สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอผนึกกำลังสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติและสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เปิดโปรเจ็กต์พลิกโฉมอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยให้สามารถเติบโตไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสิ่งทอเพื่อความยั่งยืนและยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐานได้ในอนาคต
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สำหรับความยั่งยืนที่จะเกิดขึ้นนั้นทางหน่วยงานมีความต้องการให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้เดินหน้าต่ออย่างยั่งยืน โดยได้ถูกแยกออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ 1.เทคโนโลยี ที่จะแนะนำให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจในเรื่อง Sustainability หรือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีเรื่องการบริหารจัดการเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทางสถาบันฯ สิ่งทอได้มีโอกาสร่วมมือกับสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติเข้ามาส่งเสริมในด้านประสิทธิภาพของสินค้า Green Productivityเป็นมิติที่ 2 โดยหาช่องทางให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงเรื่องคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ดังนั้นจึงได้ผนึกกำลังร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอเข้ามามีส่วนช่วยในเรื่องของมาตรฐานสินค้าต่างๆ เพื่อเป็นช่องทางช่วยเหลือผู้ประกอบการสามารถแข่งขันในตลาดการผลิตสินค้าประเภทสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มได้อย่างยั่งยืน เป็นมิติที่ 3 ซึ่งปัจจุบันตลาดสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก
ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในปัจจุบันมีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผ่านช่วงวิกฤตโควิด-19มาแล้วทำให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาไปได้อย่างถูกต้อง ทำให้ตลาดสิ่งแวดล้อมเปิดกว้างขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นต้องใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเรื่องคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือ ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สีและสารเคมี ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการสามารถพัฒนาได้นั้นจะสามารถเติบโตไปยังตลาดบนหรือตลาดไฮท์เอนด์ได้ โดยทางสถาบันฯ สิ่งทอต้องการทำให้ผู้ประกอบการไทยหลุดพ้นจาก OEM ไปสู่ ODM หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาเองโดยไม่ต้องรอคำสั่งซื้อและจะทำให้เกิดการสร้างแบรนด์ ซึ่งเมื่อเกิดการสร้างแบรนด์แล้วจะทำให้ได้ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
สถาบันฯ สิ่งทอคาดหวังว่าการร่วมมือกัน 3 สถาบันนั้นจะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึง 20% ซึ่งในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นถ้าหากเพิ่มมูลค่าได้จากการนำผลิตภัณฑ์และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปสู่ตลาดที่สูงขึ้นได้นั้นจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเดินหน้าไปต่อได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถเข้าปรึกษากับทั้ง 3 สถาบันได้รวมถึงสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ได้มีงบประมาณเข้ามาสนับสนุนการใช้บริการสำหรับทั้ง 3 สถาบันก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้ถึง 80% เพราะต้องการใหผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์ทดสอบ การตรวจระบบคุณภาพ และการอบรม นอกจากนี้สถาบันฯ สิ่งทอยังเผยอีกว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างน้อย 30% จะต้องได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมกับทั้ง 3 สถาบันได้อย่างแน่นอน
ด้านนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ FTPI เผยว่า สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจะเข้ามามีส่วนช่วยดูองค์รวม วิชาการใหม่ๆ เทคโนโลยี ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้ผู้ประกอบการ รวมถึงเพิ่มในส่วนขององค์กร ซึ่งสิ่งที่ทางสถาบันทำมาอย่างต่อเนื่องคือการให้เกณฑ์วัดผลให้ผลลัพธ์ดีขึ้น ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้นั้นมีเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ทางสถาบันฯ ได้เพิ่มองค์ความรู้ชุดนี้ ให้กับทีมวิทยากรเพื่อนำไปเพิ่มโมเดลให้กับทางผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย การสร้างมาตรฐานต่างๆ เพื่อให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันที่จำเป็นต่อการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมา
ทั้งนี้ทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติจึงมีบทบาทและเป็นกลไกหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มความสำคัญผลิตภาพให้ผลงานขององค์กรต่างๆ ดีขึ้น ซึ่งต้องดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำและมีกลไกการเชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็ดูแลทุกการเติบโตของแต่ละองค์กรในการเพิ่มหรือเติมประสิทธิภาพส่วนต่างๆ ผ่านการร่วมมือกับสภาบันฯ สิ่งทอ
นอกจากนี้ปัญหาที่พบเจอได้บ่อยในองค์กรคือบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Sustainability ยังมีไม่เพียงพอ ทำให้ทางสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติต้องสร้างหลักสูตรขึ้นมา โดยมีผู้รู้ที่เชียวชาญด้านต่างๆ กับให้ผู้ประกอบการเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงซึ่งทั้งสองส่วนจำเป็นต้องทำควบคู่กันไป และเมื่อทำหลักสูตรต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว พาผู้ประกอบการไปดูงานต่างประเทศได้ด้วยแล้ว และทุกคนเริ่มมีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้นก็จะสามารถเติบโตได้ เนื่องจากในปัจจุบันภาวะโลกร้อนเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นจุดที่ต้องเข้ามาช่วยกันดูแล ซึ่งการปรับทัศนคติเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนนั้นเป็นภารกิจของสถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ
ด้านนายจงรัก โรจน์พลาเสถียร ผู้อำนวยการสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ MASCI กล่าวว่า โดยพื้นฐานทางสถาบันฯ จะทำหน้าที่ในการรับรองตัวมาตรฐานและรับบการจัดการที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมสิ่งทอหลากหลายตัว ยกตัวอย่างเช่น มาตรฐาน ISO9001 ระบบบริหารงานคุณภาพ, ISO14001 ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม, ISO45001 ระบบการจัดการอาชีวะอนามัยและความปลอดภัย, ISO50001 ระบบการจัดการพลังงาน, และมาตรฐานแรงงานไทย 80001 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดูแลบุคคากรในสถานที่ทำงาน โดยมาตรฐานและระบบที่กล่าวข้างต้นจะเกี่ยวโยงกับทุกอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ต้องเข้ามาดูแล นอกจากนี้ทางสถาบันฯ ยังแนะนำให้ผู้ประกอบการทำตามาตรฐานอย่างถูกต้องเพื่อที่จะได้รับการรับรองจากสถาบัน เพื่อให้เกิดความถูกต้อง มีคุณภาพและความยั่งยืน
ทั้งนี้ความยั่งยืนของทางสถาบันฯ จะมีด้วยกัน 3 มิติ คือ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าหากมองเฉพาะในเรื่องค้าขายเพื่อให้ได้เงินและเศรษฐกิจมานั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อความยั่งยืนในอนาคต เพราะฉะนั้นต้องมองถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องเป็นศูนย์หรือน้อยที่สุด รวมถึงสามารถทำให้สังคมได้รับผลกระทบในทางที่ดีขึ้นและนำไปสู่แนวคิดเพื่อความยั่งยืนในอนาคตได้
ถ้าหากอุตสาหกรรมในประเทศสามารถเติบโตและเกิดความยั่งยืนได้ สามารถเกิดจุดประกายได้นั้นก็จะทำให้ปัญหาในสังคมและสิ่งแวดล้อมลดน้อยลง ปัญหาภาวะโลกร้อนก็จะดีขึ้นรวมถึงทำให้สินค้าในประเทศสามารถก้าวกระโดดและเติบโตในตลาดที่สูงขึ้นและองค์กรก็จะสามารถดำเนินการและเติบโตได้อย่างยั่งยืนตลอดไป
จากความสำคัญดังกล่าวสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอร่วมมือกับสถาบันเพิ่มผลิตแห่งชาติ โดยมีพันธกิจร่วมกันคือยกระดับขีดความสามารถด้วยการสร้างความสามารถให้บุคคลากรและองค์กรยกระดับผลิตภาพของธุรกิจ สร้างความเข้มแข็งระบบนวัตกรรม สร้างความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์และบริการของไทยด้วยคุณภาพ มีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนของประเทศไทยผ่านการเพิ่มผลิตภาพ และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ โดยเข้ามามีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีการเติบโต พัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการและองค์กร อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนด้วยการให้บริการด้านข้อมูลและองค์ความรู้ การฝึกอบรม การพัฒนามาตรฐานและการตรวจสอบรับรองมาตรฐานไอเอสโอและอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของอุตสาหกรรมรวมถึงเพิ่มขีดความสามารถด้านการรับรองให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ สู่ความเป็นเลิศด้านความสามารถในการดำเนินการอย่างยั่งยืน
โดยทั้ง 3 สถาบันเป็นหน่วยงานเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การดูแลของอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ เพื่อร่วมกันผลักดันให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเปลี่ยนผ่านจาก OEM ไปสู่ ODM และ OBM พร้อมนำไปสู่อุตสาหกรรมที่ยั่งยืนภายใต้สถานการณ์โลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในประเทศ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน พร้อมเร่งศักยภาพทั้งในด้านมิติเทคโนโลยีการผลิตและระบบคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐานในระดับสากล
อย่างไรก็ตามสถานการณ์ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย (สะสม) 4 เดือน (เดือนมกราคม-เมษายน 2566) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่ารวม 1,982.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า (สะสม) 4 เดือนของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่ารวม 1,679.0 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.6 และส่งผลให้ภาพรวมเกิดดุลการค้า (สะสม) เกินดุล คิดเป็นมูลค่า 303.5 ดอลลาร์สหรัฐ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *