“เราเป็นสูตรคนจีนแบบโบราณ ไม่มีการใส่สารใด ๆ จะใช้เพียงน้ำซาวข้าวดองปรุงรสผักเป็นหลัก ซึ่งกิมมิคของมันก็คือว่า ถ้าคนชอบเปรี้ยวเยอะให้วางทิ้งไว้ก่อนเลย เพราะเราใช้ผักสดใหม่ทำ รสที่ได้จึงเป็นธรรมชาติจริง ๆ เก็บได้นานในอุณหภูมิปกติ”
คุณหญิง-สุชาดา วรรณวรรค เจ้าของผลิตภัณฑ์ผักกาดดองไร้สารสูตรโบราณ คุณหญิง ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่ตำบลทุ่งทอง อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เล่าให้ฟังว่าด้วยความที่พื้นเพเดิมของครอบครัวคือเป็นคนจีน มีคุณน้าคุณอาหลายคนแล้วก็จะมีคุณน้าท่านหนึ่ง ทำธุรกิจผักสดส่งโรงงานดองผักทั่วประเทศอยู่แล้ว และก็น้าชายอีกคนก็ทำโรงดองของตัวเอง(ผักดองปี๊บ) ด้วย ทีนี้ช่วงโควิดฯ ที่มีข่าวเรื่องการระบาดในตลาดซึ่งก็ทำให้ตลาดปิด ขายของไม่ได้ ส่งผลให้วิสาหกิจชุมชนฯ ที่น้าชายตั้งขึ้นมาในส่วนของโรงงานดองผัก สมาชิกต้องขาดรายได้เพราะไม่มีงานทำ ก็เลยทำให้ตนเองฉุกคิดขึ้นมาต้องสร้างความแตกต่าง! ตอนนั้นเองจึงปรึกษากันกับน้าว่างั้นเราลองกลับไปที่จุดเดิมลองดูอีกทีดีกว่า
“เพราะว่าหนึ่งเลย สิ่งที่หญิงเห็นปัญหาแรกเลย “ไหระเบิด”! ไม่ระเบิดแล้วเพราะเดี๋ยวนี้ขนส่งวันเดียวสองวัน แล้วก็ที่บอกว่าต้องใส่สารกันเสีย ไม่ต้องแล้ว เพราะเราส่งลูกค้าโดยตรงเราขายออนไลน์ สีเราอธิบายให้ลูกค้าได้ ถ่ายรูปให้ดูมีคลิปให้ คือตอนนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปแล้ว มันเป็นสมัยใหม่แล้วก็เลยลองมาทำ ซึ่งได้ผลตอบรับดี”
ย้อนกลับไปในอดีตที่มาของการทำ “ผักกาดดองไร้สาร” สูตรโบราณนั้น คุณหญิงเล่าให้ฟังด้วย คุณทวดซึ่งเดินทางมาจากเมืองจีน ตอนเด็ก ๆ ที่ได้เห็นมาคือที่บ้านจะมีการทำผักกาดดองแบบสูตรดั้งเดิมเพื่อไว้บริโภคเองกันภายในครอบครัวก่อน แล้วต่อมาหลังจากนั้นก็เริ่มมีการทำเพื่อนำออกไปขายที่ตลาดด้วย ซึ่งสมัยก่อนการดองผักกาดจะดองใส่ไห แล้วพอมาถึงในยุคซึ่งเริ่มมีการเติบโตสู่อุตสาหกรรม การนำผักดองไปขายในระยะทางที่ไกลขึ้นจากเดิมมาก ขณะที่การบรรจุยังใส่ใน “ไห” เช่นเดิมก็เริ่มพบปัญหาว่า ไหระเบิด! เพราะว่าข้างในมีแก๊สที่เกิดขึ้นมาจากกระบวนการหมัก ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้โดยมีการเติมกรดน้ำส้มลงไปแทน สรุปคือปัญหาแรกสามารถจัดการได้แล้วแต่ว่าหลังจากนั้น พอเข้าสู่ระบบของการค้าส่งขนาดใหญ่แล้วก่อนที่จะมีการกระจายต่อไปยังลูกค้า/ผู้บริโภครายย่อย แน่นอนว่าในระหว่างทางของการขนส่งระยะไกล จึงอาจมีการใช้ “สารกันบูด”เพื่อช่วยยืดอายุของให้อยู่ยืนยาวขึ้น รวมถึง “สี” ที่เริ่มจะไม่สวยแล้วเพราะนานเกิน ก็ต้องมีการใช้สารฟอกฯ ช่วยสร้างความสดใหม่ผ่านทางสีสัน(สีเหลืองสวย) ที่ได้เห็นด้วย
“ซึ่งถึงตอนนี้ที่ขายมาเรื่อย ๆ ได้ประมาณ 2-3 ปีแล้วค่ะ ทีนี้วิธีทำ ก็คือตั้งแต่ผักซึ่งหญิงก็จะขอมาจากน้าคนแรกที่เขามีโควตาผักสดอยู่เยอะ ๆ ก็ขอเขาให้เขาปลูกส่งให้เราเฉพาะสักนิดหนึ่ง เพราะหญิงจะทำประมาณ 4 วัน/ครั้ง ซึ่งในช่วง 4-6 วันนี้แรก ๆ เลยก็ จะใช้ผักสดอยู่ประมาณ 200-300 กิโลเอง เทียบกับน้าชายแล้วซึ่งปีหนึ่งเขาทำผักเป็นแสน ๆ กิโล เพื่อส่งให้กับโรงงานใหญ่ ๆ ก็เลยขอให้เขาทำให้หน่อย ซึ่งมันก็เลยทำให้หญิงสามารถทำได้”
สำหรับกรรมวิธีการทำ “ผักกาดดองไร้สาร” สูตรโบราณ คุณหญิงบอกว่า เป็นแบบโบราณแท้ ๆ เลย เริ่มจากการใช้ “โอ่งมังกร” สำหรับการดองผัก แต่ว่าก่อนหน้านั้น “ผัก” ที่เก็บมาจากแปลงผลิตสดใหม่ ก็จะนำมาล้างทำความสะอาดให้ดีก่อน เสร็จแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนของการดองเกลือ แล้วจากนั้นถึงจะเริ่มนำมาดองปรุงรสโดยการใส่ “น้ำซาวข้าว”“ใส่น้ำซาวข้าวใส่อะไรอย่างเงี้ย ความเปรี้ยวที่ได้มันก็จะเป็นความเปรี้ยวที่ไม่ได้จี๊ด มันไม่ซ่าลิ้น มันเป็นแบบเปรี้ยวที่เกิดจากการหมัก แล้วก็มันจะมีกิมมิคของมันด้วยคือ ถ้าเกิดว่าคนชอบเปรี้ยวเยอะให้วางทิ้งไว้ก่อนเลย เพราะหญิงทำสดจะไม่ใช่ว่าทำเป็นสต็อกผักดองเก็บไว้ ด้วยความที่ว่าเราอยู่กับผัก มีผักเยอะแยะมากมาย ที่พร้อมได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว พอมีออร์เดอมาก็ค่อยทำส่งให้ลูกค้าเป็นของใหม่ ๆ ให้เลย ทีนี้สิ่งที่ได้ข้อดีก็คือ ลูกค้าสามารถเอาไปเก็บไว้ได้นานเป็นเดือนเลย โดยที่ไม่แช่ตู้เย็น แล้วมันจะเปรี้ยวขึ้นด้วย เปรี้ยวเข้าเนื้อด้วย เพราะผักเราสด ซึ่งมีลูกค้าบางรายเขาชอบมากเขาเอาไปต่างประเทศด้วย เพราะว่ามันสามารถไปได้”
คุณหญิงบอกว่า ตนเองยอมลงทุนในเรื่องของการแพ็กบรรจุอย่างดี ใช้ถุงบรรจุเป็นแบบสองชั้น เพื่อช่วยป้องกันโดยเป็นถุงแบบใช้แทนสารกันเสียและช่วยในเรื่องของไม่ให้เกิดเชื้อราได้ด้วย เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีก็เปลี่ยนไปมาก ๆ แล้วและมันสามารถช่วยได้ประกอบกับความคิดของผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนไปด้วย “เขาไม่ได้อยากกินสี เขาไม่ได้อยากกินสาร ซึ่งมันเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเขา ทำให้หญิงย้อนกลับมาที่ตรงจุดเดิมของครอบครัวเคยทำมาก่อน แล้วก็ค่อย ๆ เริ่มทำมา 3 ปีแล้ว”
ถามถึงเรื่องการสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นมาอีก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการผลิตทั่วไปแล้ว คุณหญิงบอกว่ามูลค่าเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างมากกว่า อย่างผักกาดดอง ที่ตนเองขายอยู่ขนาดบรรจุ 500 กรัม(ครึ่งกิโล) ราคาจะเริ่มที่ 55 บาท/ถุง ส่วนตระกูลเกี่ยมฉ่าย (ทุกสูตรที่ทำอยู่) ขนาดบรรจุ 500 กรัม/ถุง เท่ากันแต่ราคาจะอยู่ที่ 130 บาท“เพราะว่าเราไปลงทุนเรื่องถุง คือบางคนไม่เข้าใจ แต่หญิงมั่นใจได้แน่ว่าคือเราไม่มีการปลอมแปลงใส่สารกันเสียเข้าไปแน่นอน เพราะใช้ถุงอย่างดีอย่างหนา แล้วเครื่องซีลก็ใช้เป็นแบบตู้ซีลอย่างดีเลย ทำให้มีเพิ่มมูลค่าขึ้นมาค่อนข้างเยอะค่ะ” ซึ่งปัจจุบันคุณหญิงมีกำลังการผลิตจากการเปิดรับพรีออร์เดอก่อนอยู่ที่ประมาณ 2000 กิโลกรัม/เดือน สามารถรองรับออร์เดอใกล้-ไกลได้ทั่วประเทศ
ทั้งนี้จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลงผลิต “ผักกาดเขียวปลี” ของเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้ทราบว่า ต.ทุ่งทอง ถือเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศที่นอกจากทางภาคเหนือแล้ว ส่วนมากเกษตรกรจะยึดปลูกผักชนิดนี้กันเป็นพืชหลักและอาจควบคู่ไปกับพืชผักเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วย จะมีตลาดที่เข้ามารับซื้อถึงพื้นที่โดยตรงแต่ว่า “ราคา” ก็ขึ้นอยู่ภาวการณ์ของ ดีมานด์-ซัพพลาย เป็นสำคัญ ผักกาดเขียวปลีจะมีช่วงราคาดี(แพง) ในหน้าแล้ง-ร้อนที่การปลูกการดูแลทำได้ค่อนข้างยากกว่า ราคาผลผลิตที่ได้ต่อ 1 รอบ(55วัน) อาจพุ่งสูงขึ้นกว่า 5-6 บาท/กก. ต่างกับหน้าหนาวผักจะฟูสวยและกอใหญ่มากแต่ราคามักดิ่งลงมา เหลืออยู่ 2.50บาท/กก.ก็มี แต่ด้วยปริมาณซึ่งขึ้นอยู่กับฝีมือด้วยเฉลี่ย 5-13 ตัน/ไร่ ก็ทำให้ผักกาดเขียวปลีสำหรับคนในเขตนี้ยังคงเป็นพืชหลักที่ยึดทำกันอยู่อย่างเหนียวแน่น
สนใจผลิตภัณฑ์ติดตามได้ที่ FB : ผักกาดดองไร้สารสูตรโบราณ คุณหญิง หรือโทร.098-252-9064 ขอบคุณฟอร์ด (ประเทศไทย) สนับสนุนพาหนะสุดแกร่งในการเดินทางครั้งนี้
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด