xs
xsm
sm
md
lg

“ครามสกล” ยกระดับภูมิปัญญาชาวบ้านสู่สินค้าสุดเท่! ชูจุดเด่นผ้าป้องกัน “UV” ต้านแบคทีเรีย ดังไกลแดนปลาดิบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านจังหวัดสกลนครที่นำผ้ามาย้อมครามเพื่อสวมใส่กันเองสู่การเป็นผ้าย้อมครามที่สร้างอาชีพและรายได้ให้ชุมชน โดยมี “ครามสกล” เป็นศูนย์กลางและเป็นตัวช่วยให้ชาวบ้านได้มีอาชีพจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดึงเอาเอกลักษณ์การย้อมครามมาต่อยอดจนเกิดเป็นสินค้าสุดเท่ที่นอกจากจะสวมใส่สบายแล้วยังสามารถป้องกัน UV และต้านเชื้อแบคทีเรียให้กับผิวอีกด้วย


นางสาวณฐมน เผ่าวงศ์ษา ผู้จัดการร้าน ครามสกล เล่าว่า เริ่มต้นทำครามมาตั้งแต่ประมาณปี 2557 โดยในช่วงแรกถูกบริหารโดยนางสาวสกุณา สาระนันท์ ที่ทำเป็นอาชีพและได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ชุมชม และมหาวิทยาลัย ซึ่งได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน โดยเป็น 5 ผู้ประกอบการแรกและชุมชนที่เริ่มทำเกี่ยวกับการย้อมคราม ซึ่งเดิมทีนั้นชาวบ้านในจังหวัดสกลนครย้อมครามเพื่อสวมใส่เอง ยังไม่ได้มีการย้อมขายแต่อย่างใด โดยเริ่มจากการนำฝ้ายมาทำเป็นเส้นใย นำมาย้อมครามและนำไปทอเป็นผ้าผืนและตัดเป็นเสื้อหรือชุดต่างๆ มาสวมใส่เอง ต่อมาทางครามสกลก็ได้มีการลงพื้นที่สำรวจชาวบ้านและนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดประโยชน์จากการย้อมครามของชาวบ้าน โดยในช่วงแรกที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร เป็นพื้นที่ที่ปลูกครามจำนวนมาก


ครามสกลในช่วงแรกจะดำเนินการด้วยการรับผ้าจากชาวบ้านมาแปรรูปว่าสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอะไรได้บ้าง และพอทำไปได้สักระยะหนึ่งก็เริ่มมีการออกแบบเองเพื่อให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์นั้นๆ และรองรับความต้องการของลูกค้า เนื่องจากในบางครั้งเส้นใยบางชนิดไม่เหมาะสำหรับทำเสื้อแต่ลูกค้าต้องการเสื้อ ทำให้ทางครามสกลต้องมีการจัดการให้เหมาะสมเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เนื่องจากครามสกลไม่ต้องการให้ลูกค้าซื้อด้วยความสงสารแต่ต้องการให้ลูกค้ามองเห็นสินค้าแล้วอยากได้เอง และเห็นถึงคุณค่าที่ทางชุมชนตั้งใจทำออกมานั่นเอง


ทั้งนี้ต้นครามนั้นเป็นพืชตระกูลถั่ว จะมีอายุโตเต็มวัยคือประมาณ 3 เดือน และในช่วงของการปลูกนั้นชาวบ้านต้องการทำในรูปแบบหมุนเวียน ซึ่งจะมีการปลูกในช่วงปลายฤดูร้อนและรอให้โตในช่วงฤดูฝน และในระหว่างที่รอครามโตนั้นชาวบ้านก็จะออกไปดำนา และเมื่อครามโตแล้วนั้นชาวบ้านก็จะเกี่ยวครามแล้วนำไปแช่นั่นเอง นอกจากนี้ครามจะเติบโตได้ประมาณ 3 ครั้งต่อปี เมื่อเกี่ยวครั้งแรกไปแล้วจะใช้เวลาโตครั้งที่ 2 อีกประมาณ 2 เดือน เมื่อครบทั้ง 3 ครั้งแล้วก็จะหมดไป


นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ตัวแรกที่ครามสกลทำขึ้นจะเป็นสินค้าประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า เนื่องจากง่ายต่อการแปรรูป รวมถึงสินค้าเครื่องประดับและของชำร่วยต่างๆ เช่น พวงกุญแจ ปกสมุด เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ ครามสกลที่ผลิตสินค้าเองแล้วนั้นยังรับผลิต OEM ได้อีกด้วย ทั้งนี้ครามสกลยังเป็นสื่อกลางให้กับชาวบ้านและกลุ่มลูกค้า เพราะว่าถ้าหากมีลูกค้าต่างชาติเข้ามาก็อาจจะสื่อสารหรือตกลงกับชาวบ้านได้ค่อนข้างลำบาก ทำให้ครามสกลมีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเจรจาธุรกิจให้กับชาวบ้านเพื่อที่จะได้ข้อตกลงที่เห็นพ้องต้องกันอีกด้วย


ครามสกลมีความต้องการให้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นครามธรรมชาติถึงมือลูกค้าและเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ได้เห็นวิถีของชุมชน วิถีของคราม และวิถีของสกลนคร ซึ่งครามสกลจะเน้นความเป็นธรรมชาติและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม โดยครามสกลนั้นเป็นผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME ทั้งนี้จุดเด่นและความพิเศษของครามนั้นจะโดดเด่นในเรื่องของการมีคุณสมบัติสีไม่ตกและไม่มีสีม่วงปน พร้อมทั้งมีความใสและสวย ซึ่งสามารถทำให้เป็นสีขาว ฟ้าอ่อนที่ไม่ใช่สีตกได้นั่นเอง รวมถึงมีความสว่างไปในตัว นอกจากนี้ถ้าเป็นในส่วนของผ้ามัดย้อมจะมีเอกลักษณ์ในส่วนของการมัดย้อมในแต่ละตัว อีกทั้งการย้อมครามยังเป็นการย้อมแบบเย็นและเป็นการย้อมแบบธรรมชาติ จึงทำให้สีไม่ตกอย่างแน่นอน เพราะถ้าหากย้อมโดยผ่านความร้อนอาจจะทำให้สีตกได้


นอกจากจะขายผลิตภัณฑ์แล้วนั้น ครามสกลยังเปิดเวิร์กช็อปสอนและให้ความรู้เกี่ยวกับการย้อมคราม พร้อมทั้งให้ข้อมูลความเป็นมาและต้นกำเนิดของคราม ผสมผสานกับการสอนให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและทดลองการย้อมครามได้อีกด้วย ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าที่ได้มาสัมผัสการย้อมครามนั้นอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากลูกค้าจำนวนมากที่ยังไม่เคยทดลองย้อมครามเองก็จะตื่นเต้นและได้รับข้อมูลที่แปลกใหม่กลับไป บวกกับการย้อมครามจะมีเวลาในการทำเพื่อให้ได้สีและลวดลายที่ตอบโจทย์มากที่สุด


สำหรับเนื้อผ้าที่ย้อมยากมากที่สุดคือเนื้อผ้าที่ทำจาก “ไหม” เพราะว่าไหมนั้นเป็นเส้นใยที่มาจากสัตว์และมีไขมัน ทำให้การย้อมนั้นยากที่สุดแต่สามารถย้อมได้ แตกต่างจากเนื้อผ้าจำพวก “ฝ้าย กัญชง คอตตอน” สามารถย้อมครามได้ง่ายกว่าและส่วนมากจะเป็นเส้นใยจากฝ้าย นอกจากนี้ครามยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกหนึ่งอย่าง คือ สามารถป้องกัน UV หรือรังสีอัลตราไวโอเลตที่ส่งผลต่อผิวหนังได้ รวมถึงถ้าหากสวมใส่เสื้อผ้าที่ทำจากผ้าฝ้ายก็จะสามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ เนื่องจากเป็นผ้าที่แปรรูปมาจากเส้นใยธรรมชาติจากฝ้ายนั่นเอง


การย้อมครามในอดีตที่ชาวบ้านทำขึ้นมาเพื่อสวมใส่กันเองนั้นในปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักไปแล้ว ซึ่งในจังหวัดสกลนครมีทั้งหมด 18 อำเภอ ทำอาชีพย้อมครามทุกอำเภอ กลายเป็นแหล่งย้อมครามที่มีจำนวนเยอะที่สุดในประเทศไทย นอกจากนี้ครามสกลมองตลาดญี่ปุ่นและจีนเอาไว้ เนื่องจากญี่ปุ่นจะนิยมและชื่นชอบงานคราฟท์และคราม ทำให้ตลาดญี่ปุ่นและจีนค่อนข้างตอบโจทย์และเข้าถึงได้ค่อนข้างดี ซึ่งในปัจจุบันมีลูกค้าญี่ปุ่นนำสินค้าของครามสกลไปขายที่ญี่ปุ่นแล้วนั่นเอง


ทั้งนี้การต่อยอดครามสกลนั้นทางแบรนด์ได้มีการวางแผนให้ไปในทิศทางของการซื้อขายออนไลน์มากขึ้นและสำรวจพฤติกรรมลูกค้าตามสถานการณ์และเทรนด์ต่างๆ ในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ครามสกลมีสินค้าราคาเริ่มต้นที่ 55 บาทไปจนถึงราคา 3,500 บาท ซึ่งราคา 3,500 บาทนั้นจะเป็นสินค้าประเภทผ้าปูที่นอนขนาด 3, 3.5 และ 6 ฟุต ครบเซ็ต


แน่นอนว่าในช่วงโควิด-19 นั้นครามสกลได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ได้มีการปิดชั่วคราวและลดพนักงานลงไปด้วย ทำให้ในตอนนี้มีพนักงานอยู่ประมาณ 15 คนไม่รวมกับชาวบ้านที่เป็นพาร์ทเนอร์ ซึ่งปัจจุบันครามสกลเปิดบริการทุกวันตั้งแต่เวลา 08:00-17:00 น.


นอกจากนี้ครามสกลยังได้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนในเรื่องของการเชิญชวนและแนะนำลูกค้าให้เข้ามารู้จักกับครามสกลมากขึ้น เพื่อที่จะให้ครามสกลถูกกระจายสู่สายตาสาธารณะชนมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งส่งเสริมและเป็นการโปรโมทงานฝีมือและการย้อมครามให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย


“ด้วยจุดเด่นของครามสกล เวลาใครเข้ามาที่นี่ก็จะเห็นความเป็นธรรมชาติ อินกับความเป็นธรรมชาติแล้วได้เห็นสินค้าที่มันดูไม่เหมือนที่อื่นเลย ด้วยการแปรรูปต่างๆ ในครามให้ใส่ง่ายๆ ไม่ต้องมีแพทเทินมากมาย ใส่สบายและสร้างความสดใส รวมถึงลูกค้าที่เข้ามาเขาจะซื้ออะไรที่เป็นของขวัญให้กับคนอื่นมากกว่าให้ตัวเอง เหมือนกับว่าอะไรที่เป็นของขวัญเขาจะต้องมาที่นี่ เพราะด้วยความที่เรามีกล่อง มีการจัดเซ็ตให้ลูกค้าได้ลูกค้าก็จะชอบค่ะ” นางสาวณฐมน ระบุ

อย่างไรก็ตามครามสกลนั้นเริ่มต้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดสกลนครที่ถูกต่อยอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลาน จากเดิมที่ย้อมผ้าใส่เองสู่การประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้หลักและรายได้เสริม อีกทั้งครามสกลยังเป็น SME ที่เป็นสื่อกลางระหว่างลูกค้าและชาวบ้านให้สื่อสารกันได้อย่างตรงไปตรงมา พร้อมต่อยอดสินค้าที่มาจากสีครามธรรมชาติและภูมิปัญญาชาวบ้านออกสู่ท้องตลาดทั้งในและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี

ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook :
ครามสกล-Kramsakon


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น