xs
xsm
sm
md
lg

โครงการเต็มใจ เปิดเวทีให้กลุ่มเยาวชนไทยแข่งประกวดทำแคมเปญชวนบริจาคโลหิต ตั้งเป้าปี 66 ได้ 1,000,000 ซีซี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ร่วมมือ กับมูลนิธิดั่งพ่อสอน เปิดตัว “โครงการเต็มใจ” ให้กลุ่มเยาวชนไทยแข่งประกวดทำแคมเปญชวนบริจาคโลหิต ตั้งเป้าปี 66 ได้ 1,000,000 ซีซี



โครงการเต็มใจ โดยมูลนิธิดั่งพ่อสอนหวังกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจการให้และเสียสละเพื่อส่วนรวมผ่านการแข่งขันทำกิจกรรมรณรงค์ให้คนบริจาคโลหิต โดยมีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักธุรกิจ จิตอาสา (Mentor) จากแบรนด์ต่าง ๆ 23 แบรนด์ นอกจากได้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอคอยการใช้เลือดแล้ว ยังได้ปลูกฝังจิตสาธารณะให้กับคนรุ่นใหม่ได้อีกด้วย คาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอย่างน้อย 20 แห่ง มีนิสิตนักศึกษารวมทีมเข้าประกวดอย่างน้อย 100 ทีม และได้รับโลหิตบริจาคอย่างน้อย 1,000,000 ซีซี ภายในปี 2566


รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การใช้โลหิตในปัจจุบันว่า “ในสถานการณ์ปกติ การรับบริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ โรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะได้รับโลหิตมากกว่า 200,000 ยูนิต ต่อเดือน นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 สถานการณ์โลหิตยังคงขาดแคลนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภาพรวมการบริจาคโลหิตทั่วประเทศลดลง ส่งผลให้ปริมาณโลหิตสำรองลดลงอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศขาดแคลนโลหิตสะสมเป็นระยะยาวนาน โดยในภาวะปกติจะต้องมีโลหิตบริจาครักษาผู้ป่วยเดือนละ 200,000 ยูนิต แต่ปัจจุบันได้รับโลหิตทั้งประเทศเพียง 150,000-160,000 ยูนิต จึงต้องมีการรณรงค์ให้บริจาคโลหิตเป็นประจำต่อเนื่องทุก 3 เดือน เพื่อให้มีโลหิตเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ” การที่มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาทำกิจกรรมให้คนบริจาคโลหิต ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เห็นว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง และขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการจัดหาโลหิตให้กับผู้ป่วย เพราะการบริจาคโลหิตเป็นเรื่องจำเป็นเนื่องจากยังไม่มีสารประกอบ ชนิดใดสามารถทดแทนโลหิตได้อย่างสมบูรณ์ และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการรักษาอีกเป็นจำนวนมาก
ดังนี้


กลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด ร้อยละ 23 อาทิ โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจาง และโรคเกล็ดเลือดต่ำ จำเป็นต้องรับโลหิตครั้งละ 1-2
ยูนิต ทุก 3-4 สัปดาห์ หากไม่ได้รับโลหิตผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย มีปัญหาในการดำรงชีวิต

กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ ร้อยละ 77 ที่ต้องใช้โลหิตจำนวนมาก และเร่งด่วน อาทิ ผู้ป่วยที่เกิดภาวะสูญเสียโลหิตเฉียบพลัน อุบัติเหตุ เสียเลือดหลังคลอดบุตร ฯลฯ การรักษาผู้ป่วยกรณีดังกล่าว ต้องมีโลหิตสำรองไว้ระหว่างการผ่าตัด 2-3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง 5-10 ยูนิต ต้องขอเบิกโลหิตสำรองให้เพียงพอ ถ้าโลหิตไม่เพียงพอต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ถึงชีวิตได้”

จึงได้ทำความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานในครั้งนี้ อาทิ การจัดให้มีกิจกรรมOpen House เปิดสำรวจเส้นทางโลหิตให้กับกลุ่มMentor อีกทั้งยังเปิดรอบพิเศษ สำหรับทีมนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมประกวด ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และเยี่ยมชมฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานบริการโลหิต เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่และเชิญชวนให้คนมาบริจาคโลหิตได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังได้ช่วยประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกว่า 200 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคณะทำงาน


นายณัฐวรรธน์ ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน ซึ่งเป็นมูลนิธิที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยการสร้างความเข้าใจและการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กล่าวว่า “โครงการเต็มใจ เป็นหนึ่งในโครงการการสร้างคนของมูลนิธิดั่งพ่อสอน โดยในครั้งนี้เลือกที่จะทำกับกลุ่มเยาวชนเพราะมองเห็นว่าการปลูกฝังเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ สังคมจะดีได้ ก็ด้วยมีกลุ่มเยาวชนเป็นกำลังหลักที่จะช่วยพัฒนาสังคมทั้งในช่วงเวลานี้และอนาคต การให้เด็ก ๆ ได้รู้จักการทำงานเพื่อส่วนรวม และยังก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองด้วยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และทางมูลนิธิฯ เองก็ตั้งใจจะจัดโครงการเต็มใจเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”


ทางด้าน นายวรสรวง สมัตถพันธุ์ ประธานโครงการเต็มใจ ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า เราเล็งเห็นปัญหาในเรื่องจิตสำนึกด้านสาธารณะและการเสียสละของเยาวชน รวมถึงสถานการณ์การรับบริจาคโลหิตและปริมาณโลหิตที่ได้รับเข้าคลังต่อปีของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ว่าขาดอยู่อีกบางส่วน และไม่มีความสม่ำเสมอ เราจึงได้จัดทำโครงการเต็มใจขึ้นมา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็ม ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการประกวดกิจกรรมรณรงค์บริจาคโลหิตของกลุ่มเยาวชน ระดับอุดมศึกษา โดยมุ่งเน้นให้กลุ่มเยาวชนเป็นผู้สร้างสรรค์ ประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่โครงการให้กับกลุ่มเยาวชนด้วยกันรวมถึงประชาชนทั่วไป ได้รับรู้และบริจาคโลหิตให้กับสภากาชาดไทย โดยมุ่งหวังให้กลุ่มเยาวชนได้แสดงความสามารถ และต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์จริง สามารถวัดผลได้จริง และนำไปสู่การยกย่อง ให้คุณค่าของกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ

ภายใต้การทำงานโครงการเต็มใจ ยังมี “กิจกรรมกำลังใจ” ซึ่งเป็นการนำอาหารและเครื่องดื่มไปมอบเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้บริจาคโลหิต ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ร่วมสมทบทุนซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายได้นำมาสมทบทุนโครงการเต็มใจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการในด้านต่าง ๆ

นายวรสรวง กล่าวว่า อาหารและเครื่องดื่มที่นำมามอบให้นั้น ที่ได้รับการคัดสรรอย่างดีและมีประโยชน์ส่งมอบเป็นกำลังใจให้กับคนทั้งสองกลุ่มที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเต็มใจ เป้าหมายในการส่งมอบกำลังใจ คือ จัดที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ถนนอังรีดูนังต์ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ 12 แห่ง และโรงพยาบาล 50 แห่งทั่วประเทศ ที่ผ่านมา เราได้จัด “กำลังใจสู่บุรีรัมย์” นำอาหารและของหวาน 400 ชุด ไปมอบให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มาบริจาคโลหิต นอกจากนี้เรายังได้เอื้อเฟื้อไปยังญาติผู้ป่วยที่มาเฝ้าไข้ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์อีกด้วย”

เต็มใจเป็นโครงการประกวดกิจกรรมรณรงค์บริจาคโลหิต ในกลุ่มเยาวชน ระดับอุดมศึกษา ซึ่งนิสิตนักศึกษาจะได้ลงมือทำทุกขั้นตอนของแคมเปญ เริ่มตั้งแต่ออกแบบ การสร้างช่องทางสื่อสาร การลงพื้นที่ทำกิจกรรมรณรงค์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลที่สนใจบริจาคโลหิตให้กับทีม ทั้งนี้ทางโครงการเต็มใจ ได้รับความร่วมมือจากMentor ซึ่งเป็นนักธุรกิจจิตอาสาภายใต้โครงการพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการSMEs เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำด้านการตลาด สนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือทีมนิสิตนักศึกษา


นางกนกภรณ์ มิตสุโมโต้ ผู้อำนวยการโครงการพัฒน์ ในฐานะตัวแทนของMentor กล่าวว่า “พวกเรานักธุรกิจมีประสบการณ์ผ่านการทำงานเพื่อสังคม (CSR) และมีองค์ความรู้ด้านการตลาด ที่สามารถเป็นที่ปรึกษาให้กับน้อง ๆ นิสิตนักศึกษา โดยMentor แต่ละคน จะนำเอาแกนธุรกิจของแต่ละแบรนด์เข้าไปเชื่อมกับนิสิตนักศึกษาที่เรียนสาขาวิชา หรือคณะที่เกี่ยวข้อง อาทิ บางธุรกิจทำเกี่ยวกับธุรกิจการ์ตูน ก็จะเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับทีมที่มาจากภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ และงานอาร์ตต่าง ๆ บางแบรนด์ทำธุรกิจเกี่ยวกับงานรับเหมาก่อสร้าง ก็เข้าไปติดต่อคณะที่เกี่ยวข้องกับงานด้านวิศกรรมโยธา หรือแบรนด์ที่ทำเกี่ยวกับการนำเข้าอุปกรณ์ทันตกรรม ก็พุ่งเป้าไปที่คณะทันตแพทย์ของมหาวิทยาต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเราจะจับมือร่วมกับมหาวิทยาลัยและอาจารย์ที่ปรึกษาของแต่ละคณะ เพื่อสร้างสรรค์แคมเปญให้คนออกมาบริจาคเลือดให้มากที่สุด”

ความท้าทายของของโครงการเต็มใจในครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นเพียงสนามแข่งขันเฉพาะนิสิตนักศึกษาเท่านั้น หากแต่กลุ่มMentor เองก็ต้องเข้าร่วมในสนามด้วย โดยแต่ละแบรนด์ต้องนำเอาความเชี่ยวชาญเฉพาะสายงานของตัวเองไปผนวกกับความสามารถของน้อง ๆ ในแต่ละคณะ สร้างสรรค์แคมเปญออกมา แล้วรณรงค์ให้คนมาบริจาคโลหิต ภายใต้รหัสของทีมตนเอง เป้าหมายคือรางวัลปริมาณโลหิตสูงสุด หรือรางวัลแคมเปญยอดเยี่ยมแห่งปี ที่ได้รับการออกแบบถ้วยรางวัลโดยอาจารย์ช่วง มูลพินิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ 2556

เหตุที่อาจารย์ช่วงได้สร้างสรรค์ถ้วยรางวัล นี้ให้กับมูลนิธิดั่งพ่อสอน ก็ด้วยการมีแนวคิดที่ตรงกัน อันว่าด้วยการน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นหลักคิดและแนวทางในการดำเนินงานและการใช้ชีวิต ประกอบกับอาจารย์ช่วงเคยออกแบบพระพุทธรูปประจำโครงการให้กับโครงการพัฒน์อันเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ ภายใต้มูลนิธิดั่งพ่อสอนมาก่อน เมื่อทางมูลนิธิฯ ได้นำเรื่องถ้วยรางวัลที่จะมอบให้ผู้ชนะการประกวดโครงการเต็มใจ อันเป็นโครงการเพื่อสังคม อาจารย์ช่วงก็ตกลงออกแบบให้ทันที


อาจารย์ช่วง มูลพินิจ ได้ให้นิยามของการออกแบบถ้วยรางวัลในครั้งนี้ว่า ถ้วยรางวัลมีชื่อว่า สันโตสะอาชาไนย เป็นรูปม้ากระโจนเหนือคลื่น มีความหมายว่า ผู้ที่ถูกฝึกหัดด้านความพอเพียงมาอย่างดีแล้ว แต่ละส่วนจะมีนัยยะ อาทิ คลื่น หมายถึง กระแสสังคม ความเห็นของคนส่วนใหญ่ในโลกแห่งวัตถุนิยม เปรียบประดุจภาพคลื่นที่ถาโถมเข้ามาเป็นอุปสรรคในการก้าวข้าม เลข ๙ หมายถึง ตัวแทนของ "หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ที่พึงระลึกอยู่ในใจเสมอ เช่นเดียวกับอานบนหลังม้าที่ถูกฝึกฝนมาแล้ว ส่วนม้า หมายถึง ผู้ที่ฝึกตน ปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีความมุ่งมั่นฝ่าฝันกับคลื่นของสังคมลูกแล้วลูกเล่า และสุดท้าย "ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วก็จะสามารถก้าวข้ามกระแสโลกแห่งวัตถุนิยมไปได้"

สำหรับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย รางวัลยอดโลหิตสูงสุด ประเภทมหาวิทยาลัย รางวัลยอดโลหิตสูงสุด ประเภททีม และรางวัลแคมเปญยอดเยี่ยมแห่งปี แต่ละประเภทจะได้รับถ้วยสันโตสะอาชาไนย เกียรติบัตรเชิดชูความสามารถ ส่วนรางวัลประเภททีม และรางวัลแคมเปญยอดเยี่ยมแห่งปี จะได้รับรางวัลพิเศษ เป็นทริปท่องเที่ยวประเทศเกาหลีใต้ 5 วัน 3 คืน

โครงการเต็มใจ เป็นโครงการเพื่อสังคม นอกจากจะปลูกฝังแนวคิดด้านจิตสาธารณะให้กับกลุ่มเยาวชนแล้วยังได้สร้างประโยชน์ส่วนรวม ช่วยให้มีปริมาณโลหิตที่สม่ำเสมอ สามารถส่งต่อเพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที อีกทั้งเชื่อมโยงการให้คุณค่ากับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้บริจาคโลหิตอีกด้วย

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น