สํานักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ยังคงเดินหน้าสร้างผู้นำรุ่นใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่านหลักสูตรการอบรม PPCIL ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 คาดหวังที่จะเห็นประเทศเดินหน้าไปข้างหน้า พร้อมกับผู้นำที่มีศักยภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ผ่าน “นวัตกรรมนโยบาย”
ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า นวัตกรรมนโยบาย ที่เอ็นไอเอมุ่งหวังจะให้เกิดขึ้นกับผู้นำขององค์กรในครั้งนี้ เพื่อให้ประเทศก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพราะถ้าได้ผู้นำที่ดีองค์กรไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ หรือ เอกชน จะช่วยให้เกิดศักยภาพขององค์กรนั้น และถ้าประเทศนั้นๆ มีหน่วยงาน หรือ องค์กรที่มีศักยภาพ ช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนประเทศได้ในทุกมิติ โดยการอบรมในหลักสูตร PPCIL รุ่นที่ 5 มีผู้ผ่านการคัดเลือก จำนวน 84 คน เน้น มุ่งพัฒนาศักยภายทางนวัตกรรมของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ โดยเน้นกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นผู้นำในระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ความมั่นคง การเมือง และสื่อมวลชน เพื่อผลักดันให้ผู้นำกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนวัตกรรม และสร้างให้เกิด “นวัตกรรมนโยบาย” อย่างเป็นรูปธรรม
สำหรับจากการพัฒนาหลักสูตร PPCIL ซึ่งถือเป็นหลักสูตรสำคัญในการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรขับเคลื่อนผลผลิตด้านนวัตกรรมนโยบาย เพื่อพัฒนานวัตกรรมเชิงระบบให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทั้งมิติด้านความคิด วิเคราะห์ ทดลอง แบ่งปันข้อมูลประสบการณ์และความชำนาญอย่างสม่ำเสมอ โดยจะเห็นได้ว่าแต่ละหน่วยงานในประเทศมีทรัพยากรที่ต่างกัน แต่ทุกภาคส่วนสามารถร่วมมือกันเพื่อพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมนโยบายให้เกิดขึ้นได้
NIA โดยสถาบันวิทยาการนวัตกรรม (NIA Academy) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญภายใต้ “ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ” ที่ NIA มุ่งวางรากฐานและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นเป็นลำดับ สำหรับการพัฒนาศักยภาพในกลุ่มผู้บริหาร สถาบันฯ ได้ริเริ่มและดำเนินการจัดกิจกรรม PPCIL นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีผู้บริหารระดับนโยบายที่เป็นคนรุ่นใหม่ของประเทศเข้ารับการพัฒนาศักยภาพ ครอบคลุมภาคราชการ เอกชน ความมั่นคง การเมือง และสื่อสังคม เพื่อเป็น 5 องค์ประกอบสำคัญที่จะร่วมคิดร่วมทำ “นวัตกรรมนโยบาย” อันเป็นผลผลิตเป้าหมายที่สถาบันฯ ต้องการให้เกิดขึ้น ซึ่งนวัตกรรมนโยบาย ไม่ใช่นโยบายที่เกี่ยวกับนวัตกรรม แต่คือ “การนำนวัตกรรมมาใช้ตลอดกระบวนการคิด วางแผน และออกแบบนโยบาย” ไม่ใช่เพียงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะจุดเฉพาะคน หากแต่ต้องมีการนําระบบจัดการเชิงนโยบายเข้ามาเป็นองค์ประกอบ มีการวิเคราะห์กระบวนการทางนโยบายว่าควรปรับเปลี่ยนหรือแทรกแซงอย่างไรเพื่อปลดล็อคข้อจำกัด หรือทำให้สามารถทำงานในรูปแบบใหม่ที่ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้น และทำให้เกิดการขยายผลอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ทั้งระดับองค์กรและประเทศ”
“หลักสูตร PPCIL เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Maker ที่สามารถออกแบบนวัตกรรมและวางแผนการจัดการเชิงนโยบายโดยอาศัยแนวทางการคาดการณ์และการคิดเชิงอนาคตร่วมกับหลักการออกแบบนโยบายที่เข้าใจบทบาทของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อสร้างแนวปฏิบัติของความร่วมมือรูปแบบใหม่ สร้างผลลัพธ์ใหม่ ที่ส่งผลให้เกิดการร่วมกันดำเนินการให้นวัตกรรมนโยบายที่ออกแบบคิดค้นขึ้นสามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและยั่งยืน ทั้งนี้ ในการพัฒนากำลังคนของประเทศเพื่อเสริมความเข้มแข็งของ “ระบบนวัตกรรม” การเชื่อมโยงความรู้และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะทำให้คนที่อยู่ในระบบสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ซึ่งแน่นอนว่ากิจกรรมเพื่อสร้างผลลัพธ์เหล่านี้จะถูกออกแบบให้เกิดขึ้นด้วยในหลักสูตรนี้ เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งในกลุ่มศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ และผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย”
“4 ปีที่ผ่านมา หลักสูตร PPCIL มีผู้เข้าร่วมอบรมรวมทั้งสิ้น 303 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่จาก 170 หน่วยงานใน 5 ภาคส่วน ตลอดระยะเวลาการอบรม ผู้เข้าร่วมได้รับองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมในมิติต่าง ๆ พร้อมโอกาสในการพัฒนาและสร้างศักยภาพให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีแนวความคิดเชิงนวัตกรรม ควบคู่ไปกับการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านการร่วมรังสรรค์ข้อเสนอนวัตกรรมนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม จะเห็นได้จากตัวอย่างข้อเสนอนวัตกรรมนโยบายของรุ่น 4 ที่ผ่านมา ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ประเด็นทางนวัตกรรม ได้แก่ (1) นวัตกรรมกำลังคน – การส่งเสริมและพัฒนากำลังคนที่เป็นแรงงานคุณภาพสูงแห่งอนาคต และการสร้างกลไกการยกระดับคุณภาพชีวิตบุคลากรภาคการศึกษา (2) นวัตกรรมอุตสาหกรรมภาคการเกษตร – การเพิ่มคุณภาพการผลิตข้าวไทยทั้งระบบ และการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร (3)นวัตกรรมสาธารณสุข - การป้องกันดูแลและแก้ปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า และ (4) นวัตกรรมข้อมูล - การบริหารข้อมูลเพื่อจัดการเมืองอย่างเป็นระบบ”
“ปีนี้มีผู้ให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมการอบรมเป็นจำนวนมาก โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกจำนวน 84 คน ประกอบด้วย ภาคราชการ 31 คน ภาคเอกชน 39 คน ภาคความมั่นคง 3 คน ภาคการเมือง 3 คน ภาคสื่อสารมวลชน 4 คน และสมาคมวิชาชีพ องค์กรอิสระ 4 คน หลักสูตร PPCIL ปีนี้ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพผู้นำภาครัฐและภาคเอกชนด้วยเครื่องมือและเนื้อหาที่เข้มข้นตลอด 11 สัปดาห์ อีกทั้งมีการเพิ่มความเข้มแข็งให้กับหลักสูตรด้วยการเชิญศิษย์เก่าจำนวน 16 ท่าน เข้ามาพัฒนาศักยภาพการใช้เครื่องมือและการเป็นที่ปรึกษาอย่างเข้มข้น เพื่อร่วมทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประจำกลุ่มให้แก่ PPCIL รุ่น 5 ตลอดการอบรม”
“และในปีนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษที่ NIA ได้จัดงาน Startup x Innovation Thailand Expo 2023 (SITE 2023) ขึ้นภายใต้แนวคิด “หุ้นส่วนนวัตกรรม (Innovation Partnership)” ระหว่างวันที่ 22-24 มิถุนายน 2566 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งจะเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการขับเคลื่อน “นวัตกรรมภาครัฐ” ให้เข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งพวกเราชาว PPCIL ทุกคนถือเป็นตัวแทนผู้นำรุ่นใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานร่วมกัน” ดร. พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติม