ปิดฉากลงอย่างสวยงาม สำหรับงานมอบรางวัลเซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2022 อีกหนึ่งเวทีสำคัญที่ชาวเอสเอ็มอีรอคอย ซึ่งในปีนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ารับการพิจารณาคัดเลือกกว่า 1,000 ราย โดยมีผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจากคณะกรรมการให้ได้รับรางวัลทั้งสิ้นจำนวน 25 ราย จาก 13 ประเภทรางวัล ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลแต่ละรายล้วนมีคุณสมบัติโดดเด่น ดังเช่น “โบว์เบเกอรี่” เจ้าของรางวัล SME ดาวรุ่ง และ “Luxury Ice” เจ้าของรางวัล SME ความคิดสร้างสรรค์ 2 ผู้ประกอบการ SME ที่มีแนวคิดและกลยุทธ์การดำเนินงานที่ช่วยสร้างจุดเปลี่ยนให้ธุรกิจ จนสามารถคว้ารางวัลมาครองได้สำเร็จ
เริ่มต้นที่ “โบว์เบเกอรี่” ดาวรุ่งมาแรง ยอดขายรวม 500 ล้าน
จาก “ความรัก ความสุข และความสนุก” ในการทำขนมของผู้เป็นภรรยา โบว์-นางรุจา สดแสงเทียน สู่การเปิดร้านเบเกอรี่เล็กๆ ภายใต้ชื่อ “โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์” ในปี 2542 ผลิตขนมฝากขายตามร้าน แต่ด้วยรสชาติที่อร่อยถูกใจและถูกปากผู้บริโภค ทำให้ในวันนี้ โบว์เบเกอรี่ ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเบเกอรี่โฮมเมดกึ่งอุตสาหกรรมระดับประเทศ ที่ยังคงให้ความรู้สึกของขนมแบบโฮมเมดได้เป็นอย่างดี และมีอัตราการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี นับตั้งแต่เข้าจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น
นายวิสิทธิ์ สดแสงเทียน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โบว์เบเกอรี่เฮ้าส์ จำกัด เล่าย้อนเรื่องราวความสำเร็จให้ฟังว่า ธุรกิจเริ่มต้นจากการขายฝากตามร้านกาแฟ ร้านขนม ซึ่งไม่เป็นที่น่าพอใจเท่าไหร่ เพราะไม่สามารถคำนวณสินค้าเหลือขายได้ บางร้านที่ฝากขายก็ไม่ได้ช่วยดูเเลสินค้าหรือจัดรูปแบบการวางที่จูงใจให้ลูกค้าซื้อ ทำให้มีของเหลือเยอะ ไม่เห็นกำไร จึงเริ่มหยุดฝากขาย หันไปส่งให้ร้านใหญ่ควบคู่ไปกับร้านกาแฟที่มีสาขาจำนวนมาก เช่นร้านพรชัย ร้านขนมปังรายใหญ่ย่านบางลำภู ร้านกาแฟ Inter Mezzo เป็นต้น และจากการวางขายในร้านนี้เอง ทำให้หลายเเบรนด์และร้านขนมดังๆ หลายร้านติดต่อเข้ามา ให้ผลิตเพื่อส่งขายอย่างต่อเนื่อง
หนึ่งในร้านที่ช่วยสร้างจุดเปลี่ยนให้กับธุรกิจในปี 2552 ก็คือร้านกาแฟคัดสรร (Kudsan) ที่ตั้งอยู่ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ครอบคลุมกลุ่มสินค้าเบเกอรี่หลากชนิด อาทิ กลุ่ม เค้ก, คุกกี้, พัฟ, พาย, ครัวซองท์, แซนด์วิช, กลุ่มขนมปัง, เมอแรงค์ และจากการได้ร่วมงานกับ Kudsan ทำให้บริษัทเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้ง กับการได้มีโอกาสนำสินค้าติดชื่อ “โบว์เบเกอรี่” เข้าวางจำหน่ายที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ในปี 2563
สินค้าที่นำเข้าจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในกลุ่มเค้ก พัฟ พาย ครัวซองท์ แต่จะมีการพัฒนาสินค้าและสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าของเซเว่น อีเลฟเว่นมากขึ้น โดยสินค้าสร้างชื่อที่ทำให้ โบว์เบเกอรี่ เป็นที่รู้จักก็คือ ครัวซองท์ ที่มีความโดดเด่นเรื่องรสชาติอร่อยถูกปาก คุณภาพได้มาตรฐาน ในราคาที่ไม่แพง ประกอบกับช่วงที่พัฒนาสินค้าตัวนี้ตลาดกำลังฮิต แม้ว่าในเซเว่น อีเลฟเว่นจะก็มีคนทำขายอยู่เเล้ว แต่ครัวซองท์สไตล์โฮมเมด สอดไส้ ตกเเต่งโรยหน้า ที่ไม่ได้ทำด้วยเครื่องจักร ยังไม่มีเจ้าไหนทำ ส่งผลให้ครัวซองท์กลายเป็นสินค้าขายดีในเวลาอันรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีครัวซองท์วางจำหน่ายทั้งหมด 4 รสชาติ ได้แก่ ดับเบิ้ลช็อกโกแลต ดับเบิ้ลไวท์ช็อกโกแลต ดับเบิ้ลสตรอเบอร์รี่ ดับเบิ้ลบลูเบอร์รี่
ตอนส่งขายให้ Kudsan ก็มีมาตรฐานที่ละเอียดอยู่แล้ว เเต่พอเข้าเซเว่น อีเลฟเว่น ยิ่งต้องเพิ่มความละเอียดมากกว่าเดิม ทำให้ต้องปรับตัวเละเรียนรู้ครั้งใหญ่ แต่ก็พร้อมที่จะพัฒนา ทำให้ในวันนี้บริษัทมียอดผลิตส่งให้ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ปีละประมาณ 30 ล้านชิ้น หรือ 80,000 ชิ้นต่อวันทั่วประเทศ รวม 20 SKU สร้างการเติบโตให้ธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 บริษัทมียอดขายรวม 290 ล้านบาท และในปี 2564 บริษัทมียอดขายรวม 363 ล้านบาท ปี 2565 บริษัทมียอดขายรวม 463 ล้านบาท เพิ่มสูงถึง 100 ล้านบาท ล่าสุดยอดขายรวมของบริษัทอยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยสัดส่วนยอดขายกว่า 80% มาจาก เซเว่น อีเลฟเว่น และจากการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทมีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 5-7 ปี ข้างหน้า
มาต่อที่ “Luxury Ice” นวัตกรรมนำตลาด...ปั้นน้ำแข็งเย็นนาน 6 เท่า
“นวัตกรรม” ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสินค้าและธุรกิจ แม้แต่บริษัทผลิตน้ำแข็งก็ยังนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ จนได้มาเป็น ลักซูรี่ ไอซ์ (Luxury Ice) น้ำแข็งเย็นนานขึ้น 6 เท่า
นายพีรณัฐ-นางภัทร์ชนัน พงศ์เนตรวิไล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โรงน้ำแข็งไพฑูรย์ (1999) จำกัด 2 สามี ภรรยา เจ้าของน้ำแข็ง Luxury Ice ภายใต้แบรนด์มิสเตอร์กบ (MR.KOB) ร่วมเล่าถึงที่มาของแนวคิดการผลิตน้ำแข็งเย็นนาน 6 เท่าว่า ตลาดการแข่งขันผู้ผลิตน้ำแข็งก้อนขายในประเทศไทยสูงมาก หากต้องการเติบโตจำเป็นต้องหาจุดอ่อนของการผลิตให้เจอ และหาวิธีลดหรือปิดจุดอ่อนนั้น เพื่อสร้างความต่างให้กับสินค้า เพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจ
จุดอ่อนของน้ำแข็งก็คือ ละลายเร็ว เมื่อนำไปใส่เครื่องดื่ม น้ำที่ละลายออกมานั้นจะไปผสมกับเครื่องดื่มทำให้เสียรสชาติ หากแก้ไขจุดอ่อนตรงนี้ได้ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของผู้ที่มองหาน้ำแข็งที่ละลายช้า จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จนพบวิธีการผลิตเครื่องทำน้ำแข็งแบบละลายช้า
กระบวนการผลิตที่ทำให้น้ำแข็งละลายช้าคือ การควบคุมอุณหภูมิให้ต่ำกว่าการผลิตน้ำแข็งทั่วไป โดยใช้อุณภูมิประมาณ -40 องศาเซลเซียส และใช้เวลาผลิตนานกว่าการผลิตน้ำแข็งยูนิตทั่วไป ทำให้น้ำแข็งมีความหนาแน่นละลายช้ากว่า 6 เท่าพร้อมกับเปลี่ยนรูปทรงใหม่จากแบบหลอดเป็นทรงกลม (ICE BALL) และแบบก้อนเหลี่ยม (ICE CUBE) เพื่อสร้าง Emotional ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคกลุ่มธุรกิจร้านร้านอาหาร และคาเฟ่ หลัง Luxury Ice วางจำหน่ายได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ปัจจุบันมียอดผลิตเพื่อส่งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 50,000 ถุงต่อวัน และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง”
จากเรื่องราวความสำเร็จของ 2 ผู้ประกอบการจากเวที เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2022 ที่ถูกถ่ายทอดออกมานั้น คงทำให้เห็นแนวคิดการทำธุรกิจ และช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายอื่นในการเดินหน้าพัฒนาธุรกิจและยกระดับคุณภาพสินค้าของตนเอง เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับปณิธาน “Giving and Sharing” ที่ซีพี ออลล์มุ่งมั่นให้การสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *