xs
xsm
sm
md
lg

“นาราไอซ์” สาววัย 28 ปี สร้างอาณาจักรโรงน้ำแข็งภาคอีสานเงินทุน 150 ล้าน ชูจุดขายน้ำแข็งทรงสี่เหลี่ยม ยอดขายกว่า 485 ตัน/วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พัชราภรณ์ อ่อนวิมล
อากาศร้อนทะลุปรอท แบบนี้ ต้องพามาทำความรู้จักกับเจ้าของโรงน้ำแข็งเย็นๆ เพื่อดับร้อนกันกับ “นาราไอซ์” อาณาจักรโรงน้ำแข็งจากภาคอีสาน นำเสนอรูปแบบน้ำแข็งทรงสี่เหลี่ยมฉีกรูปแบบน้ำแข็งหลอด ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และหน้าตาโรงน้ำแข็งที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งที่ลบภาพโรงน้ำแข็งที่หลายคนเคยเห็นกันด้วยเงินลงทุน 150 ล้านบาท ของ สาววัยเพียง 20 ปี (ช่วงเริ่มทำโรงน้ำแข็ง) “พัชราภรณ์ อ่อนวิมล” ทายาทเจ้าของโรงน้ำแข็งชื่อดังในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเธอมีโรงน้ำแข็งภายใต้แบรนด์นาราไอซ์ ถึง 3 แห่ง มีรถส่งนำแข็งมากกว่า 80 คัน และส่งน้ำแข็ง 485 ตันต่อวัน


สานฝันสาววัย 20 ปี สร้างอาณาจักร โรงน้ำแข็งภาคอีสาน

“พัชราภรณ์ อ่อนวิมล” เจ้าของโรงน้ำแข็งนาราไอซ์ เล่าว่า เธอได้มารับช่วงต่อการดูแลกิจการโรงน้ำแข็งร่วมกับครอบครัวตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเพียง 20 ปี ก่อนที่จะแยกตัวเองออกมาสร้างอาณาจักรเป็นเจ้าของโรงน้ำแข็งภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ในวัย 24 ปี ปัจจุบันได้มีการขยายสาขาโรงน้ำแข็งนาราไอซ์ ให้ครอบคลุมพื้นที่ภาคอีสาน 3 แห่ง ได้แก่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ฯลฯ ถ้าเล่าย้อนกลับไปในช่วงที่พ่อแม่ บุกเบิกสร้างโรงน้ำแข็งในวันนั้น ไม่มีแม้แต่ชื่อ แต่ชาวบ้านก็จะเรียกกันว่า โรงน้ำแข็งกุดชุม จ.ยโสธร บ้านเกิด ซึ่งในสมัยพ่อกับแม่ทำโรงน้ำแข็งยังเป็นกิจการเล็กส่งขายในพื้นที่ใกล้เคียง และกิจการเริ่มขยายใหญ่ขึ้นหลังจากที่พี่สาวกับพี่เขยได้เข้ามาพัฒนากิจการโรงน้ำแข็งต่อ มีการสร้างโรงน้ำแข็ง อีกหลายแห่งในพื้นที่ภาคอีสาน


โดยตนเองเริ่มเข้ามาทำโรงน้ำแข็ง จากการช่วยเหลือ พี่สาวก่อน ตอนนั้นอยู่ในวัย 20 ปี ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ก่อนจะเปิดโรงน้ำแข็งนาราไอซ์ ของตัวเอง ถ้าถามว่าชอบการทำโรงน้ำแข็งไหม ก็ต้องบอกไม่ได้ชอบเลย แต่การจะลงทุนทำอะไร ถ้าไปเริ่มใหม่เหมือนนับหนึ่งกันไหม ไม่เหมาะกับการลงทุนในยุคนี้ มีการแข่งขัน และความเสี่ยงสูง ซึ่งถามว่าโรงน้ำแข็งการแข่งขันสูง ก็ต้องบอกว่าสูง แต่เรามีประสบการณ์ เคยทำมันมาก่อนสามารถจะต่อยอดได้ โดยรู้ปัญหา รู้ว่าจะต้องแก้อย่างไร เพราะในวงการโรงน้ำแข็ง ถ้าในพื้นที่เดียวกัน ก็จะรู้จักกัน และรู้มารยาท ถ้ามาที่หลังจะต้องทำอย่างไร


ถ่ายประสบการณ์การทำโรงน้ำแข็ง

พัชราภรณ์ เล่าประสบการณ์การทำโรงน้ำแข็ง ว่า ตัวเองโชคดีที่มีพี่เขยและพี่สาวที่ทำมาก่อน พอเราแยกมาทำ แบ่งพื้นที่ดูแลไม่ได้ทับเส้นทางกัน ซึ่งการส่งน้ำแข็ง เริ่มจากต้องเข้าไปพูดคุยกับเจ้าของร้าน ที่เราจะเอาน้ำแข็งไปส่ง และหลังจากนั้น ก็นำถังน้ำแข็งที่เป็นแบรนด์ของเราไปวาง เขาจะไม่เอาน้ำแข็งของตัวเองไปใส่ถังของคนอื่น ร้านไหนขายน้ำแข็งที่สะอาดลูกค้าก็จะซื้อร้านนั่น ซึ่งความสะอาดดูจากความใสของก้อนน้ำแข็ง เรามั่นใจว่า น้ำแข็งของเราใสกว่าน้ำแข็งรายอื่นๆ อย่างแน่นอน เพราะผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน น้ำที่นำมาใช้ทำน้ำแข็งผ่านเครื่องกรองที่มีประสิทธิภาพและน้ำต้องอยู่ในภาชนะที่ปิดมิดชิด

ทั้งนี้ ในช่วงสถานการณ์โควิด หลายคนกลัวการกินน้ำแข็ง หลังจากมีข่าวว่าเชื้อโควิดอาจจะอยู่ในก้อนน้ำแข็งที่เรากินได้ ส่งผลกระทบต่อยอดขายของเราเช่นกัน ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า โดยได้ยื่นเรื่องเข้าไปขอมาตรฐาน อ.ย. และเราก็เป็นน้ำแข็งที่ได้มาตรฐาน อ.ย. ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็จะต้องลงมาตรวจสอบโรงน้ำแข็งของเราทุกปี


ฉีกรูปแบบน้ำแข็งหลอดด้วยทรงสี่เหลี่ยม

นอกจากนี้ เรายังเป็นน้ำแข็งหลอดรายเดียวในจังหวัดอุบลราชธานี ที่ทำน้ำแข็งออกมาในรูปก้อนทรงสี่เหลี่ยม และการที่เป็นทรงสี่เหลี่ยมทำให้น้ำแข็งมีมุมช่วยให้น้ำแข็งดูก้อนใหญ่ และ ละลายช้าลงกว่า น้ำแข็งหลอดทรงกลม ลูกค้าให้การตอบรับกับน้ำแข็งทรงสี่เหลี่ยมเป็นอย่างดี และการผลิตน้ำแข็งของเราจะทำแบบวันต่อวัน เพราะน้ำแข็งที่ผลิตไว้ค้างคืนจะเกิดปัญหาน้ำแข็งเกาะกันเป็นก้อนใหญ่ เวลานำไปตักขายก็จะลำบาก ลูกค้าซื้อไปเค้าก็กินลำบากเช่นกัน


พัชราภรณ์ เล่าว่า หลังจากที่ตนเองแยกกิจการมาทำโรงน้ำแข็งของตนเอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของโรงน้ำแข็งในอดีตที่หลายคนเคยเห็น จนหลายคนที่มาเยี่ยมโรงน้ำแข็งของเรา ก็จะบอกว่า ไม่อยากจะเชื่อว่าเป็นโรงน้ำแข็งถ้ามองจากภายนอก และมีการออกแบบให้ดูทันสมัย ให้ความสำคัญกับทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานส่งน้ำแข็งที่เป็นด่านแรกที่ต้องติดต่อพบปะลูกค้าทุกวัน ทุกคนก็ต้องสวมใส่ชุดยูนิฟอร์มในขณะทำงาน และ มีรถขนส่งเป็นรถห้องเย็นปิดมิดชิด สร้างความมั่นใจว่า ก่อนถึงมือลูกค้าเราดูแลน้ำแข็งของเราเป็นอย่างดี สะอาดทุกก้อน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ กระสอบหรือถุงน้ำแข็งที่ต้องสะอาดและติดแบรนด์ของเรา


ในส่วนของราคาน้ำแข็ง ปกติในพื้นที่ก็จะขายในราคาใกล้เคียงกัน คือ กระสอบละ 35-45 บาท น้ำหนัก 20 กิโลกรัม เป็นราคาขายส่งน้ำแข็งที่ขายกันทั่วไป ส่วนใหญ่ไม่ตัดราคากัน เพราะต้นทุนน้ำแข็งปัจจุบันเพิ่มขึ้นมาทั้งค่าพลังงาน ค่าแรงงาน ส่วนผู้บริโภคน้ำแข็งในพื้นที่ภาคอีสาน ส่วนใหญ่การซื้อขายน้ำแข็งของคนในพื้นที่ ยังนิยมที่จะซื้อน้ำแข็งที่ตักขาย หรือ ชั่งกิโลขาย มากกว่าการซื้อในน้ำแข็งที่บรรจุในถุงเหมือนกับการขายในโมเดิร์นเทรด หรือ ซุปเปอร์มาร์เก็ต


เจ้าของอาณาจักรโรงน้ำแข็งภาคอีสาน

ทำไมถึงบอกว่า ครอบครัวนี้ครอบครองอาณาจักรการส่งน้ำแข็งในพื้นที่ภาคอีสานหลายจังหวัด เพราะพี่น้องสามคนของครอบครัวนี้ เค้าเปิดโรงน้ำแข็งทุกคน แยกย้ายกันไปดูแลในแต่ละพื้นที่ เช่น พี่สาวคนโต ทำโรงน้ำแข็ง ชื่อ ว่า ปีมงคลไอซ์ มี 3 สขา ในกาฬสินธุ์ และ มหาสารคาม ส่วนพี่สาวคนที่สองของคุณโอ๋ เป็นเจ้าของโรงน้ำแข็ง ชื่อว่า กิมชุนไอซ์ มีทั้งหมด 24 สาขา ในภาคอีสาน และส่วนตัวคุณโอ๋เองเปิด นาราไอซ์ ตอนนี้เปิดมา 7 ปี มี 3 สาขา ที่ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลฯ มีรถส่งน้ำแข็งกว่า 80 คัน และได้ลงทุนไปแล้วกว่า 150 ล้านบาท แม้จะลงทุนสูง แต่โอกาสคืนทุนโรงน้ำแข็งมีค่อนข้างสูง เพราะประเทศไทยเมืองร้อน เช่น การขายน้ำแข็งในช่วงหน้าร้อนเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติหลายเท่า คือ โรงน้ำแข็งผลิตน้ำแข็งออกมาได้เท่าไหร่ ก็ขายได้หมด

ติดต่อ FB: นาราไอซ์


* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *


กำลังโหลดความคิดเห็น