“สวนผักปากช่อง” ที่วันนี้ถูกบรรจุอยู่ใน activity ช่วงวันหยุดของหลาย ๆ คน ด้วยแนวคิดเกษตร HOW TO เรียนรู้ ฝึกลงมือทำ และยังช้อปผักราคาย่อมกลับบ้านได้ จากคนที่ล้มในธุรกิจมา ปลูกผักขายได้วันละแสน! สู่รายได้หลักแสน/เดือนที่สุขมากกว่า!!!
นายชยพล กลมกล่อม(หนุ่มเสก) แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง และศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร “สวนผักปากช่อง”เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนนี้ตนเองเคยเป็นคนที่ล้มมา พอน้อมนำหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่”ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้น้อมนำเรื่องของหลัก “เศรษฐกิจพอเพียง”จากชีวิตที่ทำธุรกิจก้าวเข้ามาสู่อาชีพเกษตร“ปี2540 เราเจอวิกฤตฟองสบู่แตก แต่ปัจจุบันนี้หันเหชีวิตเข้ามาสู่ภาคการเกษตรเราก็พอจะมีกิน พอจะมีใช้กับเขาอยู่บ้าง”ข้างในนี้เป็นการรวมตัวกันของกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรปากช่อง” ทำเรื่องการท่องเที่ยวเชื่อมโยง และส่วนที่เป็น “สวนผักปากช่อง” ก็จะเป็นศูนย์เรียนรู้ ส.ป.ก. เครือข่าย ซึ่งมีกิจกรรมในเรื่องของแนวเกษตรทฤษฎีใหม่ การเรียนรู้ในเรื่องของการผลิต นวัตกรรมการผลิต ที่นี่ก็จะใช้พลังงาน “โซลาร์เซลล์” เข้ามาร่วมด้วย และในการอยู่ก็จะยึดหลักความพอเพียง “มีกิน มีใช้ และสร้างภูมิคุ้มกัน”ในการที่จะต่อสู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไป
จุดเปลี่ยน..
“ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกรเนี่ย หลังสุดเราทำในเรื่องของอสังหาริมทรัพย์ ทำโครงการบ้านจัดสรรอยู่ที่ดอนเมือง แต่เราเจอวิกฤตฟองสบู่แตกปี 2540 ก็เลยปิดบริษัท เข้ามาสู่ภาคการเกษตร””โดยมาที่ “ปากช่อง” ซึ่งตอนนั้นตนเองเห็นแล้วว่าที่ไร่สุวรรณปลูกข้าวโพดแล้วก็ขายทั้งฝักข้าวโพดขายทั้งน้ำข้าวโพด(นมข้าวโพด) เยอะมาก เราต้องรอดแน่! ก็เลยคิดที่จะปลูกข้าวโพดส่งไร่สุวรรณเป็นอาชีพ"เริ่มต้นจากเช่าพื้นที่ แล้วก็คิดที่จะปลูกข้าวโพดส่งไร่สุวรรณ ก็ทำอยู่ 2-3 ปีครับ ช่วงแรกเราเช่าที่อยู่ประมาณสัก 5 ไร่ แล้วก็มาเช่าเพิ่มอีกเป็น 20 ไร่ แล้วก็เช่าเพิ่มต่ออีก 85 ไร่ ในการที่จะปลูกข้าวโพดส่งไร่สุวรรณ” แต่ด้วยกำไรที่ได้ต่อไร่หักแล้ว เหลือน้อยมาก เคยทำมาแล้วแม้กระทั่งเอาต้นข้าวโพดไปทำเป็นอาหารวัวนม เหลือกำไรต่อไร่ต่อรุ่นไม่เกิน 3000 ก็ไม่รวยสักที! เลยต้องมองหาพืชใหม่เข้ามาทดแทน
เห็นคนทางภาคกลางมาปลูกผัก “เอ๊ะปีนี้เขาขี่ปิกอัพ ปีหน้าเขาถอยรถใหม่อีกแล้ว! เขาทำได้อย่างไร?”จากนั้นก็จึงค่อย ๆ เข้ามาเรียนรู้เรื่องการปลูกผัก โดยเริ่มปลูกตั้งแต่ คะน้า ผักสลัด และก็ปลูกกวางตุ้ง จนรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้คือการปลูก “ขึ้นฉ่าย” และก็ปลูก “กุยช่าย” ด้วย ช่วงนั้นก็มีการทำทั้งกุยช่ายเขียว-กุยช่ายขาว(แบบใช้กระถางครอบ)“โดยการทำตลาดจะใช้วิธี “ตลาดนำการผลิต” ก็คือเราเข้าไปติดต่อแม่ค้าที่ตลาดไท สี่มุมเมือง แล้วก็บริษัทที่ส่งออกผักไปทางยุโรป แล้วก็วางแผนการผลิตตามคำสั่งซื้อ”
คุณเสกบอกด้วย ในช่วงที่ปลูกขึ้นฉ่ายและก็กุยช่ายนั้น เช่าพื้นที่ทำอยู่กว่า 500 ไร่ เป็นการทำเองแต่ว่าก็จะมีทีมงานที่คอยช่วยในการบริหารจัดการแปลงผลิตด้วย“เรามีหัวหน้าทีมในการที่จะดูแลว่า เช้านี้เราจะต้องตัดผักแปลงไหน ใครจะต้องตัดขาวมาล้างเท่าไหร่ ฝ่ายผลิตรอบบ่ายจะต้องปลูกผักตัวไหน เราวางแผนการผลิตให้มีผักออกทุกวัน โดยน้ำหนักผักที่เราขายทุกวันเฉลี่ยวันละประมาณ 5000-6000 กิโลทุกวัน”มีทีมงานตอนนั้นอยู่ทั้งหมดเกือบ 200 คน ค่าเช่าที่ต่อไร่อยู่ที่ 3000 บาท ต่อเดือนมีรายได้จากการขายผักอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านบาท
สู่...”เกษตรท่องเที่ยว”
“ทุกวันนี้รายได้ที่เคยมีจากตัดผักขาย วันละ5000-6000 กิโล หายไปครับ! เพราะว่าพื้นที่เช่าส่วนใหญ่ “แหล่งน้ำ”ไม่มี พอแหล่งน้ำไม่พอ แล้วช่วงนี้ประเทศไทยเกิดภัยแล้ง ก็เลยหันเหชีวิตเข้ามาอยู่เรื่องภาคการท่องเที่ยว ทุกวันนี้ก็เลยเข้ามาทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แล้วก็เป็นศูนย์เรียนรู้ภาคการเกษตรแทน”
การดำเนินงานสำหรับที่นี่ผ่านมากว่า 5 ปีแล้ว บนเนื้อที่ประมาณ 6,700 ตร.ม.(ภายในโรงเรือน) การผลิตหลัก ๆ ได้แก่ การปลูกผักสลัดอินทรีย์ ควบคู่ไปกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาแบบเป็นหมู่คณะ ตั้งแต่ 20 คนจนกระทั่งไปถึง 350 คน“นักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะได้ความรู้ในเรื่องของหลัก “เกษตรทฤษฎีใหม่” ในเรื่องของการปลูก การลดต้นทุนการผลิต การผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา แล้วก็มีค่าบริการอีกนิดหน่อย สำหรับท่านที่เข้ามาทำกิจกรรมเป็นหมู่คณะจะมีค่าบริการท่านละ 100 บาท ได้อะไรบ้าง? เริ่มจากเรามีเวลคัมดริ้ง “น้ำอัญชัน” ให้กับท่านได้ดื่มชื่นใจ แล้วก็ฟังบรรยายสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่่ของในหลวงรัชกาลที่9 (ไม่เกิน10 นาที) แล้วเข้าไปเรียนรู้ฐานที่1 เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่: การจัดการพื้นที่ ฐานที่2 (ต้นกำเนิด) เรียนรู้เรื่องการเพาะเมล็ด เสร็จแล้วฐานที่3 ไปดูเรื่องการผสมดิน ใช้ปลูกพืชแบบอินทรีย์มีวัตถุดิบอะไรบ้าง ฐานที่4 เรื่องการปลูก ซึ่งก็จะมีต้นไม้ที่ใช้ปลูกให้นำกลับบ้านไปด้วยคนละ1 กระถาง เสร็จแล้วฐานที่5 เรียนรู้เรื่องการผลิตเชื้อไตรโคเดอร์มา ในการป้องกันกำจัดโรคพืช ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีอยู่5 ฐานการเรียนรู้”
สร้าง “สุข” ที่มากกว่า!!!
คุณเสกบอกว่า เริ่มต้นสร้างสวนผักปากช่องให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเปลี่ยนวิถีการตลาด จากที่ส่งผักขายเข้าตลาดค้าส่งมาขายตรงถึงผู้บริโภคในท้องถิ่นแทน โดยเลือกปลูกผักสลัดเป็นหลักเพราะปลูกง่าย ดูแลไม่ยาก ไม่ค่อยมีโรคแมลง ส่งผักขายร้านอาหารในท้องถิ่นและส่วนหนึ่งขายให้กับคนที่เข้ามาเรียนรู้และมาท่องเที่ยวที่สวน “เมื่อก่อนมีรายได้จากการขายผักวันละแสน แต่วันนี้มีรายได้เดือนหนึ่งหลักแสน แต่ทว่ารู้สึกมีความสุขมากกว่า”โดยมีการแบ่งปันสู่ชุมชนและเชื่อมโยงท้องถิ่นด้วยการสร้างให้สวนในพื้นที่ใกล้เคียง กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวปากช่อง-เขาใหญ่จนเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจ และช่วงเสาร์-อาทิตย์ และวันที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ ที่นี่จะมีสินค้าจากชุมชนมากมายมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
“สวนผักปากช่อง” ตั้งอยู่ที่ 388 หมู่ที่ 19 ต.คลองม่วง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โทร.085-999-6642
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *