ไปขอทางโรงงานเพื่อจะเอาน้ำผึ้งไปขาย ทางเจ้าของโรงงานเห็นว่าผมตั้งใจจริง ให้โอกาสผมเอาน้ำผึ้งไปขายก่อน ผมก็วิ่งขายหลายที่มากเป็นการฝากขายตามร้านขายของฝาก สำเพ็ง พาหุรัด และประตูน้ำ และมีติดต่อห้าง โมเดิร์นเทรดเล็ก มีสาขาตั้งแต่ 20-50 สาขา หลังจากที่ผมเปิดขายน้ำผึ้งมาได้ประมาณปีกว่าเราขายน้ำผึ้งไปแล้วกว่า 100 ตันเป็นเงิน 7-10 ล้านบาท


ฝันอยากทำร้านก๋วยเตี๋ยวน้ำผึ้ง ขอเริ่มขายน้ำผึ้งก่อน

“ส่วนที่มาของน้ำผึ้ง มาจากออมเป็นคนที่มีอดีตฝังใจตั้งแต่เด็กๆว่าอยากเปิดร้าน ก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำผึ้ง เพราะเคยกินร้านนี้ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นฟาร์มเลี้ยงผึ้ง แล้วต่อยอดธุรกิจหน้าฟาร์มโดยขายก๋วยเตี๋ยวเนื้อน้ำผึ้งเป็นร้านเล็กๆ แต่ออมคิดถึงที่ไรก็มีความสุขมากๆในช่วงเวลานั้น แต่ร้านก๋วยเตี๋ยวในช่วงโควิดเปิดได้ยาก เพราะร้านอาหารก็โดนสั่งปิด และเราก็ไม่มีเงินมากพอ ออมเลยลองเข้าไปหาความรู้จากฟาร์มเกษตรและโรงงานผลิตน้ำผึ้ง ขอความรู้ด้านต่างๆ ก่อนที่จะกลับมาประเมิณตัวเองว่าสามารถทำได้ไหม เพราะน้ำผึ้งมีหลากหลายแหล่งที่เลี้ยง มีความแตกต่างด้านคุณภาพ กลิ่น สี และราคา ออมทำการศึกษาอยู่ช่วงระยะเวลานึงจึงตกผลึก ว่าถ้าเราอยากทำอะไรเราควรเริ่มทำ เพราะชีวิตเรามีเพียง1ชีวิต”

“ออมเลยเริ่มต้นสร้างแบรนด์น้ำผึ้งว่า Siam Bee Secret ซึ่งออมชอบประเทศไทย และมีความภูมิใจที่ได้เกิดในประเทศไทย จึงขึ้นต้นด้วยคำว่า "Siam" ซึ่งสอดคล้องในชื่อของออมกับภรรยา ออมชื่อ Sumatechai Intagorn ได้คำว่า SI ส่วน AM มาจาก ภรรยาชื่อ MAI มารวมกัน เลยได้คำว่าSIAM ออมได้ลองจัดจำหน่ายน้ำผึ้งในราคา100 บาท ในปริมาณ 1000 กรัม”


ทำงานที่อเมริกา ก่อนกลับมาสร้างธุรกิจในไทย

นายสุเมธชัย เล่าถึงชีวิตของตัวเองที่ไปค้าแรงงานในประเทศอเมริกาให้ฟังว่า ผมทำงานตั้งแต่เด็ก ช่วงอายุ 14 ปี เสิร์ฟอาหาร ล้างจาน ซึ่งการไปทำงานที่ประเทศอเมริกาเกิดขึ้นสองรอบ งานที่ทำเรียกว่าทุกอย่าง ตั้งแต่ เป็นบาเทนเดอร์ ทำครัว (เรียนการทำอาหารที่วิทยาลัยดุสิตธานี) ล้างจาน เสิร์ฟอาหาร เป็นหมอนวด (เรียนนวดที่วัดโพธิ์ก่อนไปทำงาน)

“ผมเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ชอบทำอาหารเคยช่วยคุณยายไปตักน้ำพริกขายตั้งแต่เด็กๆ ผมได้เรียนสายอาชีพเกี่ยวกับด้านการทำอาหาร จนอายุ 18 ปี เริ่มรู้สึกอยากจะช่วยครอบครัว มองไปที่คุณแม่ได้เงินเดือนจากการรับราชการ แต่ทำไมคุณแม่ไม่เคยใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อให้ตัวเองเลย การไปทำงานต่างประเทศน่าจะหาเงินได้มากกว่าการทำงานที่ประเทศไทย และช่วยครอบครัวได้”
.


ทั้งนี้ การไปทำงานอเมริกา รอบแรกประมาณ 5 ปี ตอนนั้น ทำงานเก็บเงินอย่างเดียวเลย รายได้ที่นั่นค่อนข้างดีมาก เราทำงานชั่วโมงเดียว สามารถมีรายได้เท่ากับทำงานร้านอาหารชื่อดังเมืองไทยวันครึ่ง ตอนนั้น ทำงานทุกอย่าง มีงานอะไรก็ทำหมดแทบจะไม่มีเวลาว่างเลย และก็กลับมาเมืองไทย มาเรียนปริญญาตรี และเรียนเพิ่มทักษะอาชีพอย่างการเรียนหมอนวดวัดโพธิ์ หรือ เรียนการทำอาหารที่วิทยาลัยดุสิตธานี และกลับไปทำงานที่อเมริกาอีกครั้ง ครั้งนี้ทำงานประมาณ 6 ปี เก็บเงินส่งที่บ้านปลดหนี้ประมาณปีละ 1 ล้านบาทให้กับครอบครัว แต่ก็ต้องแลกมากับการทำงานวันละ 16 ชั่วโมง และ เหลือเก็บก้อนสุดท้ายก็ประมาณ 6-7 แสนบาท กลับมาไทย มาสร้างธุรกิจที่ประเทศ ตามที่กล่าวมาข้างต้น

“สำหรับแผนในอนาคตอยากทำให้แบรนด์ Siam เป็น ของฝากที่ใครเดินทางมาไทยก็ต้องซื้อกลับไป และอยากให้เป็นของฝากที่คุณภาพดี ราคาประหยัด ให้ทุกคนที่ได้รับคิดถึงประเทศไทย และอยากมาเที่ยวประเทศไทย เป็น Soft Power ให้กับประเทศไทย” สุเมธชัย กล่าวในที่สุด

ติดต่อ โทร.09-8529-4636 www.siambeesecret.com

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น