xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) นักสะสมสู่ผู้ค้าไม้แปลก “Exotic Plant” นำเข้า-ส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทยมานานกว่า 25 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“เมื่อก่อนนั้นประเทศไทยจะเก่งเรื่อง “ไม้ด่าง” แต่ต่างประเทศคือของพิการโยนทิ้ง! ตอนนี้ต่างชาติก็รู้แล้ว ของด่าง ๆ เป็นของแปลกที่มีมูลค่า สวยงามเป็นเอกลักษณ์ของต้นไม้ ทำให้มีตลาด Exotic Plant เพราะว่า Exotic ก็คือครอบคลุมทั้งหมดเลย”


“คุณโฮม-สรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์”เจ้าของสวน Living Plant และ Living Collection จ.เชียงใหม่ บอกกับเราว่า ธุรกิจนี้เริ่มทำจริงจังมาประมาณ 25 ปี แต่ถามว่าถ้าเลี้ยงต้นไม้มาคือตั้งแต่ประถมฯ เริ่มปลูกกล้วยไม้เริ่มปลูกแวนด้า เพราะว่า “คุณตา” เป็นเกษตรอำเภอซึ่งจะมีแวนด้าแปลก ๆ มีแคทลียาแปลก ๆ ปลูกเต็มเลย “ความโชคดีของตัวเองนะครับที่ได้เรียน ม.เกษตรฯ ตอนปี1 เราก็เห็นการออกบูธในงานเกษตรแฟร์ มีต้นไม้หลายอย่างมาขาย ซึ่งช่วงนั้นพอผมอยู่ปี2 ผมก็มีเพื่อนฮอลแลนด์เลยคิดว่างานเกษตรแฟร์เนี่ยน่าจะเป็นงานที่ดีสำหรับการลองขายดูนะครับ ก็เลยสั่งต้นไม้จากเพื่อนที่ฮอลแลนด์มาขาย แล้วปรากฏว่าขายดีมากเลย ก็เลยเป็นที่มาของอาชีพผมเลยขายดี ก็ขายมาเรื่อย ๆ ปี3 ปี4 จนทำงานก็ยังขายอยู่ แล้วตอนหลังก็ออกจากงานและก็มาทำเต็มตัว”


Exotic Plant “ไม้แปลก” ของกลุ่มคนรักเฉพาะ
คุณโฮมยังบอกด้วย คำว่า Exotic Plant จากฮอลแลนด์ในสมัยนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ด่างแปลก ๆ หม้อข้าวหม้อแกงลิงแปลก ๆ จากฮอลแลนด์ สับปะรดสี ทิลแลนเซีย ก็จะสั่งมาขายทุกอย่างเพราะด้วยความที่ตนเองเป็นนักเล่นต้นไม้อยู่แล้ว เดินตลาดนัดสวนจตุจักรประจำ เพราะฉะนั้นก็จะรู้ว่าอะไรที่ไม่มีขายในจตุจักรก็สั่งมาหมดเลย แล้วก็ได้การตอบรับที่ดีมาก เพราะว่าทุกคนเห็นแล้วว้าว! ก็จะซื้อกัน เลยทำให้รู้ว่าไม้ Exotic Plant เป็นที่ต้องการของตลาด และก็มีตลาด และก็ขายได้จริง ๆ

“ยกตัวอย่างของเลดี้สลิปเปอร์ เพราะฉะนั้นไทยก็แปลมาเป็น “รองเท้านารี” แปลตรงตัวเลยนะครับจากชื่อที่ฝรั่งใช้เรียกดอกไม้ชนิดนี้ ซึ่งมีcharacteristic ที่เหมือนรองเท้า เนี่ยไม่มีเลย! แตกต่างไปจากดอกไม้ทั่วไปที่จะแบน ๆ หรืออะไรก็ได้ที่มีเอกลักษณ์ประจำตัว เหมือนฟาแลนนอปซิส ชื่อเล่นก็คือบัตเตอร์ฟลาย ออร์คิด ถามว่าทำไมถึงเรียกเป็นButterfly Orchid เพราะว่าฟาแลนนอปซิสเนี่ยมันก็เหมือนผีเสื้อที่บินอยู่ ก็เลยเรียกเป็นบัตเตอร์ฟลาย ออร์คิด พวกนี้ก็จัดเป็นExotic เหมือนกันเพราะว่า มีเอกลักษณ์ประจำตัวไม่ซ้ำคนอื่น”

