น้ำปลาร้าปรุงรสกลายเป็นหนึ่งเครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว สำหรับการปรุงอาหารไทย ซึ่งไม่ได้แซ่บเฉพาะภาคอีสาน วันนี้ น้ำปลาร้า ส่วนผสมที่ปรุงอาหารแซ่บกันได้ทุกภาค ครั้งนี้ พาไปรู้จัก กับเจ้าของต้นตำรับผู้อยู่เบื้องหลังน้ำปลาร้าปรุงรสที่ขายกันอยู่ทั่วประเทศ กว่า 140 แบรนด์ โรงงานผลิตน้ำปลาร้าแม่อ้อย จากจังหวัดกาฬสินธุ์
ต้นตำรับปลาร้ากาฬสินธุ์ ทำมากว่า 40 ปี
นายเฉลิมภัทร โคตรวงษ์ กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่อ้อยเกษตรแปรรูปอินเตอร์ฟู้ด เล่าว่า ตนเองเป็นทายาทเข้ามาทำกิจการน้ำปลาร้าแบรนด์แม่อ้อย กาฬสินธุ์ ซึ่งครอบครัวของเราทำปลาร้าขายมากว่า 40 ปี ตั้งแต่รุ่นแม่ ชื่อว่า แม่อ้อย ในสมัยนั้นไม่มีน้ำปลาร้าปรุงรสเหมือนอย่างทุกวันนี้ แม่ทำปลาร้าที่เป็นตัวและใช้การต้มด้วยฟื้น บรรจุใส่ปี๊บส่งขายให้กับพ่อค้า แม่ค้า รับขายต่ออีกทอดหนึ่ง ในอดีตการบริโภคปลาร้าไม่ได้มีมากเหมือนอย่างทุกวันนี้ เนื่องจากยังไม่มีใครทำน้ำปลาร้าปรุงรสบรรจุขวดเหมือนอย่างทุกวันนี้
“และเมื่อปี 2557 ผมได้เข้ามาช่วยกิจการปลาร้าของแม่อ้อย โดยได้มีการพัฒนาปรับปรุงยกระดับให้ปลาร้ากินและขายง่ายขึ้น จากปลาร้าที่บรรจุในปี๊บ เราได้นำมากรอกใส่ขวด และเป็นที่มาของโรงงานผลิตน้ำปลาร้าบรรจุขวดเมื่อปี 2559 ถ้าจะกล่าวว่า ผมเป็นรายแรกที่ทำน้ำปลาร้าบรรจุขวดก็ไม่ผิดนักเพราะในช่วงนั้นยังไม่มีน้ำปลาร้าปรุงรสบรรจุขวดขายในท้องตลาด จนเมื่อปี 2562 น้ำปลาร้าบรรจุขวดบูมขึ้นมา เมื่อมีดารานักแสดง หันมาทำน้ำปลาร้าขาย ทำให้น้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรสบรรจุดขวดเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางจนถึงทุกวันนี้
ปี 2563 ตลาดน้ำปลาร้ามาแรงมาก รง.รับออเดอร์วันละ 4,000 โหล
ตลาดน้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรสได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงปี 2563 มีผู้ประกอบการรายหนึ่ง มาสั่งผลิตน้ำปลาร้าที่โรงงาน ของเรา เป็นจุดเปลี่ยนเมื่อมีผู้ประกอบการรายหนึ่งต้องการให้เราผลิตน้ำปลาร้าให้วันละ 6,000 โหล แต่ด้วยช่วงนั้นโรงงานของผมผลิตได้เต็มที่แค่ 4,000 โหลต่อวัน ทำให้มีรายได้จากผู้ประกอบการรายเดียวเดือนละ 5 ล้านบาท ยังไม่รวมผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่มาว่าจ้างให้ทางโรงงานของเราผลิต รวมแล้วมีผู้ประกอบการที่มาว่าจ้างให้โรงงานของผลิตภายใต้แบรนด์ของตัวเองมากถึง 140 แบรนด์
ทั้งนี้ จากออเดอร์เข้ามาอย่างมาก ทำให้ “คุณเฉลิมภัทร” ต้องการขยายโรงงานเพิ่ม จากเดิมต้มน้ำปลาร้าด้วยฟืน ในขณะที่โรงงานใหม่ มีการลงเครื่องจักรกว่า 10 ล้านบาท เปลี่ยนจากการต้มด้วยฟืน เป็นหม้อต้มไฟฟ้า อย่างไรก็ดี การแข่งขันในตลาดน้ำปลาร้าปรุงรสที่มีค่อนข้างสูง ในช่วงปี 1-2 ปี ที่ผ่านมาเริ่มมีแบรนด์ที่เคยมาสั่งผลิต มีการหยุดสั่ง และในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้ารับรายใหญ่ของทางโรงงานที่เคยสั่งวันละหลายพันโหลเริ่มมีการสั่งซื้อน้อยลงไปมาก รวมถึงหลายรายที่เลิกไม่สั่งต่อ เพราะไม่สามารถไปต่อได้ ก็เลิกสั่งไป ทำให้เราต้องหันมาสร้างแบรนด์และหาช่องทางขายของตนเอง
เตรียมลุยสร้างแบรนด์ ลดสัดส่วนรับจ้างผลิตเหลือ 50%
นายเฉลิมภัทร เล่าว่า สำหรับโรงงานน้ำปลาร้าแม่อ้อย กาฬสินธุ์ โรงงานของเราผลิตแบบ OEM เกือบ100% พอเสียตลาดในกลุ่มรับจ้างผลิตไป ทำให้ต้องหันมาสร้างแบรนด์ลุยตลาดเอง โดยตั้งใจว่า ในปีนี้ 2566 เราจะลดสัดส่วนการผลิตแบบรับจ้างผลิต OEM ให้เหลือ 50%
สำหรับการสร้างแบรนด์ในครั้งนี้ ใช้ชื่อว่าน้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส จ้วดจ้าด เนื่องจากการแข่งขันในตลาดน้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรสแข่งขันรุนแรง ลูกค้าที่เคยกินยี่ห้อไหนแล้วอร่อยก็จะกลับมาซื้อซ้ำแบรนด์นั้น ดังนั้น การทำตลาดของเราก็เลยจะเน้นการเข้าถึงลูกค้าให้ได้ทั่วประเทศ ในรูปแบบของไดเรคเซลล์ ให้เซลล์ของเราเข้าไปขายแบบเคาะประตูบ้าน ทั่วประเทศ ทั้ง 77 จังหวัด และหลังจากนั้น เชื่อว่าลูกค้าก็จะต้องกลับมาซื้อซ้ำ ผ่านเบอร์โทรศัพท์ข้างขวด
ชูจุดขาย ความเป็นน้ำปลาร้าเข้มข้น
นายเฉลิมภัทร เล่าว่า จุดเด่นน้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส จ้วดจ้าด นอกจากความหอมและนัวร์ แบบฉบับน้ำปลาร้า และน้ำปลาร้าของเราส่วนผสมของปลาร้า เพราะเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น ของเราจะส่วนผสมขอเนื้อปลาร้าที่เมื่อเทออกมาจะเห็นน้ำปลาร้าเข้มข้นจากเนื้อปลาร้าที่เป็นส่วนผสม ทำให้น้ำปลาร้าของเราจะหอมและนัวร์ และด้วยทำน้ำปลาร้ามานานมาก มั่นใจว่าถ้าลูกค้าได้ชิมจะต้องกลับมาซื้อซ้ำ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา น้ำปลาร้าแม่อ้อย เป็นที่รู้จักในรูปแบบการขายปลาร้าแบบเดิมอยู่แล้ว ส่วนของโรงงานผลิตเริ่มที่หลัง ซึ่งเดิมในสมัยแม่อ้อยทำปลาร้าปี๊บขายมียอดขายปีละ 3-4 ล้านบาท แต่พอเปิดโรงงานผลิตน้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส ตั้งแต่ปี 2557 จนมาถึงจุดเปลี่ยนปี 2562 และ 2563 กระแสน้ำปลาร้ามาแรงในช่วงนั้น ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยในปี 2563 มีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 40-50 ล้านบาทต่อปี มีทั้งดารานักแสดง และคนทั่วไป มาว่าจ้างโรงงานผลิตกว่า 140 แบรนด์ที่ทำออกไปสู่ตลาด มีการลงทุนรวมการตั้งโรงงานและการซื้อที่ดิน รวมประมาณ 35-40 ล้านบาท
ตลาดน้ำปลาร้าปรุงสุกในมุมของผู้ผลิต หลังการแข่งขันดุเดือด
ในส่วนของการรับจ้างผลิต ที่ผ่านมา ทางโรงงานของเราจะไม่พยายามผูกมัด หรือ กำหนดกฎเกณฑ์อะไรลูกค้าให้เยอะเกินไป เราเองก็ไม่ยากเห็นเขาต้องไปเป็นหนี้ เพื่อที่จะทำน้ำปลาร้ากับเรา และถ้าวันหนึ่งขายไม่ได้มีปัญหาหนี้สินตามมา ซึ่งที่ผ่านมา ลูกค้าต้องการผลิตเท่าไหร่ เราก็ทำให้ แต่อย่างน้อยก็ต้อง 1 หม้อต้ม บรรจุขวดได้ 350 โหล ที่ต้องสั่งอย่างน้อย 1 หม้อต้ม เพราะเป็นสูตรเฉพาะของการต้มน้ำปลาร้าหม้อนั้น ๆ ซึ่งลูกค้าทั้ง 140 แบรนด์ ก็จะมีสูตรที่เพิ่มเติมไป ทำให้แต่ละแบรนด์ที่นำออกไปขายแม้จะมาจากโรงงานเดียวกันแต่รสชาติก็ไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด ส่วนราคาน้ำปลาร้าหน้าโรงงานอยู่ที่ต้นทุนขวดละ 12.50 บาท การตั้งราคาขายก็ขึ้นอยู่กับการตลาดของแบรนด์นั้น ๆ ราคาขายหน้าร้านส่วนใหญ่อยู่ที่ 20 บาท และ 25 บาท
นายเฉลิมภัทร กล่าวถึง ตลาดน้ำปลาร้าต้มสุกปรุงรส ว่า ในมุมมองผู้ผลิตมองว่าตลาดยังมีโอกาสให้สามารถลงไปเล่นได้ เพราะปัจจุบันการบริโภคน้ำปลาร้าในลักษณะบรรจุขวดเยอะมาก จากการสำรวจปีหนึ่งประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยน้ำปลาร้าขวดได้เข้าไปแชร์ตลาดน้ำปลา เพราะการปรุงอาหารไทย บางชนิดเปลี่ยนจากน้ำปลามาเป็นน้ำปลาร้า เพราะน้ำปลาร้ามีสารอาหารที่มีประโยชน์มากกว่าจากเนื้อปลาที่ส่วนผสมในน้ำปลาร้า สินค้าของเราผ่านมาตรฐานทุกอย่างบริโภคได้อย่างปลอดภัย การเลือกซื้อ น้ำปลาร้าของผู้บริโภคเกิดจากการบอกต่อ ยี่ห้อนี้อร่อยซื้อตามๆ กัน หรือได้ลองกินก็ชอบก็จะกลับมาซื้อซ้ำ
ติดต่อโทร.09-2669-6114
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด