“ไซส์ที่นิยมกันก็จะมี 5ตัว 3ตัว 4ตัว/โล แต่น่าจะเหมาะกับปลาน้ำเงิน ปลาเซียม ปลานาง ปลาตัวใหญ่ในตระกูลนี้ แต่ที่ผมเลี้ยงอยู่เขาเรียกว่าปลาชะโอน มีพื้นเพมาจากทางปักษ์ใต้ ไซส์ 7ตัว/โล ที่ภัตตาคารชอบแต่ร้านทั่วไปจะใช้ตัวเล็กทอดกินได้ทั้งตัว”
เปลี่ยนความชอบสู่อาชีพ(จากงานอดิเรก) ที่ใช่! “คุณตุล-สุชน สมคิด”เจ้าของเพจ “เสธ.ตุลบางใหญ่ ชันโรง ปลาน้ำจืด” เกษตรกรพาร์ทไทม์ผู้ใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำซึ่งเจ้าตัวเป็นผู้บริหาร (ระดับเขต) อยู่ในบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ด้านธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมชั้นนำค่ายหนึ่งของประเทศไทย แต่ด้วยใจรักในงานเกษตรการเลี้ยงสัตว์มาตั้งแต่ยังเด็กเคยเลี้ยงปลากระชังอยู่ในคลองข้างบ้านจนกระทั่งพอเรียนจบ (ม.มหิดล) ก็ได้เข้าทำงานต่อเลยทันที เลยทำให้ขาดช่วงไประยะหนึ่งจึงได้เริ่มกลับมาทำในสิ่งที่ใจรักอีกครั้ง โดยการเลี้ยง “ชันโรง” ก่อนและพอศึกษาหาข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วยจึงทำให้ได้รู้จักกับ “ปลาเนื้ออ่อน”(ปลาชะโอน) ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ทางกรมประมงรณรงค์ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงเป็นปลาเนื้อเศรษฐกิจใหม่ “ปลาชนิดนี้ทางปักษ์ใต้จะเลี้ยงได้ดีมาก เพราะธรรมชาติเขาเหมาะ น้ำขึ้น-ลงเร็วตลอดเวลา แล้วปลาชะโอนตัวนี้ทางกรมประมงรณรงค์ให้มีการเลี้ยงมากในภาคใต้ และมีการรณรงค์มาเรื่อย ๆ ซึ่งมีคนภาคเหนือก็เอาไปเลี้ยงด้วย ผมได้รู้จักปลานี้จากอาจารย์จอมสุดาที่ ม.เชียงใหม่ ได้ไปเรียนรู้กับท่านมาซึ่งก็ให้คำแนะนำต่าง ๆ”
จากนั้นคุณตุลเล่าว่า เริ่มเลี้ยงครั้งแรกสั่งซื้อลูกพันธุ์ปลามาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรี ที่มีการผลิตและจำหน่ายลูกพันธุ์ปลาชนิดนี้ ซึ่งจะมีอยู่4 แห่ง เพชรบุรี ชลบุรี ลพบุรี และอ่างทอง และราคาจะตามประกาศของกรมประมง คื ไซส์(ขนาด) เหรียญบาทในราคาตัวละ 1 บาท จะต้องมีการสั่งจองลูกพันธุ์ข้ามปีถึงจะได้มา ซื้อมาจำนวน10,000 ตัว โดยนำลูกพันธุ์ปลามาในเดือน พ.ย.2564 และปล่อยเลี้ยงจนถึงในปัจจุบัน ประกอบด้วยบ่อเลี้ยงแบบบ่อปูน และบ่อผ้าใบ ซึ่งจะอยู่ในบริเวณรอบบ้านได้ลงตัวพอดี กับอีกแหล่งเลี้ยงคือจะเป็นแบบบ่อดินด้วยที่ทดลองเลี้ยงพร้อมกัน
การเลี้ยงปลาเนื้ออ่อนแบบคนเมือง(ในบ่อผ้าใบ)
“เลี้ยงยากถ้าคนไม่เข้าใจธรรมชาติของเขา ธรรมชาติของปลาชนิดนี้คือหนึ่งเขาจะอยู่กันเป็นฝูงเมื่ออยู่ในแม่น้ำ แล้วเขาจะชอบน้ำแบบหมุนเวียนตลอดเวลา และน้ำต้องมีแรงกระเพื่อมแบบที่ผมทำน้ำตกให้แบบนี้ครับ เลียนแบบธรรมชาติ ที่ทำเป็นถังชั้น
ๆ อันนี้คือ กรองนอกขึ้นไปข้างบน ขี้ตะกอนตกถังแรก ก็ยังมีเหลือไปตกถังที่สอง แล้วก็ไปตกถังที่สามเพื่อให้สะอาดมากที่สุด ยิ่งมากถังยิ่งดีแต่มันก็อยู่ที่ต้นทุนของเรา พอตกเสร็จปุ๊บทำอย่างไรให้มันเหมือนธรรมชาติ ให้อยู่ที่จุดที่น้ำจะตกได้มากที่สุดแล้วก็ตกลงมาเป็นน้ำตก ให้มีน้ำกระเพื่อมตลอดเวลา พอน้ำกระเพื่อมแล้วข้างในมันไม่มีออกซิเจน ผมก็เอาปั๊มลมเอาเป็นหัวทรายกับจานทรายออกมาทำให้น้ำมันกระเพื่อมแบบนี้ครับ ให้มีออกซิเจนอยู่ข้างใต้ เพื่อไม่ให้แอมโมเนียไนเตรททั้งหลายมันเกิดขึ้น”
นอกจากนี้ในบ่อผ้าใบก็ยังมีเลี้ยง “ปลาตะเพียน” ด้วยข้อดี คือ ช่วยกินขี้ปลา ขี้ตะไคร่น้ำ หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นผู้ช่วยในระบบนิเวศน์ของบ่อทำหน้าที่ในการเก็บขยะที่ก้นบ่อกินเป็นอาหารไปในตัว รวมถึงก็ยังมี “ปลาคาร์ฟ” ด้วยเพราะในการเลี้ยงปลาเนื้ออ่อนจะมีการขุนโปรตีนด้วย เดือนละ 1 ครั้ง เป็นโปรตีน100 หริอก็คือลูกปลา-ปลาเหยื่อ โดยจะเลือกซื้อมาจากศูนย์เพาะพันธุ์ปลาฯเป็นแหล่งที่เชื่อถือได้ในเรื่องของคุณภาพ (ที่ไม่มีพยาธิหรือโรคติดต่อปนมา) ซึ่งเมื่อสร้างระบบนิเวศน์เลียนแบบธรรมชาติเอาไว้ช่วยจัดการร่วมอีกทางหนึ่งแล้ว ภายในบ่อผ้าใบมีการติดตั้งเครื่องผลิตน้ำแบบนาโนบั๊บเบิ้ลเทคโนโลยี ทำหน้าที่ ในการแปลงโครงสร้างให้เป็นโมเลกุลขนาดจิ๋วเพื่อสำหรับ ช่วยเพิ่มความสดชื่นให้กับปลาในสภาพการอยู่อาศัยรวมกันแบบหนาแน่นอยู่ในบ่อเลี้ยง ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนถ่ายน้ำใหม่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งอีกด้วย ซึ่งจากบ่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง3 เมตร ระดับความลึก1.80 เมตร อัตราการปล่อยเลี้ยงลูกพันธุ์ปลาเนื้ออ่อน (ปลาชะโอน) ต่อบ่อในครั้งแรกเลยเริ่มต้นอยู่ที่ 4,000 ตัว
การให้อาหารและการจัดการไซส์ปลา
“อาหารพวกนี้ที่เราเลี้ยง เป็นอาหารเม็ดสูตรของปลาดุก จะมีโปรตีนมากสุด คือ30-35% ซึ่งปลาพวกนี้เป็นปลากินเนื้อมันก็อาจจะยังไม่ค่อยเพียงพอ ดังนั้นเขาก็จะกินกันเองถ้าอาหารไม่เพียงพอ แล้วทำยังไงให้เขาเติบโตดีที่สุด เราก็ต้องขุน “โปรตีน” ซึ่งของเราจะขุนด้วยลูกปลา แต่ก็ต้องดูแหล่งที่มาของลูกปลาด้วยเราไม่ใช่ ไปช้อนเอาในคลอง ช้อนเอาตามห้วย พยาธิ โรคติดต่อ ถ้าเราไปซื้อตามศูนย์ฯ เขาการันตีว่าเขาฆ่าเชื้อเอาพยาธิออกมาเรียบร้อยแล้ว ด้วยวิธีการของเขา เราก็ให้ปลากินได้ปลอดภัย”