คุณโฮม-สรรพสิริ เชาวน์วาณิชย์ กับฟิโลเดนดรอนจากบราซิล
การออกร้านก็เลยทำให้ได้พบปะผู้คนมากขึ้น พบกับชาวต่างชาติ มีคอนเน็คชั่นมากขึ้น ก็เลยเป็นที่มาที่ไปถึงการไปต่างประเทศ การไปออกบูธต่างประเทศ พอยิ่งไปออกบูธในต่างประเทศก็ทำให้ได้รู้จักคนมากขึ้น รู้จักแหล่งวัตถุดิบแปลก ๆ ใหม่ ๆ มากขึ้นก็เป็นที่มาที่ไปว่ายิ่งทำยิ่งมันส์ เพราะว่าโลกเราเนี่ยค้นไม่หมดสักที ก็เลยทำต่อเนื่องมา” คุณโฮมบอกด้วยประเทศที่อยู่ในเขตศูนย์สูตรทั้งหมดของโลก ที่อยู่ในเขตTropical ทั้งหมด ไปมาหมดแล้วทุกที่ เพราะว่าพืชที่อยู่ในเขตทรอปิคอลทั้งหมดของโลก สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทย ด้วยความที่มันอยู่ในเขตเส้นเดียวกัน อากาศเหมือนกัน “เพราะฉะนั้นถามว่าไปอลาสก้ามั้ย ไม่รู้จะไปทำไมไปดูน้ำแข็ง ไม่มีประโยชน์ เราไปเหมือนเจาะด้านหนึ่งของประเทศไทยไปโผล่เม็กซิโก อันนั้นน่าไปเพราะว่าเม็กซิโกก็มีพรรณพืชที่หลากหลาย และก็สามารถปลูกได้ดีในประเทศไทยยกตัวอย่าง เช่น Monstera เป็นไม้ฟอกอากาศที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงโควิดฯ ที่ผ่านมา ก็คือเป็นพืชที่มาจากประเทศเม็กซิโกด้วย


ความได้เปรียบของประเทศไทย พร้อมสู่ “Hub” ของการซื้อขายไม้เอ็กโซติก
“ผมเนี่ยถือว่าเป็นนักหา/สะสม นักสะสม นักหาสายพันธุ์ใหม่นะครับ เพราะด้วยความที่ว่าผมเดินทางตลอดเวลา เพราะฉะนั้นผมจะไม่มีเวลาปรับปรุงพันธุ์พืชเอง ประเทศไทยเนี่ยด้วยความที่ว่าเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศเหมาะสม อยู่ในเขตอบอุ่น สามารถผลิตไม้ เลี้ยงไม้ ได้เจริญงอกงามอย่างรวดเร็ว แล้วก็มีกลุ่ม “นักสะสม” มากก็เลยทำให้ ตลาดไม้ด่างหรือไม้ Exotic ในประเทศไทยใหญ่โตมากเลย แล้วพอใหญ่โตมากมันก็เป็นแม็กเน็ตดึงดูดต่างชาติ ให้เข้ามาซื้อ เข้ามาขาย เข้ามาแลกเปลี่ยนกันนะครับ จนตอนนี้กล้าพูดได้เลยว่าประเทศไทยเป็น “Hub” แห่งการซื้อขายไม้ Exotic ครับ”


การซื้อขายใช้ราคาอ้างอิงตามเรทมาตรฐานสากล
สำหรับการซื้อขายไม้ Exotic คุณโฮมบอกว่า จะใช้ราคากลางในการอ้างอิงด้วยเสมอ ซึ่ง “ราคากลาง” ก็จะดูได้จากสินค้าที่ขายในตลาดสวนจตุจักร อย่างในสมัยก่อนจะถือเป็นศูนย์กลางการค้าขายไม้แปลก ไม้หายาก ก็จะมีราคาที่จตุจักรสำหรับใช้ในการอ้างอิงแต่ตอนนี้มันทันสมัยแล้ว ก็จะมีGroup ต่าง ๆ กรุ๊ปไม้ด่าง กรุ๊ปไม้แปลกนะครับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเราไม่จำเป็นต้องไปเดินจตุจักร เราดูในกรุ๊ปต่าง ๆ เหล่านั้นได้เลย เขาก็จะมีราคากลางแต่ละตัว ซึ่งค่อนข้างเท่ากันหมดทั้งโลก ไม่ใช่พาะในประเทศไทยอย่างเดียว”

การจัดสวนจะตามรูปแบบของพฤติกรรมต้นไม้ที่ชอบแสงแตกต่างกันไปด้วย
และจากปรากฎการณ์ “ราคา”ของไม้ด่าง (แพงสูงลิ่ว!) ที่เป็นประเด็น Hot ในช่วงโควิดฯ ที่ผ่านมา คุณโฮมก็ได้อธิบายถึงที่มาให้ฟังด้วย อันนี้มีหลายคนถามก็ตอบเลยว่า เป็นราคาที่แท้จริง เพราะว่าเป็นดีมานด์จากทั้งโลก ด้วยความที่ว่าต้นไม้ขึ้นไปถึง “ราคาหลักล้าน” ไม่ใช่เป็นกระแส ถ้าอย่างเป็นราคา “ล้านบาท” ที่กรุงเทพฯ ก็เป็นราคาล้านบาท ณ ตอนนั้น ที่อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไมอามี อัมสเตอดัม ทุกที่ราคาจะเท่ากันหมดเลย“เพราะว่าโลกเราเนี่ยถึงกันหมด เพราะฉะนั้นจะไม่ใช่ราคาปั่นหรือราคาที่สร้างขึ้นมา อันนี้ก็คือเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก ว่า ณ ตอนนั้นต้นไม้มีอยู่จำนวนจำกัด แต่คนเล่นทั้งโลกนะครับเพราะฉะนั้นราคามันก็ไปถึงเป็นล้าน พอช่วงโควิดฯ ปุ๊บหลายคนมาเล่นมากขึ้น การผลิตมีจำนวนเยอะขึ้น ราคาก็ร่วงลงมาเป็นธรรมดาตามหลัก “ดีมานด์-ซัพพลาย” ช่วงที่ของหายาก มีน้อย ราคาทั้งโลกก็พุ่งกันไปเป็นล้านก็เป็นธรรมดา เพราะว่าของมีอยู่สมมุติ100 ชิ้นแต่คนเล่นทั้งโลกเพราะฉะนั้นของ 100 ชิ้นราคาก็ขึ้นเป็นล้านบาทเป็นธรรมดา แต่พอช่วงโควิดคนที่ซื้อเป็นล้านซื้อไปขยายพันธุ์ต่อ แจกจ่ายกันต่อ ผู้เล่นเข้ามาเล่นมากขึ้น การขยายพันธุ์มีมากขึ้น ก็เลยทำให้ราคาหล่นลงมาก็เป็นธรรมดาของกลไกตลาด”


ส่วนประเด็นเรื่องการ “นับใบขาย” เพราะว่า ไม้กลุ่มAroid ปีหนึ่ง ๆ สามารถเติบโตได้ไม่เกิน2 หรือ4 ใบต่อปี(ความยาก)เพราะฉะนั้นการขยายพันธุ์ก็สามารถตัดเป็นใบ ๆ ขาย แล้วใน1 ใบจะอยู่ได้ประมาณ6 เดือน 8 เดือนหรือ10 เดือนแล้วแต่ชนิดของเอรอยด์ ค่อนข้างอยู่ได้นาน เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้ต้องนับใบขาย ณ ตอนนั้นจำนวนต้นไม้ในตลาดโลก มีน้อยมาก จะขายเป็น “ต้น” ก็ไม่รู้จะขายอย่างไร เลยต้องขายเป็นใบ แล้วความโชคดีคือAroid สามารถขยายพันธุ์โดยการวางข้อ-ตัดใบได้ดี

