ม.เกษตรฯ จัดงานเสวนา “The Role Model” จุดไฟ ค้นหา-สร้าง “คนต้นแบบ” ฉบับของตัวเอง
นิสิตปริญญาเอก สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน (ภาคพิเศษ) ภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนา “The Role Model ใช้ชีวิตอย่างคนต้นแบบ” โดยได้รับเกียรติจาก คุณวสุ แสงสิงแก้ว (จิ๊บ) วิทยากรรับเชิญ ร่วมแชร์ประสบการณ์จริงจากชีวิตวัยเด็ก สู่ชีวิตวัยทำงาน โดยมีบุคคลต้นแบบ ที่ยึดถือเป็นแบบอย่างจนประสบความสำเร็จในวันนี้
โดยมีครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ปกครอง และบุคคลทั่วไป เข้าร่วมเสวนา เพื่อให้ผู้ร่วมเสวนาได้เรียนรู้หลากหลายแง่มุมและสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตในมิติต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุขและเหมาะสม ณ ห้องประชุม ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร อาคาร 1 ชั้น 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงศธร มหาวิจิตร ประธานสาขาวิชาหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวเปิดงานว่า ผู้ที่เข้าร่วมเสวนาหลายคนอยู่ในแวดวงการศึกษา และส่วนใหญ่จะคิดว่าโรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเรียน แต่นักเรียนหลายคนที่จบการศึกษาไปยังไม่มีต้นแบบหรือไม่มีแรงบันดาลใจให้กับตัวเอง หากพิจารณาในทฤษฎีการพัฒนาคนมีอยู่สองลักษณะคือ สร้างแรงจูงใจภายใน กับสร้างแรงจูงใจภายนอก การสร้างแรงจูงใจภายใน อาจเป็นเรื่องยาก เพราะต้องมีความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากในจิตใจของตัวเอง วิธีการที่จะช่วยได้คือ แรงบันดาลใจภายนอก ครูสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ แต่อาจจะไม่พอหรือเป็นแรงบันดาลใจที่ไม่ถูกจริตกับเด็กได้ การหาแรงบันดาลใจที่เป็นต้นแบบให้กับเด็ก ก็เป็นประโยชน์ในการพัฒนาให้กับผู้เรียนให้มีแรงบันดาลใจที่มุ่งไปสู่ความสำเร็จในชีวิต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากิจกรรมในวันนี้จะเป็นประโยขน์หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านไม่ว่าจะเป็นครูที่จะพัฒนานักเรียน หรือนักเรียนเกิดเป็นแรงบันดาลใจในแบบของตนเอง
วสุ แสงสิงแก้ว กรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ประธานบริหาร บริษัท ราชาศิลาหมุนและบริษัท Land of Grace จำกัด ศิลปิน พิธีกร นักแสดง นักเขียนอิสระ กล่าวว่า เราสามารถมองหาต้นแบบได้มากมายจากหลายศาสตร์ หลายสาขา หลายวิชาชีพที่เราสนใจ สิ่งแรกจะต้องหาความชอบของตัวเองให้เจอ และฝึกฝน จนกระทั่งเห็นภาพที่ชัดเจน และตกผลึกได้ว่าเรารักและเราชอบอะไร เมื่อนั้นเราก็จะเป็นRole Model ที่ได้รับการยอมรับ และเป็นคนต้นแบบในฉบับของตัวเอง
ย้อนไปในวัยเด็ก ยุค 70 หน่วยที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ครอบครัว ผมโตขึ้นมาจาก 2 สิ่ง คือการเรียนกับเล่นกีฬาเทนนิสตั้งแต่อายุ 6 ขวบ พออายุ 8-9 ขอบ ก็เริ่มลงแข่ง จะเป็นช่วงชีวิตที่อยู่กับการเรียนหนังสือและการแข่งขัน ได้เป็นตัวแทนเยาวชนไปแข่งขันในสนามต่าง ๆ มีนักกีฬาต่างชาติเป็นเป็นต้นแบบ คือ จอห์น แมคเอ็นโร และ บิยอร์น บอร์ก สนามที่จัดการแข่งขันเทนนิสจะมี 4 สนามใหญ่ ได้แก่ประเทศ อังกฤษ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา เคยไปแข่ง 2 สนาม จาก 4 สนาม ในระดับแชมป์เยาวชนของเอเชียอันดับ 42 ของโลก และถูกส่งไปฝึกที่สหรัฐอเมริกา กีฬาสอนให้รู้จักแพ้ชนะให้อภัย มีระเบียบวินัย ถ้าชีวิตถูกฝึกให้คุ้นเคยกับคำว่าระเบียบวินัยมาตั้งแต่เด็กจะเป็นพื้นฐานที่ดีให้กับเราเมื่อเติบโตขึ้น
การเป็นคนต้นแบบ เราทุกคนเป็นต้นแบบที่ดีในแบบฉบับของตนเองได้ อาจจะเริ่มจากเป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ เป็นพี่ที่ดีของน้อง เป็นลูกศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นเพื่อนร่วมงานที่ดี เป็นลูกน้องที่ดี เป็นรุ่นพีที่ดี เราอาจจะลองประเมินตัวเองล่วงหน้าในอีก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า อยากจะเห็นตัวเองในจุดไหน สามารถตั้งธงของไว้ได้ และมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าตั้งแต่วันนี้ สิ่งที่สำคัญอย่าหยุดที่จะเรียนรู้และเปิดใจกับทุกสิ่ง นำมาปรับให้เข้ากับตัวเองและทำอย่างมีความสุข
สำหรับงานดนตรีทุกคนรู้จักในนามของ จิ๊บ รด. และมีไอดอลในดวงใจ คือ เอลวิส เพรสลีย์ ราชาแห่ง ร็อค แอนด์ โรล ซึ่งได้รับการยอมรับและเป็นที่รักของคนทั่วโลกในยุคสมัยนั้น เริ่มต้นในยุค 50-60 และเสียชีวิตในปี 60 ซึ่งต้องยอมรับว่าสมัยเด็ก ๆ จะรับอะไรมารับแบบเต็ม ๆ ไม่มีขบวนความคิดในการกลั่นกรองว่าสิ่งไหนดีไม่ดี แต่พอเวลาผ่านไปเรามีประสบการณ์ชีวิตมากพอ หลังจากที่เอลวิส เสียชีวิต มีข้อมูลออกมาว่าเขาใช้ชีวิตแบบสนุกสนาน ไม่มีลิมิต และมีเรื่องยาเข้ามาเกี่ยวข้อง เราสามารถตกผลึกความคิดของเราได้ และค้นพบว่า ชีวิตของเอลวิสสั้นก็เพราะเขาใช้ชีวิตแบบนี้นี่เองฉะนั้นเวลาและประสบการณ์ชีวิตในแต่ละช่วงเวลา จะช่วยคัดกรองกระบวนการความคิดของเราได้มากขึ้น
หากถามว่าแบ่งเวลาการเรียนและดนตรีอย่างไร ผมใช้หลักการ ลิ้นชักความคิด เราจะต้องรู้ว่าเราจะเปิดลิ้นชักความคิดนี้เมื่อไหร่
และถึงเวลาปิดเมื่อไหร่ อย่าให้ตีกัน ทุกครั้งที่เปิดออกมา ชัดเจน มีสมาธิ และโฟกัสอยู่กับมันเมื่อถึงเวลาปิดต้องปิด เช่นถ้าทำงาน เราเปิดลิ้นชักงาน ถ้าเรากลับบ้าน บทบาทเราอาจจะเปลี่ยน ปิดลิ้นชักงาน อย่าเอาความเครียด อย่าเอาปัญหากลับมาที่บ้าน อย่าให้คนอื่นต้องมาทุกข์กังวลกับปัญหาของเรา เมื่อเราโตแล้ว เราเรียนรู้ที่จะจัดการทุกอย่างด้วยตัวเราเอง และใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบวินัย
สำหรับงานด้านการทูต เป็นหนึ่งความฝันเริ่มจากเอลวิส ไอดอลคือเป็นนักร้องต่างประเทศ และมีโอกาสได้ไปแข่งขันเทนนิสหลายสิบประเทศทั่วโลก ทำให้สังคมเราเปิดกว้างตั้งแต่เด็ก ๆ จุดเริ่มต้นการทำงานสายการทูต มุ่งหน้าศึกษาทางด้านนี้ และตั้งเป้าหมายชัดเจน ผมสอบเข้ากระทรวงการต่างประเทศได้ มีโอกาสไปกราบอาจารย์หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านบอกกับผมว่าเป็นนักการทูต เป็นนักรัฐศาสตร์ คุณสมบัติข้อหนึ่งใช้ได้ทั้งชีวิต คือทำตัวให้เหมือนปรอท เมื่อเทไปทางไหนก็สามารถไหลเข้าไปกลมกลืนได้หมด อะไรที่อยู่รอบข้าง ซึมซับมาให้หมด แล้วค่อยมากลั่นกรองว่าอะไรดีไม่ดี อย่าทำตัวเป็นเสาเข็มตอกลึกลงไป ลึกแต่ไม่กว้าง ไม่รู้เรื่องรอบข้าง
จากประสบการณ์การทำงานทางด้านการทูต 20 ปี อยากจะแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตในการทำงานให้กับคนอ่านได้รู้เหมือนที่เรารู้ โดยมีนักเขียนหลายคนเป็นไอดอล พนมเทียน ยาขอบ ไม้เมืองเดิม มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทำให้มีผลงานการเขียนออกมา เป็นการเล่าประสบการณ์ชีวิตในขณะไปรับตำแหน่งกงสุลไทยที่สถานเอกอัครราชทูตไทยที่สิงค์โปร์ ใช้ชื่อว่า “กงสุลเกาะสิงห์” เขียนถึงคนไทยที่เข้าไปสิงค์โปรแบบผิดกฎหมาย นักโทษที่ถูกประหาร ถูกแขวนคอ หรือคนไทยที่ไปทำผิดกฎหมายและโดนเฆี่ยน สลบไปแล้วก็นำกลับมาเฆี่ยนใหม่จนครบ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะต้องเจอจากสายงานอาชีพตลอดเวลาในการทำงาน
หากถามว่าจำเป็นไหมที่จะมีคนต้นแบบให้เรายึดเหนี่ยว ผมคิดว่าจำเป็นต้องมี เพราะเด็ก ๆ เหมือนผ้าขาว จะต้องมีสิ่งที่ประคองชีวิตให้เดินไปในแนวทางที่ถูกที่ควร ที่บ้านมีคุณพ่อ แม่ ญาติผู้ใหญ่ ที่โรงเรียน มีครู มีเพื่อน รุ่นพี่ เราทุกคนจะต้องช่วยกัน เป็นต้นแบบที่ดี ชี้แนะให้รู้การคัดกรอง สิ่งไหนดี หรือสิ่งไหนไม่ดี เราสามารถมีคนต้นแบบได้มากมายและนำไปปรับใช้กับชีวิตได้เหมาะสม ไม่ว่าคนต้นแบบจะเป็นใคร อยู่ในสายงาน อาชีพใด ขอให้เป็นต้นแบบที่ดี มีคุณค่า มีประโยชน์ สร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้กับสังคม เพื่อให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และเขียนสังคมที่ดีให้กับเด็กรุ่นต่อ ๆ ไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุดมลักษม์ กูลศรีโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้เพื่อให้นิสิตได้เรียนรู้การจัดสัมมนา และแนวความคิดมุมมองที่กว้างขึ้น หลุดออกจากกรอบเดิม ๆ โดยเชิญวิทยากรบุคคลาภายนอกวงการการศึกษามาแชร์ประสบการณ์ แนวคิด สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวงการการศึกษา ปัจจุบันมี เน็ต ไอดอล เยอะมากซึ่งทุกคนใช่ว่าจะดีหมด อย่างวิทยากร ก็มีเอลวิส เป็นบุคคลต้นแบบ ซึ่งก็ไม่ได้หยิบมาหมด จะต้องมีตัวกรอง เราจะได้มุมแบบนี้ เด็กที่มาฟัง หรือพ่อแม่ที่มาฟัง จะได้มุมที่เป็นประโยชน์ แต่โดยส่วนตัวมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ร่วมเสวนาซึ่งมีหลากหลาย
นอกจากนี้นิสิตจะต้องนำสิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้มาสร้างเป็นชิ้นงาน ตามโจทย์ที่ให้ไป นิสิตส่วนใหญ่เป็นนักการศึกษา อาจจะนำความรู้ที่ได้บางแง่มุม เช่น เรื่องของตัวกรอง ที่ควรกระตุ้นให้เด็กได้รู้ว่า มุมที่ดีเราควรตาม สิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำตาม หรือเป็นมุมของนักการทูต ศิลปิน และมุมตั้งแต่เล็ก คุณพ่อ แม่หล่อหลอม ใช้กีฬาเป็นตัวปลูกฝังการรู้แพ้ รู้ชนะ การมีระเบียบวินัย หรือนิสิตอาจจะสร้างโปรเจกต์ เพื่อให้เด็กมีทักษะในการพัฒนาการจัดระเบียบในชีวิต นำไปขยายผลต่อในโปรดักส์ของตนเอง อาจจะเขียนเป็นบทความหรือทำเป็นบุ๊คเลท เพื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับนักศึกษาต่อไป
สุวิทย์ เอื้อศักดิ์ชัย ประธานคณะกรรมการการจัดงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนากลยุทธ์และสร้างแบรนด์ กล่าวว่า ยุคนี้ The Role Model เป็นคำที่ใหญ่คำที่กว้าง ปัจจุบันนี้ ผู้ใช้ หรือคนที่จะเป็น Role Model ไม่ค่อยชัดเจน เพราะมีคำก้ำกึ่งเยอะ เช่น อินฟูลเอนเซอร์ ไอดอล ฉะนั้น Role Model สำหรับ กู๋แมท มองว่า คำที่สร้างบทบาทให้กับคนที่มีความรับผิดชอบและสามารถเป็นตัวแทนในการใช้ชีวิต ได้ดีกว่า เพราะว่าคนที่เป็นบุคคลต้นแบบ จะต้องใช้เวลาสะสมบารมีเพื่อให้คนยอมรับ ไม่ใช่เป็นกระแส ไม่ใช่เทรนด์ ฉะนั้น Role Model ควรจะเป็นแบบอย่างที่มีคุณค่า ให้พลังบวกและแนวคิดดี ๆ กับคนที่ตามคุณ ไม่ใช่เพื่อการทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว
การเสวนาในวันนี้เป็นการนำเสนอเนื้อหาผ่านคนเล่าที่มีประสบการณ์ ไม่ได้นำเสนอเนื้อหาผ่านการสอน ฉะนั้นมนุษย์ทุกคน เมื่อฟังในรูปแบบของการแชร์ประสบการณ์จะทำให้เปิดใจ ไม่ใช่การสอน 1 2 3 4 ที่สำคัญเป็นเรื่องจริง บางคนขาดความมั่นใจ พอมาฟังแง่มุมดี ๆ ก็สามารถนำไปต่อเติมได้ หรือคนที่มีศักยภาพพร้อมอยู่แล้ว แต่ไม่กล้า การเสวนานี้จึงเป็นการตอกย้ำความมั่นใจในการนำเสนอและสร้างคุณค่าให้กับตัวเราเองในรูปแบบของตัวเอง
“ถ้าเราอยากจะเป็นคนต้นแบบในแบบของตัวเอง เราทุกคนสามารถเป็นต้นแบบให้กับตัวเองได้ ถ้าเรารู้จักการค้นหาตัวเองที่แท้จริง โดยไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่เราจะ เราอยากจะทำว่ามันยากหรือมันง่าย มีแค่สิ่งเดียว เรายอมที่จะเรียนรู้มันหรือเปล่า ถ้าเราเปิดใจในการเรียนรู้ทุกอย่างมันก็ง่าย”กู๋แมท กล่าวปิดท้าย