จากเดิมทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตแต่ต้องการดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดสกลนครมากขึ้น จึงเกิด “พันนาบุรี” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่สุดอลังการของชาวสกลนคร ที่มาพร้อมอัตลักษณ์ปราสาทขอมที่คงความเก่าแก่และสร้างจุดขายด้วยการนำสังกะสีเก่ามาเป็นจุดแข็งในการดึงดูดลูกค้า พร้อมเสิร์ฟเมนูสุดครีเอทด้วยชื่อที่เป็นเอกลักษณ์
นางสาวอภิญญา พันทะสา และ นายเอกสิทธิ์ ใจกว้าง ผู้บริหาร พันนาบุรี เล่าว่า พันนาบุรี ตั้งอยูู่ที่ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เป็นการต่อยอดและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดสกลนคร ซึ่งจะต้องมีความโดดเด่น แปลกใหม่และสะดุดตา โดยได้มีการสำรวจพฤติกรรมลูกค้าว่ามีการนิยมท่องเที่ยวในสถานที่ย้อนยุคและเก่าแก่เป็นจำนวนมาก ทำให้ทางบริษัทได้ปรึกษากับอาจารย์ภิญญา สุวรรณจักร์ ผู้ออกแบบและสร้างเมืองที่รู้จักในเมืองรัตนะบุรี จังหวัดจันทบุรี ฯลฯ และได้เป็นผู้ออกแบบพันนาบุรี จังหวัดสกลนครแห่งนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งถูกสร้างขึ้นภายในระยะเวลา 8 เดือน โดยมีจุดมุ่งหมายของการสร้างพันนาบุรี คือ การยกระดับการท่องเที่ยวของปราสาทขอมบ้านพันนาที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 350 เมตร ทำให้ทางพันนาบุรีกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการสร้างสะพานขอมเชื่อมไปยังปราสาทนั่นเอง และมีพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ พนักงานประมาณ 100 อัตราและเป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด
พันนาบุรีเป็นแลนด์มาร์คใหม่ของอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ซึ่งจะมีร้านอาหาร คาเฟ่ จุดถ่ายภาพ นวดแผนไทย ร้านเช่าขายของ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชม นอกจากนี้การนำศิลปะมาสร้างเป็นแลนด์มาร์คใหม่อย่างพันนาบุรีนั้นเรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์งานศิลปะที่มีเพียงหนึ่งเดียวในโลก เนื่องจากพันนาบุรีใช้สังกะสีเก่าในการประกอบสร้าง เพื่อให้สอดคล้องเข้ากับหินศิลาแลงของปราสาทขอม รวมถึงสีของสังกะสีเก่านั้นยังโดดเด่นในเรื่องของความเก่าแก่และมีกลิ่นอายของขอมนั่นเอง
เดิมทีนั้นก่อนจะมาเป็นพันนาบุรีทั้งคู่ทำธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้าง ผลิตและจำหน่ายคอนกรีตโดยมี นางจิตรา ใจกว้าง เป็นหัวเรือหลักและเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ของจังหวัดสกลนครอีกด้วย ทำให้ทั้งคู่ต้องการที่จะต่อยอดธุรกิจให้ไปในทิศทางของการสร้างแลนด์มาร์ค เพื่อที่จะได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชนพร้อมทั้งสนับสนุนสินค้าโอท็อปจากชุมชน เนื่องจากพันนาบุรีมีร้านขายของฝากที่มีสินค้าจากชุมชนมาฝากขาย ส่งเสริมและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างเอสเอ็มอีในชุมชนให้เติบโตจากการจับมือร่วมงานกับพันนาบุรี ซึ่งพันนาบุรีไม่เพียงแค่นำสินค้ามาวางขายแล้วจบไป แต่ผู้แทนของวิสาหกิจนั้นๆ ต้องมีการนำเสนอข้อมูลของแต่ละชุมชนให้ชาวบ้านได้ฟังเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องการนำสินค้ามาวางขายในพันนาบุรี และสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้อย่างไร ปัจจุบันมีกว่า 30 ชุมชน ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มนักเรียน กลุ่มนักโทษกรมราชทัณฑ์ที่มีพฤติกรรมดี ทำให้เกิดการสร้างอาชีพและรายได้หลักหมื่นต่อเดือน
นอกจากนี้กลุ่มลูกค้าของพันนาบุรีส่วนมากจะเป็นนักท่องเที่ยวมากกว่าคนในพื้นที่และพันนาบุรีเองก็มีความเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดสกลนครได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ลูกค้าต้องรู้จักปราสาทขอมที่ตั้งอยู่บ้านพันนาบุรีมากขึ้น รวมถึงคนในชุมชนสามารถพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีมากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ในวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์จะมีลูกค้าเข้ามาประมาณ 500-1,000 คน และนิยมมาในช่วงเย็น
พันนาบุรีมีจุดขายคืออัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร ถึงแม้จะสร้างแลนด์มาร์คให้ดูเป็นเมืองโบราณแต่ตามเทรนด์ต่างๆ ในยุคปัจจุบัน อย่างเช่น สื่อออนไลน์และโซเชียลต่างๆ จะมีการโปรโมทและประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางเหล่านี้เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้นและหลากหลายกลุ่ม ซึ่งไม่เพียงแค่สื่อสารให้กับคนในประเทศรู้จักเท่านั้น พันนาบุรีมีความต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าต่างชาติเช่นเดียวกัน เพราะต้องการให้ต่างชาติได้มองเห็นความเป็นเมืองโบราณและแลนด์มาร์คที่แตกต่างของสกลนคร ทำให้ในช่วงเทศกาลต่างๆ มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาไม่น้อย
จากเดิมที่เป็นธุรกิจรับเหมาก่อสร้างแล้วหันมาทำธุรกิจร้านอาหารนั้นเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับผู้บริหารทั้งคู่ เพราะต้องเรียนรู้และศึกษาเกี่ยวกับการทำธุรกิจร้านอาหารที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวไปด้วย ซึ่งระหว่างทางก็มักมีอุปสรรคและบททดสอบอยู่เสมอ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ต้องพัฒนาตัวเองและก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปให้ได้ เช่น ส่งพนักงานไปเรียนรู้เกี่ยวกับการทำคาเฟ่ การชงกาแฟ การทำเบเกอรี่ สำรวจพฤติกรรมลูกค้า และปรึกษากับร้านเบเกอรี่ให้ผลิตขนมออกมาให้มีเอกลักษณ์และแตกต่างจากคนอื่น เช่น เค้กแตงไทย เค้กลอดช่อง เค้กหม้อแกง โดยเป็นสูตรเฉพาะและเป็นอัตลักษณ์ของพันนาบุรี และส่งพนักงานไปเรียนรู้ในส่วนต่างๆ ของพันนาบุรี
ด้านนายเอกสิทธิ์ ใจกว้าง หนึ่งในผู้บริหาร พันนาบุรี เผยถึงเหตุผลที่เลือกสร้างเมืองพันนาบุรีขึ้นมาก่อนแล้วค่อยศึกษาและเรียนรู้ในการทำธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่ ว่า “ผมต้องการให้เกิดขึ้นในตัวสกลนคร เราต้องการให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่จังหวัดสกลนคร เพื่อให้เกิดรายได้แล้วก็สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชนครับ ถ้าเราไม่มีการเปลี่ยนแปลงคนก็จะไม่มา แต่พอมีพันนาบุรีขึ้นมาคนก็อยากมาเที่ยวมากขึ้นครับ ผมเลยถามลูกค้าดู เขานั่งเครื่องมาจากรุงเทพฯ มาลงสกลฯ และมาเที่ยวที่พันนาบุรีคือตั้งใจมาเลยเพราะเห็นในโซเชียลต่างๆ นอกจากนี้เราต้องยอมรับในความผิดพลาดของเราเหมือนกัน ในช่วงแรกก็โดนยำเละแต่ก็เป็นบทเรียนและพัฒนามาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ปัญหาเหล่านั้นก็หมดไป”
นอกจากนี้ในการดำเนินธุรกิจนั้นย่อมมีการลงทุนไม่มากก็น้อย พันนาบุรีเองก็ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธพว. หรือ SME D Bank ที่ช่วยส่งเสริมด้านเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาในด้านการก่อสร้างต่างๆ จนเกิดเป็นพันนาบุรีจนถึงทุกวันนี้นั่นเอง นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมและแนะนำเกล็ดความรู้ต่างๆ พร้อมเยี่ยมชมธุรกิจพันนาบุรีอีกด้วย ซึ่งถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเสมอมา
ถ้าหากมาเที่ยวที่พันนาบุรีแล้วแวะที่คาเฟ่จะมีเมนูซิกเนเจอร์ที่เป็นอัตลักษณ์ ได้แก่เมนู สมบัติขอม (กาแฟผสมมะพร้าวน้ำหอม) โกเมนนครขอม (กาแฟผสมหมากเม่า) แสงสว่าง (มะม่วงผสมเสาวรส) ซึ่งรับวัตถุดิบมาจากชุมชน และ อัญมณีเมืองพันนา (กาแฟผสมลอดช่อง) ซึ่งเป็นเมนูที่มาแล้วห้ามพลาดเด็ดขาด ส่วนเมนูอาหาร เช่น ปลาช่อนลุยเมืองขอม ยำเมืองพันนา เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสำหรับแนวทางการต่อยอดธุรกิจจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสู่ธุรกิจร้านอาหารนั้นมีจุดเชื่อมระหว่างธุรกิจด้วยการขยายเครือข่ายและขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งต่อยอดในส่วนของโฮมสเตย์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ เนื่องจากลูกค้าสอบถามเข้ามาจำนวนมากว่ามีโฮมสเตย์หรือที่พักหรือไม่ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า โดยคงคอนเส็ปต์เดิมให้สอดคล้องกับพันนาบุรี โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 ปี
ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook : คนสร้างเมือง พันนาบุรี
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *