กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ร่วมกับ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี และสถาบันอาหาร แถลงความสำเร็จโครงการเหมืองแร่สร้างสุข ส่งเสริมอาชีพชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2565 ชี้กระตุ้นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 46.2 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.43% ในปีแรก บรรลุเป้าหมายยกระดับอาชีพชุมชนให้แก่ประชาชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs จาก 4 อำเภอ รอบกิจการเหมืองแร่ใน จ.สระบุรี ได้แก่ อ.แก่งคอย อ.พระพุทธบาท อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.มวกเหล็ก พร้อมจัดกิจกรรมทดสอบตลาด พาเหรดผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการพัฒนาต่อยอด มาจำหน่ายระหว่างวันที่ 3 – 7 พ.ค. 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น B ซีคอน บางแค กรุงเทพฯ
นายนิรันดร์ ยิ่งมหิศรานนท์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวว่า นโยบาย “เหมืองแร่เพื่อชุมชน” ถูกกำหนดเป็นนโยบายสำคัญของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวทางเหมืองแร่สีเขียว (Green Mining) เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานการทำเหมืองและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนที่เป็นที่ตั้งของแหล่งแร่ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการสร้างงานสร้างอาชีพ ด้านการศึกษา ครอบคลุมทั้งด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านความปลอดภัยและสุขภาพของประชาชน ด้านการปรับปรุงพื้นที่สีเขียวและทัศนียภาพของเหมือง ด้านการดำเนินงานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และด้านการใช้ทรัพยากรแร่อย่างคุ้มค่า โดยมุ่งหวังให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่เติบโตอยู่คู่กับชุมชนสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับ จังหวัดสระบุรีเป็นจังหวัดที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ภาครัฐจากการเก็บค่าภาคหลวงแร่ได้สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เป็นเงิน 1,300 ล้านบาทต่อปี ในปีงบประมาณ 2565 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ได้จัดทำโครงการเหมืองแร่สร้างสุข ส่งเสริมอาชีพชุมชน โดยใช้งบประมาณจาก “การเก็บเงินบำรุงพิเศษ” เพื่อยกระดับอาชีพชุมชนให้แก่ประชาชน วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs รอบกิจการเหมืองแร่ใน จ.สระบุรี รวม 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แก่งคอย อ.พระพุทธบาท อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.มวกเหล็ก โดยมุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพด้านกระบวนการผลิตและการแปรรูปผลผลิตภาคการเกษตร ยกระดับราคาสินค้าภาคการเกษตร โดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการผนวกกับการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งเพิ่มทักษะด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ ๆ
“โครงการเหมืองแร่สร้างสุขฯ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2565 และจะเสร็จสิ้นในเดือน พ.ค. 2566 ในภาพรวมประเมินว่าจะช่วยกระตุ้นการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 46.2 ล้านบาท ผู้เข้าร่วมโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 32.43% ในปีแรก และกระจายรายได้สู่ชุมชนต่อไป เชื่อว่าจะช่วยเติมเต็มความต้องการด้านเศรษฐกิจของจังหวัดสระบุรี ทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดอาชีพ มีการสร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างชุมชนที่มีความสุข เศรษฐกิจชุมชนเติบโตอย่างเข้มแข็ง และอยู่ร่วมกับผู้ประกอบการเหมืองแร่อย่างยั่งยืน”
นายนพดล ชีวะอิสระกุล อุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า ในการดำเนินโครงการฯ ได้จัดให้มีกิจกรรมการพัฒนาผู้ประกอบการรวม 42 ราย แบ่งเป็น ผู้ประกอบการเพิ่งเริ่มต้น (Startup/New Entrepreneurs) เป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ โดยการยกระดับการผลิตสินค้าตามกฎหมายของไทย เช่น การขออนุญาตสถานที่ผลิต การขอเลขผลิตภัณฑ์ จำนวน 11 ราย และผู้ประกอบการเดิมที่ต้องการต่อยอด (Regular) โดยผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้ามาช่วยปรับปรุง พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ให้พร้อมเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์ และช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 31 ราย แบ่งเป็นอาหารและเครื่องดื่ม 28 ราย มิใช่อาหาร 3 ราย นอกจากนี้ยังได้จัดกิจกรรมอบรมเพิ่มทักษะการจัดทำสื่อสังคมออนไลน์ส่งเสริมการขาย เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ตลาดวิถีใหม่ในทุกแพลตฟอร์ม มีผู้เข้าอบรมรวม 206 คน พบว่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 88.43 มีทักษะเพิ่มขึ้นสามารถนำไปใช้สร้างยอดขายสินค้าจากช่องทางตลาดออนไลน์ได้
“ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้ผ่านการต่อยอด ปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ มีความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจออนไลน์และช่องทางจำหน่ายใหม่ๆ จำนวน 31 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 28 ผลิตภัณฑ์ อาทิ ขนมเปียกปูนข้าวเจ๊กเชยผสมเผือกหอมบ้านหมอ โดย ร้านขนมถาดพี่ราญ เยลลีคาราจีแนนผสมน้ำมัลเบอร์รี่ โดย สวนสมุนไพร สจ. ปลาตะเพียนต้มเค็มบรรจุถุง Retort Pouch โดย ร้านปลาต้มเค็มลุงคร ครีมชีสสเปรด โดย บ้านไร่อนุสรา ซอสผัดไทยผสมมัลเบอร์รี่ โดย สวนสมุนไพรมงคลพัฒน์ เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ ของตกแต่ง และของที่ระลึก 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กระเป๋าจากเชือกมัดฟาง โดย วิสาหกิจชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง และกล่องไม้ประดับดอกไม้จากกระดาษสา โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านสระบุรี และกลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร 1 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สเปรย์ระงับกลิ่นปากจากใบโปร่งฟ้า โดย วิสาหกิจชุมชนโอทอป คอมเพล็กซ์ พุแค สระบุรี เป็นต้น”
สำหรับกิจกรรมสุดท้ายก่อนเสร็จสิ้นโครงการฯ ได้จัดให้มีนิทรรศการเผยแพร่เกี่ยวกับเหมืองแร่เพื่อชุมชน ข้อมูลผลดำเนินงานโครงการเหมืองแร่สร้างสุข ส่งเสริมอาชีพชุมชน พร้อมงานแสดงสินค้าเพื่อทดสอบตลาดและสร้างโอกาสทางการตลาด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ นำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจัดแสดงและจำหน่าย มีผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้จำนวน 40 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 34 ราย กลุ่มของใช้ ของตกแต่งและของที่ระลึก จำนวน 3 ราย กลุ่มสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร จำนวน 2 ราย และกลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 1 ราย ระหว่างวันที่ 3 - 7 พ.ค. 2566 ณ ลานกิจกรรม ชั้น B ซีคอน บางแค กรุงเทพฯ ภายในงานมีกิจกรรมให้ประชาชนผู้สนใจร่วมสนุกทุกวันตลอดการจัดงาน ได้แก่ กิจกรรม “เช็คอิน ฟินสุดขีด” แจกบัตรกำนัลสำหรับซื้อสินค้าภายในงาน เพียง Tag #เหมืองแร่สร้างสุข กิจกรรม “FLASH SALE ลดสนั่น ชอปให้มันส์จุก” และกิจกรรม “แสดงดนตรี Acoustic Band” เป็นต้น โดยสามารถติดตามข่าวสารการจัดงานได้ทาง facebook : สถาบันอาหาร-NfiSmartClub