xs
xsm
sm
md
lg

สู้วิกฤตปุ๋ยแพง! แหนแดงอะซอลล่าไมโครฟิลล่าช่วยได้ นาข้าว 1 ไร่ สามารถลดต้นทุนค่าปุ๋ยยูเรีย 13-16 กก. ได้จริง!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่าไมโครฟิลล่าให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า ใช้ผสมกับดินปลูกช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไนโตรเจนและธาตุอาหารชนิดอื่น เช่น โพแทสเซียมได้ แหนแดงมีไนโตรเจนสูงถึง 4.6% ซึ่งมากกว่าพืชตระูกูลถั่ว


กรมส่งเสริมการเกษตร จับมือกรมวิชาการเกษตร และสวก. เปิดตัวโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิต พร้อมรับองค์ความรู้ และเทคโนโลยีถ่ายทอดสู่เกษตรกรใช้ประโยชน์จากแหนแดงในการเกษตร ประมง และปศุสัตว์

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพงและผันผวน กรมส่งเสริมการเกษตร จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปรับปรุงความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้เหมาะสม ใช้ปุ๋ยแบบผสมผสาน (ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ) และใช้พืชปุ๋ยสด มีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้มีการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมสนับสนุนให้ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) เป็นต้นแบบและกลไกในการขยายผลการปรับประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการจัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสมสู่ชุมชน โดยเทคโนโลยีที่เกษตรกรสนใจใช้เพื่อแก้ปัญหาปุ๋ยแพง คือ การผลิตและใช้แหนแดง


แหนแดง” เป็นเฟินลอยน้ำชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็ก เปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยไนโตรเจนทางชีวภาพ เนื่องจากมีกระบวนการตรึงไนโตรเจนของสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่อาศัยอยู่ในโพรงใบของแหนแดง ทำให้แหนแดงมีประโยชน์ในด้านทดแทนหรือลดการใช้ปุ๋ยเคมีไนโตรเจน โดยกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดง สายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) มีลักษณะเด่นคือ มีขนาดใหญ่ ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว กรมส่งเสริมการเกษตรจึงจัดทำข้อเสนอโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร หรือสวก. ด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจสามารถผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการใช้แหนแดงจะช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน เพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่ดิน ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ ปรับปรุงโครงสร้างดินดีขึ้นในระยะยาว เป็นการช่วยดูแลฟื้นฟูทรัพยากรดิน สอดคล้องกับนโยบาย BCG ของรัฐบาล


“ประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น การกัดกร่อนการย่อยสลายสูงมาก ดินบ้านเรามีอินทรียวัตถุครอบคลุมประมาณสักศูนย์จุดศูนย์ศูนย์แล้วก็ตามด้วยเลขอะไรก็แล้วแต่ (ตั้งแต่เลข0-9) มันต่ำมากสำหรับการเพาะปลูก ผมไปออสเตรเลียกลับมาไปเจอเกษตรกรบ้านเขาถามว่าออร์แกนิคแมตเตอร์บ้านคุณเท่าไหร่ เขาบอกว่าดินที่นี่ประมาณสัก 3.12 เองแค่นั้น! กับดินที่อยู่ในอุดมคติจะมีอินทรียวัตถุอยู่ถึง 5 ขึ้นไป เพราะฉะนั้น แหนแดง จะช่วยลดต้นทุนได้แน่นอนที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่คนไม่พูดถึงเลยก็คือ แหนแดงเมื่อย่อยสลายแล้วไม่ว่าจะอยู่ที่ใด อยู่ในที่นาหรืออยู่ในวัสดุปลูกอย่าลืมว่าเขามี สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อยู่ในต้นเขาอยู่ในบริเวณรากของเขาตรงนี้จะเป็นการ สร้างระบบนิเวศให้กับดินได้ตามไปด้วย คำว่าระบบนิเวศสำคัญมากเพราะจะเป็นแหล่งรวบรวมจุลินทรีย์ต่าง ๆ ในการที่จะช่วย ในการย่อยสลาย ช่วยในการปรับปรุงบำรุงดินต่อไป”




ทำไมต้องแหนแดง?
จากการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรที่ได้รวบรวมและพัฒนาพันธุ์ไว้อย่างต่อเนื่อง จึงแนะนำให้เกษตรกรใช้แหนแดงสายพันธุ์อะซอลล่า ไมโครฟิลล่า (Azolla microphylla) ซึ่งมีขนาดใหญ่ขยายพันธุ์ได้เร็วให้ผลผลิตสูงกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองถึง 10 เท่า ใช้ผสมกับดินปลูกช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยไนโตรเจน(N) และธาตุอาหารชนิดอื่น เช่น โพแทสเซียม(K) ได้ แหนแดงมีไนโตรเจนสูงถึง4.6% ซึ่งมากกว่าพืชตระกูลถั่วและที่สำคัญใช้ได้ทันทีไม่ต้องทำเป็นปุ๋ยหมัก ย่อยสลายเป็นธาตุอาหารให้แก่พืชได้เร็ว และแหนแดงยังเหมาะสำหรับการใช้ใน “นาข้าว” หากเกษตรกรใช้แหนแดงไถกลบก่อนปลูกข้าว อัตรา 200-300 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวจะได้รับปุ๋ยไนโตรเจนจากแหนแดงหลังไถกลบ แต่ถ้าเกษตรกรหว่านแหนแดงหลังการปลูกข้าว อัตรา 10 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวจะได้รับปุ๋ยไนโตรเจนจากแหนแดงในฤดูปลูกถัดไป อย่างไรก็ตาม แหนแดงในนาข้าวพื้นที่ 1 ไร่ ให้น้ำหนักสดประมาณ 3,000 กิโลกรัม คิดเป็นไนโตรเจน(N) ประมาณ 6-7.5 กิโลกรัมต่อไร่ เท่ากับว่าเกษตรกรจะลดค่าใช้จ่ายในการใช้ปุ๋ยยูเรียได้13-16 กิโลกรัม ซึ่งไนโตรเจน 1 กิโลกรัม เทียบเท่ากับยูเรีย 2.17 กิโลกรัม




อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า จากการสำรวจข้อมูลการผลิตและใช้แหนแดงผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัด พบว่ามีการส่งเสริมการผลิตและใช้แหนแดงในพื้นที่ 743 อำเภอ ใน 73 จังหวัด โดย 96% ใช้ในนาข้าว อาหารสัตว์ ปุ๋ยพืชสด และใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูก ตามลำดับ ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตร รับองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับแหนแดงโดยตรงจากนักวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และขยายผลสู่เจ้าหน้าที่และเกษตรกร นำร่องในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ สระบุรรี สมุทรสงคราม ระยอง กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พังงา พัทลุง กำแพงเพชร และพะเยา ดำเนินการผ่านศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้รับรางวัลดีเด่นในการประกวด ศดปช. ระดับเขต หรือระดับจังหวัด ในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็น ศดปช. ที่มีศักยภาพและมีความพร้อมในการขยายผลสู่ชุมชน


ด้าน นางจิราภา พิมพ์แสง เกษตรกรจาก จ.กาฬสินธุ์ ผู้ใช้ประโยชน์แหนแดงกับนาข้าวและแปลงเกษตรผสมผสานมานานกว่า 5 ปีแล้วบอกว่า พื้นที่ของตนเองทำนาข้าวควบคู่ไปกับการทำเกษตรผสมผสาน และมีการปลูกผักด้วยซึ่งได้การรับรองมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ เพื่อส่งผลผลิตป้อนให้กับครัวของโรงพยาบาลฯ อยู่แล้ว ทั้งนี้เรื่องปุ๋ยคือทางตนเองก็ไม่อยากทำเกษตรแบบใช้สารเคมี ก็เลยมีโอกาสได้รู้จักกับกลุ่มอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ที่นำมาสู่การแนะนำให้ใช้ “แหนแดง” ตั้งแต่ปี 2562 จนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ใช้มาเรื่อย ๆ“ครั้งแรกเลยที่ได้ต้นพันธุ์มาจากกรมวิชาการฯ คือประมาณ 5 กก.ซึ่งที่บ้านของตัวเองจะมีร่องสวนที่ปลูกไม้ผลอยู่เดิมก็เอาลงปล่อยไปในร่องสวนเลย ค่อย ๆ ขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวนเองมาเรื่อย ๆ แล้วตอนนี้ทั้งผักผลไม้ในฟาร์มเราทั้งหมดรวมถึงนาข้าวคือใช้แหนแดง เรามีแหนแดงให้ใช้ทุกวันเลยค่ะ”ซึ่งนอกจากการปล่อยในร่องสวนแล้วก็ยังมี “บ่อเลี้ยง” สำหรับแหนแดงเพื่อการใช้เฉพาะด้วย มีการดูแลบ้างโดยให้ปุ๋ยมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักเสริมเพื่อให้แหนแดงเพิ่มการเจริญเติบโตได้ดี เวลาตักแหนแดงออกไปใช้ก็จะมีการขยายพันธุ์ใหม่จากต้นที่ยังเหลืออยู่ในบ่อเลี้ยงขึ้นมาทดแทนต่อไป ซึ่งสำหรับตนเองใช้แหนแดงกับนาข้าวอินทรีย์จึงไม่ค่อยมีปัญหาอะไรทุกอย่างก็จะทำตามขั้นตอนของกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ ช่วยลดต้นทุน และผลผลิตข้าวก็งอกงามเติบโตดีให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ




ตามบทบาทภารกิจกรมส่งเสริมการเกษตร จะหยิบยกเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ผ่านการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากหน่วยงานวิจัยทั้งจากกรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว หรือกรมพัฒนาที่ดิน ไปถ่ายทอดสู่เกษตรกรอยู่แล้ว โดยปีนี้โครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สวก. มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตถั่วลิสงพันธุ์เกษตรศาสตร์ สวก. 1 เพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการขยายผลเทคโนโลยีการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวของกล้วยหิน (banana blood disease) ในพื้นที่จังหวัดยะลา และโครงการขยายผลการผลิตและใช้แหนแดงเพื่อลดต้นทุนการผลิตสู่เกษตรกร ทั้ง 3 โครงการ มีนักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตรร่วมเป็นที่ปรึกษาและเป็นนักวิจัย จึงเป็นความร่วมมือที่ทั้งสองกรมร่วมกันขับเคลื่อนงานหรือส่งต่องานวิจัยให้ถึงมือเกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้งานวิจัยได้จริง ๆ

สำหรับผู้สนใจ “แหนแดง” สามารถติดต่อที่กรมวิชาการเกษตร ส่วนภูมิภาค ก็มีที่ สวพ. ศวพ. กรมส่งเสริมการเกษตร จะมีที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืช10 แห่ง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น