ทุกคนมีความ “รักชาติ” กันหมดเราเพียงแค่แสดงออกต่างกัน ใช้เครื่องมือต่างกัน แต่เราไปว่ากันคนนี้ไม่ดีคนนั้นไม่ดี มันยังไม่ใช่จริง ๆ คือเราทุกคนเนี่ย รักชาติเหมือนกัน แค่มีความคิดเห็นต่างกัน มันควรที่จะคุยกันเพื่อเป้าหมายเดียวกันเท่านั้นเอง
ในวันที่ประเทศไทยกำลังมีอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนระอุ เป็นนัดชี้ชะตาของประเทศมีเดิมพันคือตำแหน่งว่าที่ “นายกรัฐมนตรี” คนที่ 30 ของประเทศไทย ซึ่งกำลังมีการโหวตกันอย่างดุเดือดอยู่ในรัฐสภา ระหว่างรอผลที่จะออกมานั้นเรามาทำความรู้จักกับโครงการดี ๆ ที่สร้างสรรค์ “แผ่นดินไทย”โดยมูลนิธิดั่งพ่อสอน ได้จับมือร่วมกับ มทร.รัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง มุ่งเน้นในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นำศิลปะมาผลักดัน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยกระดับจิตใจ ร่วมจัดโครงการรณรงค์เนื่องใน “วันดินโลก” เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ความสำคัญของแผ่นดิน กับภารกิจแรก จัดกิจกรรมประกวดงานทัศนศิลป์ ในกลุ่มเยาวชนและประชาชนทั่วไป ในวันที่5 ธันวาคม ภายใต้ชื่อโครงการในครั้งนี้ “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” ตั้งเป้าหมายผลงานศิลปะกว่า 30,000 ชิ้น
คุณณัฐวรรธน์ ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน กล่าวว่า มูลนิธิดั่งพ่อสอน มีภารกิจหลักก็คือทำหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้เรื่อง “ศาสตร์พระราชา” เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่ ที่ทำให้ประชาชนพออยู่พอกินซึ่งเป็นเรื่องหลักสำคัญของมูลนิธิฯ เพราะฉะนั้นการที่มีคนทำงานเรื่อง “วันดินโลก” ก็คือการชี้ให้เห็นเรื่องความยั่งยืน เรื่องอาหารและเกษตร มันก็คือเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ จริง ๆ คือทำเรื่องเดียวกัน เพียงแค่ใช้เครื่องมือต่างกัน“ภาพวาดเรื่อง วันดินโลก ของ อ.ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ที่ผมได้เห็นซึ่งเป็น1 ใน13 ภาพจากชุดผลงานเรื่อง อริยะกษัตริย์ แต่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครถามภาพนี้เลย ท่านเองก็ยังแปลกใจว่าทำไมคนไทยไม่สนใจ ผมก็เลยไปคุยกับท่านเรื่องนี้ก็เลยคุยกัน แล้วก็อยากให้คนไทยกลับมาเห็นงานพวกนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้วทางFAO เขาให้ความสำคัญ นักวิทยาศาสตร์ดินทั่วโลกที่เขามาประชุม นัวิทยาศาสตร์ไทยก็เสนอ เสนอให้ “วันดินโลก” ใช้วันที่ 5 ธันวาคม นักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นก็มาเห็นผลงาน “ในหลวงเรา” เขาก็ยังเห็นด้วย”
เพราะฉะนั้นก็เลยให้ “ภาพเล่าเรื่อง” โดยใช้ศิลปะเป็นตัวขับเคลื่อน เผยแพร่ เพื่อให้คนเห็น“คือเห็นเป็นภาพมันง่าย ให้ภาพเล่าเรื่อง ให้ศิลปะเล่าเรื่อง แล้วพอเราผลักดันลงไป เด็กหรือนักเรียนเขาจะสร้างงานศิลปะเขาก็ต้องศึกษา เขาจะได้กลับไปศึกษา ตอนนี้มันอาจจะเป็นแค่การขาดข้อมูลเบื้องต้น พอมีข้อมูล 2 ด้านผมว่ามันก็คุยกันรู้เรื่องใช้เครื่องมือต่างกันในการเผยแพร่ ใช้คนละวิธี ไม่ใช่แค่ว่าเป็นการไปสอน อบรม เวิร์กช้อป อย่างเดียว แต่เป็นงานศิลปะให้เขาได้สร้างงานศิลปะ ให้เขาได้ศึกษาศิลปะ ให้เขาได้มาศึกษาด้วยตัวเอง คนรุ่นใหม่เขาต้องการเหตุผล เขาต้องการให้เราให้เหตุผลเขา แต่ไม่ใช่ไปบังคับให้เขาเชื่ออะไร ไม่ใช่ไปบังคับให้เขาศรัทธาอะไร เราไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็ไม่เคยทำแบบนั้น”
ความร่วมมือกับทางวิทยาลัยเพาะช่างในครั้งนี้คือ เพาะช่างถือเป็นสถาบันแรกของประเทศไทย ที่อยู่มากว่า110 ปีแล้วถึงตอนนี้ มีองค์ความรู้มากมาย ครูช่างศิลปกรรมขนานแท้ก็อยู่ที่นี่ทั้งนั้นเลย แล้วก็ศิษย์เก่ามีผลงานมากมาย“พอเราทำเรื่องนี้เราก็เลย จะเป็นใครไม่ได้เลยนอกจากเพาะช่าง แล้วก็ในทัศนศิลป์เพาะช่างมีสาขาในการเรียนรู้ มีครูช่างตรงนี้ครบทุกด้านเลย ไม่ว่าเป็น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ นะครับ หรือภาพถ่าย ซึ่งเป็นยุคใหม่แล้วตอนที่เราไปดูในงานครอบครู ตอนนี้มีครอบครูช่างภาพแล้ว มีด้วย! เพราะฉะนั้นคือเพาะช่างเนี่ยครบเลยที่จะถ่ายทอดออกไปสู่ภายนอก แล้วก็บุคลากร นิสิตนักศึกษาเขาก็พร้อม เขาก็มีจิตอาสาที่จะทำ ในโครงการแรกของเรา เราต้องการจะผลักดันให้เด็กประถมนะครับ เขาเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ก็คือให้เขาวาดภาพศิลปะโดยองค์ความรู้กับบุคลากรของเพาะช่างก็จะถ่ายทอดออกไป”
ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์กล่าวถึงการให้ความร่วมมือครั้งนี้ว่า วิทยาลัยเพาะช่างมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ จึงได้สนับสนุนความร่วมมือดังกล่าว โดยส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษา ผ่านการฝึกอบรมและสามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้จริง และเพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์และนโยบายของรัฐบาลที่ให้มหาวิทยาลั ดำเนินงานแบบบูรณาการ
“สิ่งที่ได้มาภายใต้โครงการนี้คือ ภาพลักษณ์ของคนรุ่นต่อไป ว่าเขามีประสบการณ์แล้วมันจะเป็นงานที่สร้างแรงบันดาลใจให้ ถึงจะไม่ได้เรียนศิลปะแต่เขาก็อาจจะทำศิลปะ เป็นการจุดประกายให้เพื่อที่เก็บเอาไว้ เพราะฉะนั้นสักวันหนึ่งเขาอาจจะค้นพบตัวเองก็ได้ว่าฃ เขาไม่ได้เรียนศิลปะแต่เขาอยู่ในพื้นถิ่น เขาจะหยิบของในพื้นถิ่นหรือในละแวกบ้านเขา เอามาทำงานสร้างสรรค์สไตล์อื่น ๆ ได้ จากความรู้ศิลปะเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะช่วยทำให้เขาต่อยอดได้”
มูลนิธิดั่งพ่อสอน และทางวิทยาลัยเพาะช่างต่างก็มีเจตนารมณ์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เช่นเดียวกัน จึงได้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนการประกอบกิจกรรมด้านศิลปะ การศึกษา ค้นคว้า การวิจัยทางการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือทางด้านวิชาการและการดำเนินงานด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบัณฑิตไทยและสร้างความเข้มเข็งแก่ภาคธุรกิจSMEs ของประเทศให้มีความยั่งยืน
สืบเนื่องจากที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประกาศให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก World Soil Day ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรดินต่อการพัฒนาด้านการเกษตร โภชนาการ และความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประทศ โดยในวันดังกล่าวทั่วโลกได้ตระหนักถึงพระราชกรณียกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงพัฒนาทรัพยากรดินมาโดยตลอดรัชสมัยของพระองค์ ดังนั้นทางมูลนิธิดั่งพ่อสอน จึงได้น้อมนำเอา ศาสตร์พระราชา ศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาด้านการเกษตร และคุณค่าของความเป็นไทย มาจัดทำโครงการ “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” เพื่อส่งเสริม เชิดชู เรียนรู้ ให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของแผ่นดิน ผ่านงานศิลปะร่วมกับวิทยาลัยเพาะช่าง
โครงการ “ศาสตร์ ศิลป์ ดิน สยาม” จะเริ่มดำเนินการระหว่าง กรกฎาคม ถึง พฤศจิกายน พ.ศ.2566 จึงขอเชิญชวนนักเรียน
นักศึกษา และผู้ที่สนใจเข้าร่วมด้วยการส่งผลงานเข้าประกวด เพื่อตระหนักถึงความสำคัญของ “วันดินโลก”ร่วมกันติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/