“อะไรที่เข้าหมวดหมู่นี้นะครับ ก็คือ1.เป็นชนิดที่หายาก 2. มีความด่างสวย 3.เจริญเติบโต-ขยายพันธุ์ช้า เนี่ยก็จะทำให้ราคาแพงส่วนอะไรที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว ราคาก็จะถูก ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดหมดเลย”


ท็อปฟอร์มราคาดีไม่มีตก! ต้องยกให้ “มอนสเตอร่า” ราชินีไม้ใบในตำนาน
ถามคุณโฮมว่า มีไม้ชนิดไหนที่โปรดปราณพิเศษ เป็นลูกรักเลย มีชนิดไหนบ้างซึ่งคำตอบที่ได้คือ ตอบไม่ได้เลยผมด้วยความที่ชอบ Exotic Plant แบบที่บอกว่ามันเป็นliving art แล้วคำว่า Exotic Plant ก็รวบรวมถึงไม้ทุกชนิดเพราะฉะนั้น จะถามว่าชอบตัวไหนเป็นพิเศษเนี่ย ไม่ได้ เพราะว่าทุกอย่างมันก็ Exotic หมด เพราะฉะนั้นแต่ละชนิดมันก็มีเอกลักษณ์ประจำตัว ของตัวของพืชชนิดนั้นเอง เอามาแข่งขันกันไม่ได้ แต่ถ้าเกิดถามว่า ตัวไหนทำเงินเยอะที่สุด ตัวไหนสร้างมูลค่าเยอะที่สุด อย่างนั้นตอบได้ ตอบเลยว่าเป็นMonstera เป็นฟิโลเดนดรอน(ด่าง) ซึ่งได้รับความนิยมสูงทั้งโลก ถามว่าทำไมทั้งโลกเล่นเพราะว่า มีอ้างอิงไว้ในหนังสือชื่อ EXOTICA คนเล่นมอนสเตียร่าเนี่ยเล่นมาเป็น 100 ปีแล้ว ฟิโลเดนดรอน เล่นมาเป็น100 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นมันเหมือน “แบรนด์” มอนสเตียร่า ฟิโลเดนดรอน เนี่ยติดตลาดมานานแล้ว เพราะฉะนั้นก็เลยทำให้สร้างรายได้มากที่สุด”


ที่อาณาจักรรวบรวมพรรณไม้แปลกหายาก Exotic Plant จากทั่วทุกมุมโลกแห่งนี้ บนเนื้อที่รวมกว่า4 ไร่ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับบ้านพักของเจ้าของสวนด้วย มีรูปแบบของการจัดสวนเพื่อรวบรวมพรรณไม้และจัดแสดงไว้ได้อย่างตื่นตาสุดๆ ตลอดระยะเวลาของการมีโอกาสได้เดินเที่ยวชมไม้ต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของเป็นผู้พาชมพร้อมให้ข้อมูลเรื่องไม้ไปด้วย คุณโฮมบอกว่าที่นี่มีชนิดของพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ที่รวบรวมเอาไว้มากกว่า1,000 สปีชีส์ขึ้นไป ก็มีครบหมดทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น พืชทนแล้ง พืชทนขนาดกลางไม่แล้ง-ไม่ร้อน ก็มีคอนเซ็ปต์ของผมก็คือ เก็บต้นไม้ตั้งแต่desert to the jungle ก็คือตั้งแต่ไม้ทะเลทราย จนถึงไม้ป่านะครับ หรือrainforest เลย”

ส่วนเรื่องของราคาไม้ Exotic ตอนนี้ คุณโฮมก็บอกด้วย เริ่มต้น ณ ตอนนี้ด้วยความที่ว่าตลาดExotic Plant ราคาดร็อปลงมา
เริ่มต้นก็น่าจะอยู่ประมาณ500 บาทจนถึง หลายแสนบาท ต่อ1 ต้น หลักล้านคงไม่มีแล้ว หลักล้านจะเป็นช่วงโควิดฯ ที่ผ่านมามากกว่า

“ในเรื่องของสายพันธุ์ผมก็ยังคงเสาะแสวงหา สายพันธุ์ใหม่ ๆ เข้ามาปลูกเรื่อย ๆ นะครับ แต่สิ่งที่ทำเนี่ยก็กำลังจะทำงานเป็นงานอีเว้นต์ที่จะจัดขึ้นให้มีบ่อย ๆ เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง ก็หวังว่าเพื่อดึงดูดต่างชาติให้เข้ามาซื้อ ให้เกิดการสะพัดของเงินตราในประเทศ ก็พยายามทำตรงนี้อยู่ด้วย”


คนรักจริงต้องรอได้ แล้วความคุ้มค่าจะวนกลับมาเสมอ
จากปรากฏการณ์ราคาของ “ไม้ด่าง” ที่เกิดขึ้นทั้งช่วงพี้คและตอนขาลง ซึ่งอาจทำให้หลายคนมีความรู้สึกบางอย่าง ผิดหวัง เสียใจ(ขาดทุน) หรืออะไรก็แล้วแต่รวมไปถึงการตีรวนส่งท้ายเสียด้วยซ้ำว่า เป็นไม้กระแส! คือมาแล้วก็ไปไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน
ซึ่งเชื่อว่ามีหลายคนคิดแบบนี้ แต่ถ้าเรามามองในมุมของคนที่ทำอาชีพนี้มาอย่างยาวนานและเขาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ได้แม้ไม่ต้องมีกระแสมาฉุดกระชากความนิยมให้แรงหวือหวาขึ้นมา แต่ว่ามี “ตลาด” และวิธีการคิดเพื่อเป็นหลักสำหรับการทำธุรกิจนี้ คุณโฮมได้ฝากทิ้งท้ายสำหรับคนที่มองเข้ามาในอาชีพนี้ไว้อย่างน่าสนใจอันนี้บอกเลยนะครับคนที่จะเข้ามาในวงการนี้ ต้องเข้ามาด้วยใจรัก เพราะว่าเหมือนบางอย่างเนี่ยไม้มีราคาแพงแล้วถ้าเกิดเราเข้ามาด้วยการเป็นนักลงทุน พอราคามันตกเราก็จะเสียใจ แต่ถ้าเราเข้ามาด้วยใจรักว่าเรารักไม้ชนิดนี้ เราปลูกไม้ชนิดนี้แล้วซื้อมาตอนแพง แต่ตอนมันถูกเราก็ยังความรักยังเท่าเดิมอยู่ ไม่ทิ้ง เราก็ยังปลูกอยู่ แล้วก็โดยทั่วไปlife cycle ของต้นไม้เนี่ย มันก็เวียนไปเวียนมานะครับ ไม่กี่ชนิด เดี๋ยวมันถ้าเกิดเรารักมัน เดี๋ยวเขาก็กลับมาใหม่ เพราะว่าต้นไม้หลายชนิดพอราคาถูก ทุกคนก็เลิกปลูกกันหมด แล้วพอเลิกปลูกกันหมดผู้ที่ปลูกอยู่เนี่ย ดีมานด์ยังเท่าเดิม เพราะฉะนั้นเนี่ยผู้ที่ยังเหลือรอดที่ปลูกอยู่ ก็ยิ้มแก้มปริ อันนี้ก็เป็นข้อคิดว่า ขอให้รักจริง ไม่ทิ้ง เพราะว่าเดี๋ยวราคามันก็กลับมาใหม่”

สับปะรดเมดูซา (ใบยาวกว่า 3 เมตร)
ทั้งนี้ สามารถไปพบกับื “คุณโฮม” ได้ที่งาน Bangkok International Exotic Plants Show & Sale ครั้งที่1 วันที่3-5 มีนาคมนี้ ที่อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น เมืองทองธานี ฮอลล์6 งานต้นไม้ระดับโลกซึ่งจะจัดแสดงความหลากหลายของพรรณไม้ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ ไม้หายาก และไม้นำเข้าจากสวนต่างประเทศ15 ประเทศที่มาร่วมงานในครั้งนี้ พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ที่จะมาแบ่งปันความรู้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดต่าง ๆ ได้ทางเฟซบุ้กเพจ: Bangkok International Exotic Plants Show and Sale 1



คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น