ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ร่วมแถลงข่าวเปิดศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว (TD-X Center: Thailand Science Park & depa Acceleration Center)
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ร่วมกับdepa สนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs Startup ให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์ โดยอาศัยความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับหน่วยงานภายในและหน่วยงานภายนอกที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม มาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงสร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ให้เกิดการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตท่ามกลางบริบทใหม่ทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
สำหรับ ศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว หรือ TD-X Center ตั้งขึ้นเพื่อพัฒนา Platform และสร้าง Ecosystem ในการเร่งการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs Startup สำหรับผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านนวัตกรรม ตั้งแต่การออกแบบและพัฒนาต้นแบบที่ครบวงจรอย่างรวดเร็ว โดยอาศัย Platform เป็นศูนย์กลางในการดำเนินการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน การให้ความรู้ คำแนะนำ และหน่วยงานสนับสนุนเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับให้บริการออกแบบ บริการผลิตต้นแบบ การทดสอบคุณภาพตามมาตรฐาน
รวมถึงการทำ Market Validation หรือ MVP (Minimum Viable Product) เพื่อศึกษา Function และ Features ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนสนับสนุนการพัฒนาต้นแบบเชิงอุตสาหกรรม การบ่มเพาะธุรกิจ การลงทุน ขยายการผลิตผลิตภัณฑ์ออกสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs Startup สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมได้อย่างรวดเร็ว มีคุณภาพมาตรฐาน และตรงความต้องการของตลาด ลดการสูญเสียผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาศูนย์เร่งพัฒนาต้นแบบรวดเร็ว หรือ TD-X Center เพื่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานทางเทคโนโลยีของเครื่องมือ รวมไปถึงการพัฒนาและปรับปรุงแพลตฟอร์มให้มีความทันสมัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักวิจัยและนักพัฒนาในการสร้างต้นแบบรวดเร็ว (Rapid Prototype) ช่วยลดระยะเวลาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตลอดจนผลักดันงานวิจัยสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญช่วยให้นักวิจัยสามารถนำส่งการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ขยายผลไปสู่การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินงาน หรือ Digital Startup ได้อีกจำนวนมาก ซึ่งในหลายประเทศได้รับการพิสูจน์แล้วว่า Digital Startup ถือเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤติและความท้าทายใหม่ที่คาดเดาไม่ได้
“เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า การส่งเสริมสนับสนุนและทำงานร่วมกันระหว่างพันธมิตรทั้งสองฝ่าย จะช่วยให้เกิดระบบนิเวศของธุรกิจที่ช่วยผลักดันให้เกิดวงรอบของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดผลกระทบในวงการวิจัยที่ช่วยให้สามารถต่อยอดการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างแท้จริง”