นักวิจัยคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำนวัตกรรม “อาหารโฮลมีลเพียวเร่พร้อมทาน” คว้ารางวัล Silver Medal บน เวทีระดับโลก หวังเดินหน้าพัฒนาบุกตลาดอาหารทางการแพทย์ระดับ Worldwide
ในปัจจุบันทั่วโลกกำลังเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่มีภาวะเคี้ยวกลืนลำบาก เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และผู้สูงอายุทั่วไป พญ.ภัทรา วัฒนพันธุ์ สาขาวิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องเผชิญความยากลำบากในการใช้ชีวิต นำมาสู่การทำวิจัยร่วมกันกับ ดร.พิมพ์นิภา หิรัณย์สร คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และทีมวิจัยประกอบด้วย นางสาวนหทัย ตั้งภัทรนันท์ และนางสาวปาณิสรา พลดี จนเกิดเป็นนวัตกรรม “อาหารโฮลมีลเพียวเร่” พร้อมทาน สำหรับผู้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
ดร.พิมพ์นิภา ระบุว่า นวัตกรรม “อาหารโฮลมีลเพียวเร่พร้อมทาน สำหรับผู้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ” ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อไปนำเสนอผลงานวิจัยบนเวที The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2566 เป็นการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์กว่า 1,000 ผลงาน จากมากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และสามารถคว้ารางวัล Silver Medal มาครองโฮลมีลเพียวเร่เป็นอาหารสุขภาพที่ออกแบบมาเพื่อผู้ป่วยและผู้ต้องการฟื้นฟูร่างกาย โดยใช้วัตถุดิบ Plant-Based 100 % ไม่มีส่วนผสมจากสัตว์ มีพรีไบโอติก ให้คุณค่าทางโภชการและพลังงานสูง ทานน้อยแต่ได้สารอาหารครบถ้วน
ขณะเดียวกัน โฮลมีลเพียวเร่ ได้รับการรับรองจากแพทย์ว่ามีเนื้อสัมผัสที่เหมาะสำหรับการฝึกกลืนในระดับ 4 และยังมีการออกแบบรสชาติที่ช่วยกระตุ้นน้ำลายให้กลืนง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้ดูแลผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุเตรียมอาหารได้โดยง่ายและสะดวกเพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาในรูปแบบพร้อมรับประทาน เก็บได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น
ทั้งนี้ ปัจจุบัน โฮลมีลเพียวเร่ ได้จดเครื่องหมายการค้า “SAMADUL” นับเป็นก้าวสำคัญของการขยายผลงานวิจัย สู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลงานวิจัยสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์นี้นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปรับเปลี่ยนงานวิจัยที่คณะเทคโนโลยีนำโดย ผศ.ดร.อารยา เชาว์เรืองฤทธิ์ คณบดี และการผลักดัน ภายใต้การสนับสนุนของฝ่ายนวัตกรรม โดย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ มข. และคุณจิราภรณ์ เหลืองไพรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญา มข. ร่วมสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเชิงประจักษ์ ส่งมอบคุณค่าสู่สังคมดังปณิธานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น