คุณตุล บอกด้วย การเลี้ยงปลาต้องใช้ระยะเวลานาน (1 ปี) ดังนั้นจะต้องเป็นคนใจเย็นและเป็นคนที่หมั่นสังเกต อย่างตนเองเป็นคนที่ชอบเลี้ยงปลาอยู่แล้ว คนเลี้ยงปลาจะต้องเป็นคนที่ขี้สังเกต “จุดสำคัญเลยผมมองว่าการเลี้ยงปลาเนี่ยถ้าเราไม่สังเกตเลยเราสักแต่ว่าให้อาหาร สักแต่เดินผ่านแล้วจะรู้มั้ยว่า ปลาจะป่วยหรือไม่ป่วย ถ้าปลาป่วยเราจะต้องแก้แล้วหนึ่งสาเหตุอะไร เราต้องเอาตัวที่ตายมาดูมาวิเคราะห์แล้ว มีปัญหาครับทุกอย่างมีปัญหาหมดตอนแรก ๆ เอามาปลาลอยตาย ซึ่งเกิดจากปลาติดเชื้อ(จากน้ำประปาที่ใช้เลี้ยง) และตอนล้างถังกรองใช้น้ำคลองด้วย ก็ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากไหนก็แก้โดยการใช้ยา แต่การใช้ยาปฏิชีวนะคือแค่1 โด๊ส/ครั้ง เท่านั้น แค่หายคือจบ! แล้วภายในระยะเวลา 21 วันคือห้ามขายปลาอย่างเด็ดขาด ตามข้อกำหนดของกรมประมงเลย”
โดยหลังจากที่เลี้ยงรวมกันมาได้ระยะหนึ่ง ปลาจะเริ่มมีการเติบโต(ตัวเล็ก-ตัวใหญ่) ที่ไม่เท่ากันบ้าง ซึ่งจะต้องมีการแยกหรือการคัดไซส์ปลาเอาตัวใหญ่กว่าแยกออกไป เลี้ยงขุนต่อในอีกบ่อหนึ่งต่างหาก เพื่อที่จะรอขายได้แล้วอย่างที่นี่จะเริ่มมีการคัดไซส์ปลาตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค.65 ที่ผ่านมา และแยกไปเลี้ยงขุนต่อในบ่อปูนด้วย กับอีกส่วนที่พร้อมขายได้ตัวโตได้ไซส์ที่ตลาดต้องการแล้วก็จะแยกเลี้ยงในกระชังเล็กอยู่ในรวมเพื่อจะรอจำหน่ายให้กับลูกค้าต่อไป สำหรับการเลี้ยงปลาเนื้ออ่อน (ปลาชะโอน) จะมีต้นทุนในการเลี้ยงค่าอาหารต่อ 1 ตัว ตลอดอายุของการเลี้ยง อยู่ที่ประมาณ 10 บาท/ตัว
ผลผลิตและการตลาด
“ตอนนี้เราเลี้ยงมาได้ปีกว่า ๆ แล้ว ประมาณ11 พ.ย.64 ไปเอาลูกพันธุ์มาจากศูนย์ฯ ผมมองว่าตลาดแถวบ้านเราตอบโจทย์ ร้านอาหารเยอะแถวบางใหญ่ แล้วตลาดคนที่อยากกินปลาเนื้ออ่อน ถ้าพี่อยากกินหนึ่งพี่ต้องไปโน่นเลยอีสาน แม่น้ำมูล แม่น้ำชี แม่น้ำโขง สังคม ปลาปาก ปากชม เส้นนั้นจะมีปลาพวกนี้กินโลนึงก็ 300-400 บาท ผมก็ขาย400 เท่ากันแต่ข้อแตกต่าง
คือ ปลาพวกนี้เราขายที่หน้าแล้งเริ่มขายแล้ว ตอนแรกผมว่าจะขายหน้าฝน พอหน้าฝนปุ๊บยังไงรู้มั้ยครับเขาขายกันหมดเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล อุบล อุดร หนองคาย จับส่งเข้ากรุงเทพฯ กันเต็มเลย กดราคาหั่นราคากัน ผมก็เลยคิดในใจเราไม่แข่งขันที่ราคา ขอเป็นขายที่หน้าไม่มีปลา คือหน้าร้อนหน้าแล้งเนี่ยล่ะครับ หลังฤดูหนาวมาจะเริ่มเข้าหน้าแล้ง เพราะปลาพวกนี้เขาจะมากับน้ำพอน้ำหรือฝนตกปุ๊บเขาจะวางไข่ เราจึงไม่ขายในช่วงนั้นยอมเสียเวลาขุนอีกเดือนสองเดือน เอามาขายเดือนที่มีความต้องการ”
คุณตุล บอกว่าจริง ๆ แล้วปลาเนื้ออ่อนหลังจากที่ตนเลี้ยงได้ประมาณ9 เดือนก็จะเริ่มทยอยจับปลาขายได้ เพราะจะมีไซส์ที่ตลาดต้องการอย่างเช่น 7 ตัว/โล ที่ภัตตาคารต่าง ๆ จะชอบมาก หรือ 10 ตัว/โล ซึ่งร้านอาหารทั่วไปจะชอบปลาตัวเล็กเพราะเวลาทอดจะกินได้หมดทั้งตัว สำหรับวิธีการขายปลาของที่นี่คือจะใช้วิธีการโปรโมทผ่านทางเฟซบุ้ก (การยิงแอด) ด้วย การติดป้ายริมทางเพื่อบ่งบอกว่าที่มีปลาเนื้ออ่อนที่เปิดขายอยู่ จำหน่ายให้กับคนในพื้นที่เพื่อจะตามมาเป็นลูกค้าประจำของฟาร์มต่อไป รวมถึงมีการส่งปลาโดยตรงให้กับทางร้านอาหารที่อยู่ใกล้ ๆ กลุ่มโฮเรก้าโฮเทล แคตเตอริ่งจัดเลี้ยง โรงแรมต่าง ๆ ก็มีการติดต่อดิวกันอยู่เรื่อย ๆ
หลังจากที่หมดปลาในรุ่นนี้ลงคุณตุลบอกว่า ยังได้เตรียมขยายการเลี้ยงต่อไปอีกในรุ่นที่สองและคงต่อ ๆ ไปอีกเรื่อย ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเตรียมการในเรื่องของ “ลูกพันธุ์ปลา” มีการสั่งจองล่วงหน้าเอาไว้ก่อนแล้ว ก็ถือว่าแม้จะเป็นการเลี้ยงเพียงคร็อปแรก(รุ่นแรก) แต่ยังสามารถให้ผลผลิตที่ดีและเรื่องของการจำหน่ายก็ถือว่า ตลาดให้การตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งจากราคาจำหน่ายในปัจจุบัน คือ กิโลกรัมละ 400 บาท คุณตุลระบุว่าราคานี้สามารถสร้างความคุ้มค่าให้กับคนที่เลี้ยงปลาได้สูงถึง 10 เท่า! เลยทีเดียว ซึ่งถ้าหากใครสนใจอยากลองชิมปลาเนื้ออ่อน(ปลาชะโอน) ที่เลี้ยงในฟาร์มระบบปิดแบบนี้และที่สำคัญคือเป็นฟาร์มที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP ของกรมประมงด้วย หรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมถึงวิธีการเลี้ยงการดูแลเพื่อจะทำเป็นอาชีพเสริมรายได้ควบคู่บ้าง สามารถติดต่อเพื่อขอเข้าไปศึกษาดูงานกับทางฟาร์มได้ก็ยินดีแต่อาจจะต้องมีการโทรนัดล่วงหน้าก่อน
โดยฟาร์มตั้งอยู่เลขที่ 21 หมู่ 5 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี โทร .082-474-6161 หรือดูเพิ่มเติมที่ FB
: เสธ.ตุลบางใหญ่ ชันโรง ปลาน้ำจืด ขอบคุณภาพเมนูปลาเนื้ออ่อนโดยคุณหนึ่งฤทัย แพรสีทอง
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *